เอฟทีเอ ว็อทช์ เบรคอธิบดีกรมเจรจาฯ หวั่นเข้าร่วม TPP กระทบการเข้าถึงยา

(10 เม.ย.55) ตามที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พยายามผลักดันให้ประเทศไทยการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) โดยอ้างผลการศึกษาว่า อุตสาหกรรมไทย ทั้งเกษตร อาหาร สิ่งทอ อัญมณี ท่องเที่ยว และบริการสุขภาพ จะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมข้อตกลงนี้อย่างมาก

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา สมาชิกกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ เอฟทีเอ ว็อทช์ เห็นว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศควรให้ข้อมูลกับสาธารณะอย่างครบถ้วน เพราะในการศึกษาเบื้องต้นของกรมฯที่จัดจ้างบริษัทเอกชนทำ ยังระบุว่า การเข้าร่วม TPP มีผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงยาและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

“กรมเจรจาฯควรเลิกวิธีการโฆษณาชวนเชื่อว่าทำเอฟทีเอมีแต่ด้านดีด้านเดียวได้แล้ว เพราะแม้แต่งานศึกษาที่กรมเจรจาฯจัดจ้างบริษัทเอกชนทำ ยังชี้ว่า ในการเจรจา TPP ที่ 8 ประเทศกำลังเจรจาฯกันอยู่ สหรัฐฯมีข้อเรียกร้องสูงมาก ทั้งการบังคับให้จดสิทธิบัตรพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ การขยายอายุสิทธิบัตร จาก 20 ปีออกไปอีกไม่เกิน 5 ปีเพื่อชดเชยความล่าช้าของกระบวนการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตร และให้ขยายอายุสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิตหรือการใช้ยาแบบใหม่เพียงเล็กน้อย การผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี สำหรับยาใหม่ และ 3 ปี สำหรับยาที่ได้รับสิทธิบัตรมาแล้ว ในเรื่องนี้ท่าทีสมาชิก TPP อื่นๆ ยังมองว่า จะทำให้ผูกขาดยาต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงยาได้ จำกัดการบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) ไม่อนุญาตให้หน่วยงานจัดซื้อยาของรัฐต่อรองราคายา และบังคับเปิดตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ยิ่งไปกว่านั้น ด้านการค้าบริการและการลงทุน สหรัฐฯเรียกร้องให้ใช้แนวทาง Nagative List (อะไรที่เปิดเสรีไม่ได้ให้แจ้ง) ให้เปิดให้ชาวต่างชาติถือหุ้นได้ 100% การโอนเงินทำได้โดยเสรีและไม่มีอุปสรรค ต้องการให้มีบทบัญญัติเรื่องอนุญาโตตุลาการที่จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องยกเลิกนโยบายสาธารณะหรือเรียกค่าชดเชยจากรัฐในนโยบายต่างๆ ได้ ซึ่งขณะนี้ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน ยังไม่ยอมรับ ส่วนออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ประกาศไม่ต้องการให้มีบทบัญญัติเรื่องอนุญาโตตุลาการ”

สมาชิกเอฟทีเอ ว็อทช์ ระบุว่า สิ่งสำคัญที่กรมเจรจาฯไม่ยอมพูด หรือไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ คือ การที่ประเทศใดเข้าไปเจรจาทีหลังจะถูกบังคับให้ยอมรับความตกลงที่มากกว่า ประเทศสมาชิกเดิม 8 ประเทศ ซึ่งขณะนี้ ญี่ปุ่นกำลังเผชิญภาวะความกระอักกระอ่วนนี้อยู่

“ในระยะหลัง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดจ้างบริษัทเอกชนมาทำการศึกษามากขึ้น ในการนำเสนองานศึกษาของบริษัทเอกชนที่กรมเจรจาฯจัดจ้างหลายครั้ง เชิญแต่ภาคเอกชน เช่น สภา หอการค้า สภาอุตสาหกรรม แต่ไม่เคยเชิญภาคประชาสังคมหรือกลุ่มประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ เลย ขอเรียกร้องให้กรมเจรจาฯ ยุติการโฆษณาชวนเชื่อ ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของเครือข่ายประชาชน ดำเนินการอย่างเปิดเผยโปร่งใส ทำการศึกษาอย่างครบถ้วนรอบด้าน และเปิดรับฟังความคิดเห็นของสาธารณะอย่างจริงจัง จริงใจ ซึ่งเหล่านี้ล้วนระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ”

นอกจากนี้ การเจรจา TPP ถูกตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศว่า สหรัฐฯพยายามผลักดันอย่างมาก เพราะต้องการขยายอิทธิพลด้านการค้าและการเมืองผ่าน TPP และชิงความได้เปรียบเหนือจีน มากกว่าที่จะเป็นเรื่องวัตุประสงค์ทางการค้าเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท