Skip to main content
sharethis

นักวิชาการจากสวีเดนระบุ ผลการศึกษาสถิติชี้ชัด ความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งความสูญเสียจากความรุนแรงเหล่านั้นกำลังลดลงโดยภาพรวม ขณะในชายแดนใต้ของไทยสวนกระแสในเอเชียตะวันออกที่กลายเป็นภูมิภาคที่สงบมากกว่าที่อื่นๆ


Isak Svensson

อนุสนธิจากการที่ผู้จัดงานวันสื่อทางเลือกหนล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 มีการเชิญผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไอแซค สเวนซัน (Isak Svensson) นักวิชาการจากภาควิชาการวิจัยสันติภาพและความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยอุปซาลา ประเทศสวีเดน เข้าร่วมวงเสวนา เรื่องบทบาทสื่อทางเลือกในการสร้างสันติภาพ

ไอแซค สเวนซัน ได้ประเมินภาพความขัดแย้งไว้สั้นๆ อย่างน่าสนใจ “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” จึงได้นัดหมายพูดคุยเพิ่มเติมเพื่อหาคำอธิบาย เรื่องแนวโน้มของความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ ที่ได้จากการศึกษาของนักวิชาการรายนี้จากโครงการที่กำลังเดินหน้าในนิวซีแลนด์ 

ไอแซค สเวนซัน ซึ่งศึกษาเรื่องของปัญหาความขัดแย้ง ตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ยืนยันว่า แม้ตัวเลขจากการศึกษาอาจจะขัดกับความรู้สึกของผู้คนจำนวนมากที่ยังอยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้ง แต่สถิติแสดงให้เห็นแนวโน้มชัดเจนว่า ความขัดแย้งชนิดที่มีการใช้กำลังและความสูญเสียที่เกิดจากความขัดแย้งประเภทนี้ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก กำลังลดลง 

และที่ลดนั้น มิใช่เพราะความขัดแย้งนั้นๆ กลายรูปไปเป็นความขัดแย้งชนิดอื่นแต่อย่างใด

การศึกษาของสเวนซัน ตีกรอบความขัดแย้งไว้ที่ประเภทของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังหรืออาวุธ และเป็นความขัดแย้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ตั้งแต่ปีละ 25 คนขึ้นไปเป็นอย่างต่ำ ซึ่งถือว่า เป็นความขัดแย้งในระดับย่อย

หากมีผู้เสียชีวิตระดับปีละนับพันคนขึ้นไปถือได้ว่าเป็นสงคราม การให้คำจำกัดความดังกล่าวนี้ สเวนซันระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และไม่เกี่ยวข้องกับคำจำกัดความ ตามข้อกำหนดของกฎหมายระหว่างประเทศ

สำหรับความขัดแย้งประเภทที่มีการใช้กำลัง (armed conflict) นี้ ไอแซค สเวนซัน ขยายความว่า มักจะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับรัฐ หรือรัฐกับกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ อาจจะเป็นการใช้อาวุธทั้งคู่หรือมีแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ใช้อาวุธ โดยที่อีกฝ่ายเป็นผู้ถูกกระทำ กับอีกแบบคือ คู่กรณีที่ไม่ใช่รัฐทั้งคู่

ความขัดแย้งที่มีรัฐเป็นคู่กรณีและเป็นความขัดแย้งแบบมีการใช้กำลังมักเป็นรูปแบบของความขัดแย้งที่ได้รับความสนใจและหลายฝ่ายพยายามสนับสนุนให้มีการแสวงหาหนทางยุติ ทั้งนี้เพราะความขัดแย้งแบบนี้มักจะเป็นความขัดแย้งที่ทำให้เกิดความสูญเสียมาก

การศึกษาความขัดแย้งที่เริ่มจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สเวนซัน พบว่า ความขัดแย้งที่ศึกษาในระยะต้นๆ เป็นความขัดแย้งชนิดที่เข้มข้นมาก มีความสูญเสียมาก หลังจากสงครามโลกสงบ ความขัดแย้งหรือการต่อสู้กันเพิ่มจำนวนขึ้น ทว่าความเข้มข้นเริ่มลดลง 

จำนวนของความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังนั้น สถิติระบุไว้ว่า มีมากที่สุดในช่วงปี พ.ศ.2534 - 2535 ก่อนจะเริ่มลดลง ความขัดแย้งที่ปรากฏมากดังกล่าวนี้ เป็นความขัดแย้งระดับย่อย ซึ่งสเวนซันระบุว่า กลายเป็นแนวโน้มของโลกในปัจจุบัน ในขณะที่สงครามโลกสร้างความสูญเสียอย่างมากเพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐต่อรัฐ และมีผู้เข้าร่วมในความขัดแย้งหรือสงครามอันนั้นหลายราย

“ยิ่งมีผู้สนับสนุนจากภายนอกมาก ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงและมีโอกาสเกิดความสูญเสียมาก” 

นอกจากสงครามโลกแล้ว ตัวอย่างอื่นที่เป็นความขัดแย้งที่มีการใช้กำลังที่สร้างความสูญเสียมาก ล้วนมีลักษณะคล้ายกัน เช่น สงครามเกาหลี การปราบกบฏในจีน สงครามอิรัก-อิหร่าน สงครามในคองโก อัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เข้มข้น และมีคู่ความขัดแย้งเป็นรัฐ หรือเป็นรัฐขนาดใหญ่ และการมีคนนอกให้การสนับสนุน เช่น ในสงครามเกาหลีที่มีมหาอำนาจหนุนหลัง เป็นต้น

ความขัดแย้งที่รัฐเป็นคู่กรณี ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจรัฐ กล่าวคือใครควรจะได้เป็นผู้ใช้อำนาจในการปกครองนั้น และควรใช้ในลักษณะใด หรือไม่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเป็นการเรียกร้องอำนาจในการปกครองตนเอง

สเวนซัน ชี้ว่า สาเหตุทั้งสองประการนี้เป็นเหตุผลหลักของความขัดแย้ง ที่เป็นกรณีศึกษาหลักระหว่างช่วงปี พ.ศ.2489 -2554 ด้วยสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม สเวนซัน กล่าวด้วยว่า ในระยะหลังความขัดแย้งประเภทที่รัฐเป็นคู่กรณีนั้นมีจำนวนที่ลดลง

ในแง่ของปัจจัยที่จะช่วยระงับหรือยุติความขัดแย้ง เงื่อนไขหลักๆ ที่ผู้ศึกษาพบมี 4 ประการด้วยกันคือ 

หนึ่ง มีการใช้กองกำลังต่างชาติเข้าไปรักษาสันติภาพ 

ถัดมาคือการเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งอาจจะมีได้หลายระดับ ตั้งแต่ระดับนำลงไปจนถึงระดับประชาชน 

ประการที่สาม คือ เมื่อมีการตกลงกันได้ ให้ใช้ระบบแบ่งปันอำนาจบริหารร่วมกันระหว่างคู่ความขัดแย้ง (power sharing) 

และประการสุดท้าย ก็คือ การได้อำนาจปกครองตนเอง ซึ่งโดยอีกนัยหนึ่งก็ถือได้ว่าเป็นการแบ่งปันการใช้อำนาจบริหารร่วมกันประเภทหนึ่ง  

ทางออกแต่ละอย่าง มีน้ำหนักและความเป็นไปได้แตกต่างกันไป แล้วแต่สถานการณ์และไม่มีคำตอบตายตัวว่า ความขัดแย้งประเภทใดจะต้องใช้ทางออกแบบใด 

แต่ไม่ว่าจะลงเอยที่ทางแก้ไขแบบไหน สเวนซัน บอกว่า สิ่งที่จะทำให้หนทางสันติภาพนั้นยั่งยืน ก็คือการที่ต้องมีคู่กรณีร่วมอยู่ด้วยในการแสวงหาสันติภาพนั้น และด้วยเหตุดังนั้น การแบ่งปันอำนาจหรือการให้อำนาจปกครองตนเอง จึงมักเป็นทางออกที่ยั่งยืนมากกว่า

แต่การที่คู่กรณีหรือสถานการณ์จะอยู่ในสภาพสุกงอม พร้อมสำหรับการหาทางยุติความขัดแย้งได้นั้น สเวนซัน ชี้ว่า ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งแต่ละกรณีไป บางครั้งความขัดแย้งนั้นกินเวลาไม่นานแค่ปีเดียว คู่กรณีก็อยู่ในสภาพพร้อมจะหาทางออกหรือข้อยุติได้

แต่หลายครั้ง ความขัดแย้งนั้นกินเวลายืดเยื้อยาวนาน กว่าที่แต่ละฝ่ายจะยินยอมพร้อมใจร่วมมือแสวงหาสันติภาพ 

ที่เป็นเช่นนี้ นักวิชาการสวีเดนรายนี้ชี้ว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า คู่กรณีหรือคู่ความขัดแย้งจะมองเห็นผลเสียที่เกิดอันเนื่องมาจากความขัดแย้งนั้นว่า มากเกินกว่าที่จะรับได้หรือยัง หากคู่กรณีรู้สึกว่าต้นทุนของการสานต่อความขัดแย้งนั้น แพงและหนักเกินกว่าจะรับได้ ก็จะรู้สึกว่าต้องการแสวงหาทางออกมากขึ้น

ประชาชนทั่วไปเอง ก็สามารถมีบทบาทในการผลักดันให้เกิดการแสวงหาทางออกและสันติภาพได้ สเวนซัน ยกตัวอย่างการเคลื่อนไหวของประชาชนในกรณี นอร์ทเทิร์นไอร์แลนด์หรือไอร์แลนด์เหนือ ที่ได้ลงประชามติหาทางออกให้กับความขัดแย้งที่นั่นที่กินเวลายาวนาน

สเวนซัน เผยว่า เขากำลังจะเริ่มศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้ของไทย 

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับความขัดแย้งที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ มันทำให้ประเทศไทยเดินสวนทางกับแนวโน้มของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งเมื่อมองโดยเปรียบเทียบแล้ว จะพบว่า มีสันติภาพมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ของโลก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net