Skip to main content
sharethis

ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น ชี้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัว "ชาลี ดีอยู่" เกิน 7 วัน โดยไม่ขอศาล “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” แต่ไม่ได้ละเมิดสิทธิให้เสียหายจนขนาดต้องเยียวยาเป็นเงิน

 

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ส่งใบแจ้งข่าว ระบุว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 เวลา 10.00 น. ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งในคำร้องกรณีสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ควบคุมนายชาลี ดีอยู่ แรงงานชาวพม่า โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีคำสั่งยืนตามชั้นต้นว่า สตม. ควบคุมตัวนายชาลีโดยที่ยังมิได้มีการตรวจสอบสิทธิอาศัยของนายชาลี จึงเป็นการควบคุมตัวโดย สตม. ยังมีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าได้มีการกระทำผิดตามกฎหมายคนเข้าเมืองหรือไม่ การใช้อำนาจควบคุมตัวไว้เกิน 7 วัน จึงต้องได้รับอนุญาตจากศาล แต่ สตม. ไม่ได้ดำเนินการร้องขอต่อศาล จึงเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และต่อกรณีการล่ามโซ่นายชาลีไว้กับเตียงผู้ป่วยระหว่างที่ถูกควบคุมตัวและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้น ศาลเห็นว่าเป็นการดำเนินการตามหน้าที่รับผิดชอบจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเกินสมควร และแม้จะเป็นการกระทำที่ผิดต่อระเบียบของ สตม. ที่ห้ามมิให้พันธนาการผู้ต้องกักที่เจ็บป่วยและไม่สามารถหลบนี้ได้ด้วยกำลังของตนเอง แต่ผู้คุมขังได้ทำการปลดโซ่ตรวนหลังจากวันที่รับตัวเข้าโรงพยาบาลได้เพียงสามวัน ถือได้ว่าเป็นการทุเลาความผิดพลาดได้ตามสมควร และมิได้ทำให้นายชาลีได้รับความเสียหายมากเสียจนต้องได้รับการเยียวยาด้วยเงิน จึงเห็นว่า สตม. ไม่ต้องชำระเงินเยียวยาแก่นายชาลี

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งให้ สตม. ปล่อยตัวนายชาลี ดีอยู่ แรงงานข้ามชาติชาวพม่า ซึ่งประสบอุบัติเหตุจากการทำงานบาดเจ็บสาหัส แต่กลับถูกตำรวจควบคุมตัวเพื่อส่งกลับประเทศพม่า และถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงผู้ป่วยขณะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ อีกทั้งศาลยังให้ สตม. จ่ายค่าเสียหายให้นายชาลี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 เนื่องจากเป็นการควบคุมตัวโดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนายชาลี ต่อมา สตม. ได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาล และขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้เป็นการควบคุมตัวที่ชอบด้วยกฎหมาย โดย สตม. ให้เหตุผลว่าไม่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบสิทธิอาศัยของนายชาลี จึงมีอำนาจควบคุมตัวนายชาลีได้ตามกฎหมาย ซึ่ง สตม. สามารถควบคุมตัวไว้ได้นานเท่าใดก็ได้ เพื่อรอการส่งกลับ โดยไม่ต้องขอศาล โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และเคารพสิทธิของนายชาลีแล้ว

ขณะที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ได้ยื่นแก้อุทธรณ์ ยืนยัน สตม. ควบคุมตัวนายชาลีนานถึง 16 วัน โดยไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบสิทธิอาศัยให้ถี่ถ้วน และใบอนุญาตทำงานยังไม่หมดอายุจึงเป็นการควบคุมตัวโดยไม่ชอบ แม้ภายหลังสภาทนายความได้มีหนังสือทวงถามขอให้ปล่อยตัวนายชาลี แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จน มสพ. ต้องยื่นคำร้องต่อศาล อีกทั้งการควบคุมตัวขณะเจ็บป่วยหนักและการล่ามโซ่ยังเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และขัดต่อพันธกรณีของประเทศไทยตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งห้ามการควบคุมตัวบุคคลโดยอำเภอใจและโดยปราศจากการตรวจสอบโดยศาล จนกระทั่งศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งดังกล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) ระบุว่า แม้ว่าศาลอุทธรณ์จะกลับคำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องเงินเยียวยา แต่ยังเห็นว่าคำสั่งศาลในคดีนี้เป็นก้าวสำคัญต่อการสร้างความมั่นใจในการดำเนินนโยบายและการใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ ว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมและโดยคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพมากขึ้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net