Skip to main content
sharethis

อัจฉรา อัชฌายกชาติ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์สัมภาษณ์ “โก โก จี” (Ko Ko Kyi) ถึงมุมมองต่ออนาคตของพม่าหลังการเลือกตั้งซ่อมเมื่อวันที่ 1เมษายน เขาเป็นอดีตผู้นำนักศึกษาพม่ารุ่น 8888 ผู้ได้รับโทษจำคุก 65 ปีจากกิจกรรมทางการเมือง และถูกจองจำเป็นเวลา 4 เดือนครึ่ง ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

 

ถาม: เมื่อคุณถูกจองจำอยู่ คุณได้คาดหวังไหมว่าการปฏิรูปในพม่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น

ตอบ: ผมก็ไม่แปลกใจมากนัก ตอนที่อยู่ในคุก พวกเราไม่ได้แค่นั่งอยู่เฉยๆ หรือถอดใจ เราก็พยายามหาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภายนอกอยู่เรื่อยๆ เรารู้ว่าผู้นำทหารจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเนื่องจากแรงกดดันจากประชาคมนานาชาติที่ไม่ชอบรัฐบาลที่กดขี่ประชาชน เขาจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนจากระบอบทหารมาเป็นรัฐบาลพลเรือน

 

มีกระแสมองโลกในแง่ดีค่อนข้างมากในพม่า แต่ประวัติศาสตร์การปราบปรามประชาชนที่โหดร้ายก็ยังคงเลือนรางอยู่ คุณมองสถานการณ์หลังการเลือกตั้งว่าอย่างไรบ้าง

นี่เป็นช่วงเวลาที่สนใจมากในประวัติศาสตร์ของเรา เพราะเราจะได้เห็นทหารและกลุ่มฝ่ายค้านนั่งอยู่ร่วมกันในสภาเป็นครั้งแรก และนี่ก็เป็นสถานการณ์ที่แปลกมากสำหรับเรา

ด้วยเก้าอี้ 45 ที่นั่ง ถึงแม้ว่าพรรคเอ็นแอลดีจะได้ที่นั่งทั้งหมด แต่มันก็ไม่มีความหมายอะไรอยู่ดี เพราะเมื่อเทียบกับที่นั่งที่เหลือราว 86% ที่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยกองทัพและพรรค USDP ที่สนับสนุนทหารก็นับว่าเป็นส่วนน้อยมากๆ

อย่างไรก็ตาม อองซานซูจีก็เป็นบุคคลที่มีความน่าเกรงขามที่แตกต่าง เธอสามารถพูดเสียงดังกว่าสมาชิกรัฐสภาคนอื่นๆ

 

คุณคิดว่าภาคประชาชนสังคมจะสามารถเบ่งบานภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเมืองเช่นในปัจจุบันได้อย่างไร

แน่นอนว่า นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในประเทศของเราเพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน ภายใต้ระบอบการเมืองพรรคเดียว มันก็พอมีองค์กรด้านสันติภาพ การพัฒนาและอาสาสมัครบ้าง แต่หลังจากขบวนการเคลื่อนไหวรุ่น 8888 และการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมหลังเหตุการณ์นาร์กิส ประชาชนชาวพม่าก็เล็งเห็นแล้วว่าพวกเขาจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในประเด็นแห่งชาติและของชุมชน

รัฐบาลทหารได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาไม่สามารถจัดการกับปัญหาเฉพาะหน้าได้ ประชาชนรุ่นใหม่จึงค่อนข้างกระตือรือร้นในการเข้าไปมีส่วนร่วมกับปัญหาต่างๆ ในสังคม

 

คุณมองว่าจังหวะของการปฏิรูปทางการเมืองเป็นอย่างไร เมื่อพิจารณาจากว่ารัฐบาลพลเรือนเพิ่งจะตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว

ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติยังลังเลต่อการเปลี่ยนแปลง พวกเขาตอบสนองและกระทำบางสิ่งจากเพียงมุมเรื่องความมั่นคงเท่านั้น แต่ในขณะที่สังคมเราพัฒนาไป พวกเขาจำเป็นต้องแสดงให้เห็นถึงการเคารพเสียงของประชาชน สิทธิ เสรีภาพและอิสรภาพของพลเมือง

นอกจากนี้ ยังมีการโต้เถียงด้วยว่าเศรษฐกิจหรือการเมืองจะสำคัญกว่ากัน เหล่าเผด็จการได้พยายามที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศเข้าสู่ประชาธิปไตยแบบผสม และทำการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจในแนวทางที่พวกเขาถนัด

 

มีความคาดหวังต่อการเจรจากับกลุ่มชาติพันธุ์และการปรองดองแห่งชาติอย่างไร

นี่เป็นประเด็นที่ค่อนข้างซับซ้อนมาก เพราะเป็นปัญหาที่มีมาถึงครึ่งศตวรรษ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในคราวเดียว

ผู้นำคนก่อนๆ พยายามจะแก้ปัญหาประเด็นชาติพันธุ์ โดยเสนอการหยุดยิง แต่มันก็เกิดขึ้นเป็นช่วงๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเขากล่าวถึงเรื่องนี้ผ่านงานพัฒนาในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ด้วย แต่นั่นก็ยังไม่พอ

พวกเขาจัดการปัญหานี้จากมุมมองของกองทัพและความมั่นคง พวกเขาควรต้องจัดการมันจากมุมมองที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมุมทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและการเมือง ไม่เช่นนั้น เราจะไม่สามารถแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ได้ นอกจากนี้ ที่ผ่านมา การพูดคุยมักถูกจัดขึ้นระหว่างผู้นำพม่าและผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ โดยที่เสียงของคนรากหญ้าไม่ได้มีส่วนร่วม

คนกลุ่มชาติพันธุ์นั้นยากจนและไร้เดียงสา พวกเขาไม่รู้สิทธิ ไม่รู้ว่าจะแสดงความต้องการของตัวเองอย่างไร เสียงส่วนมากของพวกเขาหายไป (จากกระบวนการปรองดอง) ดังนั้น หากพวกเราต้องการสันติภาพที่ยั่งยืนในประเทศ พวกเราจะต้องกระตุ้นและยอมให้เสียงเงียบปรากฏออกมา

 

ภารกิจต่อไปของคุณคืออะไร - - จะรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน?

ในนามของกลุ่ม "คนรุ่น '88" ผมได้เดินทางไปเยือนในหลายพื้นที่ของพม่า โดยทริปแรก หลังจากที่ผมได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อสามเดือนก่อน ผมได้ไปที่ภาคอิระวดี ซึ่งน่าสงสารมาก พวกเขาไม่มีความคิดเรื่องอะไรคือสังคมเปิด อะไรคือความโปร่งใส

แต่ผมก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า เราได้หลอมรวมให้เกิดพันธมิตรและเครือข่ายกับกลุ่มต่างๆ มากมายทั้งกลุ่มด้านศิลปวัฒนธรรม กลุ่มศาสนา กลุ่มที่ทำงานพัฒนา และกลุ่มอาสาสมัคร รวมทั้งกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งขึ้นอย่างรัฐคะฉิ่นด้วย

กลุ่ม "คนรุ่น '88" ได้ประกาศด้วยว่าสนับสนุนออง ซาน ซูจี และพรรคของเธอ แต่นอกจากช่องทางรัฐสภา ประชาธิปไตยสาธารณะก็มีความสำคัญสำหรับพม่าด้วย เราจำเป็นต้องทำงานเพื่อเสริมศักยภาพให้กับองค์ความรู้ เพิ่มการตระหนักรู้และความมั่นใจให้กับประชาชน โดยสิ่งเหล่านี้กำลังจะเกิดขึ้น อย่างเช่นการประท้วงเขื่อนมิตซง และโครงการโรงไฟฟ้าทวาย

ตอนนี้ผมเองกำลังนำภารกิจการค้นหาข้อเท็จจริง เพื่อ ส.ส. ชื่อขิ่น หม่อง ยี (KhineMaung Yi) ภายหลังจากที่ประชาชนราว 10,000 คน ที่อำเภอตะโกง ทางตะวันออกของภาคย่างกุ้ง ได้เข้าชื่อกันร้องเรียนว่ารัฐบาลบังคับให้พวกเขาขายที่ซึ่งพวกเขาหามาด้วยน้ำพักน้ำแรงจากเงินเดือนข้าราชการ

ใช่ นี่คือสิ่งที่พวกเรากำลังดำเนินการในการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net