Skip to main content
sharethis
ประธานคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ แห่งสหประชาชาติ ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลไทย เรื่องการใช้ความรุนแรงขับไล่ ข่มขู่กะเหรี่ยงออกจากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
 
24 มี.ค. 55 - จากกรณีอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ดำเนินการไล่รื้อ เผาบ้านและยุ้งฉางข้าว ยึดเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ในการทำไร่ข้าวของชาวกะเหรี่ยง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี รวมจำนวน 6 ครั้ง นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ถึงกรกฎาคม 2554 ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม 17ครอบครัว สมาชิก 80 คน ไร้ถิ่นที่อยู่อาศัยและไร้ที่ดินทำกิน เนื่องจากบ้านเรือนและยุ้งข้าวถูกเจ้าหน้าที่รัฐรื้อและเผาทำลายเสียหายกว่า 100 หลัง และถูกบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่  
 
ล่าสุดนายอเล็กซี่  แอฟโตโนม๊อฟ ประธานคณะกรรมการขจัดการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ แห่งสหประชาชาติ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลไทยผ่านนายสีหศักดิ์  พวงเกตุแก้ว ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ  โดยระบุว่ากังวลกับข้อมูลที่คณะกรรมการฯได้ที่ กรมอุทยานแห่งชาติและพันธุ์พืชได้เพิ่มความรุนแรงในการขับไล่และข่มขู่ชาวกะเหรี่ยงในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
 
ทางคณะกรรมการขจัดการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบยังสอบถามถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่รุนแรงขัดกับกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิชาวกะเหรี่ยงและชนพื้นเมือง ตลอดจนขัดมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง  ซึ่งได้ให้สิทธิแก่ชาวกะเหรี่ยงในการพักอาศัยในพื้นที่บรรพบุรุษและสามารถทำไร่หมุนเวียนแบบดั้งเดิมได้
 
นอกจากนั้นคณะกรรมการฯยังกังวลว่าการใช้ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจเชื่อมโยงถึงการสังหารผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนแก่ชาวกะเหรี่ยงที่ถูกยิงเสียชีวิตอย่างอนาถ คือ นายทัศน์กมล  โอบอ้อม ซึ่งเป็นตัวแทนชาวกะเหรี่ยงในการยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย
 
คณะกรรมการฯขอข้อมูลจากรัฐบาลไทยอย่างเร่งด่วน ก่อนวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 เพื่อนำเข้าพิจารณษหารือกับประเทศสมาชิก ในวาระการประชุมครั้งที่ 81 ต่อไป
 
อนึ่งคณะกรรมการขจัดการเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ประกอบด้วยกรรมการ 18 คน เป็นคณะกรรมการตาม อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) แห่งสหประชาชาติ  ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546 และมีผลใช้บังคับกับประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546  โดยอนุสัญญาฯ เน้นที่จะขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ  ซึ่งหมายถึง  การจำแนก การกีดกัน การจำกัด หรือการเลือก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของเชื้อชาติ  สีผิว เชื้อสาย หรือชาติกำเนิดหรือเผ่าพันธุ์กำเนิด  ซึ่งมีเจตนาหรือมีผลให้เกิดการระงับหรือกีดกั้นการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และในด้านอื่นๆของการดำรงชีวิตในสังคม  รวมทั้งการระงับ หรือกีดกั้นการใช้สิทธิเหล่านั้นอย่างเสมอภาคของบุคคล
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net