Skip to main content
sharethis

"เสธ.หนั่น" ถามกลางวงเสวนาศึกษาแนวทางปรองดอง ใครอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร- "พล.อ.เปรม" พาเข้าเฝ้าฯ ใช่หรือไม่-พล.อ.เปรมรู้เห็นด้วยใช่หรือไม่ ด้าน "พล.อ.สนธิ" ไม่ยอมตอบอ้างไม่อยากฟื้นฝอย ถ้าต้องการปรองดองต้องให้อภัย-ลืมอดีตบ้าง ไม่เช่นนั้นสังคมจะยิ่งขัดแย้ง บางคำถามตายแล้วก็ตอบไม่ได้ เรื่องบางเรื่องเมื่อถึงเวลาจะปรากฏขึ้นมาเอง

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรได้จัดเสวนา “รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้า” โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ พร้อมด้วยคณะทูตจาก 25 ประเทศเข้าร่วม

 

"พล.อ.สนธิ" เชื่อให้อภัยซึ่งกันและกันจะนำไปสู่ความปรองดอง

โดย สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ส.ส.พรรคมาตุภูมิ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธาน กมธ. พิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ กล่าวเปิดเสวนาตอนหนึ่งว่าประเทศของเราจมปลักกับวังวนความขัดแย้งมาหลายปี ทุกภาคส่วนสังคมต้องการให้ประเทศเกิดปรองดองทั้งสิ้น ผลศึกษา กมธ. และสถาบันพระปกเกล้า เห็นตรงกันว่าการให้อภัยซึ่งกันและกันจะนำพาประเทศสู่ปรองดอง ถ้าประชาชนเจ้าของอำนาจพร้อมให้อภัยโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ภาคการเมืองยังสร้างอุปสรรคต่อการปรองดอง ตนขอใคร่วิงวอนทุกฝ่ายลดความรู้สึกส่วนตัว ทั้งนี้การยอมรับภารกิจจากสภาฯ เพื่อหาทางออกให้ประเทศอีกครั้ง จากที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ซึ่งตนทำด้วยความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง เพื่อให้ภารกิจสำคัญได้สำเร็จลุล่วง แม้ถูกหลายฝ่ายกล่าวหาหลายประการ

พล.อ.สนธิ กล่าวต่อว่า ภารกิจสำคัญครั้งนี้ไม่ได้เพื่อประโยชน์บุคคล กลุ่มบุคคลหากทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ โดยเชื่อมั่นว่าความสุจริตจะเป็นเกราะคุ้มภัย บัดนี้การดำเนินการของ กมธ.เสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ สิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือรวบรวมผลศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า รายงานต่อสภาฯ ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป อย่างไรก็ตามขอขอบคุณทุกฝ่ายรวมถึงสถาบันพระปกเกล้าที่ได้เป็นจำเลยร่วมกับตน

 

ข้อเสนองานวิจัยเสนอนิรโทษกรรมทุกฝ่ายในคดีการเมือง

โดยส่วนที่เป็นข้อเสนอของคณะผู้ทำวิจัย มีข้อเสนอเรื่องการนิรโทษกรรม แบ่งออกเป็นสองทางเลือก หนึ่ง คือการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมด และกรณีเฉพาะคดีการกระทำผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น โดยคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองจะไม่ได้รับการยกเว้น แต่ทั้งสองทางเลือกจะยกเว้นกรณีความผิดที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน

ข้อเสนอของผู้วิจัยให้เหตุผลว่าการนิรโทษกรรมทั้งหมด มีข้อดีคือ จะไม่สร้างบรรยากาศที่เป็นปรปักษ์ทางการเมือง ลดความขัดแย้ง สนองความต้องการของสังคมให้เดินหน้า แต่ก็มีข้อเสียที่ผู้รับผลกระทบโดยตรงอาจยังไม่พอใจและต้องการให้มีการลงโทษ ผู้กระทำผิดอยู่ ส่วนการนิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน ทางเลือกนี้สอดคล้องกับแนวทางของ คอป. แต่แนวทางนี้ จะเป็นเพียงการลดปริมาณของความขัดแย้ง และการแยกฐานความผิดที่ยึดโยงกับเรื่องการเมือง ในทางปฏิบัติทำได้ยาก

ส่วนการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ลดเงื่อนไขของข้อกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม  ในการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาโดยกระบวนการตรวจสอบของ คตส. ผลการวิจัยได้แบ่งออกเป็นสามทางเลือก แนวทางแรกดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยให้ผลการพิจารณาของ คตส.สิ้นสุดลงและโดนคดีทั้งหมด ให้ ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบต่อคดีที่ถึงที่สุดแล้ว แนวทางนี้จะทำให้สังคมไม่รู้สึกว่าเป็นความยุติธรรมของผู้ชนะเท่านั้น และสร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันตุลาการ แต่แนวทางนี้อาจมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้จากประกาศ คมช.

ทางเลือกที่สอง คือการเพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ แนวทางนี้เป็นการคืนความยุติธรรมให้กับสังคม ตามหลักนิติธรรม แต่จะทำให้บางคดีผู้ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดี 2 ครั้ง พยานหลักฐานอาจไม่ครบถ้วน ซึ่งจะมีผลต่อคำพิพากษา

ส่วนทางเลือกที่สาม ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่ดำเนินคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีก ครั้ง แนวทางนี้จะขจัดความเคลือบแคลงและไม่เชื่อมั่นในจุดเริ่มต้นของกระบวนการ ยุติธรรม ในเรื่องที่มาของอำนาจ แต่จะทำให้ความปรองดองเกิดได้ยาก เพราะบางกลุ่มเห็นว่าผู้กระทำผิดยังลอยนวล ไม่มีการพิสูจน์ข้อกล่าวหาการกระทำผิด

 

อภิสิทธิ์ชี้งานวิจัยยังไม่สมบูรณ์ - "เสธ.หนั่น" ถามเดือดใครอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร?

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตการทำวิจัยที่ยังขาดเหตุการณ์หลายเรื่องซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง ทำให้ผลการวิจัยไม่สะท้อนข้อเท็จจริง การให้อภัย ด้วยการนิรโทษกรรมอาจไม่เกิดความเป็นธรรมกับบางคน และการจะยกเลิกคดีที่ คตส.ชี้มูล ทั้งที่คดีของ คตส.เกี่ยวข้องกับคดีทุจริต ไม่ใช่คดีการต่อสู้ทางการเมืองและที่มาของ คตส. ก็ต่างกันกับ คตส. ที่มาจาก รสช. พร้อมตั้งข้อสังเกตการล้มคดี คตส.อาจมาจากมีผู้ทรงคุณวุฒิถูก คตส. ดำเนินคดี

ด้านมติชนออนไลน์ รายงานว่าบรรยากาศการเสวนาเริ่มเป็นไปอย่างดุเดือดเมื่อ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ลุกขึ้นตั้งคำถาม 3 ข้อถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่า 1.ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ไม่เช่นนั้นสังคมจะคลางแคลงใจว่าอำมาตย์ ผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง 2.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นผู้นำท่านเข้าเฝ้าฯใช่หรือไม่ และ พล.อ.เปรมรู้เห็นกับการปฏิวัติหรือไม่ และ 3.พล.อ.เปรมได้ขอร้อง พล.อ.สนธิให้ออกมาพูดความจริงกับเหตุการณ์ปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 โดยผ่าน พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ 2 ครั้งใช่หรือไม่ และได้พูดความจริงตามร้องขอหรือไม่

จากนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้โอกาส พล.อ.สนธิตอบ 3 คำถามของ พล.ต. สนั่นก่อน แต่ พล.อ.สนธิไม่ประสงค์จะตอบคำถาม นายอภิสิทธิ์กล่าวตอนหนึ่งว่า ผู้ทรงคุณวุฒิ 47 คนที่คณะวิจัยไปสัมภาษณ์ หลายคนถูก คตส.ดำเนินคดี ไม่แปลกใจคนเสนอให้ล้ม คตส. จะเป็นคนคนเดียวกันกับคนที่ คตส.ส่งให้ดำเนินคดี ตนทราบเพราะว่าตนได้กรอกแบบสอบถาม และทราบว่ามี 1 คนเสนอ แต่ก็ใส่เป็นทางเลือก แต่มี 10 คนบอกว่ากระบวนการ คตส.เดินต่อไปตามปกติ แต่คณะผู้วิจัยไม่รับเป็นข้อเสนอเป็นทางเลือก แต่ 1 คนที่เสนอให้ล้มคดีคตส. สันนิษฐานว่ามีส่วนได้เสียบอกว่าขอให้มีทางเลือก แต่คณะผู้วิจัยก็ใส่มาเป็นทางเลือกด้วย ดังนั้นขอให้ทบทวนข้อเสนอด้วย เพราะถ้าไม่ทบทวน แล้วกมธ.ไปสรุปว่าเสียงข้างมากขอเลือกทางเลือก 3 กรณี คตส.ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด และไม่นำคดีอยู่ระหว่างตัดสินไปแล้วและระหว่างพิจารณานำมาพิจารณา หรือเลือกทางเลือกที่ 2 กรณีนิรโทษกรรม โดยอ้างเสียงข้างมากแล้วส่งให้สภาลงมติหรือส่งให้รัฐบาลนำไปใช้ อย่างนี้ปรองดองหรือไม่ ถ้าตอบว่าไม่ปรองดอง ตนก็จะบอกว่าใครคิดทำอย่างนี้คือคนขัดขวางกระบวนการปรองดองอย่างแท้จริง

 

"พล.อ.สนธิ" ไม่ยอมตอบ-บอกไม่อยากฟื้นฝอย ปรองดองกันต้องยึดหลักให้อภัย

ต่อมา พล.อ.สนธิได้กล่าวในช่วงท้ายว่า คำถามที่ถามตนในช่วงแรก ตนรู้สึกละอายตัวเอง สถาบันสอนให้มีความรัก เข้าใจ จงรักภักดีต่อชาติบ้านเมืองอย่างยิ่งที่สุดในชีวิต คำถามนี้ไม่ควรมาถามตน เช่นเดียวกับที่คณะผู้วิจัยของสถาบันพระปกเกล้า คำถามบางประการตายแล้วก็ตอบไม่ได้ ดังนั้น เรื่องบางเรื่องเมื่อถึงเวลาจะปรากฏขึ้นมาเองพล.อ.สนธิกล่าวภายหลังการเสวนา ถึงความเป็นไปได้ในการทำความเข้าใจกับประชาชนกรณีเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ตามที่ พล.ต.สนั่นเรียกร้อง ว่า ไม่อยากรื้อฝอยหาตะเข็บในสิ่งที่ขัดแย้ง ถ้าต้องการสร้างความปรองดองต้องยึดหลักการให้อภัย ลืมอดีตบ้าง ไม่เช่นนั้นสังคมไทยจะย้อนยุคสู่ความขัดแย้งมากขึ้น ต้องมองข้ามไปบ้าง เพื่อความปรองดอง อะไรไม่ควรพูดก็อย่าพูด

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่าขณะนี้ไม่พร้อมจะพูดถึงเรื่องต่างๆ ในอดีตแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.สนธิกล่าวว่า คิดว่าคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) น่าจะเข้าไปตรวจสอบอยู่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net