“ลังกาสุกะ” : เมื่อ “ศาสนา” เดินทางโดยเรือล่องมาสู่คาบสมุทรมลายู

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากการที่ผู้เขียนมีโอกาสที่ดีซึ่งหาได้ยากที่ได้ไปเยือนพื้นที่ที่ผู้คนส่วนมากไม่อยากที่จะเข้าไปสัมผัส นั่นก็คือ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก่อนไปผู้เขียนได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าอยากจะได้เข้าไปสู่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่ซึ่งน่าจะมีข้อมูลดีๆ งานวิจัยที่กล่าวและศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะโดยทั่วไปแล้วหาได้ยากในเมืองหลวง แต่ด้วยภารกิจที่เร่งรีบจึงทำให้ไม่สามารถแวะไปเยี่ยมเยียนสถานศึกษาแห่งนั้นได้ แต่ก็ใช่ว่าจะโชคร้ายเสมอไปเมื่อผู้เขียนไปสู่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในตัวเมืองปัตตานี ก็ได้เห็นร้านหนังสือซึ่งเป็นแผงเล็กๆ ขายโดยหญิงสาวชาวมุสลิมผู้ซึ่งเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตรและทักทายอย่างเป็นกันเอง และผู้เขียนก็เหมือนถูกต้องมนต์เมื่อได้เห็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อว่า “ลังกาสุกะ” ประวัติศาสตร์ยุคต้นของชายแดนใต้

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย อาจารย์ครองชัย หัตถา แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพที่ศึกษาถึงประวัติศาสตร์รากเง้าความเป็นมาของ “ลังกาสุกะ” อันเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งทำให้ผู้เขียนไม่รีรอที่จะจ่ายเพื่อให้ได้หนังสือเล่มนี้มา

ประเด็นที่น่าสนใจที่ผู้เขียนมองผ่านงานวิจัยชิ้นนี้และสังเกตเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่และอยากนำเสนอในบทความชิ้นนี้เป็นสิ่งที่ตอบสนองคำถามของผู้เขียน คำถามเหล่านี้ซ่อนตัวอยู่ในสมองเป็นเวลานานและงานวิจัยชิ้นนี้ก็เติมเต็มสิ่งที่ขาดได้เป็นอย่างดีในระดับหนึ่งของผู้ที่ไม่มีความรู้และถนัดกับพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ในภาคใต้เลย มีประเด็นอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ๆ นั่นก็คือ การเข้ามาของศาสนาอิสลาม และส่วนที่เป็นบ่อเกิดความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (อาจกล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น) หลังจากได้ศึกษางานวิจัยชิ้นนี้

ประเด็นแรก การเข้ามาของศาสนาอิสลาม หากเรามองถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว ผู้คนส่วนใหญ่มักตัดทอนความคิดของตนเองอยู่ที่ศาสนาอิสลามว่าเป็นของที่คู่กับคนชายแดนใต้ ไม่บ่อยนักที่จะมีคนตั้งข้อสงสัยต่อการมาของศาสนาอิสลามว่า มาเมื่อไรและอย่างไร การมองแบบตัดทอนความคิดเช่นนี้อาจจะด้วยสาเหตุที่ว่า เราอาจจะมองปัญหาที่เกิดขึ้นเชื่อมโยงแค่สถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นต่อหน้าเท่านั้น มิได้สนใจถึงรากเหง้า หรือไม่ก็อาจจะมองว่าเป็นเรื่องเสียเวลามากกว่าที่จะหาข้อความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ และในที่สุดแล้วรู้ไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ สำหรับผู้เขียนแล้ว คำถามเหล่านี้เกิดอยู่ในหัวตลอดเวลา และรู้สึกว่าอย่างน้อยๆ งานวิจัยชิ้นดังกล่าว ก็ช่วยเปิดโลกของผู้เขียนให้กว่างขึ้นไม่มากก็น้อย

“ลังกาสุกะ” หรือ “LANGKASUKA” หรือมีชื่อเรียกกันต่างๆนาตามยุคสมัยและตามความเข้าใจของชนชาติต่างๆที่เข้ามาติดต่อ ลังกาสุกะในยุคต้น (ประมาณพุทธศตวรรษที่7) มีพื้นที่ครอบคลุม ปัตตานี เคดาห์ ยะรัง โดยมีความเชื่อเรื่อง ภูตผีปีศาจ (Animism) เป็นพื้นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิต ในยุคเรืองอำนาจมีการขยายอำนาจตัวเองจนถึงบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน มีเคดาห์ เป็นศูนย์กลางอำนาจ แต่มีความรุ่งเรืองทางฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมต่อเรือสินค้าจากต่างชาติ ซึ่งเป็นบริเวณปัตตานี นั่นเอง

