Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ธีรยุทธ บุญมี เป็นนักเรียนสวนกุหลาบ เริ่มสร้างชื่อเสียงด้วยการสอบได้ที่หนึ่งของประเทศสายวิทยาศาสตร์ ในระดับ ม.ศ.๕ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๒ หลังจากนั้น ได้สร้างเกียรติประวัติโดยเข้าร่วมในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และมีบทบาทสำคัญมากในกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ ต่อมา ก็ได้เข้าร่วมกับขบวนการสังคมนิยม และร่วมต่อสู้ในเขตป่าเขากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนถึง พ.ศ.๒๕๒๔ จึงได้กลับเมือง และไปเรียนหนังสือต่างประเทศ เมื่อกลับมา ก็ทำงานเป็นอาจารย์ที่คณะสังคมวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ ที่ผ่านมา
 
ในทางวิชาการ ธีรยุทธมีงานเขียนและแปลหนังสือหลายเล่มและได้รับการตีพิมพ์ ซึ่งเป็นการเผยแพร่ความรู้ใหม่ในด้านทฤษฎีสังคมในทางสากล ให้เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากขึ้น หลายคนอาจจะกังขาในการที่เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ในระยะอันใกล้นี้ แต่เมื่อเทียบผลงานทางวิชาการของเขากับนักวิชาการด้านสังคมวิทยาไทยคนอื่น ต้องถือว่า การได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ของอาจารย์ธีรยุทธ เป็นเรื่องที่เหมาะสม
 
ที่มากกว่างานวิชาการ คือการที่ธีรยุทธแสดงบทบาทเป็นนักคิดของยุคสมัย ที่สวมเสื้อกั๊กเป็นสัญลักษณ์ แล้วเสนอข้อวิเคราะห์สังคมและการเมืองเป็นระยะ และข้อเสนอของเขามักจะได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทุกครั้ง ธีรยุทธเป็นนักประดิษฐ์คำทางการเมือง ที่มักจะถูกนำไปใช้ แต่ปัญหาในการแสดงข้อวิเคราะห์ทางการเมืองของเขาในระยะหลัง เป็นการสะท้อนแต่เพียงว่า ธีรยุทธได้ถอยไปจากการเป็นนักวิชาการของประชาชน เลิกฐานะนักคิดประชาธิปไตย และกลายเป็นนักคิดแบบชนชั้นนำที่รับใช้สถาบันหลักไปเสียนานแล้ว และการเสนอข้อวิเคราะห์สังคมหลายครั้งของเขา ก็เป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเช่นนี้
 
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๙ ธีรยุทธได้เสนอเรื่อง ตุลาการภิวัฒน์ ให้ศาลเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า ผู้พิพากษาทั้งหลายเป็นคนดี ตัดสินอรรถคดีด้วยบรรทัดฐานและดุลพินิจที่ดี และเน้นหลักความเป็นธรรม จึงควรให้ตุลาการเข้ามาจัดการกับนักการเมืองทุจริต และเพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจมากเกินไป ปรากฏว่า หลังจากรัฐประหาร กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ข้อเสนอของเขาก็เป็นจริง เพราะพวกตุลาการทั้งหลายได้รับโอกาสให้เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้เต็มที่ ต่อมาธีรยุทธก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การให้อำนาจตุลาการแทรกแซงทางการเมืองเช่นนี้ เป็นการ “เพิ่มพื้นที่แห่งความยุติธรรมในสังคมไทยให้กว้างขวางขึ้น”
 
ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๐ เมื่อครบรอบปีรัฐประหาร ธีรยุทธ บุญมี ได้เสนอทัศนะเหลวไหลอย่างชัดเจนเมื่อออกมาประเมินว่า คณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจนั้น “สอบผ่าน” โดยไม่ได้วิเคราะห์เลยว่า การรัฐประหารเป็นการแก้ปัญหาทางการเมืองที่ถูกต้องหรือไม่ และไม่ได้พูดถึงลักษณะที่เป็นอนุรักษ์นิยมปฏิกิริยาของการรัฐประหารครั้งนี้ ไม่ได้พูดถึงการล้มระบอบรัฐสภา ทำลายประชาธิปไตย และฉีกรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าเป็นการรองรับการกระทำเหล่านั้นให้มีความชอบธรรมไปด้วย
 
พ.ศ.๒๕๕๒ เมื่อรัฐบาลพรรคพลังประชาชนของนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช บริหารประเทศ ธีรยุทธ บุญมี ได้อธิบายว่า สังคมไทยอยู่ในยุค ๕ เสื่อม คือ ความสามัคคีเสื่อม การเมืองเสื่อม สถาบันวิชาการ-สื่อเสื่อม กองทัพ-ชนชั้นนำเสื่อม และ คุณธรรมเสื่อม เหลือสถาบันเดียวที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้ คือ ศาลยุติธรรม ที่ยึดหลักปกครองโดยกฎหมายและความเป็นธรรม และยังได้อธิบายว่า การปกครองโดยกฎหมายนั้นเก่าแก่กว่าประชาธิปไตย เพราะการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยเสียงข้างมากอาจโน้มนำไปสู่เผด็จการรัฐสภา หรือการปกครองโดยแกนนำพรรคเสียงข้างมาก จึงต้องให้ตุลาการเข้ามาตรวจสอบ
 
สรุปได้ว่า ธีรยุทธ บุญมี มีความเห็นอย่างมั่นคงว่า อำนาจตุลาการและเป็นพลังในการแก้ปัญหาของสังคมไทย แต่คงจะต้องกล่าวแย้งว่า ข้อเท็จจริงในระยะ ๕ ปีมานี้ ไม่ได้พิสูจน์เลยว่า ข้อเสนอเรื่องตุลาการภิวัฒน์ถูกต้อง กลับกลายเป็นว่า พวกผู้พิพากษาเหล่านี้ เริ่มต้นด้วยการยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหาร นำเอากฎหมายรัฐประหารมาใช้เป็นหลักในการตัดสินอรรถคดี แล้วสร้างตนเองเป็นเทวดารุ่นใหม่ เงินเดือนสูง ต่ออายุราชการจนถึง ๗๐ ปี และยังยึดมั่นว่าตัวเองถูก แต่ไม่ได้ถูกตรวจสอบทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งเลย นอกจากนี้ การตัดสินคดีทางการเมืองก็ผิดพลาด ใช้เป็นบรรทัดฐานไม่ได้ จิตใจเหี้ยมโหดอำมหิต และ อนุรักษ์นิยม ริดรอนสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหา และชอบตัดสินให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เข้าคุกอยู่เสมอ ในที่สุด ตุลาการภิวัฒน์แทนที่จะเป็นแนวทางแก้ปัญหา กลับกลายเป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือของฝ่ายอำมาตย์ในการรักษาอำนาจ และปราบปรามประชาชน
 
หลังจากนั้นแล้ว ธีรยุทธ บุญมี ได้เงียบหายไประยะหนึ่ง หรือยุติบทบาทไปตลอดสมัยที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ได้กลับมาสวมเสื้อกั๊กเสนอข้อวิเคราะห์สังคมอีกครั้งในวันที่ ๑๘ มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นข้อเสนอที่เห็นจุดยืนอันไม่เปลี่ยนแปลงของธีรยุทธ และจะทำให้การวิเคราะห์สถานการณ์บิดเบี้ยวไปด้วย
 
ธีรยุทธเริ่มโดยอธิบายว่า การเมืองของสมัยปัจจุบัน เป็นยุคของ”ทักษิณ-การเมืองรากหญ้า ประชานิยม” วิกฤตการเมืองไทยรุนแรง เพราะการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่า เสื้อแดงไม่มีตัวตนเพราะถูกจ้างมา โง่จึงถูกหลอกมา ไร้การศึกษาจึงถูกชักจูงโดยทักษิณ แต่ชาวรากหญ้าเสื้อแดงกลับมองว่า ทักษิณมีบุญคุณล้นเหลือเพราะประชานิยม แต่เขายังเห็นว่า ประชานิยมน่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงในอนาคต พลังรากหญ้าเสื้อแดงมีลักษณะเฉพาะ ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และการชุมนุมเป็นครั้งคราว แต่ยังไม่เป็นขบวนการการเมือง ไม่มีเป้าหมายอุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองแต่อย่างใด จากนั้น ก็ได้พยายามอธิบายว่า รากเหง้าของปัญหามาจากการรวมศูนย์อำนาจ และความเหลื่อมล้ำที่มากเกินไป จึงเกิดสภาพการเมืองแบบ ๒ ขั้วอำนาจ คือ ศูนย์อำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับศูนย์อำนาจรากหญ้า แต่ละส่วนมีฐานที่มั่น ที่มาความชอบธรรม  ควบคุมอำนาจที่ต่างกันชัดเจน จึงไม่มีทางออกจากการรอมชอมในระยะสั้น เพราะปัญหาฝังลึกมานาน
 
ธีรยุทธ อธิบายต่อไปว่า ทางออกของเรื่องจะต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ เช่น ต้องคิดเรื่องประชาธิปไตยรากหญ้าที่มีการตรวจสอบ เรื่องผลร้ายของประชานิยม เรื่องการปรับตัวเข้าหากันของกลุ่มที่ขัดแย้ง ใจความสำคัญอยู่ที่ ธีรยุทธ เสนอว่า “โดยส่วนตัวผู้เขียนยังเชื่อว่าทักษิณไม่ได้เชื่อมั่นการสร้างประชาธิปไตยรากหญ้าจริงๆ จะเห็นได้จากการปราศรัยกับชาวบ้าน ไม่ได้เห็นประเด็นที่เป็นโครงสร้างยั่งยืน นอกจากอ้อนวอนขอกลับมาเมืองไทย ทักษิณมีลักษณะเป็นผู้นำการตลาดมากกว่าผู้นำประชาธิปไตย ทักษิณมุ่งหวังรากหญ้าเป็นลูกค้าซื้อสินค้าของตนเป็นประจำสม่ำเสมอ มากกว่าจะให้รากหญ้าเป็นรากฐานที่ยั่งยืนมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเมืองไทย หรือเป็นขบวนการการเมืองที่มีเป้าหมาย” และว่า “ประเทศเราแตกแยก ด่าทอกันเอง ใช้ความรุนแรงต่อกันเพียงเพื่อแก้ปัญหาการซุกหุ้น หนีภาษี ความไม่รู้จักอิ่มในทรัพย์สิน อำนาจของทักษิณเท่านั้น”
 
ในกรณีนี้เอง จึงจับได้ว่า ธีรยุทธก็ยังคงเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นปัญหาหลักของบ้านเมือง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่มีความแตกต่างไปจาก พรรคประชาธิปัตย์ หรือ ฝ่ายพันธมิตร เพียงแต่ว่า ธีรยุทธพยายามใช้คำอธิบายอันวกอ้อมให้ดูเป็นกลาง และไม่ให้เห็นว่า เป็นการมุ่งโจมตีฝ่ายประชาชนรากหญ้ามากเกินไป แม้ว่าจะไม่ได้เสนอหลักตุลาการภิวัฒน์ แต่ก็ยังแฝงนัยว่าฝ่ายทักษิณเป็น”คนชั่ว” และ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็น”คนดี” จึงต้องให้ฝ่ายคนดีหาแนวทางใหม่ในการอธิบายแก่สังคมให้เป็นที่ยอมรับ
 
ประเด็นสำคัญที่ธีรยุทธไม่ได้พูดถึงมีหลายเรื่อง เช่น การเข่นฆ่าสังหารประชาชนที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ใน พ.ศ.๒๕๕๓ การใช้มาตรา ๑๑๒ เป็นเครื่องมือในการปราบปรามประชาชน และบทบาทของฝ่ายอำมาตย์ในการทำลายล้างประชาธิปไตย แต่กลับเสนอว่า “เป็นที่ประจักษ์ชัดจากความขัดแย้งปัจจุบันว่า ได้ลุกลามไปถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์” เขาจึงไม่มีความเข้าใจในปรากฎการณ์ตาสว่างที่เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ข้อวิเคราะห์ของเขาจึงไม่มีอะไรใหม่ และไม่เป้นประโยชน์ต่อประชาชนแต่อย่างใด
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net