พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล : วิพากษ์ข้อสอบ-ธง วิชารัฐธรรมนูญ ของ ดร.วิจิตรา วิเชียรชม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากบทความเดิมชื่อ: ข้อสังเกตจากข้อสอบและธงคำตอบวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญของ ‘รศ.ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม’ ที่น่ากังขาในคุณวุฒิของผู้สอน เป็นยวดยิ่ง?

 

“ประเด็น” ซึ่งจะวิพากษ์ในบทความนี้ คือ ‘เนื้อหาข้อสอบ’ และ ‘ธงคำตอบ’ จากข้อสอบวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ น.๒๕๑ [ระดับปริญญาตรี] ข้อสอบข้อนี้ออกโดย รศ.ดร.วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเพิ่งทำการสอบไปเมื่อวันพุธที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

ผมชี้แจงก่อนว่า บทความนี้จะไม่พิจารณาในเรื่อง ‘ความเหมาะสม หรือ ความไม่เหมาะสม’ ในวิธีการตั้งโจทย์อุทาหรณ์ ของ ‘วิจิตรา’ แต่บทความนี้จะพิจารณาในเรื่อง ‘ความไม่เข้าใจอย่างถึงระดับรากฐานของ ผู้ออกข้อสอบ’ และ เป็นความคลาดเคลื่อนในระดับ ‘ความถูก – ผิด ในทางเนื้อหาธงคำตอบ’ ขอเน้นย้ำในเบื้องต้นว่า กรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ ‘ไม่ใช่เรื่องความเห็นที่แตกต่างในทางวิชาการ’ แต่เป็น ‘ความถูก – ความผิด’ โดยแท้

วิจิตราฯ ออกข้อสอบดังนี้ [1] : “นายสุรเจตเป็นนักวิชาการที่สนใจการเมืองและมีบทบาทเรียกร้องให้ประชาชนได้รับความเสมอภาคโดยต้องการให้องค์กรศาลได้รับการตรวจสอบจากผู้แทนของประชาชน จึงได้รวมกลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งตั้งเป็นกลุ่มนิติโรสและทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตน อันทำให้กลุ่มคนอีกพวกหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติโรสเพราะเห็นว่า จะทำให้มีการแทรกแซงการใช้อำนาจฝ่ายตุลาการของศาลซึ่งย่อมทำให้คู่ความในคดีที่มีความขัดแย้งกันไม่ได้รับความเป็นธรรม อันจะนำไปสู่ความไม่สงบสุขในสังคม กลุ่มคนดังกล่าวนี้จึงรวมตัวกันเผาหุ่นประท้วงนายสุรเจต และหลังจากเหตุการณ์เผาหุ่นนายสุรเจตไม่นาน นายสุรเจตก็ถูกรุมทำร้าย ขอให้ท่านตอบคำถามดังต่อไปนี้พร้อมให้เหตุผลประกอบด้วย

๑) นายสุรเจตมีสิทธิจัดตั้งกลุ่มนิติโรสได้โดยสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

๒) การที่นายสุรเจตถูกรุมทำร้ายเป็นการถูกละเมิดสิทธิประเภทใดตามรัฐธรรมนูญ

๓) เมื่อพิจารณาประเภทของสิทธิโดยพิจารณาตามผู้ทรงสิทธิถือว่าสิทธิของนายสุรเจตตาม 2) เป็นสิทธิประเภทใด

๔) ความต้องการของนายสุรเจตในการตรวจสอบองค์กรศาลดังกล่าวสอดคล้องกับหลักอิสระของผู้พิพากษาอันเป็นหลักย่อยหลักหนึ่งของหลักนิติรัฐหรือไม่”

เรามาพิจารณา ‘ธงคำตอบ’ และวิจารณ์ทีละข้อ ดังนี้ :-

“๑) นายสุรเจตมีสิทธิจัดตั้งกลุ่มนิติโรสได้โดยสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่”

สำหรับคำถามข้อ ๑) ธงคำตอบ ของ วิจิตราฯ มีสาระสำคัญว่า สอดคล้องรัฐธรรมนูญเพราะเป็นเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖๔ วรรคหนึ่ง

บทวิจารณ์ : หากพิจารณา ‘ธงคำตอบ’ ในข้อนี้ ‘ไม่ผิด’ แต่หากพิจารณาระดับสติปัญญาในการตั้งคำถาม – การตอบคำถาม ในวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งในกฎหมายมหาชน ผมเห็นว่า คำถามในลักษณะนี้ ไม่จำเป็นต้องศึกษาระดับปริญญาตรี หรือ คณะนิติศาสตร์ ก็สามารถตอบคำถามได้ ครับ เพราะ กางตัวบทรัฐธรรมนูญ ก็ตอบได้ กระทั่งเดาก็ยังตอบได้ ไม่ต้องอาศัยการใช้นิติวิธีทางกฎหมายมหาชน ตลอดจนข้อความคิดพื้นฐานที่เป็นศาสตร์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่อย่างใด กล่าวได้ว่า เป็นคำถามที่ไม่ควรค่าแก่การใช้ชี้วัดผลการศึกษาในระดับปริญญาตรี ของคณะนิติศาสตร์ ได้เลย.

“๒) การที่นายสุรเจตถูกรุมทำร้ายเป็นการถูกละเมิดสิทธิประเภทใดตามรัฐธรรมนูญ”

คำถามข้อ ๒) ธงคำตอบ ของ วิจิตราฯ มีสาระสำคัญว่า เป็นสิทธิในร่างกาย เพราะมนุษย์ทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรี จึงมีสิทธิในร่างกาย ผู้ใดจะละเมิดมิได้

บทวิจารณ์ : การที่นายสุรเจตถูก (ใครก็ไม่ทราบ) ทำร้าย เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญหรือไม่? ผมจะเกริ่นนำถึงหลักการพื้นฐาน ให้ท่านทราบก่อนว่า “รัฐธรรมนูญ” เป็นรูปธรรมหนึ่งของ กฎหมายมหาชน ซึ่งมุ่งจำกัดอำนาจรัฐ – วางความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐกับราษฎร ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองด้วยกันเอง กล่าวกระชับ กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ที่คู่กรณีอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐและใช้อำนาจรัฐ (คำว่า “รัฐ” ก็รวมถึงองคาพยพต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น องค์กรรัฐ, สถาบันการเมืองของรัฐ, หน่วยงานรัฐ, เจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจน องค์กรอื่นซึ่งใช้อำนาจรัฐ) พิจารณาข้อเท็จจริงตามโจทย์ ไม่ปรากฏว่า นายสุรเจต ถูกทำร้ายโดยการสั่งการของ “องค์กรรัฐ” หรือ “สถาบันการเมืองของรัฐ” หรือเป็นฝีมือของ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ข้อเท็จจริงตามโจทย์ปรากฏเพียงว่า “กลุ่มคนอีกพวกหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติโรส…เผาหุ่นประท้วงนายสุรเจต และ…ไม่นาน นายสุรเจตก็ถูกรุมทำร้าย” ข้อเท็จจริงไม่ชัดว่า ใคร? เป็นผู้ทำร้ายนายสุรเจต เมื่อข้อเท็จจริงไม่ชัดย่อมไม่อาจหยั่งทราบได้ว่า ความเข้าใจของอาจารย์วิจิตราฯ ซึ่งอยู่นอกเหนือข้อเท็จจริงตามโจทย์เป็นอย่างไร? เราไม่อาจสรุปได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็น การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือองค์กรของรัฐ อันจะโยงไปสู่ ‘การใช้อำนาจละเมิด สิทธิตามรัฐธรรมนูญ’ ได้ เราสืบสาวไปสู่ข้อความคิดเบื้องต้นของสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่จะอธิบายได้ในกรณีนี้ก็คือ ‘status negativus’ เป็นแนวคิดที่ว่า ราษฎรทรงสิทธิในการปกป้องตนเองจากการล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานโดยการกระทำการของรัฐ และเป็นแนวคิดเชิงปฏิเสธอำนาจรัฐ เสียด้วย หาใช่ ‘สิทธิตามความคุ้มครองของกฎหมายเอกชน’ ไม่ กล่าวได้ว่า หากนิติสัมพันธ์นั้นคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิใช่รัฐแล้ว การนั้นย่อมมิใช่การละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (สิทธิตามความคุ้มครองของกฎหมายมหาชนในระดับรัฐธรรมนูญ)

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงมิได้ระบุสถานภาพเฉพาะของบุคคลผู้ลงมือทำร้ายนายสุรเจต ตามวิสัยย่อมต้องอนุโลมว่า เป็นการกระทำในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั่วไป กล่าวคือ ระหว่างราษฎรกับราษฎร จึงต้องเฉลยข้อสอบ ว่า “เป็นการละเมิด ‘สิทธิตามความคุ้มครองของกฎหมายเอกชน’ หาใช่ สิทธิตามรัฐธรรมนูญ อันเป็น ‘สิทธิตามความคุ้มครองของกฎหมายมหาชน’ ไม่” ในข้อนี้สะท้อนความไม่เข้าใจของผู้ออกข้อสอบ ในข้อความคิดพื้นฐานของวิชาที่ตนสอน อย่างเห็นได้ชัด.

“๓) เมื่อพิจารณาประเภทของสิทธิโดยพิจารณาตามผู้ทรงสิทธิถือว่าสิทธิของนายสุรเจตตาม ๒) เป็นสิทธิประเภทใด”

คำถามข้อ ๓) ธงคำตอบ ของ วิจิตราฯ มีสาระสำคัญว่า เป็น สิทธิมนุษยชน เพราะเป็นสิทธิที่ผูกติดมากับความเป็นมนุษย์

บทวิจารณ์ : คำถามข้อนี้เชื่อมโยงมาจาก ‘ธงคำตอบข้อ ๒)’ ซึ่ง วิจิตราฯ เองก็ได้เท้าความถึง ๒) นั่นคือ ยืนพื้นความคิดในเรื่อง “สิทธิประเภทใดประเภทหนึ่งตามรัฐธรรมนูญ” ประเด็นนี้ผู้เขียนอธิบายใน ๒) แล้วว่า กรณีตามโจทย์ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในข้อ ๓) วิจิตราฯ ยืนยันในธงคำตอบ ว่าเป็น ‘สิทธิมนุษยชน’ นัยว่า สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ? หากเห็นเช่นนั้นก็สำคัญผิด เพราะ ‘สิทธิมนุษยชน’ มิใช่สิทธิที่ก่อขึ้นโดยอำนาจรัฐธรรมนูญ การปรากฏอยู่ของสิทธิมนุษยชนบางประการในรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการบันทึกสิ่งที่ดำรงอยู่แล้วให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร. นอกจากนี้ สิทธิมนุษยชน แทรกซึมอยู่ในทุกระบบกฎหมาย (ทั้งในเชิงรับรอง และในเชิงต่อต้าน) ไม่ว่าจะในกฎหมายเอกชน หรือกฎหมายมหาชน (ซึ่งรวมถึงรัฐธรรมนูญด้วย) ทว่าโจทย์ข้อนี้ บังคับผูกพันจากข้อ ๒) เช่นนี้ ท่านผู้ออกข้อสอบ จำต้องกระจ่างในตัวเองเสียก่อนว่า ‘ผู้ทรงสิทธิ’ ตามโจทย์ เป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายมหาชน หรือเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายเอกชน (คำตอบคือ เป็น ผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายเอกชน ประเภทสิทธิมนุษยชน) ในเมื่อข้อ ๒) ท่านให้ธงคำตอบผิด ข้อ ๓) ก็ต้องผิด ไปด้วยโดยปริยาย.

“๔) ความต้องการของนายสุรเจตในการตรวจสอบองค์กรศาลดังกล่าวสอดคล้องกับหลักอิสระของผู้พิพากษาอันเป็นหลักย่อยหลักหนึ่งของหลักนิติรัฐหรือไม่”

คำถามข้อ ๔) ธงคำตอบ ของ วิจิตราฯ มีสาระสำคัญว่า ขัดหลักนิติรัฐเพราะแทรกแซงอำนาจตุลาการ ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรมและก่อความไม่สงบสุขในบ้านเมือง

บทวิจารณ์ : ข้อเท็จจริงตามโจทย์ ระบุว่า “นายสุรเจตเป็นนักวิชาการที่สนใจการเมือง…จึงได้รวมกลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งตั้งเป็นกลุ่มนิติโรส…ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตน อันทำให้กลุ่มคนอีกพวกหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติโรสเพราะเห็นว่า จะทำให้มีการแทรกแซงการใช้อำนาจฝ่ายตุลาการของศาลซึ่งย่อมทำให้คู่ความในคดีที่มีความขัดแย้งกันไม่ได้รับความเป็นธรรม” เราจะพบความไม่สมเหตุสมผลจากข้อเท็จจริง (ที่ไม่ชัดเจน) ดังนี้ :-

ประการที่ ๑.ข้อเท็จจริงตามโจทย์ระบุว่า กลุ่มนิติโรส ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้กลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มนิติโรส ซึ่งนายสุรเจต ได้รวมอยู่ในกลุ่มนักวิชาการของกลุ่มนิติโรส ด้วย แต่ผู้ออกข้อสอบ ไปตั้งคำถามว่า “ความต้องการของนายสุรเจตในการตรวจสอบองค์กรศาล” ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงระบุกว้างๆ เพียงว่า “กลุ่มนิติโรส ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” หาใช่ นายสุรเจตไม่ อาจารย์วิจิตราฯ ฟุ้งซ่านอะไรอยู่ขณะออกข้อสอบ – ทำธงคำตอบ หรือเปล่า? ก็เกินวิสัยที่ผมจะก้าวล่วงได้

ประการที่ ๒.นอกจากข้อเท็จจริงตามโจทย์ไม่ได้ระบุว่า การผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มนิติโรส เป็นเรื่องการตรวจสอบองค์กรศาล แล้วกระนั้น ก็มิได้ระบุว่าการตรวจสอบองค์กรศาลตามการผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเช่นว่านั้น เป็นอย่างไร

ในการวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ทางกฎหมาย กรณีที่ ‘ข้อเท็จจริงไม่ชัดเจน’ หรือกระทั่ง ‘ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏ’ ย่อมไม่อาจวินิจฉัยได้ตามหลักนิติศาสตร์ (หากท่านไปสอนวิชาเม้าท์ข่าว กุข่าว หรือหมอเดาศาสตร์ ก็เป็นอีกเรื่อง) ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบองค์กรศาล มีหลายวิธี จะด้วยวิธีใด? เช่น บังคับให้ผู้พิพากษาทุกคนทำคำวินิจฉัยส่วนตนทุกคดี? จะอุบอิบให้คนอื่นซึ่งไม่ได้นั่งพิจารณาคดีมาเขียนคำพิพากษาให้ตน มิได้, หรือ ให้ศาลสังกัดกระทรวงยุติธรรมดั่งในอดีต? เป็นต้น ข้อเท็จจริงตามโจทย์ระบุเพียง ‘ความเห็นของคนอีกกลุ่มหนึ่ง’ เห็นว่าเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของศาล โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็น “ข้อเสนอที่ถูกผลักดัน” ของ กลุ่มนิติโรส หรือนายสุรเจต เช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏ (บกพร่องร้ายแรงกว่า ‘ข้อเท็จจริงที่ไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือ’ เสียอีก) เป็นเหตุให้ถ้าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะแล้วย่อมไม่อาจวินิจฉัยฟันธงได้ว่า การตรวจสอบศาลหรือองค์กรตุลาการนั้น ทำให้ผู้พิพากษาขาดความเป็นอิสระในการใช้อำนาจตุลาการหรือไม่ และตามสายธารแห่งความต่อเนื่องกันระหว่างเหตุและผล ถ้าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะแล้วย่อมไม่อาจวินิจฉัยได้เช่นกันว่า เป็นการขัดหลักนิติรัฐ หรือไม่ ดังเช่นปรากฏในธงคำตอบของอาจารย์วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม ได้เป็นแน่แท้.

ในท้ายนี้ เมื่อพิจารณาธงคำตอบ แล้ว ผมเห็นว่า หากเปลี่ยนสถานะให้ ‘วิจิตรา (ฟุ้งลัดดา) วิเชียรชม’ มาเป็น ‘ผู้สอบ’ แล้วให้นักวิชาการอื่น (ทั้งในและนอกประเทศ) มาตรวจคำตอบของอาจารย์วิจิตรา ท่านอาจารย์ยังต้อง “สอบตก” เลยครับ และเป็นเรื่องอัศจรรย์มากครับ ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้คนที่ “สอบตก” มาสอนหนังสือ โลกนี้ช่างกลับตาลปัตรเพี้ยนไปแล้วเสียนี่กระไร, ผมวิตกในการเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มธ. ศูนย์ลำปาง ครับ ที่ได้รับการเรียนการสอนเช่นนี้ กล่าวให้เป็นรูปธรรมก็คือ อาจารย์ผู้สอน ออกข้อสอบเอง แต่ก็ยัง ตอบผิดเอง !! (ย้ำว่า ไม่ใช่เรื่อง ‘ความเห็น’ แต่เป็นเรื่อง ‘ความรู้’ ดังที่อรรถาธิบายข้างต้น) และน่าพิจารณาต่อไปว่า หากวันร้ายคืนร้ายในอนาคต ท่านอาจารย์วิจิตราฯ ซึ่งสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญซึ่งท่านผู้อ่านได้พิจารณาเช่นเห็นแล้วนี้ เก็บโปรไฟล์จากการสอนวิชานี้ของตน (ซึ่งอาจนับชั่วโมงสอนจำนวนเยอะๆ ?) จนกระทั่งอยู่ในเกณฑ์ “ผู้ทรงคุณวุฒิทางนิติศาสตร์ !?!!!” ตามคุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็น “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” คงน่าตื่นตระหนกดีแท้.

อ้างอิง:

  1. รายละเอียดตามข้อมูลโดยดู เว็บไซต์ ‘ประชาไท’ : http://www.prachatai3.info/journal/2012/03/39867

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท