Skip to main content
sharethis

สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์-พระปกเกล้า-ทีดีอาร์ไอ-วิจัยสังคม จุฬา-สมาคมนักข่าว จับมือแถลงภารกิจขยายพื้นที่เสรีภาพ เตรียมจัดเวทีถก 8 ประเด็นหลัก สถาบันพระมหากษัตริย์, hate speech, ความเหลื่อมล้ำ, กระบวนการยุติธรรม, ประชานิยม, ชาตินิยม,เสรีภาพในการประท้วง ประเดิมครั้งแรกชวนนักวิชาการถกเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ

28 มี.ค.55 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5 สถาบันร่วมแถลงข่าว “ภารกิจขยายพื้นที่เสรีภาพให้กับสังคมไทย 80 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง2475 และ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516” โดย ธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย แถลงว่า ภารกิจนี้เริ่มต้นที่ 5 สถาบันแต่หวังจะขยายแนวร่วมออกไปเรื่อยๆ โดยกิจกรรมจะออกมาในรูปแบบเวทีสาธารณะทางวิชาการ ในช่วงปั 2555-2556 ในประเด็นที่จำเป็นต่อสังคมไทยและอาจจะมีการทำงานวิจัยด้วย

ทั้งนี้ ในวันนี้เป็นการแถลงข่าวเปิดตัวความร่วมมือ จากนั้นมีการจัดเสวนาวิชาการเกี่ยวกับประเด็น “เสรีภาพในสังคมไทย” โดยเน้นเสรีภาพทางวิชาการ โดยการแถลงข่าวในวันนี้มีผู้สื่อข่าวเข้าร่วมจากหลากหลายสำนัก สำหรับรายชื่อ 5 สถาบัน ได้แก่ สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ธีรยุทธ กล่าวถึงประเด็นที่จะมีจัดเวทีวิชาการ โดยมีกำหนดคร่าวๆ ประมาณ 2 เดือนต่อ 1 หัวข้อ คือ

1.เสรีภาพในสังคมไทย
2.ปัญหาทุรวาทกรรม โทสะวาท หรือ hate speech จะแก้ไขอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
3.การแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างยั่งยืน
4.กระบวนการยุติธรรมกับประเทศไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน
5.นโยบายประชานิยม ผลดี ผลเสีย ต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทย
6.ความคิด “ชาตินิยม” ข้อดี ข้อเสีย
7. ความหมาย ความสำคัญ ของเสรีภาพในการประท้วง การแสดงหาจุดร่วม ความเหมาะสม ความพอดีในการประท้วง
8.สถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมเสรีประชาธิปไตยและในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารและโลกาภิวัตน์  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเอกสารแถลงข่าวที่แจกผู้สื่อข่าวไม่มีข้อ 8 แต่นายธีรยุทธได้เพิ่มเติมภายหลังโดยระบุว่ามีการพิมพ์ตกหล่น และย้ำว่าข้อสุดท้ายเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งที่พิจารณากันตั้งแต่ต้น และเป็นประเด็นที่สำคัญมาก ทั้งนี้ ทั้ง 5 สถาบันเห็นพ้องกันว่า

“ปัจจุบันมาถึงยุคสมัยที่ควรจะขยายพื้นที่ทางสิทธิเสรีภาพให้กว้างขวางเพิ่มเติมขึ้นอีกโดยหลักการว่า เสรีภาพก็คือ การใช้สิทธิอำนาจของตัวเองเพื่อรับผิดชอบต่อตัวเอง ผู้อื่น และส่วนร่วม การขยายพื้นที่เสรีภาพจึงบ่งชี้ว่า ประชาชนทุกคนทุกฝ่ายเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน จึงมีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องมีเสรีภาพในการแสดงออกในการเสนอประเด็นปัญหา องค์ความรู้ ทัศนะต่างๆ ที่จะทำความเข้าใจปัญหา ผลดี ผลเสีย หนทางแก้ไขในทุกๆ ประเด็น”

“ถ้ามันมีบางปัญหาที่พูดถึงมันไม่ได้ เสนอแนะไม่ได้ ความรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศก็จะลดน้อยลงไป ก็เป็นปัญหาว่าประเทศนี้จะก้าวต่ออย่างไร” ธีรยุทธกล่าว

ตอนนี้นักวิชาการไม่กล้าแสดงออก เพราะเวลานี้ง่ายต่อการถูกตีตรา

มีต้นทุนในการแสดงออกที่ค่อนข้างสูงมาก

เราเห็นตัวอย่างของนักวิชาการที่พยายามแสดงออกความคิดแล้วมีปัญหา

อาจต้องคดี ถูกแบล็กลิสต์เรื่องงานวิจัย

นิพนธ์ พัวพงศธร

นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวว่า เหตุผลที่ต้องจัดเวทีเสวนาวิชาการเช่นนี้ เพราะสภาวะที่สังคมมีความขัดแย้งสูง ทางออกค่อนข้างตีบตัน เสรีภาพทางวิชาการจะช่วยแสวงหาทางออกจากภาวะตีบตันได้ นอกจากนี้รัฐบาลยังสนใจแต่นโยบายระยะสั้น นโยบายสาธารณะไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างได้  เสรีภาพทางวิชาการจะช่วยนำเสนอทางออกขณะเดียวกันก็เติมเต็มพื้นที่เสรีภาพในสังคม โดยเฉพาะเสรีภาพที่มากับความรับผิดชอบ  

“ตอนนี้นักวิชาการไม่กล้าแสดงออก เพราะเวลานี้ง่ายต่อการถูกตีตรา มีต้นทุนในการแสดงออกที่ค่อนข้างสูงมาก เราเห็นตัวอย่างของนักวิชาการที่พยายามแสดงออกความคิดแล้วมีปัญหา อาจต้องคดี ถูกแบล็กลิสต์เรื่องงานวิจัย”นิพนธ์กล่าวและว่าเวทีเช่นนี้น่าจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

 

ในอีกด้านหนึ่งเสรีภาพทางวิชาการคือการเลือกเสพผลงานทางวิชาการของสังคมและสื่อด้วย

เราต้องดูการเลือกเสพวิชาการของสื่อไทยและของสังคมไทยด้วยว่าเสพยังไง

วันนี้สิ่งที่เราพบข้อหนึ่งจากรายงานปรองดองของพระปกเกล้า จริงๆ มีมิติเยอะ

เฉพาะมิติเรื่องการเสพอย่างเดียว ผมว่าคนที่จะอ่านรายงาน เฉพาะฉบับย่อก็ได้ ไม่เกินสิบหน้า

ในนี้ไม่รู้มีกี่คน แต่มี position ไปแล้วทุกคน…..

การเลือกเสพ เลือกเฉพาะข้อเสนอ ทั้งที่หัวใจสำคัญคือกระบวนการพูดคุยกันในสังคม

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

บวรศักดิ์  อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เวทีนี้เป็นเวทีที่ไม่มีโทสะวาท เวทีที่จะใช้ความรู้ทางวิชาการมาพูดคุยกัน เห็นต่างก็ไม่เป็น แต่รับกันได้แล้วสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ในภาวะที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันชัดเจน

บวรศักดิ์ยังกล่าวถึงประเด็นเสรีภาพทางวิชาการ โดยตั้งคำถามต่อวงประชุมว่า เสรีภาพทางวิชาการคือเสรีภาพของนักวิชาการหรือไม่ และคือสิ่งที่นักวิขาการพูดหรือไม่ ในอีกด้านหนึ่งเสรีภาพทางวิชาการคือการเลือกเสพผลงานทางวิชาการของสังคมและสื่อด้วย  เราต้องดูการเลือกเสพวิชาการของสื่อไทยและของสังคมไทยด้วยว่าเสพยังไง

“วันนี้ สิ่งที่เราพบข้อหนึ่งจากรายงานปรองดองของพระปกเกล้า จริงๆ มีมิติเยอะ เฉพาะมิติเรื่องการเสพอย่างเดียว ผมว่าคนที่จะอ่านรายงาน เฉพาะฉบับย่อก็ได้ไม่เกินสิบหน้า ในนี้ไม่รู้มีกี่คน แต่มี position ไปแล้วทุกคน” บวรศักดิ์กล่าว และว่าถ้าอ่านรายงานอย่างลึกซึ้งจะพบว่าข้อเสนอนิรโทษกรรม,คตส., การสร้างความเป็นธรรม การหาความจริง ฯลฯ เป็นประเด็นที่คนวิจัยเสนอให้ไปพูดคุยในสังคม ไม่ใช่ข้อเสนอสุดท้าย แต่หัวใจอันแรกสุดที่เขาพูดว่ามีสงครามปรองดอง เพราะพฤติกรรมทุกคนเหมือนเดิม จุดยืนเหมือนเดิมมันจึงไม่เกิดการแก้ปัญหา จึงเสนอว่าต้องสร้างบรรยากาศการปรองดองก่อนในหมู่นักการเมืองและในประเทศ และให้นำประเด็นต่างๆ ไปหารือกันว่าจะนิรโทษแบบไหนถ้าจะให้อภัยกัน ความจริงจะเปิดเผยได้แค่ไหน

“มีคนเดียวเท่านั้นจาก 47 คนที่บอกว่าให้เปิดเผยชื่อทุกคนทุกเหตุการณ์ นอกนั้นบอกว่าต้องลืม แต่นักวิจัยก็ยืนของเขาว่า ลืมไม่ได้ เพราะเดี๋ยวก็จะทำอีก แต่ก็ต้องเปิดแบบมีขั้นมีตอน แล้วก็ยกตัวอย่างของอังกฤษขึ้นมาว่า 30 ปีให้หลังถึงมาเปิด และเปิดชื่อบุคคลกับเหตุการณ์ เขามี position ของเขามาจากการศึกษา แต่ทั้งหมดการเลือกเสพ เลือกเอาข้อเสนอ ทั้งที่หัวใจคือกระบวนการพูดคุยกันในสังคมเพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกันให้ได้ว่าจะเอาแบบไหน” บวรศักดิ์กล่าว

เขากล่าวอีกว่า การใช้งานวิชาการ เราคงต้องพูดถึงเหมือนกันว่าเสรีภาพทางวิชาการเราต้องคุ้มครอง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วย อะไรที่ free โดยไม่มี value เลยนั้นไม่มี แม้แต่ fact ก็ย่อมมีข้อโต้แย้งเสมอ ประเด็นอยู่ที่มัน valid หรือไม่

สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ได้รับการพูดถึงมากคือ อำนาจนอกระบบประชาธิปไตยซึ่งหลายคนพูดเรื่องรัฐประหาร แต่อำนาจภายในระบบเองก็มีปัญหา เหมือนทีใครทีมัน เสียงข้างมากตัดสินถูกให้เป็นผิดได้ ดังนั้น ไม่ใช่ปัญหาการยึดอำนาจที่เป็นประเด็นอย่างเดียว ถ้าไม่มีเวทีแบบนี้ก็จะไม่ค่อยมีพื้นที่การพูดคุย รวมถึงเรื่องราวอื่นๆ ในทางสังคมด้วย ในสถานการณ์แบบนี้ พื้นที่เสรีภาพถูกคุกคามในความหมายของการแบ่งขั้วทางการเมืองด้วยเช่นกัน ดังนั้น เราต้องขยายใจให้มองกว้างกว่าเดิม ไม่ใช่ข้างใดข้างหนึ่ง และต้องร่วมกับคนหลายๆ ลักษณะไม่เฉพาะคนในวงวิชาการ 

ในสังคมยุโรปเขาแยกรัฐกับศาสนจักรชัดเจน แต่ในสังคมเรามันรวมกันไปหมด

จะเห็นได้ว่าเราพูดถึงศีลธรรมกันเยอะมากในเรื่องการเมือง

ถ้าเริ่มต้นด้วยศีลธรรมเสียแล้ว มันไม่มีแล้วเสรีภาพในความคิดเห็น

เพราะศีลธรรมต้องเชื่อ ต้องศรัทธา

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

ในช่วงของการสัมมนา ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ  เริ่มต้นด้วยการนำเสนอกรอบในการทำความเข้าใจเรื่องเสรีภาพในทางวิชาการ โดยกล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษามีหน้าที่หลักในการค้นคว้าและนำเสนอความเป็นจริง บทบาทของมหาวิทยาลัยควรทำหน้าที่เป็นตัวแทนสำนึกของสาธารณชน ในเรื่องหรือทัศนะที่มีต่อการเมืองทั้งที่ดีและเลวก็ควรนำเสนอได้  แต่แปลว่ามีส่วนร่วม มีบทบาทในทางการเมืองด้วยหรือไม่ มีบทบาทได้แค่ไหน ถ้าไปมีส่วนร่วมก็คงเป็นสมรภูมิย่อยๆ ในมหาวิทยาลัย ประสบการณ์จากต่างประเทศสรุปว่า นักวิชาการควรเสนอ fact หรือข้อเท็จจริง ไม่ใช่สัจธรรม สิ่งที่นักวิชาการเสนอ แม้บอกว่าเป็นความดี ความเลว ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเท่านั้น ต้องไม่มีคุณค่าเชิงตัดสิน แต่มันเป็นสิ่งทำได้ยาก ฉะนั้น ทางออกก็คือ พยายามที่จะทำให้การพูดนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจอีกฝ่ายหนึ่ง  

ธเนศกล่าวว่า ในสังคมยุโรปเขาแยกรัฐกับศาสนจักรชัดเจน แต่ในสังคมเรามันรวมกันไปหมด จะเห็นได้ว่าเราพูดถึงศีลธรรมกันเยอะมากในเรื่องการเมือง ถ้าเริ่มต้นด้วยศีลธรรมเสียแล้ว มันไม่มีแล้วเสรีภาพในความคิดเห็น เพราะศีลธรรมต้องเชื่อ ต้องศรัทธา

 

ถ้าเราจำกัดเสรีภาพทางวิชาการในทางการเมืองแล้ว

มันจะกลายเป็นการกดขี่ข่มเหงในเรื่องความคิดและความเชื่อ

ถ้าคิดว่าไม่สำคัญเท่าเรื่องกายภาพ แสดงว่าเราไม่เข้าใจมนุษย์

โคทม อารียา

โคทม อารียา กล่าวว่า  เสรีภาพไม่ว่าจะอย่างไรก็โดนจำกัด สังคมมีกรอบบางอย่างบังคับอยู่เสมอในบางเรื่อง แม้แต่รัฐธรรมนูญก็มีการจำกัดเสรีภาพไว้ ยกเว้นข้อเดียวคือเสรีภาพสมบูรณ์ในทางความเชื่อ ตนมองว่าหากจะพยายามเอาอะไรไปกำกับเสรีภาพ ก็ควรเป็น ความมีเหตุผล  เพราะ “ความจริง” ที่เราบอกว่ารู้นั้นเป็นมายาคติของนักวิชาการ แม้แต่ข้อเท็จจริงก็ยังเห็นต่างกัน ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการก็น่าจะประกอบด้วยความสามารถ 2 อย่าง คือ การค้นคว้าศึกษาโดยใช้หลักเหตุผล และนำสิ่งที่ค้นคว้าศึกษามาเปิดเผย นี่เป็นวิธีเดียวที่จะทำให้องค์ความรู้ของมนุษย์ก้าวหน้าต่อไป

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพทางวิชาการก็ควรต้องจำกัดเหมือนเสรีภาพทั่วๆ ไป ขณะเดียวกันถ้าเป็นเรื่องการเมือง ถ้าเราจำกัดเสรีภาพทางวิชาการในทางการเมืองแล้ว มันจะกลายเป็นการกดขี่ข่มเหงในเรื่องความคิดและความเชื่อ ถ้าคิดว่าไม่สำคัญเท่าเรื่องกายภาพ แสดงว่าเราไม่เข้าใจมนุษย์ มีการกดขี่ที่ไหนมันจะมีการต่อสู้ที่นั่น บางทีรุนแรงกว่า จำกัดวงได้ยากกว่าความรุนแรงทางกายภาพด้วยซ้ไป ดังนั้น ควรเปิดพื้นที่ทางวิชาการให้กว้างที่สุด และนักวิชาการก็ต้องไม่ “ขายตัว” รับใช้ผลประโยชน์ 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า  ทีดีอาร์ไอมีบทบาทแตกต่างจากสถาบันทางวิชาการโดยเน้นการนำเสนอนโยบาย ซึ่งนโยบายจะเป็นเรื่องที่ไปไกลว่าข้อเท็จจริง การศึกษาข้อเท็จจริงเป็นเพียงขั้นต้นของการเสนอแนะนโยบาย ต้องใช้การตัดสินเชิงคุณค่าอย่างแน่นอน แต่พยายามใช้ดุลยพินิจโดยปราศจากอคติ เพราะหน่วยงานอย่างเราถ้าไม่มีความเชื่อถืออยู่ไม่ได้เลย โดยหลักแล้วนักวิจัยมีหลักความรับผิดชอบสำคัญที่ยึดถือ คือ พูดในสิ่งที่ตัวเองรู้เรื่อง นักวิชาการพูดในเรื่องที่ตัวเองไม่รู้เยอะซึ่งสร้างปัญหา, สิ่งที่กล้าพูดต้องกล้าเขียน เป็นหลักประกันว่าไตร่ตรองมาดีแล้ว, กล้าพูด กล้าเสนอต่อรัฐบาลก็ต้องกล้าเสนอต่อสาธารณะ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบ, การวิจัยนโยบายความรับผิดชอบต้องมุ่งที่การวิเคราะห์ วิจารณ์ ความคิด การกระทำ ไม่ใช่ตัวบุคคล, วิจารณ์โดยมีข้อเสนอแนะทางนโยบายที่เป็นไปได้จริง หากไม่มีข้อเสนอแนะเป็นการวิจารณ์โดยไม่รับผิดชอบ, การวิพากษ์วิจารณ์ ต้องลดภาษาการประชดประชัน นักวิชาการไทยมีปัญหาเรื่องนี้ ทำให้คุยกันไม่ได้ ไปไกลกว่าตัวประเด็นแต่เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก, การเกี่ยวข้องกับการเมือง อันที่จริง Think Tank ในต่างประเทศอาจฝักใฝ่ฝ่ายการเมืองได้ แต่เมืองไทยยังไม่มีทางเลือกขนาดนั้น หากสังกัดกับขั้วการเมืองอาจมีปัญหา เพราะสังคมเราไม่ได้รุ่มรวยทางเลือกขนาดนั้น

กฤตยา อาชวนิจกุล จากมหิดล ความพยายามในวันนี้ควรเกิดขึ้นมานานแล้ว ไม่ว่าจะมีวิกฤตทางการเมืองหรือไม่ ถึงเวลาต้องหยุดมาตรการปิดปาก ความสำคัญเรื่องนี้ในสังคมไทยไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครสั่งให้เราไม่พูด แต่อยู่ที่ว่าเราสั่งตัวเองไม่ให้พูด เรื่องที่ควรจะคุยควรเป็นประเด็นผลกระทบต่อสาธารณะ ทั้งนี้ แนวทางความเชื่อเรื่องเสรีนิยม บนหลักประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วม มีหลักอันหนึ่งว่า เราควรมีความสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริง ปรากฏการณ์ ความเชื่อต่างๆ  และอยากให้สื่อกระแสหลักให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในทุกมุมมอง

ปิดพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ ผมว่าปิดมหาลัยไปเลยดีกว่า

และถ้าเราไม่สามารถทำลาย self censorship ได้ ผมว่าปิดมหาลัยก็มีค่าเท่ากัน

อภิชาต สถิตนิรมัย

อภิชาต สถิตนิรมัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า   20 กว่าปีก่อนหน้านี้ไม่เคยจัดเรื่องนี้ในที่นี้เลย ดังนั้น การจัดงานในวันนี้จึงเป็นตัวชี้วัดความตกต่ำทางวิชาการโดยตัวมันเอง ปัญหาใหญ่สุดคือ ทำอย่างไรจะทำลายการเซ็นเซอร์ตัวเองได้

ปัญหาเรื่อง objectivity นั้น เห็นว่า นักวิชาการควรแบจุดยืนตนเองเลยดีกว่าว่าเชื่อแบบไหน  ใช้วิธีคิดไหน ในโลกปัจจุบันบอกไม่ได้ว่าไม่มีการตัดสินหรือให้คุณค่าต่อสิ่งใดๆ แต่หากเปิดตัวเองออกมา สาธารณชนจะเห็นข้อเสนอต่างๆ ว่าอยู่ภายใต้มุมมองแบบใด

อภิชาตกล่าวว่า เสรีภาพทางวิชาการโดยตัวเองก็คือกลไกในการตรวจสอบ ยิ่งไม่มีพื้นที่นำเสนอ ยิ่งไม่มีกลไกตรวจสอบนักวิชาการ ยิ่งขยายพื้นที่สาธารณะ ความรับผิดชอบของนักวิชาการต่อตนเองยิ่งมากขึ้น

“ปิดพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ ผมว่าปิดมหาลัยไปดีกว่า และถ้าเราไม่สามารถทำลาย self censorship ได้ ผมว่าปิดมหาลัยก็มีค่าเท่ากัน”  อภิชาตกล่าว

อุทัย ดุลยเกษม กล่าวว่า Right to information เป็นเรื่องสำคัญ และถึงที่สุดแล้วในแวดวงวิชาการถ้าไม่แตะเรื่องสถาบันก็ไม่เคยเห็นการถูกเซ็นเซอร์ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่กึ๋นมากกว่า เพราะดูๆ แล้วนักวิชาการคิดเหมือนกันเยอะ ส่วนที่คิดต่างก็มี นอกจากนี้ยังพบว่าแวดวงวิชาการมีความน่าเบื่อ ยกตัวอย่างแวดวงเศรษฐศาสตร์ เราไม่มีตลาดทางวิชาการที่ลึก ที่มีคนเล่น คนอ่าน ที่เถียงกันไปมา บทความวิชาการก็น่าเบื่อ ช่วงหลังยิ่งสอนให้คนเป็นวิศวกร คิดโจทย์แคบๆ โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายไม่ค่อยเห็น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net