Skip to main content
sharethis

(22 มี.ค.55) กรณีกระแสข่าวว่าอาจไม่มีการจัดเวทีอาเซียนภาคประชาชน (ASEAN Civil Society Conference: ACSC/ ASEAN Peoples'Forum: APF) คู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญในวันที่ 1-4 เม.ย.ที่จะถึงนี้ สุภาวดี เพชรรัตน์ หนึ่งในคณะกรรมการจัดงานมหกรรมประชาชนอาเซียน ยืนยันว่าจะยังมีการจัดการประชุม ACSC/APF ต่อไป ที่โรงแรมลักกี้สตาร์ในพนมเปญ วันที่ 29-31 มี.ค.นี้ ขณะเดียวกัน องค์กรพัฒนาเอกชนที่จัดตั้งโดยรัฐก็เตรียมจัดการประชุมชื่อเดียวกันนี้ในวันที่ 28-30 มี.ค. นำโดย Hoy Sochivanny

"มีข่าวในเชิงที่ว่ากลุ่มเราอาจไม่ได้รับอนุญาตให้จัด ACSC/APF แต่เพื่อนกัมพูชาก็ยืนยันว่าเขาเดินหน้าจัดแน่นอน เพราะความพยายามของภาคประชาชนในการเข้าไป engage ในอาเซียนเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 2005" สุภาวดีกล่าว

สุภาวดีกล่าวด้วยว่า ในวันศุกร์นี้ (23 มี.ค.55) จะมีการยืนยันข้อมูลจากทางผู้จัดงานอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การยืนยันล่าสุดคือยังคงมีการจัดประชุมตามกำหนดการและสถานที่เดิม และหากการประชุมจะเลื่อนหรือยกเลิกก็มาจากความกลัวของรัฐบาลกัมพูชาว่าจะไม่สามารถควบคุมการแสดงความเห็นในเวทีนี้ได้

สุภาวดี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกัมพูชาทำหนังสือถึงรัฐบาลประเทศสมาชิกให้ส่งผู้แทนของภาคประชาสังคมประเทศละ 1 คนเพื่อพบปะ (interface dialogue) ผู้นำอาเซียน โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้พยายามทาบทามภาคประชาสังคมไทยให้เข้าร่วม แต่ภาคประชาสังคมไทยมีมติว่าไม่เข้าร่วมหากเป็นการแต่งตั้งจากรัฐบาล เนื่องจากภาคประชาสังคมจะมีกระบวนการคัดเลือกภายในเครือข่าย โดยผู้ที่จะเป็นตัวแทนต้องเข้าร่วมการประชุมอาเซียนภาคประชาชนและได้รับเลือกจากที่ประชุม

สุภาวดี ระบุว่า การทบทวนการพบปะกับผู้นำอาเซียนครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา มักถูกแทรกแซงโดยรัฐ เช่น ในปี 2552 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ผู้นำกัมพูชาและพม่าปฏิเสธการพบตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากภาคประชาสังคม อีกทั้งช่วงเวลาพูดคุยมีเพียง 15-30 นาที จึงไม่มั่นใจว่าการพบปะเพื่อนำเสนอข้อเสนอจะก่อให้เกิดผลในการขับเคลื่อนมากน้อยขนาดไหน

ขณะที่ เว็บไซต์พนมเปญโพสต์ รายงานว่า Hoy Sochivanny เป็นผู้อำนวยการบริหารองค์กร Positive Change ซึ่งทำงานในประเด็นผู้หญิง โดยเธอเป็นหนึ่งในตัวแทนภาคประชาสังคมของกัมพูชา ที่จะเข้าร่วมพบปะ (interface dialogue) กับบรรดาผู้นำในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนด้วย

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นเรื่องความเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมนั้น สุภาวดี กล่าวว่า นี่เป็นประเด็นที่ท้าทาย เพราะทุกกลุ่มต่างเรียกว่าตัวเองเป็นภาคประชาสังคม ซึ่งส่วนตัวมองว่าข้อเสนอที่ออกมาจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่จริงๆ และต้องไม่กลายเป็นเครื่องมือกีดกั้นผลประโยชน์ของภาคประชาสังคม

"เรายอมรับความหลากหลาย ถ้าเป็นตัวแทนของภาคประชาสังคมจริงๆ กลุ่มไหนก็ได้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนภาคประชาสังคมก็อาจต้องตั้งคำถามกับรัฐบาลอาเซียน" สุภาวดีกล่าวและว่า นอกจากนี้ กลุ่มภาคประชาสังคมเดิมที่พยายามเข้าไปส่วนร่วมในอาเซียนมาตลอดตั้งแต่ปี 2548 ก็ควรจะได้รับการคำนึงถึงด้วย

อนึ่ง ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนทุกปี มีการจัดเวทีของภาคประชาชนคู่ขนานไปด้วยตั้งแต่การประชุมในปี 2548 ที่มาเลเซียเป็นต้นมา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net