Skip to main content
sharethis

การประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีปัญหาในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) แนะทำแผนพลังงานไทยให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายต้องชัดเจนและเป็นจริง

 

วันที่ 29 มีนาคม 2555 เวลา 9.00 - 12.30 น. คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ภายใต้้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัด “ประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีปัญหาในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP)” สืบเนื่องจากกรณีร้องเรียนจากราษฎร (ตามคำร้องที่ 91/2555) ว่าการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผน PDP) ของรัฐมีความไร้ประสิทธิภาพขาดธรรมาภิบาลและความโปร่งใส โดยมีนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุม

หน่วยงานที่เข้าร่วมชี้แจงได้แก่ กระทรวงพลังงาน โดยนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยสำนักนโยบายไฟฟ้า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โดยนายสุเทพ ฉิมคล้าย ผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายแผนงาน แทนผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ส่วนประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ไม่ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม ทางด้านพยานผู้เชี่ยวชาญได้แก่ นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ, ดร.เดชรัต สุขกำเนิด, นายสันติ โชคชัยชำนาญกิจ โดยมีชาวบ้านกรณีปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ชีวมวล และนิวเคลียร์ ที่มีเรื่องร้องเรียนต่อ กสม. เข้าร่วมชี้แจงด้วยประมาณ 30 คนจากพื้นที่ต่างๆ เช่น ทับสะแก, บางสะพาน, บ่อนอก, บ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์, หนองแซง จ.สระบุรี, เขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา, แม่เมาะ จ.ลำปาง, โพธาราม จ.ราชบุรี, จ.ตรัง, จ.ตราด, จ.อุบลราชธานี เป็นต้น

เรียกร้องสังคมร่วมวางแผนพลังงานของประเทศให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสยิ่งขึ้น
นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล จากกลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าเหตุที่ทำให้เชื่อว่าการวางแผน PDP ไม่เป็นธรรมและไม่โปร่งใสดังที่ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไป ได้แก่ (1) การวางแผนพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าผิดพลาดซ้ำซากและการกำหนดกำลังไฟฟ้าสำรองเกินจำเป็น (2) การวางแผนซ่อมโรงไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนของ กฟผ. ทำให้ดูเหมือนกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในระบบไม่พอสำหรับช่วงที่มีความต้องการสูงสุด จึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าช่วงความต้องการสูงสุดประจำปีจะเกิดขึ้นในฤดูร้อน และ (3) แผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (2553-2573) ของกระทรวงพลังงาน ซึ่งจะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 12,000 เมกะวัตต์ เทียบเท่าโรงไฟ้า ถ่านหิน 9 โรง นิวเคลียร์ 5 โรง ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนเมษายน 2553 แล้วแต่กลับไม่ถูกนำมาใช้ในการวางแผนฯ

“ทั้งหมดนี้นำไปสู่การวางแผน PDP เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น ซึ่งหมายถึงความขัดแย้งภายในและนอกชุมชนและการละเมิดสิทธิชุมชนในทุกพื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ การใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพยังหมายถึงความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศลดลง” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าว

ต่อเรื่องการจัดทำแผน PDP ใหม่ นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้แทนกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่ายังไม่มีการดำเนินการ เนื่องจากยังไม่ได้รับนโยบายจากรัฐบาล และว่า หากจะมีการจัดทำแผน PDP ใหม่ (2012) ก็น่าจะมีการพิจารณาปรับพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าให้เป็นจริงขึ้น และรวมแผนพลังงานทดแทน และแผนอนุรักษ์พลังงานของกระทรวงฯเข้าไปด้วย

ด้านนางสาวสุรีรัตน์ กล่าวยินดีที่มีแนวทางจะปรับปรุงนโยบายให้ดีขึ้น แต่ในทางปฏิบัติชาวบ้านก็ยังคงจะติดตามตรวจสอบต่อไป ทั้งนี้ เรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมไทยร่วมกันตรวจสอบและหาทางออกให้การวางแผนพลังงานของประเทศ มีประสิทธิภาพและโปร่งใสยิ่งขึ้น โดยอยากเห็นการนำแผนมาถกเถียงกันในเวทีสาธารณะ ไม่ให้การวางแผนเป็นเรื่องของหน่วยงานเช่นกระทรวงพลังงานและ กฟผ. เท่านั้น

เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และความรับผิดชอบต่อการวางแผนผิด
นางบุญยืน ศิริธรรม จากเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก กล่าวถึงปัญหาความไม่โปร่งใสและขาดความรับผิดชอบของผู้กำหนดนโยบายพลังงาน ซึ่งมีชาวบ้านหลายกลุ่มในที่ประชุมสนับสนุนดังนี้

ผลประโยชน์ทับซ้อนของ กฟผ. ในฐานะผู้ผลิตและจัดหาไฟฟ้ามาเป็นผู้เขียนแผนกำหนดการสร้างโรงไฟฟ้าเอง และในเมื่อการสร้างโรงไฟฟ้าและลงทุนเพิ่มของ กฟผ.ถือเป็นการทำกำไรให้องค์กร จึงมีแรงจูงใจให้เขียนแผนที่มุ่งเน้นการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

ผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้วางนโยบาย เมื่อข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. เข้าไปนั่งเป็นบอร์ดผู้บริหารของบริษัทเอกชนด้านพลังงานต่างๆ ทำให้ต้องตั้งคำถามกับความโปร่งใสในการเขียนนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนแทนผลประโยชน์ประชาชน

เมื่อมีการเขียนแผน/นโยบายที่ส่งผลให้เกิดการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าล้นเกิน กลับไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทั้งในส่วนเงินลงทุนที่เสียไปซึ่งต้องเอามาจากภาษีประชาชนและคนจ่ายค่าไฟ และในแง่ความขัดแย้งในชุมชนที่เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่โรงไฟฟ้ายังไม่เริ่มสร้าง

ต้องกำหนดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนให้ชัดเจนในการทำแผน PDP
นายชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กสม. ตั้งคำถามต่อผู้แทนกระทรวงพลังงานและ กฟผ. ว่าการจัดทำแผน PDP มีกระบวนการและระเบียบในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างไร และหากเกิดการวางแผนผิดพลาด หรือมีความเห็นแย้งจากประชาชนแล้ว จะมีแนวทางในการปรับปรุงแผนฯ เพื่อตอบสนองต่อความคิดเห็นของประชาชนหรือไม่

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้แทนกระทรวงพลังงานตอบว่า ที่ผ่านมา การทำแผน PDP 2010 เคยมีการทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็น แม้จะเป็นการเร่งรัดแต่ก็มีการสรุปบทเรียน ทั้งนี้ นายชาญวิทย์ ให้ความเห็นต่อจากการชี้แจงว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีการทำกระบวนการรับฟังฯ “ก่อน” การทำแผนฯ ทั้งนี้ มองว่าหากมีการทำแผน PDP ครั้งใหม่ แล้วไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน

ประเด็นดังกล่าว ดร. เดชรัตน์ สุขกำเนิด จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการจัดทำแผน PDP 2010 ในครั้งนั้นมีการสรุปบทเรียนจากแผนก่อนหน้า (PDP 2007) ว่ากระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนในการจัดทำแผน PDP ควรดำเนินการด้วยกันทั้งสิ้น 3 ขั้นตอน คือ (1) ขั้นพยากรณ์ความต้องการ (2) ตั้งสมมติฐานต่างๆ (3) จัดทำทางเลือกแผน PDP ต่างๆ กัน (scenarios) เพื่อนำมาให้สังคมร่วมกันเปรียบเทียบในแง่ต้นทุนและผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วกระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในการจัดทำแผน PDP 2010 เมื่อมีการเมืองเข้าแทรก กระบวนการถูกเร่งรัด และเมื่อแผนที่ออกมาถูกคัดค้านนำไปปฏิบัติจริงไม่ได้ นักการเมืองก็ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่จะรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น จะทำอย่างไรให้กระบวนการมีส่วนร่วมเกิดอย่างแท้จริงโดยไม่มีมือที่มองไม่เห็นเข้ามาแทรก สุดท้ายแล้วอาจต้องมีการตั้งเกณฑ์หรือกำหนดระเบียบกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำแผน PDP ให้ชัดเจนเลย ว่าอย่างไรจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ความขัดแย้งเกิดจากขาดความเข้าใจและความจริงใจของ กฟผ.
ต่อเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน นายสุเทพ ฉิมคล้าย ผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฟผ. มีหน่วยงานซึ่งทำเรื่องมวลชนสัมพันธ์ที่มีความพร้อม ถ้าชุมชนไม่เอาโรงไฟฟ้า เราก็ไม่ได้ไปดื้อดึงอะไร ทั้งนี้ กฟผ. ก็ให้ความสำคัญกับชุมชน และการทำ CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น เข้าไปช่วยช่วงน้ำท่วม

อย่างไรก็ดี ชาวบ้านจากหลายพื้นที่สะท้อนว่า การกำหนดพื้นที่เป้าหมายสร้างโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั้งกระบวนการและวิธีการทำงาน กลับก่อให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน และการออกมาคัดค้านโครงการของชาวบ้าน ทำให้โครงการต่างๆ ในแผน PDP เกิดไม่ได้จริง เช่น การลงพื้นที่แจกของ พาไปดูงานต่างประเทศ แต่ไม่บอกกับชาวบ้านว่าวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าอะไร และพูดถึงแต่ข้อดีของโรงไฟฟ้าเพียงด้านเดียว ซึ่งสะท้อนโดยผู้ร่วมประชุมจากหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดตราด (เป้าหมายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และถ่านหิน) และจังหวัดตรัง (เป้าหมายโรงไฟฟ้าถ่านหิน)

ทางด้านนางสาวสดใส สร่างโศก ผู้ประสานงานเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ.อุบลราชธานี ย้ำว่า การพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าใดๆ นอกจากความเหมาะสมทางเทคนิคและเศรษศาสตร์แล้ว ต้องคำนึงถึงความเห็นของประชาชนด้วย การที่ กฟผ. อ้างว่าคนอุบลไม่ค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็เพราะ กฟผ. เข้าไปแจกแว่นตาชาวบ้านที่อุบลฯ เหมือนที่ได้ไปแจกทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย แต่ไม่บอกว่าจะมาสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เชื่อว่าหากคุณเข้าไปให้ความเข้าใจให้ข้อมูลที่แท้จริงทั้งสองด้าน ชาวบ้านต้องไม่เอาแน่ เพราะอุบลราชธานีเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนสิรินธรมาเป็นเวลา 44 ปีแล้วแต่ชาวบ้านยังไม่เคยได้รับการเยียวยาหรือชดเชย ชาวอุบลฯ มีบทเรียนมากพอ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กสม. ให้ความเห็นว่า คำตอบจากผู้แทน กฟผ. สะท้อนว่าภายในหน่วยงานเดียวกันเอง (กฟผ.) ยังมีปัญหาในเรื่องการสื่อสาร คือ คุณสุเทพซึ่งทำในส่วนการวางแผน/นโยบายในภาพรวม ก็ยังไม่รู้ไม่เข้าใจว่าในพื้นที่ต่างๆ มีสถานการณ์ความขัดแย้งอย่างไร และชาวบ้านมีข้อกังวลอะไรบ้าง ดังนั้นหน่วยงานจะรับประกันว่าข้อมูลในพื้นที่จะไปถึงผู้กำหนดนโยบายได้อย่างไร”

กรรมการสิทธิสรุป รธน. ให้อำนาจประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่กำหนดนโยบาย
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกล่าวสรุปการประชุมว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่เป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้ามาจากกระบวนการในการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ กฟผ. จะต้องไปทบทวนว่าทำอย่าไรสื่อสารอย่างไรให้เปิดเผยและโปร่งใส จึงจะไม่เกิดความขัดแย้ง ต้องลงไปฟังคนในพื้นที่อย่างแท้จริง และต้องให้ข้อมูลรอบด้าน สุดท้าย การมีส่วนร่วมของประชาชน คือการมีส่วนร่วมต่อกระบวนการตัดสินใจ ทั้งในระดับการกำหนดนโยบาย และระดับโครงการ ซึ่งรัฐธรรมนูญให้อำนาจเหล่านี้แก่ประชาชน ส่วนในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจากการสวมหมวกหลายใบของข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ เป็นเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต้องร่วมกับคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลของวุฒิสภา ตรวจสอบต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net