เสวนา: โดมไม่เปลี่ยนไป ใย มธ.จึงเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไท-ปณิธาน พฤกษาเกษมสุข ได้จัดกิจกรรมนิทรรศการการเมือง ประจำปี 2555 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมี สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน

งานดังกล่าว นอกจากจะมีนิทรรศการ การแสดงละครโดยกลุ่มประกายไฟ ยังได้จัดวงเสวนาขึ้นที่ห้องบรรยายรวม 1 เรื่อง “โดมไม่เปลี่ยนไป แต่ทำไมคนเปลี่ยนแปลง” โดยมีศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่างยุคสมัยร่วมเสวนา ได้แก่ พนัส ทัศนียานนท์, วิทยากร เชียงกูล, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และ ณัชฎา คงศรี เป็นวิทยากร

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตสมาชิกวุฒิสภาปี 2543 และเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) รุ่นสุดท้าย กล่าวว่า ยุคของ มธก. สิ้นสุดลงตั้งแต่ประมาณปี 2490 สมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และต้องตัดชื่อย่อมหาวิทยาลัยตัวกอไก่ออก เพราะไม่ต้องการให้ มธ. เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ ทั้งสิ้น แล้วต่อมาก็ยกเลิกหลักสูตร มธ.บัณฑิต

ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชน ต้องเชื่อในหลักอนิจจัง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังเห็น ‘โดม’ ในรูปลักษณ์ที่คุ้นเคย โดมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธรรมศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง แล้วทำไมคนถึงเปลี่ยน อันนี้ผมคิดว่ายิ่งเป็นสัจธรรม เพราะแม้เราเป็นลูกโดม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราต้องคิดเหมือนกัน ทุกคนมีสิทธิในการคิด มีอุดมการณ์เป็นของตัวเองซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน บางคนอาจจะคิดแบบเสรีนิยม สังคมนิยม อนุรักษ์นิยม แต่พอชีวิตเปลี่ยนผ่านไปตามอายุขัย ในแง่ของสังขารอันนี้เปลี่ยนไปแน่นอนอยู่แล้ว

“ผมเข้า มธ. ตอน 2502 ผมมีความรู้สึกยังหนุ่มยังแน่น แต่ตอนนี้ผมเกือบ 70 แล้ว ก็ต้องมีอะไรเปลี่ยน แต่สิ่งที่เป็นนัยของคำถามนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องความคิด การที่เรากำหนดกฎเกณฑ์ตายตัวอย่างนั้น หรือกำหนดว่า มธ. ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ผมว่าไม่แฟร์ ในดินแดนแห่งเสรีภาพ ต้องมีคนที่คิดเห็นไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่อาจมีข้อยกเว้นอยู่อย่างหนึ่ง คือคนที่มีความคิดเห็นแบบนาซี หรือที่ไม่ชอบเสรีภาพนั้น อาจจะไม่ตรงกับธรรมศาสตร์”

“มีคนบ่นเรื่องคนเดือนตุลา ว่าทำไมพอมาถึงปี พ.ศ.นี้ จึงเปลี่ยนแปลงไปได้ขนาดนี้ อันนี้ผมคิดว่า แต่ละคนท่านก็คงจะมีเหตุผลของท่านเอง แต่ก็เป็นเรื่องน่าคิด โดยเฉพาะในยุคของทักษิณ ชินวัตร ทำไมคนเดือนตุลาถึงแตกออกเป็นสองเสี่ยง”

วิทยากร เชียงกูล ผู้แต่งบทกวี "เพลงเถื่อนแห่งสถาบัน" ซึ่งมีท่อนที่รู้จักกันทั่วไปว่า "ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึง มาหา ความหมาย ฉันหวัง เก็บอะไร ไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว" อดีตอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ รองอธิการบดี คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ และคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในฐานะศิษย์เก่า มธ. ยุครุ่งเรืองของกิจกรรมนักศึกษาว่า เข้า มธ. ตอนปี 2508 ออก 2512 ต้นปี เป็นคนก่อนเดือนตุลา นักศึกษาในขณะนั้นไม่สนใจการเมือง ไม่สนใจสังคม อาจารย์ก็ไม่สนใจด้วยเช่นกัน อาจจะมีบางส่วนสนใจ เมื่อเทียบกับยุคก่อนๆ ซึ่งก็จะเป็นอย่างนี้ มียุคขึ้นและยุคลง ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคม ต้องเข้าใจว่า มธ. ช่วงแรก ที่เป็น มธก. ค่อนข้างเป็นอิสระ ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ แต่ต่อมามาอยู่ในระบบราชการ ก็สร้างเทคโนแครตออกสู่สังคม บางช่วงก็จะไม่สนใจสังคมเท่าไร แต่บางช่วงก็จะสนใจ เช่น ช่วงที่สนับสนุนเสรีไทย หรือโดยเฉพาะเหตุการณ์ 14 ตุลา จุดสำคัญอยู่ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ ส่วนการเปลี่ยนแปลงนั้น เราต้องถามว่า เปลี่ยนดีขึ้นหรือเลวลง ซึ่งอาจจะมีทั้งสองอย่าง เราต้องวิเคราะห์ให้ออก ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ของสังคมไทยนี่มันเลวทรามมาก ถามว่าทำไมบทกวีเมื่อปี 11 ถึงยังอ่านได้ เพราะประเทศไทยมันไม่เอาไหน ผมคาดหวังว่า มหาวิทยาลัยควรดีกว่านี้ ผมเห็นปัญหาความยากจน การคอรัปชั่น เผด็จการ ยังอยู่เต็มไปหมด

“การพัฒนาแบบทุนนิยมดึงอาจารย์และนักศึกษาให้หลงใหลไปกับการมุ่งหาเงิน อาจารย์ก็จะทำงานวิจัย ไม่อยากจะทำงานที่ไม่ได้เงิน สมัยก่อนเราทำงานไม่ได้เงิน เพราะเราคิดว่า ต้องการเปลี่ยนประเทศให้เป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเปลี่ยนไม่เปลี่ยนต้องมองในแง่นี้หรือเปล่า เปลี่ยนแบบนี้จะนำไปสู่ความเลวร้ายกว่านี้ไหม เราควรจะต่อต้านเผด็จการทุนนิยมไหมที่ทำให้คนใช้ความรุนแรงมากขึ้น เกิดความแตกแยกมากขึ้น เดี๋ยวนี้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น เป็นเรื่องที่น่าศึกษา เพราะการศึกษาเรามันแย่ มันสอนเฉพาะทางในกรอบแคบๆ และสอนแบบท่องจำ”

ด้าน ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประจำปี 2554 ในฐานะศิษย์เก่าทั้งด้านรัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ ปี 2524 ถึง 2527 และรุ่นปี 2530 ถึง 2534 และได้เรียนทั้งท่าพระจันทร์และรังสิต กล่าวว่า “ตั้งแต่ปากทางเข้ามา ผมรู้สึกเหมือนหมู่บ้านบ้านนอก มันควรได้รับการดูแลให้เห็นว่า ยังมีชีวิต หรือว่าคนที่อยู่ข้างในเขาไม่สนใจจะมองจากข้างนอกเลย เขาใช้ชีวิตอยู่แต่ข้างใน มันควรได้รับการดูแลพัฒนามากกว่านี้”

“โดม ถ้าหมายถึงสัญลักษณ์ ผมว่ามันเปลี่ยนนะ ผมเรียน 2527 ช่วงนั้นผมตกงาน เป็นฝ่ายสนับสนุนการต่อต้านการย้ายไปรังสิต เขาบอกว่า ไปในนามของมหาวิทยาลัยแบบเพอร์เฟก ในที่สุดผมก็ได้บทสรุปแล้วว่า มธ. พยายามเลียนแบบจุฬา ว่าจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ก็เลยมาตั้งที่รังสิต เพราะหวังให้เป็นคอมเพล็กซ์ แต่สภาพปัจจุบัน อีกนานกว่าจะพัฒนาไปถึงตรงนั้น การที่เราเลือกพื้นที่หนึ่งโดยมีแนวคิดจะให้นักศึกษามีแนวคิดที่สมบูรณ์แบบ แค่นี้ก็แสดงถึงความเปลี่ยนแปลงแล้ว

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นบททดสอบแรกๆ เลยของการไปเรียนในที่ห่างไกล เพราะอยู่นอกตัวเมือง แต่ในสภาพบรรยากาศของการเรียนการสอน สิ่งหนึ่งที่ท่าพระจันทร์มี คือความแออัด มันจึงต้องสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านไว้

ปัจจุบันหลักสูตรที่สอนในท่าพระจันทร์ จะมีแต่หลักสูตรอินเตอร์ที่เรียนกันอยู่พันกว่าคน ซึ่งเป็นชนชั้นกลางระดับบน พวกนี้ก็มีวิถีชีวิตอีกแบบหนึ่ง มีชีวิตที่สวยหรู สวนคนที่เป็นชนชั้นต่ำกว่าก็มาอยู่บ้านนอกที่รังสิต

การเปลี่ยนพื้นที่ เป็นผลต่อสภาพแวดล้อมซึ่งมีผลในการหล่อหลอมคนด้วย ในโลกที่มีคอมพิวเตอร์ ทำให้นักศึกษาห่างไกลกันมาก แต่สมัยก่อนที่ท่าพระจันทร์ บรรยากาศสภาพแวดล้อมที่ต้องเรียนรวมเกือบสองหมื่น คนก็จะรู้จักกัน เพราะเรียนรวมกันแบบคละคณะ จึงทำให้เราพบปะสังสรรค์กันได้ตลอดเวลา โรงอาหารริมแม่น้ำจึงกลายเป็นที่ให้เราสังสรรค์กัน ประตูท่าพระจันทร์ก็เป็นแหล่งรวมของการสื่อสาร เป็น mass communication สภาพทางกายภาพมันทั้งขยับตัวและเปลี่ยนแปลงในเชิงขยายตัว

“ผมจึงไม่คิดว่า มธ. ลำปาง จะมีความรู้สึกแบบเดียวกัน มันอาจจะเกิดความรู้สึกแบบลูกเมียหลวง-ลูกเมียน้อย การเปลี่ยนแปลงของอธิการบดีก็มีส่วน ในช่วงของ 40 ปีแรก ผู้บริหารเป็นระดับบิ๊กๆ เช่น ปรีดี พนมยงค์ สัญญา ธรรมศักดิ์ แต่พอมายุคหลังก็เป็นไปแบบสะเปะสะปะ เพราะฉะนั้นทั้งสัญลักษณ์ที่เป็นโดม และอุดมการณ์ความคิดจึงเปลี่ยนไปแน่ๆ เปลี่ยนทั้งคู่ คน วิถีชีวิต ซึ่งเปลี่ยนไปตามพื้นที่” ธำรงศักดิ์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท