สุภัตรา ภูมิประภาส: ผู้หญิงกับการเมือง - ขิ่นโอมาร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ขิ่นโอมาร์ (Khin Ohmar) อดีตนักศึกษาสาขาเคมีวิทยาจาก Rangoon Arts and Science University (RASU) เป็นที่รู้จักดีในหมู่นักกิจกรรมและองค์กรนานาชาติที่ร่วมรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ปัจจุบัน เธอเป็นผู้ประสานงาน Burma Partnership ซึ่งเป็นเครือข่ายนักกิจกรรมในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิกที่ทำงานเพื่อสร้างสันติภาพ ประชาธิปไตยและการเคารพสิทธิมนุษยชนในพม่า

ขิ่นโอมาร์ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่ามานานกว่าสองทศวรรษ เธอมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการเมืองและการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรีในองค์กรต่างๆ อาทิ สหภาพผู้หญิงพม่า (Burmese Women’s Union) ,  แนวร่วมผู้หญิงแห่งพม่า (Women’s League of Burma), National Coalition Government of the Union of Burma (NCGUB), the National Reconciliation Program (NRP), และ Forum for Democracy in Burma (FDB)

ย้อนอดีตไปเดือนกันยายน ปี พ.ศ.2530  เมื่อรัฐบาลนายพลเนวินประกาศยกเลิกธนบัตรมูลค่า 100, 75, 35, 25 จั๊ด ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงกับประชาชนรวมทั้งนักศึกษา ขิ่นโอมาร์ และเพื่อนนักศึกษาอีก 20 คนร่วมกันเขียนจดหมายประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหาร เป็นเหตุให้พวกเธอทั้งหมดถูกจับกุมและคุมขังไว้หลายเดือน เธอและเพื่อนๆได้รับการปล่อยตัวออกมาเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2531 ซึ่งเป็นวันฉลอง Burma’s Union Day

เดือนมีนาคม ขิ่นโอมาร์ร่วมเดินขบวนประท้วงรัฐบาลอีก ครั้งนี้กรณีที่เพื่อนนักศึกษาถูกตำรวจปราบจลาจลสังหาร เมื่อรัฐบาลฯตอบโต้ด้วยการสั่งปิดมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ขิ่นโอมาร์ทำหน้าที่เป็นแกนกลางประสานงานในการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาทั่วประเทศ นับแต่นั้นมา เธอตกเป็นเป้าหมายสำคัญที่ถูกตำรวจลับสะกดรอยตามตลอดเวลา

หลังเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาประชาชน 8-8-88 ขิ่นโอมาร์หลบหนีออกจากร่างกุ้งมาเข้าร่วมกับแนวร่วมนักศึกษาพม่าเพื่อประชาธิปไตย (All Burma Students' Democratic Front - ABSDF) ซึ่งเป็นขบวนการนักศึกษาที่ได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆทั้งที่พักพิงและการฝึกอาวุธ  ขิ่นโอมาร์ประจำการอยู่ที่ค่าย ABSDF บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ นการรวมตัว

ตอนนั้นขิ่นโอมาร์อายุเพียง 20 ปี เธอเรียนรู้และใช้ชีวิตชีวิตเยี่ยง “กบฏ”อยู่ในรัฐมอญนานหลายเดือน ขิ่นโอมาร์เล่าว่านักศึกษาพม่าที่หนีตายมาที่นี่ได้รับการโอบอุ้มดูแลด้วยน้ำใจไมตรีจากประชาชนในรัฐมอญ และชีวิตที่นี่เองที่ทำให้เธอเข้าใจความคับแค้นจากการถูกเลือกปฏิบัติของกลุ่มชาติพันธุ์ที่รัฐบาลฯตราหน้าว่าเป็น “กบฏ” เธอเข้าใจแล้วว่าทำไมพวกเขาจึงต้องจับอาวุธลุกขึ้นสู้

ปี 2533 ขิ่นโอมาร์ได้รับความช่วยเหลือให้ลี้ภัยไปอยู่ที่สหรัฐ เธอมีโอกาสเข้าศึกษาสาขาเคมีต่อที่ Simon’s Rock College of Bard in Great Barrington, Massachusetts แต่ท้ายที่สุด เธอตัดสินใจกลับมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับเพื่อนๆที่ชายแดนไทย-พม่า ขิ่นโอมาร์ยังไม่เคยมีโอกาสกลับบ้านที่พม่าอีกเลยแม้ในวันที่ได้รับรู้ว่ามารดาสิ้นลม ตลอดยี่สิบสี่ปีที่จากบ้านมา เธออุทิศตนให้กับขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า โดยเฉพาะการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงที่กู่ก้องให้ประชาคมโลกได้รับรู้ถึงสถานการณ์และสภาพของนักโทษการเมืองในพม่า และสถานการณ์ของผู้หญิงจากพม่าที่หลบภัยอยู่ตามพื้นที่แนวชายแดนพม่า

ขิ่นโอมาร์บอกว่ายังคงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิงที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมืองพม่าในระดับวางแผนและตัดสินใจใด แม้ในหมู่นักกิจกรรมก็ตาม ส่วนนำของฝ่ายประชาธิปไตยยังคงมีความคิดยึดติดกับระบบชายเป็นใหญ่ พวกเขายังคงมีความเชื่อว่าการเมืองไม่ใช่พื้นที่ของผู้หญิง

“พวกเขาจะบอกว่าไม่มีใครกีดกันผู้หญิงเข้าสู่พื้นที่ทางการเมือง แต่พวกเขาก็จะถามต่อไปว่าเธอจะรับตำแหน่งได้อย่างไรถ้าเธอไม่สามารถมาประชุมได้ทันเวลา พวกผู้ชายไม่มีความเข้าใจว่าผู้หญิงมีเรื่องอื่นที่ต้องคำนึงถึงหรือต้องห่วงใยด้วย เช่นเรื่องของครอบครัวและลูกๆ ซึ่งพวกผู้ชายไม่ได้นึกถึง” 

ขิ่นโอมาร์บอกว่าการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองจะต้องเกิดขึ้น และขบวนการประชาธิปไตยจะต้องมีงานอีกมากที่จะต้องทำ รวมทั้งการเจรจาในระดับต่างๆที่เธอหวังว่าจะมีทุกฝ่าย รวมทั้งกลุ่มผู้หญิงในโต๊ะเจรจาด้วย

“หากปราศจากการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของผู้หญิงในทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะในระดับของการตัดสินใจแล้ว เราไม่สามารถบอกได้ว่ามีประชาธิปไตย” 

ปี 2551 ขิ่นโอมาร์ ได้รับรางวัล Anna Lindh Prize ในฐานะสตรีที่มีความกล้าที่จะต่อสู้กับการกดขี่ปราบปราม อคติ และความความไม่เป็นธรรมทั้งปวงเพื่อนำชีวิตที่ดีกว่ามาสู่ประชาชน โดยการมอบรางวัลนี้ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2547 เพื่อเป็นเกียรติกับนาง Anna Lindh อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสวีเดนที่ถูกลอบสังหารเมื่อกันยายน 2546

ในปีเดียวกันนี้ ขิ่นโอมาร์ยังได้รับรางวัล Vital Voices Global Leadership Awards ร่วมกับจ๋ามตอง ตัวแทนเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ด้วย โดยในพิธีมอบรางวัลนี้ นางลอร่า บุช อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐกล่าวยกย่องขิ่นโอมาร์ว่า “เธอเป็นหนึ่งในเสียงที่ก้องกังวานสุดในการต่อต้านรัฐบาลที่ทารุณโหดร้ายของพม่า”

การมอบรางวัล Vital Voices Global Leadership Award for Human Rights ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2545 เพื่อมอบให้เป็นเกียรติกับผู้หญิงที่มีบทบาทนำในการสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง และทำงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท