Skip to main content
sharethis

เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูล 7 กรณีปัญหา เดินหน้าร้องรัฐฯ จ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ผู้เดือดร้อน ก่อนผลักดันสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ และการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล แนะกระจายอำนาจ-งบประมาณให้ท้องถิ่นจัดการน้ำ

 
กว่า 20 ปี การลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูลในหลายพื้นที่ ผ่านมาแล้ว 12 รัฐบาล การแก้ไขปัญหายังไม่จบสิ้น ล่าสุดรัฐบาลปัจจุบันได้ผลักดันให้เกิดโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ อย่าง “โครงการโขง เลย ชี มูล” ที่ใช้งบประมาณมหาศาล ทั้งยังก่อให้เกิดความหวั่นเกรงว่าจะสร้างปัญหาให้คนอีสานไม่สิ้นสุด
 
วันที่ 27 มี.ค.55 เวลาประมาณ 9.00 น.เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูล 7 กรณีปัญหา ประกอบด้วย กรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนพนมไพร-ยโสธร เขื่อนธาตุน้อย เขื่อนหนองหานกุมภวาปี และเขื่อนห้วยหลวง ราว 300 คน รวมตัวกันที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล อ่านแถลงการณ์จี้รัฐบาลแก้ปัญหาโครงการโขง-ชี-มูล ให้เสร็จ หยุด! โครงการยักษ์ใหญ่ ผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล
 
แถลงการณ์ประกาศข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาเขื่อนในโครงการโขง-ชี-มูล โดยการจ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ผู้เดือดร้อนให้ครบถ้วน รวดเร็ว ให้ศึกษาผลกระทบที่เกิดหลังการก่อสร้าง และมีแผนในการฟื้นฟูธรรมชาติ ฟื้นฟูชุมชนอย่างเหมาะสม หากพบเขื่อนไหนก่อปัญหามากกว่าได้ประโยชน์ให้รื้อเขื่อนทิ้ง 2.ให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการผันน้ำ โขง เลย ชี มูลและโครงการอื่นๆ ทันที เพราะจะเกิดผลกระทบมากมายและไม่มีความคุ้มค่าที่จะสร้าง นอกจากจะสร้างกำไรให้กับธุรกิจสร้างเขื่อน
 
3.ให้มีการกระจายอำนาจและงบประมาณให้ชุมชนท้องถิ่น วางแผนและดำเนินการในการจัดการน้ำ และ 4.รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพง ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ โดยไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและพวกพ้อง
 
 
จากนั้น เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูล ได้เดินทางไปชุมนุมต่อที่บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีตัวแทนเข้าร่วมประชุมกำหนดทิศทางการแก้ปัญหากับตัวแทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมชลประทาน ก่อนการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนราษีไศล และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนาในวันที่ 28 มี.ค.55 และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนห้วยหลวง และคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการเขื่อนหนองหานกุมภวาปี วันที่ 29 มี.ค.55
 
นายพุฒ บุญเต็ม ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ตัวแทนกลุ่มสมัชชาคนจน กล่าวถึงการเจรจาในวันนี้ว่า โดยภาพรวมได้ข้อสรุปไปในทางที่ดี แต่การพูดคุยในวันนี้ไม่ใช่ข้อยุติเพราะยังต้องไปประชุมในคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งในส่วนหน่วยงานรัฐอาจมีการทักท้วงในเชิงเทคนิค หรือข้อกฎหมายที่ทำให้ไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามจากการสรุปบทเรียนที่ผ่านมาทำให้คิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเจรจากับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก่อน ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นการไปถกเถียงกันในเวทีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ จนไม่สามารถหาข้อสรุปได้
 
นายพุฒ กล่าวถึงการรวมตัวของเครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูลว่า มีขึ้นหลังการพูดคุยเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา จากชาวบ้านกรณีปัญหากลุ่มเล็กๆ โดยขณะนี้ถือว่าเป็นการรวมกันในขั้นต้น ต้องมีการสร้างการมีส่วนร่วมและกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันไปสำหรับสมาชิกเครือข่ายที่มีความหลากหลายมาก และในอนาคตคาดว่าจะมีการจัดเวทีร่วมพูดคุยระว่างแกนนำจากกรณีปัญหาต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันให้มากขึ้น
 
นายพุฒ กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาชาวบ้านมีความเชื่ออย่างหนึ่ง คือรอให้ราชการแก้ปัญหาให้ กลัวเจ้ากลัวนาย จึงเชื่อตามคำที่บอกว่าไม่ต้องมาเดินขบวนเคลื่อนไหว แต่การลุกขึ้นมาของสมัชชาคนจนเมื่อราวปี 2536 แล้วได้รับการชดเชยและเกิดการศึกษาผลกระทบของโครงการ ทำให้เห็นเป็นแนวทาง แม้ว่าในช่วงแรกจะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนที่ได้ค่าชดเชยกับคนที่ไม่ได้ เมื่อมาถึงปัจจุบันชาวบ้านแต่ละกลุ่มต่างประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน ทั้งการชดเชยเรื่องที่ดิน การฟื้นฟูผลกระทบ และวิถีชีวิต โดยมีโจทก์หลักเดียวกันคือกรมชลประทานและรัฐบาล จึงต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อสร้างพลัง
 
ทั้งนี้ เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูล ชี้แจงข้อมูลว่า โครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล โดยการสร้างเขื่อน 14 เขื่อนในภาคอีสาน เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา นอกจากได้ผลไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ตามเป้าแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหนักต่อชาวอีสาน ทั้งการสูญเสียที่ดินทำกิน โดยรัฐไม่เคยมีแผนว่าจะชดเชยใดๆ เกิดภาวะน้ำท่วมผิดปกติ สูญเสียพื้นที่ป่าทาม เฉพาะเขื่อนราษีไศลที่เดียว มีน้ำท่วมป่าทามที่เป็นระบบนิเวศสำคัญของภาคอีสานไปถึง 1 แสนไร่  ผู้สูญเสียที่ดิน 7,700 ครอบครัว และเดือดร้อนทางตรงทางอ้อมไม่น้อยกว่า 10,000 ครอบครัว โดยที่เขื่อนเหล่านี้ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการก่อสร้าง ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและไม่มีการมีส่วนร่วมจากชุมชน
 
 
 
 
แถลงการณ์
 
เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขงชีมูล
 
รัฐต้องแก้ปัญหาโครงการโขง ชี มูล ให้เสร็จ
หยุด !โครงการยักษ์ใหญ่ ผันน้ำโขง เลย ชี มูล
 
โครงการผันน้ำ โขง ชี มูล โดยการสร้างเขื่อน ๑๔ เขื่อนในภาคอีสาน เมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมา  นอกจากได้ผลตามเป้าไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างหนักต่อชาวอีสาน ทั้งการสูญเสียที่ดินทำกินโดยรัฐไม่เคยมีแผนว่าจะชดเชยใด ๆ เกิดภาวะน้ำท่วมผิดปกติ สูญเสียพื้นที่ป่าทาม เช่น เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนหนองหานกุมภวาปี เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนพนมไพร-ยโสธร เขื่อนธาตุน้อย  เฉพาะเขื่อนราษีไศลที่เดียว มีน้ำท่วมป่าทามที่เป็นระบบนิเวศสำคัญของภาคอีสานไปถึง ๑ แสนไร่  ผู้สูญเสียที่ดิน ๗,๗๐๐ ครอบครัว และเดือดร้อนทางตรงทางอ้อมไม่น้อยกว่า ๑ หมื่นครอบครัว
 
เขื่อนเหล่านี้ไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการก่อสร้าง ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะและไม่มีการมีส่วนร่วมจากชุมชน ต่อมา เมื่อการศึกษาผลกระทบหลังการสร้างเขื่อนราษีไศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยอมรับและกล่าวว่า “ถ้ามีการศึกษาก่อนก็คงไม่มีการสร้าง”
 
การลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขง ชี มูล หลายพื้นที่ ผ่านมาแล้ว ๑๒ รัฐบาล ประชาชนเป็นผู้ถูกกระทำจากอำนาจรัฐที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา หน่วงเหนี่ยวซื้อเวลา อีกทั้งหน่วยงานรัฐยังมีกระบวนการสร้างให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบกันเองอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “๑๒ ราษี”
 
๒๐ ปีที่ผ่านมาประสบการณ์ที่เกิดจากการต่อสู้ของคนในลุ่มน้ำได้ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับหน่วยงานสร้างเขื่อนและจัดการน้ำ มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า “การสร้างเขื่อนนั้นไม่ใช่คำตอบที่ดีสำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมและแล้ง แต่ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาซึ่งไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน” 
 
แต่ขณะนี้รัฐบาลได้ผลักดันให้เกิดโครงการผันน้ำขนาดใหญ่ต่อจากโครงการโขงชีมูล เช่น “โครงการโขงเลย ชี มูล” ซึ่งจะใช้งบประมาณมหาศาล และจะสร้างปัญหาให้คนอีสานไม่สิ้นสุด
 
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโขงชีมูลจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนี้
 
๑.รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาเขื่อนในโครงการโขงชีมูล โดยการจ่ายค่าชดเชยที่ดินให้ผู้เดือดร้อนให้ครบถ้วน รวดเร็ว ให้ศึกษาผลกระทบที่เกิดหลังการก่อสร้าง และมีแผนในการฟื้นฟูธรรมชาติ ฟื้นฟูชุมชนอย่างเหมาะสม  หากพบเขื่อนไหนก่อปัญหามากกว่าได้ประโยชน์ ให้รื้อเขื่อนทิ้ง
๒.ให้ยุติการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่และการผันน้ำ โขงเลยชีมูลและโครงการอื่นๆ ทันที เพราะจะเกิดผลกระทบมากมายและไม่มีความคุ้มค่าที่จะสร้าง นอกจากจะสร้างกำไรให้กับธุรกิจสร้างเขื่อน
๓.ให้มีการกระจายอำนาจและงบประมาณให้ชุมชนท้องถิ่น วางแผนและดำเนินการในการจัดการน้ำ
๔.รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าแพง ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ โดยไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนและพวกพ้อง
 
                                   ด้ ว ย ค ว า ม เ ชื่ อ มั่ น ใ น พ ลั ง ป ร ะ ช า ช น
 
เครือข่ายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ โขงชีมูล / เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา เขื่อนร้อยเอ็ด เขื่อนพนมไพร-ยโสธร เขื่อนธาตุน้อย เขื่อนหนองหานกุมภวาปี  เขื่อนห้วยหลวง
 
๒๗     มีนาคม  ๒๕๕๕ ณ ทำเนียบรัฐบาล
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net