Skip to main content
sharethis

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ยื่นหนังสือถึงพ่อเมืองตรังรอบ 2 หลังสมาชิกเครือข่ายฯ ถูกรื้อถอนสะพานเข้าหมู่บ้าน พร้อมทั้งเคลื่อนขบวนรณรงค์ 20 กม.แจกแถลงการณ์ 1,000 ชุดทั่วเมืองตรัง

จากเหตุการณ์ที่สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า นำกำลังเข้าไปตัดฟันสวนยางพาราในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู และรื้อสะพานเข้าพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านหาดสูง

วันที่ 10 เม.ย.55 เมื่อเวลา 12.00 น. เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ประมาณ 150 คน ได้เคลื่อนขบวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์รณรงค์แจกแถลงการณ์ จำนวน 1,000 ชุด ในพื้นที่ อ.เมืองตรัง เปิดโปงการข่มขู่คุกคามชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่โฉนดชุมชนของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดพร้อมทั้งเข้ายื่นหนังสือต่อนายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

นายสมนึก พุฒนวล กรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า จากการกระทำของเจ้าหน้าที่ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั้งจังหวัด ที่มีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานฯ กับชาวบ้านซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งๆ ที่เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 3 เม.ย.55 แต่เพียง 3 วัน ก็ถูกคุกคามอีก นับว่าเป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ลำบากยากจนให้ลำบากสาหัสขึ้นไปอีก

นายสมนึก กล่าวถึงการที่ทางเครือข่ายฯ เดินทางข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรังว่า เพื่อติดตามผลความคืบหน้าจากการยื่นข้อเรียกร้อง เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา และได้รับคำตอบจากนายไชยยศ ธงไชย รอง ผวจ.ตรัง ซึ่งลงมารับหนังสือว่า ได้ประสานงานส่งหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี และกองทัพภาคที่ 4 แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับมายังจังหวัดตรัง ส่วนการประสานงานหน่วยงานป่าไม้ให้ยุติการกลั่นแกล้งข่มขู่คุกคามดำเนินคดีกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมนั้น รองผู้ว่าฯ บอกว่าขอเวลารับฟังหน่วยงานป่าไม้ก่อน แสดงให้เห็นถึงท่าทีหลีกเลี่ยงในการแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ทางเครือข่ายฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ต่อ ผวจ.ตรัง อีกครั้ง ดังนี้ 1.ให้ประสานงานหาทางแก้ไขช่วยเหลือกรณีการรื้อถอนสะพานบ้านหาดสูงโดยเร่งด่วน 2.ให้กำกับหน่วยงานป่าไม้และหน่วยงานอื่นที่อยู่ในการบริหารงานของจังหวัด เพื่อให้เกิดการปราบปรามผู้บุกรุกป่าตัวจริง และยุติการกลั่นแกล้ง ข่มขู่คุกคาม ทำลายอาสิน ดำเนินคดีกับเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ดั้งเดิม และ 3.ให้แจ้งผลดำเนินงานให้เครือข่ายฯ ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

“เครือข่ายมีแผนรณรงค์กับคนตรัง ควบคู่ไปกับการเจรจากับทางจังหวัด สำหรับการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ จะมีการเคลื่อนขบวนรณรงค์ไปแจกใบปลิวต่อพี่น้องในพื้นที่ อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว และ อ.ปะเหลียน รวมทั้งอำเภออื่นๆ พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อนายอำเภอด้วย” นายสมนึกให้ข้อมูล

นายสมนึกกล่าวด้วยว่า การแจกแถลงการณ์ในวันนี้ได้รับความสนใจจากพี่น้องข้าราชการ และพี่น้องคนเมืองตรังเป็นอย่างมาก หลายคนได้กล่าวให้กำลังใจเครือข่ายฯ ให้ต่อสู้ปกป้องสิทธิในที่ดินทำกิน และดูแลรักษาป่าต่อไป ส่งผลให้สมาชิกเครือข่ายฯ ได้มีกำลังใจมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขบวนรณรงค์ของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดในครั้งนี้ มีระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร โดยเคลื่อนขบวนท่ามกลางสายฝนจากศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ ม.4 ต.ควนปริง อ.เมือง ไปยังศาลากลางจังหวัดตรัง หลังจากนั้นได้เคลื่อนขบวนแจกแถลงการณ์ต่อเจ้าหน้าที่ราชการบริเวณศาลากลางจังหวัด เทศบาลนครตรัง และประชาชนทั่วไปที่สัญจรและตั้งบ้านเรือนบนถนน 6 สาย ได้แก่ ถ.พัทลุง ถ.ราชดำเนิน ถ.พระราม 6 ถ.วิเศษกุล ถ.กันตัง และ ถ.ตรัง-ปะเหลียน

ทั้งนี้ สมาชิกเครือข่ายฯ ได้แต่งกายด้วยชุดดำและขาว และงดใช้เครื่องเสียง เพื่อไว้ทุกข์ต่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ ตามประกาศของรัฐบาล

นอกจากนั้น เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ยังออกแถลงการณ์ “รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน หยุดซื้อเวลา เร่งแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน” สนับสนุนการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยการจัดให้มีโฉนดชุมชน เนื้อหาดังนี้

ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ตรัง รอบ 2 จวกเลี่ยงแก้ปัญหาอุทยานฯ คุกคามพื้นที่โฉนดชุมชน

ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ตรัง รอบ 2 จวกเลี่ยงแก้ปัญหาอุทยานฯ คุกคามพื้นที่โฉนดชุมชน

ยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ตรัง รอบ 2 จวกเลี่ยงแก้ปัญหาอุทยานฯ คุกคามพื้นที่โฉนดชุมชน

แถลงการณ์ฉบับที่ 1 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
หยุดซื้อเวลา เร่งแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน

แม้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะแถลงนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ เอาไว้อย่างชัดแจ้งต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 ว่าจะปฏิรูปการจัดการที่ดินโดยให้มีการกระจายสิทธิที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน รวมถึงจะผลักดันกฎหมายในการรับรองสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากร ที่ดิน น้ำ ป่าไม้และทะเล น่าเสียดายที่นโยบายสวยหรูเหล่านี้ กระทั่งปัจจุบันไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน มิหนำซ้ำ รัฐบาลยังปล่อยปละละเลย ให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่เพียงแต่ ไม่เดินตามแนวทางรับรองสิทธิชุมชนตามทีกล่าวอ้างไว้ในนโยบาย แต่กลับมีพฤติกรรมละเมิดสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรอย่างรุนแรง

ดังที่เป็นข่าว กรณีนายสุรเชษฐ์ วันดีเรืองไพศาล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดจับกุมชาวบ้านในพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนบ้านตระ จ.ตรังจำนวน 2 รายด้วยข้อหาการนำผลหมากออกมาขายในวันที่ 25 มีนาคม ต่อมาในวันที่ 30 มีนาคม นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า นำกำลัง 50 นาย เข้ารื้อถอนตัดฟันต้นยางพารา ลองกอง สะตอ หมากและมะพร้าว รวม 1000 ต้น ของชาวบ้าน 3 ราย ในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านทับเขือ-ปลักหมู จ.ตรัง และในวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา นายเกรียงศักดิ์ ดีกล่อม หัวหน้าหน่วยปากแจ่ม อุทยานฯเขาปู่-เขาย่า นำกำลัง 30 นาย เข้ารื้อถอนสะพานสัญจรที่มีอยู่เพียงเส้นทางเดียวของชาวบ้านหาดสูง จ.ตรัง

ในขณะที่ข้อเท็จจริง พื้นที่เหล่านี้อยู่ในกระบวนการทำงานและแก้ไขปัญหาร่วมกับสำนักงานโฉนดชุมชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ซึ่งมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล เป็นประธานและกำกับดูแล อีกทั้งยังอยู่ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ลงนามโดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายโชติ ตราชู เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 ใจความสำคัญว่า กระทรวงทรัพยากรฯ จะดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานโฉนดชุมชน และจะมอบหมายเป็นนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดแก้ไขข้อพิพาทแก่ชุมชนที่ประสงค์จะดำเนินงานโฉนดชุมชน

โฉนดชุมชนเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการทับซ้อนสิทธิ์ระหว่างหน่วยงานรัฐกับประชาชน เหตุจากความผิดพลาดที่ว่า พื้นที่ป่าสงวนฯ และอุทยานแห่งชาติฯที่ราชการประกาศจำนวนมากนั้น ล้วนแต่มีชุมชนท้องถิ่นตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ชุมชนเหล่านี้ไม่ได้รับการสำรวจและกันแนวเขตที่ดินทำกินออก หากได้ถูกผนวกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อร่วมกับหน่วยงานรัฐในการป้องกันปัญหาการบุกรุกทำลายป่า ชุมชนเตรียมการโฉนดชุมชนจึงมีกฎกติกาดูแลรักษาพื้นที่ปา ที่ได้รับการยอมรับจากสังคมวงกว้าง

น่าเสียดายที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ไม่แยกแยะและมองไม่เห็นคุณค่าของชุมชนผู้ดูแลรักษาป่า พฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่โฉนดชุมขนภาคใต้ จึงสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพ ความไม่จริงใจและไม่ใส่ใจของรัฐบาลผู้บริหารประเทศ ต่อนโยบายแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินตามที่ได้แถลงไว้ รวมถึงรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องโฉนดชุมชน ที่ไม่สามารถกำกับให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปฏิบัติตามนโยบายรับรองสิทธิชุมชนที่ให้ไว้กับประชาชนได้

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และรัฐมนตรีที่กำกับดูแลเรื่องโฉนดชุมชน กลับมาใส่ใจต่อปัญหาพื้นฐานของประชาชน และดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. มอบหมายนโยบายที่ชัดเจน และกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานโฉนดชุมชน ให้ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ทะเล
  2. เพื่อป้องกันคำกล่าวที่ว่า รัฐบาลปากว่าตาขยิบ และมีส่วนรู้เห็นต่อความรุนแรงในพื้นที่โฉนดชุมชนภาคใต้ รัฐบาลต้องเร่งผลักดันกฎหมายรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้เป็นผลสำเร็จภายในเวลา 1 ปี นับจากวันที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย
11 เมษายน 2555

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net