Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ห้องประชุมอาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันวิจัยและพัฒนา หน่วยวิจัยพลังงานหมุนเวียน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นศูนย์ประสานงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา และองค์กรเครือข่าย จัดเสวนา “ปัญหาพลังงาน...ทำไมจึงกลายเป็นปัญหาของท้องถิ่น” โดยมีผู้เข้าร่วมจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร และตรัง ประมาณ 300 คน

ดร.อาภา หวังเกียรติ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต บรรยายในหัวข้อ “เส้นทางจากโลกถึงท้องถิ่น: ความซับซ้อนและความไม่เป็นธรรมในธุรกิจพลังงาน” นำเสนอว่า รายงานฉบับสมบูรณ์ ธันวาคม 2553  “แนวทางการพัฒนาภาคใต้โดยใช้ผลิตผลในพื้นที่เสริมสร้างอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นตัวนำร่อง” ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุถึงแนวทางการพัฒนาภาคใต้ พ.ศ. 2553-2575 โดยเปรียบเทียบประมาณการการระบายมลสารจากการพัฒนาโครงการ SSB และแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 ที่มาบตาพุด การพัฒนาทรัพยากรการเกษตร: เชื่อมโยงปาล์มนํ้ามันกับอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ทรัพยากรสินแร่ : ปิโตรเคมีจากก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ

รายงานการศึกษาฉบับดังกล่าวระบุถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่องผนวกกับการพัฒนาทรัพยากรท้องถิ่นว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันในภาคใต้ จะเป็นหัวหอกสำคัญในการพัฒนาทั้งภาคใต้และประเทศไทยโดยรวม โรงกลั่นน้ำมันในภาคใต้จะช่วยปูทางและส่งเสริมการพัฒนาภาคใต้ให้เป็นศูนย์กลางการค้านํ้ามันและปิ โตรเคมี (Oil & petrochemicals hub) รวมทั้งช่วยผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ อีกมาก ทั้งนี้โรงกลั่นน้ำมันในภาคใต้จะทำให้มีความต้องการใช้ Land Bridge ซึ่งจะเป็นเส้นทางการขนส่งน้ำมันโดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา

โรงกลั่นน้ำมันที่จะพัฒนาในภาคใต้จะเรียกว่า โรงกลั่นนํ้ามัน SSB (Southern Seaboard Refinery) ตามรายงานฉบับสมบูรณ์ ธันวาคม พ.ศ. 2551โครงการศึกษาความเหมาะสมการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้พิจารณาพื้นที่ทางเลือกและศักยภาพของพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมที่ครอบคลุมทั้งด้านการยอมรับของท้องถิ่น ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และด้านวิศวกรรมและต้นทุนการพัฒนา ซึ่งมี 2 พื้นที่ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1 บริเวณบ้านคอเขา ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดพื้นที่โครงการ 11,500 ไร่ ทางเลือกที่ 2 บริเวณบ้านคลองดินถึงบ้านปากน้ำปากดวด ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดพื้นที่โครงการ 12,600 ไร่ โดยมีพื้นที่น่าสนใจคือ ทุ่งนเรนทร์ ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

สำหรับการลงทุนโรงกลั่นน้ำมัน SSB ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตในปีพ.ศ. 2561 ที่กำลังการผลิต 950 kBD ต้องการเงินลงทุนประมาณ 518,500 ล้านบาท จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยปีละประมาณ 873,000 ล้านบาท คิดเป็นกำไรพื้นฐานปีละประมาณ 94,000 ล้านบาท ซึ่งต้องนำเข้าน้ำมันดิบประมาณปีละ 779,000 ล้านบาท และมีผลตอบแทนการลงทุนเบื้องต้น (Return on investment, ROI) เฉลี่ยที่ 16-20% หรือเท่ากับ Gross refining margins (GRMs) ที่ 9.50-11.50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล (ราคาน้ำมันDubai ที่ 75 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net