Skip to main content
sharethis
ความท้าทายในการอยู่ร่วมกันของ “โรงไฟฟ้า” กับ “ชุมชน” จากคำยืนยันของนักวิชาการที่ว่าทรัพยากรชีวมวลไทยศักยภาพสูง แต่ไม่ใช่เรื่องต้องเร่งรีบ สู่ข้อเสนอเพื่อเดินหน้าต่อ ขณะที่นักกฎหมายชี้ช่องสะท้อนปัญหาที่เกิดในพื้นที่ เพื่อการแก้ไขกฎระเบียบ
 
 
 
ต่อคำถามถึงทิศทางพลังงานชีวมวลไทยว่าจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไรดี เมื่อการส่งเสริม “โรงไฟฟ้าชีวมวล” กลายเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่โครงการต้องเผชิญหน้ากับฝุ่นละออง การแย่งชิงน้ำ ความขัดแย้งในชุมชน ความเครียด และความกังวลกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น หากต้องการให้พลังงานทางเลือกกลายเป็นทางรอดได้ ความผิดพลาดที่ต้องเร่งแก้ไขเหล่านี้ควรอยู่ที่นโยบาย กฎหมาย หรือตัวโรงงาน
 
วันที่ 3 เม.ย.55 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดอภิปรายหัวข้อ “อุดรูรั่วพลังงานชีวมวล” ส่วนหนึ่งในการสัมมนา “ผลกระทบต่อสุขภาพจากนโยบายพลังงานชีวมวล” ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามา การ์เด้น กรุงเทพมหานคร โดยมีประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลกว่า 8 จังหวัดทั่วประเทศ อาทิ ร้อยเอ็ด ยะลา สุรินทร์ เชียงราย สระแก้ว ปราจีนบุรี อุบลราชธานี ตาก ร่วมแสดงความเห็น
 
ทรัพยากรพลังงานชีวมวลศักยภาพสูง ความท้าทายเพื่อการอยู่ร่วมกันได้จริง
 
ศุภกิจ นันทะวรการ นักวิจัยด้านพลังงาน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า ในนโยบายพลังงานโดยรวม เรายังมีศักยภาพพลังงานชีวมวลอีกจำนวนมาก ตรงนี้กระทรวงพลังงานจึงมีการปรับแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ฉบับล่าสุดที่ออกในปี 2554 โดยปรับเพิ่มเป้าหมายจากเดิมใน 15 ปี (2551-2565) 5,600 เมกะวัตต์ เป็น 9,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2564 ซึ่งหากดูในส่วนชีวะมวลจะพบว่าลดลงเล็กน้อยจากเป้าหมาย 3,700 เมกะวัตต์ เหลือ 3,630 เมกะวัตต์
 
 
ยกตัวอย่างมาตรการสำคัญในแผนที่เพิ่งออกมา อาทิ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมผลิตอย่างกว้างขวาง กำหนดมาตรการสนับสนุนสำหรับชุมชนโดยเฉพาะ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมรณรงค์ให้ความรู้ พัฒนาเทคโนโลยี Gasification เพื่อกังหันแก๊ส (Gas Turbine) และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการพลังงานชีวมวล 
 
“เวลาที่เราพูดถึงโรงงานไฟฟ้าชีวมวลระดับชุมชน ชุมชนนึกไม่ออก เพราะว่ามันไม่เกิดสักที มันมีแต่เอกชนพัฒนามา 300 กว่าโครงการแล้ว” ศุภกิจกล่าวถึงสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 
 
นักวิจัยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวต่อมาถึงแผนการพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ซึ่งระบุเรื่องการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมเรียนรู้ โดยเสนอให้ลองตั้งเป้าหมายให้มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในระดับจังหวัดก่อนที่จะมีความขัดแย้งจากโครงการจะเป็นไปได้หรือไม่ หรือในพื้นที่ที่ไม่ต้องพูดถึงโครงการ ให้ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน หน่วยราชการ และภาควิชาการ มาร่วมกันพิจารณาว่าพลังงานชีวมวลสามารถเป็นทางเลือกหนึ่งในระดับจังหวัดได้หรือไม่ หรือมีศักยภาพทางพลังงานในด้านต่างๆ อย่างไร แล้วทำเป็นแผนของจังหวัด ก่อนไปพิจารณาว่าจะรับโครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาหรือไม่
 


แนะมาตรการหนุน “โรงไฟฟ้าชุมชน” พร้อมย้ำชีวมวลไม่ใช่เรื่องเร่งรีบ 
 
สำหรับข้อเสนอต่อมาตรการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนในปัจจุบัน ศุภกิจ กล่าวว่า 1.เรื่องส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ขณะนี้มีให้เพียงไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบเท่านั้น ไม่มีสำหรับไฟฟ้าชุมชน เพราะฉะนั้นจากการที่กระทรวงพลังงานระบุไว้เรื่องการเร่งกำหนดมาตรการสนับสนุนโครงการระดับชุมชนเป็นการเฉพาะจะดำเนินการได้ไหม 2.มาตรการเงินสนับสนุนที่มีการเปลี่ยนแปลงตามการตัดสินใจของรัฐบาล ทำให้เอกชนที่พัฒนาโครงการมีความเสี่ยง ดังนั้นการเปลี่ยนอัตราสนับสนุนควรมีระบบที่ชัดเจน เช่น ตามอัตราการเรียนรู้และการลดลงของต้นทุน เอกชนจะได้คิดถึงโครงการอีกแบบหนึ่งได้
 
3.ปัจจุบันส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าขึ้นกับวันที่ยื่นใบสมัคร แทนที่จะกำหนดจากวันที่เริ่มผลิตไฟฟ้า เมื่อประกอบกับข้อ 2 ส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นกรอบที่ทำให้เอกชนที่สนใจทำพลังงานชีวมวล เร่งพัฒนาโครงการไปก่อน โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน แทนที่จะมีความคิดไปพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับชุมชนโดยใช้่เวลาอีก 5 ปี ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงหลายเรื่อง ดังนั้นจึงมีการปรับให้กำหนดจากวันที่เริ่มผลิตไฟฟ้า
 
“เรามีเวลา เราไม่ได้เร่ง เรื่องไฟฟ้าประเทศยังไม่ได้ขาด เรามีเวลาที่จะพัฒนา จะอุดรูรั่ว จะหาทางออกร่วมกันว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง อันนี้เป็นข้อเท็จจริงจากข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยว่าความต้องการไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นจริงมันต่ำกว่าที่พยากรณ์และเตรียมการไว้ในแผน ปีทีแล้วก็ต่ำไป 668 เมกะวัตต์ เพราะฉะนั้นเรายังคงมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเหลืออยู่ เราไม่ได้ต้องเร่งโรงไฟฟ้าชีวมวลขึ้นมา” 
 
 
ข้อเสนออุดรูรั่วพลังงานชีวมวล ผังเมือง-EIA เรื่องที่ต้องถูกพูดถึง
 
ศุภกิจ กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงพลังงาน เมื่อเดือนกันยายน 2554 ระบุตัวเลขโรงไฟฟ้าชีวมวลทั้งที่อยู่ในกระบวนการเริ่มต้นพิจารณา มีการตอบรับจากรัฐแล้ว และมีการลงนามในสัญญาแล้วรวมทั้งหมดจำนวนทั้งสิ้น 306 โครงการทั่วประเทศ โดยเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) คือกำลังการผลิตน้อยกว่า 10 เมกะวัตต์ ซึ่งการก่อสร้างไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีถึง 297 โครงการ ซึ่งตรงนี้เป็นโครงการส่วนใหญ่ที่มีปัญหากับชุมชนในขณะนี้
 
 
ศุภกิจ กล่าวต่อมาถึงข้อเสนออุดรูรั่วพลังงานชีวมวล 3 เรื่อง คือ (1) เรื่องการเลือกที่ตั้งโรงไฟฟ้าซึ่งปัจจุบันเอกชนเลือกได้ตามที่เห็นเหมาะสม ตรงนี้คิดว่าต้องแก้โดยการมีกรอบแนวทางก่อน คือให้มีผังเมืองบังคับใช้ก่อนตัดสินใจโครงการ โดยโครงการที่จะเข้ามาสร้างในพื้นที่ต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดในร่างผังเมือง หากยังไม่มีผังเมืองบังคับใช้ อย่างน้อยก็ให้นำร่างการใช้ประโยชน์ที่ดินมาพิจารณา 
 
(2) เรื่องพื้นที่ที่เหมาะสม ในรายละเอียดต้องกำหนดระยะห่างเป็นข้อกำหนด-กฎระเบียบที่ชัดเจนก่อน เช่น ระยะห่างจากบ้านเรือนประชาชนอย่างน้อยเท่าไหร่ อาจกำหนดตามขนาดของโครงการ ซึ่งปัจจุบันไม่มีตรงนี้จึงพบกรณีที่โครงการอยู่ชิดบ้านชาวบ้าน โดยห่างเพียง 10 เมตร
 
(3) เรื่องการประเมินผลกระทบ ข้อเสนอคือให้ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทุกโครงการ และต้องมีการตรวจสอบโดยสาธารณะ ซึ่งการดำเนินการตั้งไว้ 2 ทางเลือก คือ 1.ปรับข้อกำหนดเรื่อง EIA จากตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน ให้เป็น 1 เมกะวัตต์ ขึ้นไปต้องทำ EIA ทุกโครงการ ซึ่งโครงการขนาดเล็กมีความซับซ้อนน้อยก็ใช้เวลาน้อย ควรปรับให้ชัดเพื่อลดผลกระทบต่อสาธารณะ 2.หากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ไม่ปรับเรื่องข้อกำหนด EIA ด้วยเหตุผลว่าตามข้อกำหนดเดิมมีโครงการ 9.9 เมกะวัตต์เกิดขึ้นนับ 100 โครงการแล้ว ก็ให้สังคมกำหนดแนวทางร่วมกัน โดยประชาชน เจ้าของโครงการ หน่วยงานรัฐ มาตกลงกันว่าแนวทางการประเมินผลกระทบสำหรับทุกโครงการควรเป็นอย่างไร ที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับและเดินหน้าไปด้วยกันได้
 
ส่วนช่องทางบังคับใช้ ทั้ง 3 เรื่อง แบ่งเป็น 3 ช่องทาง คือ 1.คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องช่วยกันเสนอการปรับปรุงระเบียบการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน รวมทั้งการหยุดและเพิกถอนใบอนุญาตฯ ให้นำเรืองเหล่านี้เข้าไปด้วยตามอำนาจ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน 2.กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยเสนอการปรับปรุงระเบียบการพิจารณาอนุญาตโรงงาน ซึ่งปัจจุบันข้อกำหนดเรื่องระยะห่างอยู่ภายใต้อำนาจกรมโรงงานอุตสาหกรรม 
 
และ 3.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 กำหนดให้โรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นกิจการที่อาจเป็นอันตราย แล้วออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการขออนุญาตและติดตามตรวจสอบโครงการได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีองค์กรปกครองท้องถิ่นใดใช้ช่องทางนี้
 

ผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ภาพสะท้อนปัญหากระบวนการบังคับใช้กฎหมาย
 
ด้านสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ นักกฎหมายโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม สรุปปัญหาของโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ปรากฏในปัจจุบันจากมุมมองด้านกฎหมายว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนโรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินการ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในหลายพื้นที่ในเรื่องการมองความเหมาะสมของพื้นที่ที่ต่างกัน โดยชาวบ้านมองว่าที่ริมน้ำเหมาะสมกับการเกษตร แต่เอกชนมองว่าเหมาะทำอุตสาหกรรม ในขณะที่หน่วยงานรัฐเห็นพ้องตามเอกชนทำให้ออกใบอนุญาตได้ เพราะคนกลางที่มีหน้าที่ชี้ขาดคือหน่วยงานรัฐ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามข้อกำหนดเรื่องพื้นที่ที่เหมาะสมนี้ตามกฎหมายแล้วมีเพื่อคุ้มครองเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ต้องการระบุว่ามีความเหมาะสมกับทางเศรษฐกิจหรือการขนส่ง 
 
สำหรับการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีปัญหา เพราะในหลายพื้นที่แม้มีการเปิดรับฟังความเห็น และชาวบ้านมีความเห็นคัดค้านโครงการ แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังสรุปความเห็นว่าเหมาะสมแก่การสร้างอยู่ดี โดยให้ความเห็นว่าข้อทักท้วงของคนในพื้นที่แก้ไขได้ ทำให้เดินหน้าต่อในการให้ใบอนุญาต ทั้งที่หากพิจารณาว่าเหตุผลของคนในพื้นที่รับฟังได้ก็สามารถให้ระงับการก่อสร้างในพื้นที่ได้ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
 
ส่วนที่ 2. ปัญหาเมื่อโรงไฟฟ้าเปิดดำเนินการแล้ว ที่พบมากคือการไม่ดำเนินการตามสัญญาประชาคมหรือสิ่งที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับชุมชน เมื่อโครงการเดินหน้าจึงก่อให้เกิดผลกระทบขึ้น ตรงนี้ส่วนตัวเห็นว่าเป็นหน้าที่หลักของหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ให้ใบอนุญาตและกำหนดให้มีมาตรการลดผลกระทบต้องตรวจสอบ ควบคุม เพื่อให้เกิดผลบังคับให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเมื่อมีการร้องเรียนของประชาชน กรณีที่หน่วยงานรัฐจะเข้ามาแก้ไขมีน้อย และส่วนใหญ่จะเป็นกรณีที่มีผลกระทบชัดเจน ตรงนี้คือปัญหาเรื่องการบังคับใช้
 
ชาวบ้านถ่ายรูปหมู่หน้าศาลปกครอง ในวันที่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว หยุดโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเชียงราย
อ่านเนื้อหา: http://prachatai.com/journal/2011/09/36799

 

ชี้ช่องสะท้อนจากปัญหาที่เกิดในพื้นที่ สู่การแก้ไขกฎระเบียบ
 
“ผมคิดว่ากฎหมายสมควรจะเป็นจำเลย เพราะถ้าเราดู ที่เราต่อสู้ในกติกาที่มันเป็นอยู่ กติกาที่ไม่เป็นธรรมต่อสู้อย่างไรชาวบ้านก็ต้องแพ้ เพราะฉะนั้นเราจะไม่พูดเรื่องกฎหมายไม่ได้” สงกรานต์ กล่าวและว่าที่ผ่านมาอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐคือกฎหมาย ดังนั้นเพื่อปลดล็อคจึงต้องแก้กฎหมาย
 
นักกฎหมายโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หากมองปัญหาจริงๆ จากมุมมองของกฎหมาย อันดับแรก เขาคิดว่ากฎเกณฑ์กฎระเบียบของหน่วยงานรัฐที่บังคับใช้อยู่ปัจจุบันมีปัญหา ซึ่งควรต้องแก้ไข เช่น กฎเกณฑ์ที่กำหนดให้ทำหรือไม่ทำ EIA การที่ไม่มีข้อกำหนดระยะห่างโครงการกับชุมชน และการเปิดช่องให้มีการพิจารณาโดยใช้ดุลยพินิจของผู้อนุมัติอนุญาตที่กว้าง ส่วนการแก้ปัญหาโดยการแก้กฎหมายนั้นทำได้ และกฎหมายเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าชีวมวลแก้ได้ง่าย เพราะเป็นกฎหมายในระดับรองคือเป็นกฎกระทรวงซึ่งในระดับคณะรัฐมนตรีออกกฎหมายได้ ไม่จำเป็นต้องผ่านสภา 
 
นอกจากนี้ โดยส่วนตัวเขามีข้อเสนอต่อประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้มีการจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวให้มีความชัดเจน โดยสะท้อนจากปัญหาที่เกิดจากโรงไฟฟ้าหลายๆ แห่ง ในหลายๆ พื้นที่ ว่าจะต้องมีการแก้ไขเรื่องดังกล่าว แล้วก็ทำการติดตาม หากคำตอบไม่มีเหตุผลเพียงพอก็อาจต้องใช้มาตรการทางสังคมกดดันเพิ่มเติม เพราะหลายพื้นที่เห็นตรงกันว่ากฎเกณฑ์มีปัญหา ก็ต้องแก้
 
ส่วนการแก้ปัญหาในระดับการบังคับใช้ สงกรานต์ กล่าวว่าในหลายพื้นที่มีการฟ้องคดีไปที่ศาลยุติธรรมและศาลปกครอง และคาดว่าคดีส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพิจารณา อีกส่วนหนึ่งศาลได้ยกฟ้องไปแล้ว พร้อมยกตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้าชีวมวลเชียงราย ที่ศาลสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งตรงนี้จำเป็นมาก เพราะการพิจารณาคดีของศาลใช้เวลา 5 ปี ในระยะเวลานี้โรงไฟฟ้าสามารถดำเนินได้จนกระทั่งปล่อยมลพิษออกมา หากมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไม่ถูกบังคับใช้ ผลของคดีจะไม่มีประโยชน์เลย
 
ทั้งนี้ จากตัวอย่างดังกล่าว พบว่าชาวบ้านจะต้องมีพันธมิตรและมีการเก็บข้อมูลผลกระทบอย่างจริงจัง โดยขอความร่วมมือจากนักวิชาการในการศึกษาว่าพื้นที่ไม่เหมาะกับการสร้างโรงไฟฟ้าโดยอ้างอิงหลักการทางวิชาการ ซึ่งตรงนี้จะเป็นน้ำหนักในการชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมต่อศาลได้
 
 
 “สุรินทร์” บทเรียนความเจ็บปวดจากทางเลือกชีวมวล 
 
“เราพูดถึงกลไกลการพัฒนาที่สะอาด เราพูดถึงการขายคาร์บอนเครดิต เราพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วเราก็พูดถึงพลังงานชีวมวลเป็นพลังงานทางเลือก แต่โจทย์ที่สำคัญก็คือว่า เราพูดมิตินี้ต้องพูดว่ามันต้องสร้างความเป็นธรรมให้คนในชุมชนด้วย มันถึงจะครบสมบูรณ์” วิจิตรา ชูสกุล เครือข่ายพลังงานยั่งยืน จ.สุรินทร์ กล่าว
 
วิจิตรา กล่าวว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผู้ประกอบการได้ประโยชน์ เพราะได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิต แต่ประชาชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้ากลับเป็นคนที่ได้รับผลกระทบได้ ดังนั้น เมื่อสิ่งที่พูดถึงไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเรื่องพลังงานทางเลือก หากเป็นสิ่งที่ได้เลือกแล้วก็ควรสร้างความเป็นธรรมให้คนที่อยู่โดยรอบด้วย
 
ในส่วนการต่อสู้เรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดสุรินทร์ วิจิตรา กล่าวว่า อาจไม่ค่อยเห็นภาพการต่อสู้ ซึ่งอาจจะด้วยว่ากระบวนการที่ผ่านมาเบื้องต้นเครือข่ายทำงานเรื่องพลังงานชุมชน และมิติช่วงที่ผ่านมาก็สนับสนุนเรื่องพลังงานชีวมวล เพราะถือว่าเป็นทรัพยากรในท้องถิ่น 
 
“ณ บัดนี้เรารู้สึกเศร้าใจมาก เศร้าใจมากกับทางเลือกที่เราคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีแล้ว เพราะกระบวนการจัดการที่เกิดขึ้นเราไม่ได้มองคนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า”  เครือข่ายพลังงานยั่งยืน จ.สุรินทร์ กล่าว
 
 
ร้องชุมชนลุกขึ้นส่งเสียง “ชีวมวล 10 โรง” เกินกำลังที่การผลิตจะรับได้
 
วิจิตรา ให้ข้อมูลว่า จ.สุรินทร์ ขณะนี้มีโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 โรง โดย 1 โรงขายคาร์บอนเครดิตด้วย แต่จากการเก็บข้อมูลของชุมชนก็พบว่ามีผลกระทบต่อชาวบ้านที่อยู่โดยรอบทั้ง 2 โรง และยังจะมีตามมาอีก 8 โรง รวมกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมด 124.90 เมกะวัตต์ ซึ่งก็มีการเก็บข้อมูลต่อมาว่าผลผลิตชีวมวลในจังหวัดมีเพียงพอหรือไม่ พบว่าพื้นที่ผลิตใน จ.สุรินทร์ ราว 1.3 ล้านไร่ ได้แกลบไม่เพียงพอ แต่ในปัจจุบันโรงไฟฟ้าชีวมวลมีการใช้ไม้สับจากโรงงาน และเง้ามันสำปะหลังมาผสม โดยการเลือกใช้พิจารณาจากต้นทุน
 
“ทุกอย่างที่ใช้มาจากต้นทุน เมื่อไหร่ที่อะไรที่เป็นต้นทุนที่ถูก อันนั้นคือสิ่งที่จะต้องเลือกใช้เป็นอันดับแรก เพราะฉะนั้นอนาคตข้างหน้าเราไม่รู้ว่าอะไรจะถูกกว่าชีวมวล ซึ่งอาจมาเป็นส่วนหนึ่งในการผสมได้” วิจิตรากล่าว
 
โรงไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์
ที่มาภาพ: http://www.mcgreenpower.com
 
ตัวแทนเครือข่ายพลังงานยั่งยืน จ.สุรินทร์กล่าวด้วยว่า กระบวนการเลือกก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่หนึ่งๆ นอกจากเรื่องผังเมือง และเรื่องที่ตั้งแล้ว ทรัพยากรชีวมวลในท้องถิ่นนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็นแกลบ มัน อ้อย ใน จ.สุรินทร์ ทั้งหมดผลิตไฟได้ราว 100 เมกะวัตต์ ไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าทั้ง 10 โรง ซึ่งการคำนวณตรงนี้ยังไม่ได้หักปริมาณชีวมวลที่อาจต้องเอาไปใช้ในเรื่องอื่นๆ เช่น ทำปุ๋ย ใช้ไม้ในการก่อสร้าง เผาอิฐ รองพื้นเลี้ยงไก่ ฯลฯ 
 
อย่างไรก็ตามหากรวมผลผลิตจากโรงงานไม้สับซึ่งนำเข้าไม้จากนอกพื้นที่ และโรงสีขนาดใหญ่ที่รับซื้อข้าวจากนอกจังหวัด จะมีวัตถุดิบมากพอที่จะใช้ผลิตไฟฟ้าได้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงการดำเนินกิจการเหล่านี้ด้วยว่าอาจส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่นกรณีของโรงสีที่สีข้าวทั้งวันทั้งคืนเพื่อส่งออกที่ส่งผลกระทบเรื่องฝุ่นในชุมชน ซึ่งก็ควรมีมาตรการดูแลด้วย
 
“ณ วันนี้ ถ้าสุรินทร์จะมีโรงไฟฟ้าชีวมวล 10 โรง พี่น้องสุรินทร์คิดว่าน่าจะต้องลุกมาประท้วงแล้วว่า นี่มันไม่ได้แล้ว มันเกินกำลังที่การผลิตของเราจะรับได้แล้ว อันนี้ยังไม่มองถึงผลกระทบ” วิจิตรากล่าวและว่าในเรื่องผลกระทบนั้น โรงงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นมองข้ามความเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ มองข้ามสิทธิของชุมชนที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าเขาจะดำรงชีวิตอย่างไร ดังนั้นมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจึงเป็นมาตรการเพื่อให้โครงการเดินหน้าได้
 
วิจิตรา กล่าวถึงกระบวนการทำ  EIA ด้วยว่า มีปัญหาทั้งในเรื่องที่ผู้ประกอบการเป็นผู้ดำเนินการและจ้างบริษัทที่ปรึกษาในการจัดทำ และเรื่องการมีส่วนร่วม เพราะประชาชนกลายเป็นเพียงผู้ตอบคำถาม แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งควรต้องมีการแก้ไขต่อไป อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาชาวบ้านมีการทำรายงานประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) เป็นเครื่องมือใช้สิทธิของชุมชน และพบว่าผลกระทบนั้นเกิดขึ้นจริง
 
“เวลาเราพูดรับฟังความคิดเห็น บางทีไปไม่ถึงมิติของการตัดสินใจ ถ้าเราจะพูดถึงอนาคตด้วย เราจะต้องมีองค์ประกอบของข้อมูลที่ทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ แต่ช่วงที่ผ่านมามันเร็วมาก ข้อมูลปุ๊บๆ เอกสารหนึ่งฉบับ ฟังหนึ่งเวทีแล้วก็มาบอกว่าได้รับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่ว่ากระบวนการตัดสินใจที่ประชาชนรู้สึกว่า ฉันได้ตัดสินใจว่ามันเหมาะ มันสมแล้ว มันยังขาดกระบวนการตรงนี้ไป” วิจิตรากล่าวถึงโจทย์ที่สำคัญ พร้อมเสริมว่า เมื่อประชาชนตัดสินใจว่าไม่เอาก็ควรเคารพสิทธิของชุมชน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net