บทวิเคราะห์ธรรมกาย กฎหมายหมิ่นศาสนา และอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ซ้อนรัฐ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม "ก้าวข้ามธุดงค์ธรรมชัย 2555 บทวิเคราะห์ธรรมกาย กฎหมายหมิ่นศาสนาและอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ซ้อนรัฐ"

 

อาจนับได้ว่า ประเด็นร้อนที่ถูกจุดขึ้นมาช่วงเมษานี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของความวาบหวิวของชุดว่ายน้ำในแฟชั่นประจำซัมเมอร์ แต่เป็นเรื่องที่อยู่แทบสุดขั้วตรงข้ามกัน นั่นก็คือ “ธุดงค์ธรรมชัย” ประเด็นนี้เกิดขึ้นจากแคมเปญของวัดธรรมกาย เพื่ออัญเชิญรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จากวัดธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี นำไปประดิษฐาน ณ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 2 – 6 เมษายน 2555[1] การยาตราครั้งนี้ได้แหวกเส้นทางสัญจรหลักใจกลางกรุงเทพฯ โดยผ่านถนนเส้นสำคัญดังนี้

ย่านปริมณฑล ปทุมธานี : ถนนคลองหลวง จากวัดธรรมกาย, ถนนพหลโยธิน, ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, เซียร์ รังสิต,

ย่านกรุงเทพฯชั้นนอก : โรงเรียนนายเรืออากาศ, วงเวียนบางเขน, กองพลทหารราบที่ 11, เซ็นทรัลลาดพร้าว, จตุจักร, สะพานควาย, อนุสาวรีย์ชัยฯ

ย่านกรุงเทพฯชั้นใน : ถนนพญาไท, ถนนศรีอยุธยา, ถนนราชปรารภ, ถนนราชดำริ, เซ็นทรัลเวิลด์, ถนนพระราม 1, สยามพารากอน, มาบุญครอง, ถนนบรรทัดทอง, ถนนพระราม 4, ถนนมิตรภาพ ไทย – จีน, วัดไตรมิตร, ถนนเยาวราช, ถนนจักรวรรดิ, ถนนมหาไชย, ถนนเจริญกรุง, ถนนตรีเพชร

ย่านฝั่งธนบุรี : ถนนประชาธิปก, ถนนวงเวียนเล็ก, วงเวียนใหญ่, ถนนอินทรพิทักษ์, ถนนเทิดไท, ตลาดพลู, ถนนรัชมงคประสาธน์

ธุดงค์ธรรมชัย ณ ถนนเยาวราช ใจกลางย่านเศรษฐกิจคนจีน 5 เมษายน 2555

เข้าใจว่าสิ่งที่ทำให้คนกรุงเดือดร้อนจนต้องออกปากเหน็บแนมจิกกัด หรือกระทั่งผรุสวาทผ่านสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ค ก็คือ กิจกรรมครั้งนี้ทำให้ทางสัญจรเส้นหลักของกรุงเทพฯ ถูกบีบลงทำให้กรุงเทพฯ แทบจะเป็นอัมพาต ผสมกับก่อนหน้านี้ในแคมเปญตักบาตรพระ 1 ล้านรูปตามจุดสำคัญต่างๆทั่วประเทศ รวมถึงชื่อเสียงในทางไม่ค่อยดีของวันนี้ ทำให้ผลงานชิ้นนี้ของวัดธรรมกายตกเป็นเป้าโจมตีของสังคมอย่างหนัก

กรณีวัดธรรมกาย ถ้าจะถกเถียงไปให้ถึงที่สุดแล้ว ผู้เขียนมีคำถามว่า เราระแวง และหวาดกลัวกับเรื่องใดที่สุด สำหรับผู้เขียนแล้ว การโรยกลีบกุหลาบ, ทุนนิยมในศาสนา, ความโอเว่อร์เริดหรูอลังการในพิธีกรรม, การมุ่งเน้นเรื่องจิตวิญญาณ, การอธิบายกรรมแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน สวรรค์-นรก, การเลือกใช้พุทธศิลป์แบบใหม่ (ที่ถูกถากถางว่าเป็นมนุษย์ต่างดาวบ้าง จานบินบ้าง) แม้กระทั่งหลักคำสอนที่ไม่เป็นไปตาม "สำนักมาตรฐาน" ก็ยังไม่ใช่ "ประเด็น" ที่น่าขบคิดนัก เพราะไม่ใช่เพียงวัดธรรมกายเท่านั้นที่มีปัญหากับประเด็นเหล่านี้

 

มหาวิหารแห่งการบริโภค การบริโภคเพื่อเข้าสู่พื้นที่ในอุดมคติ

เอาเข้าจริงแล้ววัดธรรมกายเป็นเพียงตัวแทนหนึ่งของการบริโภคสมัยใหม่ทางด้านจิตวิญญาณ หรือใครจะเถียงว่า วัดพุทธทั่วๆไปในไทย ตำหนักเจ้าพ่อ ลัทธิเจ้าแม่ต่างๆ ไม่ได้ประยุกต์พิธีกรรม เพื่อการบริโภคทางจิตวิญญาณ  เพียงแต่ว่า ที่ทำๆกันอยู่นั้น แต่ละเจ้าสามารถทำให้มันมี หรือไม่มีประสิทธิภาพได้มากกว่ากันเท่านั้น

วัดธรรมกายถือว่าเป็นชุมชนทางศาสนาที่ใหญ่โต และไม่ใช่ชุมชนของนักบวช พื้นที่อันมหาศาลรองรับการใช้งานของมวลชนที่เป็นฆราวาสอย่างเต็มที่[2] เทียบจากสิ่งก่อสร้างอย่าง สภาธรรมกายสากล (ปี 2539) ที่อ้างว่ารองรับคนได้ถึง 300,000 คน (มีชั้นใต้ดินเพื่อรองรับการจอดรถด้วย), มหาธรรมกายเจดีย์ (เริ่มสร้างปี 2538) ที่ประกอบด้วย “องค์พระธรรมกาย” ประจำตัวแต่ละคนจำนวน 1 ล้านองค์ มีที่นั่งรองรับสงฆ์ 10,000 รูป และลานธรรมต่อเนื่องจากเจดีย์รองรับคนได้ 400,000 คน และล่าสุดคือ มหารัตนวิหารคด (ปี 2547) ที่จุคนได้ 600,000 คน ดังนั้นเฉพาะบริเวณเจดีย์และมหารัตนวิหารคด รองรับคนได้ประมาณ 1 ล้านคน[3]  ทั้งนี้ยิ่งสื่อให้เห็นชัดว่า สิ่งก่อสร้างดังกล่าวล้วนรองรับการดำรงอยู่ของตัวตนของมวลชนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นในทางกายภาพ หรือในทางจิตวิญญาณ

การบริโภคทางจิตวิญญาณของวัดธรรมกาย มีการจัดการ มีการเซ็ตติ้ง มีโปรแกรมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อทำให้มวลชนได้สร้างความผูกพันอยู่กับวัด โดยมีเมนูที่หลากหลาย และไม่ได้บังคับกะเกณฑ์ให้ใครต้องบรรลุอะไร แต่จะมีแรงจูงใจตามลำดับขั้น แกนกลางของวัดผูกอยู่กับ 3 ประเด็นสำคัญ นั่นคือ พระพุทธเจ้า, วิชชาธรรมกาย (ที่เชื่อกันว่า ได้หายไปจากไตรปิฎก หลวงพ่อสด วัดปากน้ำเป็นผู้ค้นพบและได้ถ่ายทอดมาจนเป็นต้นกำเนิดของวัดธรรมกาย) และปูชนียบุคคล ได้แก่ หลวงพ่อสด จันทสโร, ยายจันทร์ ขนนกยูง, พระไชยบูลย์ ธัมมชโย

โครงการใหญ่น้อยจำนวนมากที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการก่อสร้างถาวรวัตถุ, โครงการกิจกรรมรณรงค์ที่เจาะเป้าหมายทุกกลุ่มตั้งแต่เด็ก ผู้หญิง ผู้ชาย และคนทั่วไปในระดับมวลชน เช่น โครงการเด็กดี V-Star (เริ่ม 2553), โครงการบวชอุบาสิกาแก้วหน่ออ่อน 1 ล้านคน (2554), โครงการอุปสมบทหมู่ภาคฤดูร้อน 1 แสนรูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย (2555) ฯลฯ ล่าสุดคือ การตักบาตรพระ 1 ล้านรูป 77 จังหวัด ทุกวัดทั่วไทย ซึ่งมิได้เป็นการกระจุกตัวอยู่ที่วัดเท่านั้น แต่ยังได้กระจายตัวออกไปทั่วประเทศตามหน่วยกัลยาณมิตรที่กระจายอยู่

นอกจากมิติการบริโภคแล้ว เราจะเห็นได้ว่า นี่คือการเปิดพื้นที่สาธารณะให้คนกลุ่มใหญ่ได้มามีกิจกรรมและพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ร่วมกัน เป็นชุมชนในจินตนาการหนึ่งที่สงบสุข ร่มเย็น และเป็นที่พึ่งทางใจ

ชุมชนในจินตนาการของชาววัดธรรมกาย พื้นที่มหารัตนวิหารคด
และมหาธรรมกายเจดีย์ว่ากันว่ารองรับได้ถึง 1 ล้านคน

 

ธุดงค์ธรรมชัย

อันที่จริงโครงการดังกล่าว เริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554[4] ชื่อเต็มๆตอนนั้นก็คือ “โครงการธุดงค์ธรรมชัย สืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย” โดยวัตถุประสงค์ครั้งนั้นผูกโยงอยู่กับภัยน้ำท่วมด้วย นั่นคือ “เพื่อฟื้นฟูจิตใจผู้ประสบภัย และสร้างสิริมงคลให้แผ่นดิน” โดยพื้นที่ก็คือ เขตพื้นที่ประสบอุทกภัย 6 จังหวัด ได้แก่ อยุธยา, สุพรรณบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร รวมระยะทาง 356.6 กิโลเมตร ภายใต้ไอเดียว่า

“มหาอุทกภัย พ.ศ.2554 นี้ได้ทำความเสียหายเดือนร้อนกับพี่น้องชาวไทยอย่างมาก เพื่อขจัดปัดเป่าภัยพิบัติ สรรพทุกข์ สรรพโศก สรรพโรค สรรพภัย ให้หมดไป คณะพระธุดงค์ธรรมชัย ซึ่งล้วนเป็นพระนักปฏิบัติธรรม จึงได้ตั้งใจเดินธุดงค์ธรรมชัยตามแบบอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อฟื้นฟูจิตใจชาวไทยที่ประสบภัยน้ำท่วมและเป็นการสร้างสิริมงคลให้แผ่นดินไทย”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความสามารถในการปรับเปลี่ยนโครงการให้เชื่อมโยงกับบริบทและสถานการณ์สังคมการเมืองที่เปลี่ยนไป เมื่อเวลาผ่านสู่เดือนมกราคม 2555 ธุดงค์ธรรมชัย ก็ปรับตัวและแทรกความหมายใหม่ในโครงการเดิม โดยปรับเปลี่ยนเป็น โครงการเดินธุดงค์ธรรมชัย สถาปนาเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ 6 จังหวัด – 365 กิโลเมตร รับปี พ.ศ.2555 “ปัดเป่าผองภัย – สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน” ซึ่งเริ่มออกเดินธุดงค์จากวัดพระธรรมกาย จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 2 มกราคม[5]

การอ้างถึง มหาปูชะนียาจารย์นี้ ก็เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อบูชาธรรมแด่หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) และ 6 จังหวัดที่ว่า ก็คือ สถานที่สำคัญในชีวิตของหลวงปู่ได้แก่ สถานที่เกิด ณ สุพรรณบุรี , วัดสองพี่น้อง สุพรรณบุรี ที่บวช, วัดโบสถ์บน บางคูเวียง นนทบุรี ที่บรรลุธรรม, วัดบางปลา นครปฐม ที่แสดงธรรมครั้งแรก (และยังแวะไปรวมตัวกันที่พุทธมณฑลอีกด้วย แต่ไม่นับว่าอยู่ในอนุสรณ์สถาน), วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ณ วัดแห่งนี้ คือ สถานที่อ้างว่าได้ทำวิชชาปราบมารจนกระทั่งมรณภาพ และอนุสรณ์สถานแห่งสุดท้ายคือ วัดธรรมกาย ในฐานะเป็นสถานที่สืบสาน “มโนปณิธาน” [6] หรืออาจกล่าวได้ว่า นั่นคือ สังเวชนียสถานทั้ง 6 ของมหาปูชนียาจารย์นั่นเอง

นั่นคือ ธุดงค์เฟสแรก ที่เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ ไม่กระทบต่อชีวิตประจำวันของชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ แต่ใน เฟสที่สอง หลังจากกรุยเส้นทางทั้ง 6 แล้ว ธุดงค์ธรรมชัย ได้มุ่งเป้าไปที่การอัญเชิญ “รูปหล่อทองคำ” ของหลวงปู่สดจากวัดธรรมกายไปยังวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในวันที่ 2-6 เมษายน 2555

ทั้งที่ความยิ่งใหญ่และสลับซับซ้อนของโครงการนี้เป็นเพียงหนึ่งในโครงการเมกะโปรเจคท์ที่วัดธรรมกายเคยผ่านมา เพียงแต่งานนี้วัดธรรมกายได้ “บุกเข้ามา” ในพื้นที่สาธารณะใจกลางเมือง อาการเจาะทะลวงเข้ามาเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนกระหวัดถึงคราวที่เหล่าเสื้อแดงระดมพลมหาศาล “เข้ากรุง” ในช่วงปี 2553 และเจาะลึกเข้าไปถึงที่ใจกลางเมืองได้เช่นเดียวกัน และผลก็เป็นอย่างที่ทราบกันดีนั้นเองว่า ท่าทีรังเกียจและปฏิเสธเสื้อแดงของคนกรุงเทพฯชั้นใน ไปกันได้ดีกับคำสั่งฆ่าและความตายของคนแปลกหน้าต่อพวกเขา ขณะที่ธุดงค์ธรรมชัยของวัดธรรมกายเป็นที่ล้อเลียน ก่นด่า และสาปแช่งของผู้ต่อต้านอย่างแจ่มชัด

ธุดงค์ธรรมชัย เพื่อขับเน้นมหาปูชะนียาจารย์ หลวงปู่สด จันทสโร วัดปากน้ำภาษีเจริญ

 

ตัวตนวัดธรรมกาย กับ ตัวตนทางอุดมการณ์การเมือง

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า "ความหมั่นไส้" วัดธรรมกาย มีที่มาจากชนชั้นกลางในกรุงฯ ซึ่งผู้เขียนสันนิษฐานว่า มาจาก ผู้ที่มีสังกัดในสายปฏิบัติธรรมที่หลากหลาย ได้แก่ เหล่าชาวพุทธลูกศิษย์พระป่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระในสายธรรมยุติฯ (ซึ่งในวงการก็รู้กันดีว่า เหล่าธรรมยุติฯ ดูถูกวัตรปฏิบัติของพระมหานิกาย ยังไม่นับว่ามีความคิดที่แบ่งชนชั้นกัน โดยธรรมยุติฯ ได้ยกตนเหนือว่าเหนือกว่า มหานิกายอยู่เนืองๆ) หรือว่าจะเป็น ลูกศิษย์พระ "ดี" อย่าง พุทธทาส, พระพรหมคุณาภรณ์ ที่ได้ทำการตีตราบาปธรรมกายว่า ละเมิดคำสอนว่าด้วย อัตตา-อนัตตา อันถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ ในอีกด้านก็คือ เหล่าลูกศิษย์พระ "เคร่ง" อย่างสายสันติอโศก ดังนั้นชาววัดธรรมกายจึงเป็น “คนนอก” ในสายตาของคนเหล่านี้

ไม่เพียงเท่านั้น ฝ่ายตรงข้ามวัดธรรมกายอีกกลุ่มใหญ่ ยังอาจเป็นพวกที่ไม่สังกัดนับถือกลุ่มพระที่กล่าวถึงข้างต้นด้วย เหตุเนื่องจากความรังเกียจ และความโกรธแค้นต่อทักษิณ ชินวัตร หลายคนคงพอทราบแล้วว่า ทักษิณแสดงออกต่อที่สาธารณะด้วยการปรากฏกายในวัดนี้เมื่อ 19 พฤษภาคม 2551 และยังไปปรากฏตัวในวัดธรรมกาย สาขาต่างประเทศอีก จึงทำให้ภาพวัดธรรมกายกับทักษิณ ชินวัตร ซ้อนทับกันอย่างติดแน่น

ชาววัดธรรมกาย จึงกลายเป็น "คนชายขอบส่วนมาก" ในสังคมชาวพุทธไทย อาจกล่าวได้ด้วยซ้ำว่า มีชะตากรรมคล้ายกับชาวเสื้อแดงอีกด้วย นั่นคือ พวกเขาไม่กล้าแสดงตัวในที่สาธารณะอย่างประเจิดประเจ้อ เนื่องจากภาพลักษณ์ "ความเป็นธรรมกาย" ที่ถูกประณาม และถูกดูถูกดูแคลนเสมอมาว่า เป็นพวกโง่งมงายในลัทธิ พวกไม่รู้จักพุทธศาสนา ฯลฯ

ทักษิณ ชินวัตร ไปร่วมงานวันวิสาขบูชา ที่ วัดธรรมกาย วันที่ 19 พฤษภาคม 2551

 

วัดธรรมกายในฐานะ วัดที่ถูกตั้งคำถาม ถูกล้อเลียนมากที่สุด

ตามปกติแล้วในสังคมไทยและสื่อมวลชนมักจะประณาม พระสงฆ์ที่ผิดวินัยเป็นตัวบุคคลไป ไม่กล้าที่จะแตะต้องสถาบันมากนัก โดยเฉพาะหลังกรณีพระดังอย่าง สมีเจี๊ยบ (2532) พระนิกร (2533) พระยันตระ (2537) ภาวนาพุทโธ (2538) พระอิสระมุนี (2544) ที่เป็นอดีตพระดัง คนขึ้นคนศรัทธามากมาย ส่วนใหญ่พระเหล่านี้เสียท่าเพราะเรื่องเฉพาะบุคคลอย่างเรื่องกามารมณ์

แต่กรณีสันติอโศก และวัดธรรมกายนั้นต่างออกไป เพราะนั่นคือ ความขัดแย้งและลักลั่นในเชิงสถาบันที่พ้นไปจากการละเมิดวินัยล้วนๆ สันติอโศกแม้จะถูกพิพากษาว่าผิดในฐานอวดธรรมที่ตนไม่มี กลับมีท่าทีที่แข็งกร้าวกับอำนาจรัฐ และมหาเถรสมาคม จนถึงกับแยกตัวออกจากคณะสงฆ์ไทย ถึงวันนี้ก็พิสูจน์ตนว่า อยู่รอดมาเป็นพลังทางการเมืองขั้วหนึ่งด้วยซ้ำ แต่วัดธรรมกายต่างออกไป สถาบันนี้เลือกที่จะประนีประนอมกับรัฐ และก้มหน้าก้มตาทำงาน แม้จะมีความขัดแย้งหลายประเด็นกับสื่อมวลชนที่ถูกจับผิดเรื่องพระวินัยของเจ้าอาวาส และกลุ่มนักวิชาการด้านศาสนาในหัวใจคำสอนเรื่องอัตตา-อนัตตา ขณะที่การเติบโตของวัดพร้อมไปกับจำนวนเงินมหาศาลที่สะพัดอยู่ และยังก่อให้เกิดกิจกรรมศาสนาแบบใหม่และแหวกแนวจากขนบเดิม สิ่งที่ไม่ลงรอยกับของเดิม ทำให้กลายเป็นที่กังขาและในเวลาต่อมาวัดแห่งนี้ได้ถูกเพ่งเล็ง จนกลายเป็นว่า วัดนี้มีลักษณะที่แปลกแยก บ้าๆบอๆ และถูกหัวเราะเยาะ

แน่นอนว่า ความเป็นสถาบันของวัดธรรมกายที่ผ่านมา เกิดขึ้นจากการผลิตความหมายใหม่ๆขึ้นเพื่ออธิบายและสร้างตัวตนขึ้นมา ซึ่งชุดความหมายนี้ได้สื่อสารและสร้างชุดความสัมพันธ์ของวัดกับทั้งเหล่าลูกศิษย์ และกับสังคมภายนอก ในด้านหนึ่ง “ความเป็นวัดธรรมกาย” ถูกจดจำและเล่าซ้ำในความแปลกแยกจากสังคมไปในเวลาเดียวกัน

เรื่องเล่าที่เป็นที่ร่ำลือกันทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านธรรมกาย นั่นคือ ว่าด้วย “ยายจันทร์ ปัดระเบิด” ในหนังสือ กล่าวไว้ว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำสั่งให้ยายจันทร์ ขนนกยูง ปัดระเบิดนิวเคลียร์ ถึงขนาดเล่าลือกันว่า มีคนเห็นร่างแม่ชีลอยอยู่เหนือสะพานพุทธฯ[7] อันที่จริงเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์นั้นก็มีเล่ากันอยู่ในวัดและศาสนสถานจำนวนมาก แต่ที่น่าสังเกตคือว่า ไฉนวัดธรรมกายถึงถูกจับผิดและล้อเลียนอยู่ร่ำไป

            ในฐานะของภาษาและชุดคำแบบใหม่ หากเทียบกับ สันติอโศกแล้ว ทั้งคู่ถือได้ว่าประดิษฐ์รูปคำใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ในด้านหนึ่งสันติอโศกมุ่งเน้นภาษาเรียบง่ายและพุ่งเป้าไปที่การลด ละ เลิกในเชิงวัตถุ ที่ให้ความรู้สึกเคร่งครัดในการใช้ชีวิต เราจะได้ยินคำว่า “บุญนิยม” เป็นคำเด่นที่สุดที่เป็นคำเพื่อใช้เป็นคู่ตรงข้ามกับ “ทุนนิยม” แต่ที่เป็นที่สังเกตที่สุดก็คือ การเปลี่ยนชื่อของสมาชิก เช่น สมณะ ขยะขยัน สรณีโย, สมณะ ชนะผี ชิตมาโร, สมณะ ซาบซึ้ง สิริเตโช, นายตายแน่ มุ่งมาจน, นางจนแน่ มุ่งมาตาย ฯลฯ ขณะที่วัดธรรมกายได้ประดิษฐ์คำที่ให้ความหมายถึง การให้ความหวัง ความรุ่งเรือง โชคลาภ กระทั่งชีวิตเหนือโลกแฟนตาซี โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวตน การให้ความหมายดังกล่าว ได้แก่ พระรุ่นดูดทรัพย์, อนุบาลฝันในฝันวิทยา, กฐินบรมจักรพรรดิ, ต้นบุญต้นแบบ, สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เฟสสอง ฯลฯ

นอกจากนั้น ยังมีการพยายามสร้างคำอธิบายระบบผลกรรมขึ้นใหม่ แน่นอนว่ายังอยู่ในกรอบทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว โดยเฉพาะการทำดีที่เน้นเป็นพิเศษถึง อานิสงส์ของ ทาน ศีล ภาวนา นอกจากการนั่งสมาธิแบบวิชชาธรรมกายอันที่เป็นที่รู้จักกันดีแล้ว การถวายทานมหาศาลที่ให้อานิสงส์ใหญ่หลวงก็เป็นการถูกนำมาเน้นย้ำ ซึ่งอานิสงส์นี้ได้เชื่อมความสัมพันธ์ไปยังรูปแบบสิ่งก่อสร้าง สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นด้วย

รายการโทรทัศน์ “อนุบาลฝันในฝันวิทยา” ที่ทำการเล่าโดยเจ้าอาวาส
มีการให้ความหมายกรรมแบบใหม่ที่เชื่อมโยงอานิสงส์จากการทำบุญกับวัด

มหาธรรมกายเจดีย์ขนาดมโหฬารที่มีความต้องการที่จะสร้างให้มีอายุถึง 1 พันปี เป็นรูปแบบที่ปรับมาจาก สถูปสาญจี อันนับเป็นเจดีย์แห่งแรกในพุทธศาสนา โดยเฉพาะในรูปทรงครึ่งวงกลม สถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่นี้ได้มีการลดทอนรายละเอียด จนเหลือฟอร์มกึ่งบริสุทธิ์นั่นคือ ทรงกลมและกรวยฐานแผ่ที่ผนึกเป็นหนึ่งเดียวกัน ฟอร์มที่เรียบง่ายและใหญ่โตมโหฬารเช่นนี้ ไม่ค่อยปรากฏมาก่อนในสถาปัตยกรรมไทยแบบจารีต ทั้งยังมีลักษณะคล้ายยานอวกาศ ความแปลกแยกดังกล่าวจึงถูกเรียกอย่างล้อเลียนว่า “จานบิน” (สำหรับท่านที่เข้าวัดป่าสายธรรมยุติฯ ท่านจะเห็นฟอร์มของสถาปัตยกรรมที่แปลกและแหวกแนวไม่แพ้กัน แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้คงไม่ได้อยู่ที่ว่าฟอร์มแปลกประหลาดแค่ไหน แต่อาจอยู่ที่ว่า ใครเป็นคนสร้างมากกว่า)

องค์ประกอบของสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมต่างๆ ที่เข้าใจว่าวัดต้องการเสริมสร้างความยิ่งใหญ่ให้สมกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แบบใหม่ แต่การนำ “ศิลปะไทย” ที่ถูกรับใช้ด้วยลายกนก อาจไม่ใช่ไวยากรณ์ของศิลปะที่จะรับใช้สังคมใหม่นี้อีกต่อไป เราจึงเห็นรูปลักษณ์ของศิลปะแปลกตา เช่น การออกแบบธงทิวที่หลายคนนำไปเปรียบเปรยกับอินทรีเหล็กและตราสวัสดิกะของนาซีเยอรมัน, การตกแต่งประดับประดาเยี่ยงพระนางคลีโอพัตราในขบวนแห่ผ้ากฐิน ที่ฮือฮาก็คือ แคตาล็อก “มนต์เสน่ห์แห่งสวรรค์” ที่นำเสนอภาพความมั่งคั่งของคนบนสวรรค์ ที่แต่งกายด้วยเครื่องประดับนานา อันเนื่องมาจากผลบุญที่เคยสั่งสมไว้ ไม่ว่าจะเป็น “สร้อยเส้นบะหมี่ทองคำตะเกียบฝังเพชร” เกิดจากบุญที่เคยทำทานด้วยบะหมี่, “สร้อยส้มตำปู ส้มตำไทย” แน่นอนว่าเกิดจากการถวายส้มตำ, แหวนไก่ผงาด จากการถวายไก่ย่าง เป็นต้น

สร้อยส้มตำปู ส้มตำไทย เกิดจากบุญถวายส้มตำ การแปรความหมายใหม่ของอานิสงส์ในการทำบุญ

ที่ย้อนแย้งและตลกร้าย ก็คือ การที่ โน้ต อุดม แต้พานิช ศิลปินตลก ถูกขุดขึ้นมาประจานในนามสาวกของธรรมกายที่ร่วมโปรยกุหลาบในงานธุดงค์นี้ด้วย[8] โน้ต เป็นศิลปินตลกที่มีชื่อเสียงในการนำเรื่องราวต่างๆในชีวิตประจำวันมาล้อเลียน เสียดสี เรียกเสียงหัวเราะ หลายมุกของเขาเป็นเสียงหัวเราะที่กระชากมาจากการยั่วล้อความเป็น “คนนอก” ในสังคม แต่คราวนี้โน้ต กลายเป็น “คนนอก” ที่ถูกพิพากษานั้นเสียเอง

สำหรับผู้เขียนเอง ในขณะที่วัดธรรมกายถูกตั้งข้อสงสัย ถูกตรวจสอบ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยสังคมกระแสหลัก แต่ยังมีวัดและสถาบันสงฆ์อีกจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่มืด ไร้การสอดส่อง ไร้การตรวจสอบในระดับที่หนักหน่วงเท่ากัน ไม่เพียงเท่านั้น การโจมตีเป็นการเลือกโจมตีที่ “ตัวบุคคล” หรือ “ฝักฝ่าย” มากกว่าจะลงไปที่หลักการ ที่ต้องประยุกต์ใช้ได้กับทุกฟากฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพระสายวัดป่า หรือพระที่ “ดูน่าเชื่อถือ” รูปอื่นๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า ขณะที่เราวิจารณ์ธรรมกายได้อย่างเต็มปากเต็มคำ แต่เราต้องหุบปากเมื่อเจอพระบางรูป วัดบางแห่ง หรือกระทั่งเป็นเดือดเป็นแค้นเมื่อมีคนเห็นต่างมาวิจารณ์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของเรา

โน้ต อุดม แต้พานิช โดนจัดหนักผ่านเฟซบุ๊ค

 

 

พุทธเถรวาทกับการครองครองปริมณฑลรัฐ

สิ่งที่ต้องใช้ความคิดมากไปกว่าการด่าทอ และเสียดสีธรรมกาย ก็คือ การทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันของ สังคมการเมือง การใช้อำนาจในยุคที่หายใจเข้าออกเป็นคำว่าศีลธรรมอันเป็นพลังอนุรักษ์นิยมที่ขยายตัวอย่างสูงหลังรัฐประหาร 2549  สถาบันอนุรักษ์นิยม และสถาบันพุทธศาสนา พยายามสถาปนาอำนาจเหนือรัฐ โดยอาศัยสถานภาพของตนที่ดู "ไม่เป็นการเมือง" เข้ามายุ่งในพื้นที่ทางโลกย์มีหลายระดับ

ตั้งแต่การสั่งสอนทางศีลธรรมง่ายๆ ก้าวล่วงไปถึงการเบลอบุหรี่ เหล้า เบียร์ออกไปจากทีวี อาการคลั่งดังกล่าวได้ขยับระดับไปเป็นเรื่องชวนหัวร่อของคนทั่วโลก เมื่อทีวีตัดสินใจเบลอหัวนมชิซูกะ (หัวนมเด็กหญิงพอเข้าใจได้) และหัวนมซุนหงอฮัง (เด็กผู้ชายนี่นะ!) แต่นั่นก็ยังไม่ชวนขมวดคิ้วเท่ากับ การล่วงล้ำอาณาบริเวณทางโลกย์ในนามพระสงฆ์ เราอาจพอจะจำกันได้ถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับลูกศิษย์ หลวงตามหาบัว แห่งวัดป่าบ้านตาด ข้อถกเถียงคือ ฝ่ายลูกศิษย์ไม่ยอมให้รัฐนำทองที่หลวงตาบริจาคเป็นเงินทุนสำรองของประเทศไปใช้ประโยชน์ ตามที่ตัวเองเชื่อกันว่ารัฐบาลคิดไม่ซื่อกับเงินก้อนนี้แน่ๆ ดังนั้น จึงกลายเป็นว่า การบริจาคเงินให้เข้าไปอยู่ในอำนาจของรัฐในนามของกลุ่มก้อนทางศีลธรรม ในที่สุดก็ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในนามของรัฐบาลที่เป็นตัวแทนอำนาจอธิปไตยหนึ่งของประชาชน[9] ยกเว้นเสียแต่ว่า รัฐบาลนั้น หรือคนเอาเงินไปใช้ “น่าเชื่อถือ” มากพอในสายตาของผู้ให้บริจาค

หลวงตามหาบัวกำลังทำพิธีเพื่อส่งทองคำเข้าคลังหลวง
จาก "โครงการช่วยชาติ โดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน"

 

แม้จะเป็นพระรูปใดก็แล้วแต่ พวกเขาได้มีบทบาทครอบงำรัฐทางโลกย์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้วยตัวของพวกเขาเอง และผ่านปากฆราวาสที่อวดอ้างศีลธรรมความดีงาม ไม่ว่าจะเป็น นักการเมือง, กองเซ็นเซอร์, ข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรม, ข้าราชการเกษียณอายุ ฯลฯ

แต่สิ่งที่น่าหวาดหวั่นสำหรับผู้เขียนที่สุดก็คือ การผนึกแนบเป็นส่วนหนึ่งของรัฐผ่านกลไกทางกฎหมาย สิ่งที่ยังหลอกหลอนผู้เขียนอยู่ก็คือ แคมเปญรณรงค์ผลักดันให้ประเทศไทยบรรจุข้อความว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”  ยัดลงในรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านั้นจะนำไปสู่การเข้าไปสู่สถานะของรัฐที่มียุ่งยากซับซ้อนไปอีกในความเป็นรัฐทางโลก หรือรัฐทางศาสนา ที่จะท้อนออกทาง ด้วยมาตรฐานทางศาสนาและศีลธรรม แน่นอนว่ามันจะพร้อมกับการกำกับทางกฎหมายเป็นแน่

 

ยกแรกของสงครามศีลธรรม เบียร์ช้างถึงกับม้วนเสื่อ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ถึงความเป็น “การเมือง” ในนามของเหล่านักศีลธรรมที่พยายามทำให้รัฐไทยกลายเป็นรัฐทางศาสนาและศีลธรรม เนื่องจากพวกเขาไม่เชื่อมั่นในศักยภาพมนุษย์ ไม่เชื่อในอิสรภาพและเสรีภาพ แต่จงรักภักดีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และจดจ่อเพ่งโทษกับความโง่เขลาและความผิดบาปของมนุษย์

ด้วยเหตุนั้น พวกเขาจึงมีหน้าที่ที่จะอุดรอยรั่วอันชั่วร้ายให้มนุษย์โลกปลอดพ้นจากอบายมุข แคมเปญสำคัญที่ถือเป็นกรณีตัวอย่างก็คือ  การรณรงค์ต่อต้าน และคัดค้านการที่บริษัทไทยเบฟเวอเรจ (เบียร์ช้าง) จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไทย เมื่อเดือนตุลาคม 2551 การเคลื่อนไหวคราวนั้นทำให้เราเห็นถึงความร่วมมือกันหลวมๆ ของกลุ่มลุ่มหลงศีลธรรมดังกล่าวไม่ว่าจะเป็น มวลชนจากวัดธรรมกาย, สันติอโศก,  จำลอง ศรีเมือง, พระพยอม กัลยาโณ และองค์กรกว่า  264 องค์กร พลังดังกล่าวสร้างแรงกดดันมหาศาลให้กับตลาดหลักทรัพย์และรัฐบาล จนสามารถล้มช้างได้ สาระสำคัญของการต้านไทยเบฟเวอเรจ คงอยู่ที่ความหวาดระแวงอย่างประสาทว่า สังคมจะล่มสลาย หากปล่อยให้ทุนนิยมสามานย์เหล่านี้เติบโต เด็กจะถูกเบียดบี้ด้วยอบายมุขที่กำลังจะตามมา และสังคมไทยก็คงล่มสลาย สังเกตได้จากคำกล่าวนี้

“ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นธุรกิจที่ทำร้ายผู้คน ทำลายสังคม ไม่ควรสนับสนุนอยู่แล้ว ที่สำคัญตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นองค์กรแถวหน้าของประเทศในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมาเสียหายด้วยธุรกิจบาป เพราะมันคงไม่ต่างอะไรกับการจับมือกันทำลายสังคม ทำร้ายลูกหลานไทย อย่างเลือดเย็น” 

“เครือข่ายฯ เตรียมที่จะยื่นหนังสือคัดค้านการขอจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ของธุรกิจเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ทุกชนิด และ การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์   ในเร็วๆนี้อย่างแน่นอน รวมไปถึงหน้าที่ทำการบริษัทไทยเบฟด้วย โดยเราจะผนึกกำลังกับองค์กรศาสนา องค์กรครอบครัว เด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันเคลื่อนไหวใหญ่ ในทุกรูปแบบ เพื่อหยุดยั้งขบวนการบาปเหล่านี้ให้ถึงที่สุด ลองคิดดูว่าหากน้ำเมาเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ต่อไป ธุรกิจหวย ซ่อง บ่อน ก็คงตามมา” [10]

 

ม็อบศีลธรรมต้านเบียร์ช้าง

 

กฎหมายหมิ่นศาสนา ร่างโดย สนช. 2550 โทษร้ายแรงกว่า มาตรา 112

การก้าวเข้ามามีอำนาจทางโลกย์นั้นของฝ่ายลุ่มหลงศีลธรรม อาจกล่าวได้ว่าไม่สามารถทำได้ถนัด หากไม่มีกฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญ การใช้กฎหมายควบคุมประชาชน เป็นกลไกของรัฐที่ถูกนำมาใช้ในทุกยุคสมัย เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาศาสนาในสังคมไทยไม่ได้ใช้กาต่อรองอำนาจผ่านช่องทางนี้มากนัก ที่น่าตระหนกอย่างยิ่งก็คือ แรงปฏิกิริยาจากฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มุ่งจะ “รักษา” พุทธศาสนาอย่างมืดบอด นั่นก็คือการปิดปาก การห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ด้วยตัวบทกฎหมาย สิ่งนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ..  ที่เสนอโดย เสนอโดย ปรีชา โรจนเสน ยศพลเอก สมาชิก สนช. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม และคณะ รวม 180 คน เมื่อปี 2550[11] กฎหมายนี้ได้บรรจุมาตราที่น่าขนลุกขนพอง อันสะกดเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างอยู่หมัด นั่นก็คือ

มาตรา 9 การจาบจ้วง ละเมิด ลอกเลียน บิดเบือน หรือการกระทำอื่นใดให้พระศาสดา ศาสนธรรม ศาสนศึกษา ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนสมบัติ และศาสนพิธี ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสีย มัวหมอง หรือวิปริตผิดเพี้ยน จะกระทำมิได้

มาตรา 21 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 9 ในส่วนที่เกี่ยวกับพระศาสดาและศาสนธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท

มาตรา 22 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนศึกษา ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนสมบัติ และศาสนพิธี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท

ผู้ใดร่วมประเวณีไม่ว่าทางใดและวิธีการใดกับพระภิกษุ สามเณร หรือแม่ชี ตลอดจนผู้ชักจูง จัดหา หรือจ้างวาน ให้มีการร่วมประเวณีดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท

 

มาตรา 9 เป็นการวางความผิดไว้อย่างกว้างขวาง และสามารถตีความเข้ารกเข้าพงได้ง่าย นั่นหมายความว่า

บทลงโทษยังถือว่า มากกว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เสียด้วยซ้ำ ทุกวันนี้แค่ปัญหาจากกฎหมายมาตรา 112 เองยังให้โทษและส่งผลต่อการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างลึกซึ้งแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยิ่งจะปิดพื้นที่การถกเถียงให้น้อยลงไปอีก

หากกฎหมายนี้เกิดขึ้นจริง ก็อาจนับได้ว่าเป็นหายนะของเสรีภาพของการแสดงออกทางความคิดเห็นในวงการศาสนา ที่น่าตกใจก็คือ แม้ร่างจะถูกเสนอตั้งแต่ปี 2550 แต่ปัจจุบันมันยังอยู่ในกระบวนการ ไม่หายไปไหน

ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับการพิจารณากฎหมาย จากข่าววันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2555 มีสาระว่า  ประกอบ จิรกิติ ประธานคณะอนุกรรมาธิการร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนา ได้ส่งร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ ไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักพุทธฯ แสดงข้อคิดเห็นกลับมา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในการบรรจุในวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป [12]

แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้?

 

วัดธรรมกาย กับหัวใจในการครองพื้นที่รัฐ

วัดธรรมกายขณะนี้มีเครือข่ายที่กว้างขวาง มีการจัดการและเทคโนโลยีที่แน่นปึ้ก ทั้งยังมีเส้นสายทั้งฝ่ายพระ เถรสมาคม ฝ่ายพระสงฆ์หัวเมือง และฝ่ายโลกย์อย่างพรรคการเมือง นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง รวมไปถึงนายทุนใหญ่ระดับมหาเศรษฐีติดอันดับของประเทศ ความเหนียวแน่นและแข็งแกร่งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเลยว่า หากปล่อยให้ศาสนาผนึกเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐแล้ว ไม่สิ หากปล่อยให้ศาสนามีบทบาทในการควบคุมรัฐแล้ว

สิ่งที่พระและนักศีลธรรมมืออาชีพทั้งหลายจะทำคืออะไร?

อะไรคือสิ่งที่เกิดต่อเนื่องจากนี้?

นั่นอาจเป็นเรื่องที่ไกลตัวไปหากเราจะขบคิดกันในตอนนี้ แต่ลองจินตนาการในเวลาอันใกล้นี้ดูเถิดว่า หากร่างกฎหมายหมิ่นศาสนาฯ ถูกผลักดันจนผ่านรัฐสภาและประกาศใช้แล้ว อิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับศาสนา ความเชื่อทางพุทธ ดังที่เราเคยกระทำกับวัดบางวัด พระบางรูป อาจถูกปิดประตูตาย หรือไม่เราก็ต้องมุดลงไปอยู่ใต้ดินเพื่อเลี่ยงกฎหมายหมิ่น และทำการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันศาสนาอย่างลับๆ หรือมิเช่นนั้นเราอาจต้องเฉดหัวตัวเองออกไปต่างประเทศเพื่อใช้สิทธิความเป็นมนุษย์กันตามอัตภาพ

พวกเราพร้อมหรือยังกับสังคมอุดมศีลธรรมเช่นนั้น?

 

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมงาน
ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 22,600 รูป ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี
18 มีนาคม พ.ศ. 2555 ณ บริเวณ เซ็นทรัลเวิลด์ ประตูน้ำ พารากอน
ร่วมจัดโดย
สำนักนายกรัฐมนตรี กรุงเทพฯ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ยพสล.) วัดพระธรรมกาย มูลนิธรรมกาย
และองค์กรภาคีเครือข่ายกว่า 40 องค์กร

 
 


เชิงอรรถ

[1] มูลนิธิธรรมกาย. "ชี้แจงกรณี เดินธุดงค์ธรรมชัย อัญเชิญรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)". Dhammakaya.net (3 เมษายน 2555)
[2] อ่านเพิ่มเติมได้จากงานวิจัยชิ้นเยี่ยมนี้ แม้จะเขียนขึ้นมากว่าทศวรรษแล้วแต่ก็ยังมีแง่มุมน่าสนใจอยู่ อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ : ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย (เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่), 2540?
[4] มูลนิธิธรรมกาย. "โครงการธุดงค์ธรรมชัย สืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย".Dhammakaya.net (19 ธันวาคม 2554)
[5] DMC TV. "ธุดงค์ธรรมชัย “อนุสรณ์สถาน มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี” ". Dhammakaya.net
(11 มกราคม 2555)
[6] มูลนิธิธรรมกาย. "ธุดงค์ธรรมชัยสถาปนาเส้นทางพระผู้ปราบมาร". Dhammakaya.net (6 กุมภาพันธ์  2555)
[7] ประภาศรี บุญสุข, ผู้เรียบเรียง. คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย, (มปท : ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด) พิมพ์ครั้งที่2), 2544, น.55-56
[8] ข่าวสด. "เน็ตรุมถล่ม"โน้ส อุดม"ร่วมธุดงค์ธรรมชัย-ธรรมกายยันงานมงคลตามรอยพระพุทธเจ้า". ข่าวสด (6 เมษายน 2555)
[9] ดูข่าว ASTVผู้จัดการออนไลน์. "“ศิษยานุศิษย์หลวงตาบัว” บุกสภา ค้านรัฐปล้นคลังหลวง". ผู้จัดการออนไลน์ (9 มกราคม 2555)
[10] ประชาชาติธุรกิจ. "เครือข่ายป้องกันภัยแอลกอฮอล์ ออกแถลงการณ์ต้าน"เบียร์ช้าง"เข้าตลาดหุ้น". http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=6421 (23 ตุลาคม 2551)
[11] "คอลัมน์ สดจากหน้าพระ" ใน ข่าวสดรายวัน (28 ตุลาคม 2550) : 30 อ้างถึงใน ธรรมจักร. "เปิดร่างพระราชบัญญัติ อุปถัมภ์คุ้มครองพระพุทธศาสนา" http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=14008 (29 ตุลาคม 2550)
[12] ข่าวสด. "แจงร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์พุทธ รอกฤษฎีกาพิจารณา". ข่าวสด (23 กุมภาพันธ์ 55)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท