สหภาพโฮยายื่นหนังสือผู้ว่าลำพูน เตรียมพบ กมธ.แรงงาน 28 มี.ค. นี้

สหภาพโฮยาขอผู้ว่าเจรจาบริษัทช่วยรับพนักงานที่ยังไม่ได้เข้าทำงานประมาณ 120 คน เตรียมเข้าพบให้ข้อมูล กมธ.แรงงาน 28 มี.ค. 55 นี้
 
27 มี.ค. 55 - ตัวแทนสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ พร้อมกรรมการสหภาพฯ จำนวน 10 คน ได้เดินทางมาพบนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ที่ศาลากลาง จ.ลำพูน เพื่อขอยื่นหนังสือขอให้ทางผู้ว่าฯ ช่วยเจรจากับผู้บริหาร บริษัทโฮยากลาสดิคส์(ประเทศไทย)จำกัด ช่วยรับพนักงานที่ยังไม่ได้เข้าทำงานประมาณ 120 คน ให้กลับเข้าทำงานที่บริษัทเหมือนเดิม เนื่องจากพนักงานที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าวกำลังได้รับความเดือดร้อนเรื่องไม่มีรายได้ ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าเช่าที่พักรายเดือน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในครอบครัวของตน โดยหลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้รับหนังสือจากนายอัครเดชเรียบร้อยแล้ว ได้รับปากว่าจะช่วยเจรจากับทางบริษัทโฮยากลาสดิสค์(ประเทศไทย)จำกัด ช่วยให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานเหมือนเดิม หากมีความคืบหน้าเป็นอย่างไรจะแจ้งให้ทราบต่อไป 
 

 

สถานการณ์ การเลิกจ้าง พนักงานบริษัทโฮย่า กลาสดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด

สถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมาส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพ มากน้อยแตกต่างกันไป และกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งถูกน้ำท่วม ไล่มาตั้งแต่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ที่ อ.อุทัย นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ที่ อ.บางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน แฟตตอรี่แลนด์ เขตส่งเสริมนิคมอุตสาหกรรมนวนคร และนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี จังหวัดปทุมธานี

ซึ่งมีการคาดการณ์จะส่งผลกระทบต่อลูกจ้าง กว่า 500,000 คน ถึงแม้ว่าจะมีการทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานกับผู้ประกอบการโดย ให้เงินช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการจ่าย เงินเดือนค่าจ้างให้กับลูกจ้าง 2,000 บาท/เดือน/ราย โดยผู้ประกอบการต้องทำข้อตกลงจะว่าจ้างลูกจ้าง 3 เดือนขึ้นไปเป็นอย่างน้อย และบริษัทจะต้องจ่าย 75 % แต่หลังจากนั้นไม่นาน มีหลายบริษัทได้เลิกจ้างลูกจ้าง ซึ่งกระจายไปในหลายพื้นที่ ทั้งอยุธยา รังสิต อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมโดยตรง และที่สำคัญใน พื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากน้ำท่วมได้แก่ภาคตะวันออก และภาคเหนือ ก็มีการประกาศใช้มาตรา 75 หยุดงานและจ่ายค่าจ้าง75 % และเลิกจ้างด้วยเช่นกันโดยอ้างเหตุผลว่า น้ำท่วมทำให้ออร์เดอร์สินค้าลดลง

 

บริษัทโฮย่ากลาสดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดลำพูน เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่แจ้งต่อพนักงานว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยประมาณเดือนตุลาคม 2554 บริษัทฯ จัดทำโครงการเกษียณอายุ เพื่อลดจำนวนพนักงาน ต่อมาเดือนพฤศจิกายน ได้ประกาศใช้มาตรา 75 ในโรงงานที่ 2 โดยจ่ายค่าจ้าง75% เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2554 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2554 บริษัทฯ ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานในโรงงานที่ 2 ทั้งหมดจำนวนเกือบ 2,000 คน โดยให้การเลิกจ้างเป็นผลในวันที่ 21 มกราคม 2555

การเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทโฮย่าฯ แจ้งเหตุผลว่า “ประสบ กับปัญหาการขาดทุนตั้งแต่เดือน เมษายน 2554 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบส่งผลให้ยอดการผลิตมีปริมาณลดลงเป็นจำนวนมาก” ซึ่งหากมองอย่างเผิน ๆ ก็น่าจะเชื่อได้ว่าการที่บริษัทโฮย่าทำเช่นนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์น้ำท่วมจริง ๆ ไม่มีเหตุผลอื่นแฝงอยู่

แต่จากการวิเคราะห์ของสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) โดยพูดคุยกับสมาชิกของสหภาพ พบว่ามีหลายประเด็นที่น่าสงสัยว่า การประกาศเลิกจ้างของบริษัทโฮย่าฯ ในครั้งนี้เป็นเหตุมาจากน้ำท่วมอย่างเดียวจริงหรือไม่? หรือมีเหตุผลอื่นที่แฝงอยู่ เนื่องจากฝ่ายบริหารของบริษัทโฮย่าฯ แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการเลิกจ้างลูกจ้างในโรงงานที่ 2 ทั้งหมด โดยบริษัทประกาศเป็นโครงการสมัครใจเลิกจ้างเฉพาะโรงงานที่ 2  และหากมีลูกจ้างในโรงงานที่ 2 ไม่สมัครใจเข้าร่วมโครงการฯ ก็จะเลิกจ้างลูกจ้างในโรงงานที่ 2  ทั้งหมดอยู่ดี โดยโครงการสมัครใจเลิกจ้างไม่ให้ลูกจ้างจากโรงงานที่ 1 เข้าร่วม นอกจากนี้ หลังจากที่มีประกาศออกมาเช่นนี้ สหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สอส.) ได้คัดค้านการเลิกจ้างนี้ และได้มีการเจรจาระหว่างสหภาพแรงงาน และฝ่ายบริหารของบริษัทฯ  ในวันที่ 9 ธันวาคม 2554 ซึ่งไม่สามารถตกลงกัน แต่ฝ่ายบริหารของบริษัทโฮย่าฯ ได้รับปากว่าจะมีการเปิดโครงการสมัครใจเลิกจ้างทั้งโรงงานที่ 1 และโรงงานที่ 2 แต่ หากคนงานสมัครเข้าร่วมโครงการเลิกจ้างโดยสมัครใจไม่ครบจำนวน ก็จะเลิกจ้างคนงานโรงงานที่ 2 จนกว่าจะครบตามจำนวน ทำให้เกิดคำถามว่า ทำไมถึงต้องเลิกจ้างคนงานที่โรงงานที่ 2 ให้ได้ ? ซึ่งสหภาพแรงงานได้ตั้งข้อสังเกตดังนี้

1.) เป็นการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ประมาณ 1,800 คน ขึ้นไป โดยเลือกทำการเลิกจ้างเฉพาะพนักงานโรงงาน 2  ซึ่งในโรงงานดังกล่าวมีสมาชิกสหภาพแรงงาน และกรรมการสหภาพแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก
 
2.) เป็นการพยายามทำลายสหภาพแรงงาน   เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อปี 2551 ได้มีการเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานยกชุดและหามออกนอกโรงงานมาแล้ว แต่ผลสุดท้ายบริษัทฯต้องรับกลับเข้าทำงาน ซึ่งบริษัทจะจัดให้คณะกรรมการสหภาพทำงานที่โรงงาน 2 เป็นส่วนใหญ่
 
3.) ตัวเลขผลกำไรของบริษัทฯที่ผ่านมาล่าสุดปี 2553 มีกำไรที่  591 ล้านบาท จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ แต่บริษัทฯอ้างว่าดำเนินการขาดทุน
 
4.) กล่าวอ้างถึงสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย  ในขณะที่บริษัทคู่ค้า ที่ประสบภาวะน้ำท่วม อย่างหนักที่จังหวัดอยุธยา  ก็ไม่มีการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากเช่นนี้เกิดขึ้น
 
5.) บริษัทฯ มิได้มีการปิดโรงงานอย่างถาวร  แต่ได้มีการวางแผนเตรียมการผลิตครั้งใหม่ขึ้น  ประมาณเดือนเมษายน 2555
 
6.) เป็นการหลีกเลี่ยงนโยบายการเพิ่มค่าจ้าง 40%  ให้พนักงาน ที่จะมีการปรับในปี 2555 นี้ ทั้งนี้เนื่องจากข้อตกลงเดิมบริษัทฯจะต้องจ่ายเพิ่มตามส่วนต่าง
 
7.) การเลิกจ้างครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ซึ่งไม่สนับสนุนให้มีการเลิกจ้างพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม   

ซึ่งหลังจากที่บริษัทฯ ได้ประกาศโครงการสมัครใจเลิกจ้างในโรงงานที่ 1 ซึ่งในประกาศฉบับนี้ มีประเด็นที่สงสัย คือ การที่คนงานในโรงงานที่ 1 ที่จะเข้าร่วมโครงการสมัครใจเลิกจ้าง บริษัทจะพิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นหรือปัญหาทางด้านครอบครัวของพนักงาน เช่น สามี หรือภรรยาของพนักงานที่ทำงานอยู่ที่โรงงานที่ 2

และเมื่อมีคนงานจากโรงงานที่ 1 มาสมัครเข้าร่วมโครงการสมัครใจเลิกจ้าง ทางฝ่ายจัดการก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับเข้าร่วมโครงการ ฯ โดยบอกว่า คนงานโรงงานที่ 1 ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นสามี หรือภรรยาของคนงานโรงงานที่ 2 ตามประกาศเท่านั้น

การกระทำเช่นนี้ของบริษัทโฮย่าฯ ทำให้น่าสงสัยว่า การเลิกจ้างลูกจ้างของบริษัทโฮย่าฯ ครั้งนี้มีน่าจะมีเหตุผลอื่นแอบแฝงอย่างแน่นอน ไม่ใช่มีเหตุผลเฉพาะที่บริษัทฯ บอกว่าต้องเลิกจ้างคนงานในโรงงานที่ 2 เพราะคอร์สสูงกว่า ผลผลิตแย่กว่าประสิทธิภาพการผลิตต่ำกว่า เพราะมีข้อเท็จจริงบางอย่างที่น่าคิดว่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทแสดง เจตนารมณ์แน่วแน่เช่นนี้ คือ ในโรงงานที่ 2 นั้น มีคณะกรรมการสหภาพแรงงาน 19 คนจากทั้งหมด 28 คน และกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ซึ่งหากมีการเลิกจ้างคนงานโรงงานที่ 2 ทั้งหมดตามที่บริษัทโฮย่าฯ ยืนยัน ก็จะทำให้สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) อ่อนแอลงอย่างมาก และโอกาสที่จะเติบโตเข้มแข็งคงจะเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น นอกจากนี้ในอดีตที่ผ่านมาในช่วงเริ่มตั้งสหภาพแรงงาน บริษัทโฮย่าฯ ก็ใช้วิธีการเลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพแรงงานและแกนนำกว่า 60 คนเพื่อล้มล้างสหภาพแรงงานมาแล้ว ดังนั้นเหตุการณ์เลิกจ้างครั้งนี้ของบริษัทโฮย่าฯ จึงทำให้น่าคิด และน่าจับตามองยิ่งขึ้นว่าบริษัทโฮย่าฯ  “เลิกจ้างเพราะน้ำท่วม หรือข้ออ้างในการทำลายสหภาพแรงงาน” อีกครั้ง ?

ณ ปัจจุบัน การเลิกจ้างทั้งการรับสมัครคนงานเข้าร่วมโครงการสมัครใจให้เลิกจ้าง ซึ่งมีจำนวน ประมาณ 1,400 กว่าคน และอีกประมาณ 200 คน ที่ถูกเลิกจ้าง รวมแล้ว กว่า 1,600 คน ซึ่งเป็นคนงานของโรงงานที่ 2 เท่านั้น นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ขออำนาจศาลเพื่อเลิกจ้างกรรมการลูกจ้าง 7 คน ที่อยู่ที่โรงงานที่ 2 โดยกรรมการลูกจ้างทั้ง 7 คน เป็นกรรมการสหภาพแรงงานด้วย

 

 
นายอัครเดช กล่าวว่า ได้รับแจ้งว่านายนิทัศน์ ศรีนนท์ ประธานคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีหนังสือเชิญประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ ไปร่วมประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการแรงงาน ในวันที่ 28 มีนาคม 2555 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 3701 ชั้น 7 อาคารัฐสภา 3 ตามหนังสือร้องเรียน ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2554 เลขรับที่ 10/2555 ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการแรงงานให้ช่วยเหลือกรณีบริษัท โฮยากลาสดิคส์(ประเทศไทย)จำกัด เลขที่ 75/2 หมู่ที่ 4 ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ลำพูน เลิกจ้างพนักงานประมาณ 2,000 คน โดยไม่เป็นธรรม 
 
โดยคณะกรรมาธิการแรงงานได้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของสหภาพแรงงานฯ และเพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรอบคอบ ได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ จึงได้เรียนเชิญเข้าร่วมประชุมดังกล่าว และในวันที่ 27 มีนาคม 2555 เวลาประมาณ 18.00 น. นายอัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานฯ พร้อมพวกจำนวน 3 คน จะได้เดินทางไปร่วมประชุมโดยรถยนต์บัส(บขส.) หากประชุมกับคณะกรรมาธิการแรงงานเรียบร้อยแล้ว ก็จะเดินทางกลับทันที

 ที่มาข่าวบางส่วนจาก: เนชั่นทันข่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท