Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภายใต้แสงแดดอันแผดเผาที่ระอุในช่วงเดือนเมษายน ผู้เขียนได้มองและรับรู้สิ่งต่างๆมากมายโดยเฉพาะในสังคมโลกเรา มองการเมืองที่ล้มเหลวของผู้ยึดอำนาจในมาลี มองการเมืองที่น่าปวดหัวในเมืองไทย มองความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ก็ทำให้เข้าใจว่าท้ายที่สุดแล้วความขัดแย้งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิด ความขัดแย้งที่ทุกคนวาดฝันอย่างสวยงามว่าวันหนึ่งเราต้องมีวิธีจัดการกับมันนั้น สิ่งที่จะขจัดได้เป็นอย่างดีก็คงเป็นดังที่หลายต่อหลายคนในสังคมนี้บอกก็คือ “ลืมมันไป”

คำกล่าวนี้ผู้เขียนไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเพราะว่าสังคมไทยเรานั้นลืมมามากแล้ว ลืมจนไม่สามารถที่จะนำเอาเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีตมาเป็นบทเรียนได้ ลืมจนเราไม่รู้ว่าต้นสายปลายเหตุของการเปลี่ยนแปลงใน พ.ศ.2475 เป็นอย่างไร ลืมจนไม่รู้ว่า 14 และ 16 ตุลาคม ใครเป็นผู้เกี่ยวข้องบ้างและสถาบันต่างๆ ในสังคมในตอนนั้นมีจุดยืนอย่างไร ต่อต้านหรือสนับสนุน จนมาถึงปัจจุบันก็มีผู้เสนอให้ใช้แนวทางเดียวกันคือ “ขอให้ลืม” เพื่อวันข้างหน้า ซึ่งดูแล้วมันก็ไม่เจ็บปวดอะไรกับคนอย่างเราๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่หากเราลองนึกถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบดูบ้างก็จะรู้ว่ามันเป็นการปัดความรับผิดชอบที่น่าเจ็บปวดมิใช่น้อย เพราะขนาดเราแค่จะลืมแฟนเก่าที่ทิ้งเราไปมันยังทำได้ยาก แล้วนับประสาอะไรกับคนที่สูญเสียผู้ที่เป็นที่รักอย่างไรเสียเขาก็คงทำใจให้ลืมมิได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นความจริงเกี่ยวกับเหตุต่างๆที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราในรอบหลายปีที่ผ่านมาและไม่อยากรอวันที่คุณหมดลมหายใจแล้วถึงจะรู้ความจริง

แต่ไม่เป็นไร วันนี้ผู้เขียนจะลองลืมปัญหาที่หนักสมองแล้วหันมาลองมองอะไรที่ผ่อนคลายลงบ้าง เป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนมีโอกาสได้พบกับเพื่อนเก่าท่านหนึ่งซึ่งมีมุมมองเกี่ยวกับการเมืองเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้เขียน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กันต่างๆนานา และที่สำคัญได้อ่านวรรณกรรมซึ่งได้กล่าวถึงการเมืองอีกมุมหนึ่งที่สะท้อนผ่านเรื่องราวธรรมดาๆแต่แฝงไปด้วยความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย วรรณกรรมเรื่อง “การเมืองเรื่องเซอร์เรียล” ของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ได้ตั้งคำถามแบบเซอร์เรียลไว้มากในระดับหนึ่ง เป็นการตั้งคำถามแบบปลายเปิดไว้อย่างน่าสน เพียงแต่ว่า จะมีใครสักกี่คนที่สนใจจะตอบคำถามประเด็นเหล่านั้น ผู้เขียนจึงขอเป็นคนส่วนน้อยที่อยากตอบคำถามและอธิบายความต่อจากมุมมองของคุณจิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ แบบไม่เซอร์เรียลดูบ้าง โดยจะนำจุดที่น่าสนใจมาลองมองผ่านความคิด ความรู้ ความเห็น ที่ผู้เขียนมีมาเปิดมุมมองต่อข้อเขียนเหล่านั้น

กล่าวถึง “การเมืองเรื่องเซอร์เรียล” เป็นงานเขียนที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมของ SCG INDY AWARD 2011 เป็นงานที่ซ่อนความคิดอะไรไว้หลายอย่างแม้ว่าตัว คุณจิรัฏฐ์ เองจะกล่าวว่ามีความรู้ด้านการเมืองในลักษณะฉาบฉวย แต่ในมุมมองผู้เขียนกลับมองว่า ก็คงเป็นการถ่อมตัวของ คุณจิรัฏฐ์ มากกว่า เพราะในที่สุดแล้วเมื่อคุณอ่านจบคุณน่าจะได้ความรู้ และความสนุกจากวรรณกรรมชิ้นนี้มากทีเดียว

“คำนำ”
ในเบื้องแรก เป็นคำถามที่ค่อนข้างสำคัญที่น้อยคนนักที่จะหาเหตุผล คุณจิรัฏฐ์ ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการมีอยู่ของ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” ว่า “บ่อยครั้งที่พวกเราหลายคนไปรวมตัวกันที่นั่น เพื่อเรียกร้องในสิ่งที่พวกเราคิดว่าตัวเองมี... แต่จนป่านนี้เรายังไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เรามีนั้นมันคืออะไร”

สำหรับคำถามนี้มันไม่ง่ายนักที่จะตอบ หากจะถามว่าสิ่งที่เรามีมันคืออะไร แต่เหนือสิ่งอื่นใดผู้เขียนคิดว่า เราควรแบ่งผู้ชุมนุมต่างๆ ออกเป็น 2 ส่วนก่อนนั่นก็คือ ส่วนของนักคิดซึ่งก็คือเหล่าบรรดาแกนนำต่างๆ และเหล่านักฟัง (ผู้เขียนมองว่าคนไทยชอบหาความจริงโดยการฟังมากกว่าการศึกษาผ่านตำราและวิชาการ) ในที่นี้ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการกำหนดสถานที่ต่างๆในการชุมนุมนั่นก็คือ ส่วนของนักคิด

จริงๆ แล้วอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้เป็นสิ่งที่หากเราไปกราบไหว้บูชาแล้วจะต้องได้ตามที่ขอดังเช่นสถานที่ต่างๆในสังคมนี้ เพียงแต่ว่านับตั้งแต่ยุคของประชาธิปไตยเสื่อมถอย หลังจากการเสื่อมอำนาจของคณะราษฎร์เป็นต้นมา สถานที่ต่างๆ ที่คณะราษฎร์ได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานและสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงจากระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” สู่ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” นั้นได้ถูกทำลายลงที่ละน้อยที่ละน้อย ดังนั้นพื้นที่ที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศนี้ก็ลดน้อยลงไปเช่นเดียวกัน เช่น สนามหลวง ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นเป็นสถานที่ที่คนธรรมดาสามัญชนไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ แต่ภายหลังเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงฯ สนามหลวงก็ถูกใช้เป็นที่จัดงานของราษฎร์นั่นก็คือ วันฉลองรัฐธรรมนูญและวันชาติ (ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าเราก็มีวันชาติกับเขาเช่นกัน) จนมาถึงในยุคนี้ เริ่มแรกแห่งความขัดแย้ง สนามหลวงก็เป็นที่ซึ่งใช้ในการแสดงความคิดทางการเมืองของบรรดานักพูดหลากสีหลายค่าย แต่กระนั้นปัจจุบันสนามหลวงก็กลับมาเป็น “ของหลวง” อีกครั้ง นั้นก็แสดงว่าพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงก็ได้ถูกกลืนไปอีกหนึ่งที่เช่นกัน

ดังนั้นเหลืออีกกี่ที่กัที่เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลง ผู้เขียนลองนั่งนึกดูว่ามีอะไรบ้างก็คงเหลือแต่ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เท่านั้นที่จะเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย ผู้เขียนไม่ทราบหรอกว่า บรรดาเหล่าผู้คนที่ไปชุมนุมที่นั้น มีจุดประสงค์ที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดการไปชุมนุมที่นั้นก็เป็นสัญลักษณ์และสร้างความเด่นชัดในเนื้อหาการชุมนุมเพื่อสนับสนุนแนวความคิดของตัวเองว่า สิ่งที่ทำอยู่เป็นการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยก็เท่านั้น กล่าวโดยสรุปก็คือว่า “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” มันมิได้ศักดิ์สิทธิ์อะไร แต่มันเป็นสิ่งที่แสดงสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยที่เหล่าคณะราษฎร์สร้างขึ้นที่เหลือเป็นมรดกชิ้นสำคัญสิ้นสุดท้ายในสังคมเท่านั้นเอง

“เหตุฆาตกรรมในห้องน้ำของสำนักงาน อบต.”
คุณจิรัฏฐ์ ได้กล่าวถึงสองประเด็นใหญ่ๆ จากเหตุฆาตกรรมที่เกิดขึ้นในห้องน้ำของ อบต. คือ เมื่อมีคนตายในห้องน้ำ แทนที่ทุกคนจะมุ่งประเด็นว่าเกิดอะไรขึ้น และสิ่งใดเป็นมูลเหตุที่สำคัญของปัญหา แต่สิ่งที่ คุณจิรัฏฐ์ กล่าวกลับเป็นการพูดในเชิงเสียดสีสังคมว่า เหตุที่เกิดนั้นสิ่งที่ทุกคนหวาดกลัวเป็นวิญญาณเฮี้ยน มากกว่า

กับเรื่องนี้ผู้เขียนมีความเห็นด้วยและมองว่า คุณจิรัฏฐ์ กำลังพยายามที่จะอธิบายและเตือนสังคมว่า รัฐมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชนในท้องที่ ส่งที่ประชาชนควรจะตระหนักมากกว่าเรื่องภูตผีมันควรจะเป็นการตระหนักถึงสวัสดิภาพของชีวิตมากกว่า การเกิดเหตุฆาตกรรมในพื้นที่ชุมชนนั่นก็แสดงว่า ความไม่ปลอดภัยกำลังคืบคลานเข้ามาในชุมชน ประชาชนควรที่จะตระหนักและตื่นตัวในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นมุมมองที่น่าสนใจและเห็นด้วยเป็นอย่างมาก และที่สำคัญการจบปัญหานี้มันก็เป็นสิ่งที่ผู้เขียนไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว นั่นก็คือ “ลืม”  สิ่งที่ควรจะเป็นมากกว่าคือรัฐควรหาสาเหตุและวิธีป้องกัน ส่วนประชาชนก็ควรตื่นตัวและเรียกร้องความปลอดภัยจากรัฐมากกว่า

ส่วนที่กล่าวถึงนักการเมืองที่เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วก็หายตัวไปอย่างไม่ใยดี มันก็คงเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเมื่อเราพูดอยู่เสมอว่า การเลือกตั้งคือ การเลือกตัวแทน (Represent) คำว่าตัวแทนความหมายของมันหากเปรียบแล้วก็เสมือนว่า ตัวแทนเป็นดังสี่เหลี่ยมที่สามารถวางทับกันอย่างแนบสนิท หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เหมือนกันอย่างกับแกะ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจหากเข้าหายไปเพราะในเมื่อคุณบอกว่าเขาเป็นตัวแทน เขากับคุณก็เป็นคนๆเดียวกัน สิ่งที่เขาคิดก็เหมือนสิ่งที่คุณคิด ดังนั้นก็ถูกต้องแล้วที่ไม่มีความจำเป็นใดๆที่เขาเหล่านั้นจะมาไถ่ถามและขอความเห็นจากคุณ หากจะโทษก็ต้องโทษตัวเราเองที่ยอมรับและเรียกเขาว่าตัวแทนของเรา แต่หากถามผู้เขียน  ผู้เขียนไม่เคยเรียกเขาเหล่านั้นว่าผู้แทนเพราะผู้เขียนมองว่าไม่มีใครที่จะแทนตัวของเราได้

“ผมกับหมวกกันน็อค”
มีอยู่ตอนหนึ่งที่ คุณจิรัฏฐ์ กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “เขาสนใจการเมืองมากจนกลายเป็นไม่สนใจ” โดยความจริงแล้วคำถามนี้อธิบายได้โดยง่ายกล่าวคือ คุณจิรัฏฐ์ กำลังสะท้อนบางอย่างในสังคมเรา โดยทั่วไปสังคมมักจะเชื่อในสิ่งที่อยากให้เป็นมากกว่าสิ่งที่เป็นในปัจจุบัน สังคมต้องการความสงบสุข ความไม่ขัดแย้ง ฯลฯ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่เพ้อฝันไปจากความจริง เราศึกษาและวาดภาพความสวยหรูของสังคมผ่านการจินตนาการ เรามองความปกติ (Normal) เป็นสิ่งที่เป็นอนาคต (ความปกติมีสองแบบคือ ความปกติที่เป็นปัจจุบัน และความปกติที่เกิดจากความคาดหวังในอนาคต) ดังนั้นหากเราคิดและศึกษาเนื้อแท้ของการเมืองแล้วสิ่งที่เป็นอยู่มิได้เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทยหรือสังคมโลกแต่อย่างใด มันต่างเกิดขึ้นมาตลอดควบคู่กับการเกิดขึ้นของมนุษย์ เมื่อเรามองความจริงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติแล้วคำว่า  “เขาสนใจการเมืองมากจนกลายเป็นไม่สนใจ” ก็เป็นสิ่งที่ คุณจิรัฏฐ์ กำลัง เข้าใจการเมืองมากก็เท่านั้น

“หล่อนร่วมรักใต้แสงเทียน”
ยัยมีน กล่าวอย่างไม่เข้าใจว่า “เหตุใดเขาจึงไม่สามารถมีเซ็กในห้องนอนได้ ทั้งที่เขาก็จ่ายค้าห้องเท่ากัน ทุกอย่างเขาก็จ่ายเท่ากับเพื่อนร่วมห้อง” เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก มุมมองนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงการเมืองในประเทศเราเป็นอย่างมาก ชนชั้นกลางในเมืองกรุงฯต่างหัวเสียไปกับการชุมนุมของผู้คนสีเสื้อต่างๆ แต่อีกแง่หนึ่ง (ผู้เขียนไม่มีความมุ่งหมายที่จะกล่าวว่าใครผิดหรือถูก) เมื่อทุกคนในสังคมก็มีความเสมอภาคกันทางด้านภาษี  ทุกคนก็ต้องจ่ายเมื่อซื้อของ ทุกคนต้องจ่ายเมื่อมีรายได้ ฯลฯ ดังนั้น ถนนก็ไม่ควรที่จะมีไว้ให้ผู้มีฐานะทางสังคมได้ใช้เพียงอย่างเดียว เขาเหล่านั้นควรเป็นเจ้าของได้ด้วย เพราะถนนหนทางที่สร้างขึ้นสร้างจากเงินของทุกคนไม่ว่าเขาคนนั้นจะมีรถยนต์หรือไม่ ผู้เขียนจะไม่มีปัญหาเลยหากถนนหนทางสร้างจากเงินของผู้ใช้รถยนต์เท่านั้น เช่นเดียวกับ ยัยมีน ที่ไม่เข้าใจว่าเขาทำไมเขาไม่สามารถมีเซ็กในห้องนอนได้ ทั้งที่เขาก็จ่ายค้าห้องเท่ากัน ทุกอย่างเขาก็จ่ายเท่ากับเพื่อนร่วมห้อง คำตอบง่ายๆ ก็คือว่า “สุนทรียะ” มันต่างกันเท่านั้นเอง คนชั้นกลางในเมืองกรุงฯเขาก็ทำในสิ่งเดียวกับผู้ชุมนุมทั่วไปนั่นแหละ ไม่สนหลอกว่ารถจะติดหากพอใจ เช่น ปิดถนนจัดการนิทรรศการ ขายของ ฯลฯ เพราะในที่สุดแล้ว “สุนทรียะ” ของเขา มักจะมีคุณค่ามากกว่า “สุนทรียะ” ของคนอื่นเสมอ

“ME IN THE DARK”
“ผมใคร่จะเป็นลมอีกรอบ เป็นลมคราวนี้ขอให้ไม่ต้องฟื้นเลยดีกว่า.....ที่จะนอนดูตัวเองกินเนื้อตัวเอง” สิ่งแรกที่เห็นประโยคนี้ผู้เขียนนึกถึงแนวคิดปรัชญาการเมืองหนึ่งขึ้นมาทันที นั่นก็คือ เรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ถ้ำของเพลโต ขึ้นมา เพราะสิ่งที่ คุณจิรัฏฐ์ กำลังพูดถึงเป็นการอธิบายถึงความธรรมดาของมนุษย์ที่จะรับเอาสิ่งที่ตัวเองต้องการรับเท่านั้น หากสิ่งใดที่เป็นความจริงอันน่าเจ็บปวดแล้วเราก็ไม่อยากที่จะรับรู้มันแม้ว่ามันเป็นความจริงก็ตาม เรื่องราวของมนุษย์ถ้ำ จึงเป็นสิ่งที่อธิบายทุกอย่างในสังคมได้ดีมาก

ทั้งหมดนี้เป็นการมอง เรื่องเซอร์เรียลของ คุณจิรัฏฐ์ แบบไม่เซอร์เรียล เชื่อแน่ว่าหลายคนอาจจะมีความคิดและมุมมองที่ต่างออกไปเมื่อได้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ ผู้เขียนคิดว่าวรรณกรรมเรื่องนี้เป็นมากกว่าวรรณกรรม ซ่อนแนวคิดและปัญหาของสังคมไว้ภายใต้ตัวหนังสือ แม้ว่าบางอย่างอาจจะไม่ใช่ความมุ่งหมายของ คุณจิรัฏฐ์ ที่อยากจะสื่อก็ตาม แต่อย่างน้อยๆก็เป็นสิ่งเล็กๆที่ผู้เขียนนำมาขบคิดต่อได้ คนอื่นอาจจะไม่ได้อะไรจากวรรณกรรมเล่มนี้นองจากความสนุก แต่สำหรับผู้เขียนนอกจากจะได้ความสนุกแล้วยังได้เรียนรู้กับมันอย่างมากเลยทีเดียว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net