ในที่นี้หลายคนอาจเข้าใจว่า รัฐปัตตานี มีมาอยู่ก่อนแล้วอย่างช้านานแต่ในความเป็นจริงนั้นงานวิจัยชิ้นนี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าในความเป็นจริงก่อนที่จะเกิดรัฐปัตตานีนั้นในพื้นที่เดียวกันมีอาณาจักรที่หากกล่าวโดยสรุปแล้วก็คือ เกิดและมีมาก่อนรัฐปัตตานี ซึ่งในที่นี้ก็หมายถึง “ลังกาสุกะ” นั่นเอง

การเข้ามาของพ่อค้าชาวต่างชาติ มีส่วนสำคัญมากต่อการเปลี่ยนความเชื่อของผู้คนในลังกาสุกะ เพราะหลังจากพุทธศตวรรษที่ 7 ได้มีชาวอินเดียมาค้าขายกับลังกาสุกะเป็นจำนวนมาก บนเรือจึงอัดแน่นไปด้วยสินค้าที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้นั่นก็คือ ศาสนา บรรจุมาเต็มลำ ในระยะแรกนั้น ลังกาสุกะรับเอาความเชื่อศาสนาพราหมณ์เข้ามา โดยเปลี่ยนความเชื่อจากเดิมที่เคยนับถือ ภูตผีปีศาจ มาเป็นการเคารพและนับถือในตัวของพระนารายณ์แทนที่ โดยการนำเข้าศาสนาหรือความเชื่อสิ่งใหม่นี้นำเข้าผ่านทางพื้นที่ของนครศรีธรรมราชและปัตตานี

หลังจากนั้นก็ใช่ว่าศาสนาอิสลามจะเข้ามาและได้รับความนิยมศรัทธาอย่างเช่นปัจจุบันแต่ประการใด แต่กลายเป็นว่า ศาสนาพุทธ ฝ่ายมหายาน กลับเข้ามาผสมผสานกับศาสนาพราหมณ์ที่มีมาก่อนและมีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรอินเดีย ศูนย์กลางของพุทธศาสนาก็แปลเปลี่ยนจากดินแดนเอเชียใต้มาสู่คาบสมุทรมลายูแทน ลังกาสุกะ จึงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งอารยธรรมอินเดีย (Indianized State) มีความเจริญรุ่งเรือง เป็นศูนย์กลางแห่งพุทธศาสนาและเป็นที่ยอมรับของผู้คนอย่างแพร่หลายและกว้างขวาง

จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า อารยธรรมทางศาสนาดั้งเดิมของคนบนคาบสมุทรมลายูแต่ดั้งแต่เดิมนั้นมิได้มีศาสนาอิสลามติดตัวมาตั้งแต่แรก เพราะรากฐานที่พบก็เฉกเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาค นั่นก็คือ การเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจและวิธีการเข้ามาของความเชื่อแบบใหม่หรือศาสนานั้นก็มาทางเรือสินค้า ผู้เขียนเห็นว่า การเข้ามาของความเชื่อใหม่นี้ก็มิได้ต่างอะไรกับการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกหรือวัฒนธรรมของประเทศในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น ดังเช่นปัจจุบัน เพียงแต่วิธีการเข้ามามันต่างกันเท่านั้น เพราะสมัยเก่าใช้และผ่านเข้ามาทางเรือ อารยธรรมอาศัยการค้าขายเป็นใบเบิกทาง (โดยในที่นี้อาจจะด้วยเหตุของการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้คนต่างถิ่น เพื่อให้ตัวเองค้าขายได้หรือด้วยอีกร้อยแปดเหตุผลก็สุดแล้วแต่)

แต่ปัจจุบันการเข้ามาทางเรือไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป แต่มันอาศัยการเข้ามาทางโลกแห่งโลกาภิวัตน์ หลายคนเป็นห่วงว่าการเข้ามาของอารยธรรมต่างชาติเหล่านี้มันจะทำลายวัฒนธรรมที่ดีงามของเรา (ที่ไม่ดีงามไม่ใช่ของเรา) แต่สำหรับผู้เขียนแล้วกลับมองว่ามันก็เป็นเรื่องปกติที่จะเปลี่ยน เพราะหากเรามองว่าความเชื่อเรื่องภูตผีเป็นรากเง้าของเรา แต่ปัจจุบันเรากลับพบว่า ความเชื่อเรื่องภูตผีกลับมีน้อยลงและหันไปพึ่งพาวิทยาศาสตร์มากขึ้น ไฉนเลยเราจึงไม่ร่วมกันปกป้องความเชื่อเรื่องภูตผีแบบเดิมซึ่งเป็นรากเง้าของเรา และไม่ได้หวาดกลัวที่จะเสียวัฒนธรรมความเชื่อแบบนี้ไปเล่า

หลังจากนั้นก็ด้วยพ่อค้าชาวอาหรับนี่เองที่นำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ในคาบสมุทรมลายู เพราะฉะนั้นก็อธิบายในรูปแบบเดียวกันกับการเข้ามาของพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ ที่เข้ามาโดยการค้าผ่านทางเรือ ดังนั้นในที่นี้ ผู้เขียนคิดว่างานวิจัยชิ้นนี้ได้ซ่อนสิ่งที่สำคัญไว้เป็นอย่างมาก ได้อธิบายการเข้ามาของศาสนาต่างๆ ในคาบสมุทรมลายู น่าจะเป็นประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อความเข้าใจของผู้ที่ต้องการศึกษาเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ในงานวิจัยชิ้นนี้บ่งถึงมูลเหตุแห่งความขัดแย้งของปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ งานวิจัยชิ้นนี้บ่งถึงการที่รัฐเน้นการสร้างรัฐชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่เน้นความเป็นรัฐนิยม บังคับให้มีการแต่งกายแบบสากล การแต่งกายตามวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกห้าม ห้ามเรียนคัมภีร์อัลกุรอาน ห้ามเรียนภาษามลายูและภาษาอาหรับ เปลี่ยนแปลงชื่อหมู่บ้าน ชื่อบุคคล เป็นต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจจนนำไปสู่ปฏิกิริยาต่อต้าน จนเกิดขบวนการแนวร่วมมลายู (Pan Malayan Movement) ไม่ยอมรับรัฐไทยนับจากนั้นมา

ได้มีข้อเสนอที่ผู้นำมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้เสนอต่อรัฐบาลจำนวน 7 ข้อ โดยให้ตัวแทนเข้ายื่นข้อเรียกร้องนั่นก็คือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา และฝ่ายรัฐก็เรียกตัวแทนเข้าเจรจา ปรากฏว่าความเห็นของคณะรัฐมนตรีขณะนั้น (พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) สรุปว่า ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ แต่ก็ได้มีข้อเสนอจากรัฐสมัยนั้นที่ผ่อนปรนโดยกำหนดกรอบตามแนวทางของรัฐบาล

ขณะเดียวกันช่วงเวลานั้นเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ทำให้ข้อเรียกร้องดังกล่าวเงียบไป ทำให้เกิดการรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อถามหาความคืบหน้า จนนำไปสู่การปราบปรามและจับกุมผู้ชุมนุมเกิดขึ้น และได้นำตัว หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา ไปสอบสวนจนนำไปสู่การหายตัวไปอย่างไร้ล่องลอย และเกิดความขัดแย้งกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จะเห็นได้ว่า ปัจจัยหรือมูลเหตุของปัญหาที่ผู้วิจัยเน้นย้ำนั่นก็คือ “รัฐชาติ” หากเรากล่าวถึงแนวคิดนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีสิ่งที่ดีงามในตัว หากแต่ประเทศที่กำลังสร้างตัวเองก็มักจะสร้างรัฐด้วยวิธีการเหล่านี้ทั้งนั้น การรวมชาติจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสถาปนาชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งเป็นหลักในการสร้างชาติ และปัญหาที่พบก็คือว่า รัฐไทยเลือกชาติพันธุ์หนึ่งทีมีพื้นฐานทางสังคมที่ไม่สามารถทับซ้อนกันได้เลยแม้แต้น้อยกับคนทางคาบสมุทรมลายู มีความต่างทางวัฒนธรรม ศาสนา เป็นอย่างมาก ดังนั้นในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการบอกกลายๆว่า วิธีที่รัฐไทยใช้นั้นเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง

หากจะขยายความต่อไป ผู้เขียนจำได้ว่า สมัยเด็กๆนั้นครูทุกคนมักจะพูดเสมอว่า ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ หรือแม้แต่บางท่านเรียกร้องให้บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ นี่ก็เป็นการตอกย้ำถึงการมองข้ามความหลากหลายของสังคม และเหมือนเป็นการตอกย้ำความรู้สึกของผู้คนในคาบสมุทรมลายูอีกครั้ง ดังนั้นสิ่งที่ผู้คนในสังคมควรระลึกอยู่เสมอก็คือ ยอมรับความหลากหลายของสังคม ความเป็นหนึ่งเดียวกันบางครั้งก็ไม่สามารถนำมาอธิบายได้จริงภายใต้สถานการณ์จริง อย่างที่นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย” ก็เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างชาติตามแนวทางรัฐนิยมก็เท่านั้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท