Skip to main content
sharethis

กระทรวงพลังงาน เตรียมเปิดประมูล "ไอพีพี" รอบใหม่ 6,000 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติ คาดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564 ทดแทนลดโรงไฟฟ้าถ่านหินจากแผนเดิม 50% ชะลอนิวเคลียร์ 6 ปี

 
เว็บไซต์ suthichaiyoon.com รายงานว่า นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่าแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 จะมีการเปิดประมูลให้เอกชนผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ซึ่งแผนพีดีพี ฉบับปรับปรุงใหม่ จะนำเข้าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาในเร็วนี้
 
อย่างไรก็ตาม การกำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าโดยเพิ่มพลังอื่นมากขึ้นนั้น เขากล่าวว่ายังเห็นว่ามีความสำคัญ เพราะปัจจุบัน ไทยผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติกว่า 70% ขณะที่ถ่านหินมีการพัฒนาเทคโนโลยีช่วยควบคุมการปล่อยมลภาวะไปได้มาก ดังนั้นจึงเห็นว่าจำเป็นต้องผลักดันให้มีการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
 
“ตอนนี้มีบางพื้นที่ ก็สนับสนุนให้พัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะมีความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีที่ช่วยลดมลภาวะ อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับจดหมายจากกำนันผู้ใหญ่บ้าน พร้อมรายชื่อชาวบ้าน ใน จ.กระบี่ หลายสิบคน ที่ต้องการให้พัฒนาโรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้ากระบี่ที่ใช้น้ำมันเตาในปัจจุบัน และเป็นโรงไฟฟ้าที่ปลดระวางแล้ว ซึ่งเห็นว่าเมื่อมีคนในพื้นที่สนับสนุนอย่างนี้ จึงต้องเร่งสร้างระบบจัดสรรผลประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจน เพื่อนำรายได้จากการขายไฟฟ้ามาพัฒนาชุมชน และต่อไปเมื่อชุมชนมีเงินมากขึ้น ก็จะเปิดโอกาสให้เข้ามาถือหุ้นในโรงไฟฟ้าได้เลย เพื่อทำให้ชุมชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าอย่างแท้จริง ซึ่งกระบี่และพื้นที่อื่นๆ จะต้องใช้โมเดลนี้ทั้งหมดในอนาคต ส่วนนิวเคลียร์นั้น คาดว่าคงจะต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจไปก่อน”
 
 
เผยเปิดประมูล 6 พันเมกะวัตต์
 
แหล่งข่าว จาก กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สำหรับแผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 จะมีการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือ ไอพีพี ประมาณ 5,000 - 6,000 เมกะวัตต์ เพื่อให้เข้าระบบในปี 2564 เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซฯ กระจายตามพื้นที่แนวท่อส่งก๊าซฯ ที่กำลังขยายโครงข่ายไปทั่วประเทศ
 
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้น เพื่อมาแทนที่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปรับลดลง และนิวเคลียร์ที่เลื่อนเขาระบบออกไป 6 ปี ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำหนดในแผนพีดีพี ปรับปรุงครั้งที่ 3 ปรับลดลงกว่า 50% เหลือ 5 โรง รวมประมาณ 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเข้าระบบในปี 2562 เป็นต้นไปจนถึงสิ้นสุดแผนในปี 2573
 
 
ชี้ภาคใต้จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม
 
สำหรับสิ่ง ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงในเวลานี้ คือ โรงไฟฟ้าในภาคใต้ที่มีไม่เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้เติบโตใกล้เคียงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการขยายตัวของการท่องเที่ยว และภาคธุรกิจที่มาพร้อมกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือเฉลี่ยโตปีละประมาณ 5 % หรือมีความต้องการ 2,000 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 2,000 เมกะวัตต์เช่นเดียวกัน
 
ขณะนี้ โรงไฟฟ้าที่ป้อนในพื้นที่ภาคใต้เป็นแหล่งพลังงานหลักมาจากโรงไฟฟ้าจะนะ ขนาด 700 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขนอม กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำรวมอีก 500 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันต้องดึงไฟฟ้าจากภาคกลางและตะวันออกมาช่วยเสริม ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าขนอมจะต้องปลดจากระบบในปี 2559
 
ดังนั้น กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้จำเป็นต้องขยายเพิ่ม โดยใช้พื้นที่โรงไฟฟ้ากระบี่ที่ปลดระวางแล้ว ซึ่งล่าสุดโรงไฟฟ้าแห่งนี้ใช้น้ำมันเตา จากก่อนหน้านี้ใช้ลิกไนต์ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ขนาด 800 เมกะวัตต์ที่นี่ และใช้ลิกไนต์จากเดิมมีกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์
 
ส่วนโรง ไฟฟ้าขนอม ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ที่ต้องปลดออกจากระบบในปี 2559 ล่าสุดกระทรวงพลังงานจะให้ใช้พื้นที่เดิมพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่รองรับก๊าซฯ จากอ่าวไทยอยู่แล้ว และมีระบบสายส่งรองรับ ประกอบกับเป็นโรงไฟฟ้าที่จะสามารถผลิตรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ได้ เร็วที่สุด
 
อย่างไรก็ ตาม โรงไฟฟ้าเหล่านี้เข้ามาแทนที่กำลังผลิตเดิมเท่านั้น ไม่ได้รองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในภาคใต้ ดังนั้นยังจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มในภาคใต้อยู่ต่อไป ซึ่งในพื้นที่นี้ ตามแผนให้ กฟผ.พัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่หากทำไม่ได้ตามแผน ก็ต้องปรับให้สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่เดินเครื่องด้วยดีเซลหรือน้ำมันเตาแทน ส่วนต้นทุนที่สูงขึ้นจะเป็นต้นทุนรวมของระบบ
 
 
ราชบุรีโฮลดิ้งพร้อมร่วมประมูล
 
นายนพพล มิลินทางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าหากกระทรวงพลังงานเปิดประมูลไอพีพีรอบใหม่ ทางบริษัทก็มีความพร้อมในการเข้าประมูลประมาณ 800 เมกะวัตต์ เนื่องจากที่ตั้งโรงไฟฟ้าราชบุรีในปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 2,015 ไร่ หรือกว่า 50% ที่ยังไม่ได้ใช้งาน ขณะเดียวกันมีความพร้อมในเรื่องสายส่งและมีความได้เปรียบ เนื่องจากโรงไฟฟ้าราชบุรีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนรอบข้างอยู่แล้ว
 
"การสร้างโรงไฟฟ้าในปัจจุบันเป็นเรื่องยาก และใช้เวลามากขึ้น ซึ่งหากเปิดประกาศในวันนี้ กว่าขั้นตอนจะแล้วเสร็จต้องใช้เวลากว่า 2 ปี หรือรวม 10 ปีกว่าจะผลิตได้เชิงพาณิชย์"
 
เขากล่าวว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าก็เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเห็นว่าภาครัฐจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้ารองรับ ความต้องการในอนาคต ซึ่งมองว่าการสร้างในพื้นที่เดิมจะได้เปรียบมากกว่าหาพื้นที่ใหม่ ส่วนเรื่องมวลชนนั้นจะต้องพยายามเข้าหาชุมชนและพูดคุยเพื่อให้ทราบว่าชุมชน มีความกังวลในเรื่องใดบ้าง เพื่อหาแนวทางลงตัวของทั้งสองฝ่าย โดยโรงไฟฟ้าราชบุรีมีความพร้อมมากทั้งฐานะการเงินที่ดี สามารถกู้ได้ 2 หมื่นล้านบาท
 
 
โกลว์กรุ๊ปชี้เปิดประมูลสัญญาต้องชัด
 
นายณัฐพรรษ ตันบุญเอก ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและนักลงทุนสัมพันธ์ โกลว์กรุ๊ป กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลไอพีพีครั้งนี้อย่างแน่นอน โดยในการประมูล 2 รอบที่ผ่านมา บริษัทชนะการประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซและถ่านหิน 2 สัญญา ขนาดกำลังผลิต 713 เมกะวัตต์ ที่ อ.บ่อวิน จ.ชลบุรี และที่มาบตาพุด 660 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเร็วนี้
 
ไอพีพี ถือเป็นธุรกิจหลักของบริษัท สร้างรายได้ 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งการประมูลรอบนี้ มองว่าภาครัฐน่าจะกระจายเชื้อเพลิงที่หลากหลาย ทั้งก๊าซและถ่านหิน เนื่องจากถ่านหินต้นทุนต่ำและมีสำรองถ่านหินทั่วโลกกว่า 100 ปี
 
ขณะที่ก๊าซธรรมชาติมีข้อจำกัด โดยปัจจุบันไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ขณะที่การผลิตไฟฟ้าก็ต้องพึ่งพาก๊าซถึง 70% ดังนั้น เพื่อความมั่นคงในระยะยาว การประมูลในรอบนี้ควรจะกระจายเชื้อเพลิง
 
"หลักเกณฑ์ในการพิจารณาผู้ที่สมควรได้รับ การพิจารณา ควรดูประวัติและผลงานที่ผ่านมาด้วยว่าสามารถดูแลพื้นที่ ดูแลชุมชนหรืออยู่ร่วมกับชุมชนอย่างไร และเกิดการต่อต้านจากชุมชนหรือไม่ โดยส่วนตัวแล้วมองว่ากรอบสัญญาไอพีพี ระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) และผู้ผลิตถือว่ามีความชัดเจนและโปร่งใส เป็นที่ยอมรับ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีบริษัทต่างชาติเข้ามาร่วมประมูลหลายราย"
 
เขากล่าวว่า ประเด็นอยู่ที่มีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้การประมูลไม่สามารถเดินหน้าได้ และต้องเจรจาเป็นรายกรณี ซึ่งยังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ ดังนั้น รัฐต้องยึดตามกรอบสัญญาให้ชัดเจน กรณีเหตุสุดวิสัยที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงสัญญาได้ ควรมีหลักเกณฑ์อย่างไร แต่หากมีการต่อต้านจากมวลชนหรือความเสี่ยงใดๆ ให้รัฐเป็นผู้ออก
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net