Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

จากตอนที่แล้ว ที่แบ่งทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ด้านการกระจายอย่างยุติธรรมออกเป็นสามกลุ่มคือ Libertarianisme, Utilitarianisme และ Egalitarisme liberal กลุ่ม Libertarianisme เชื่อว่าความยุติธรรมเกิดจากการปกป้องกรรมสิทธิของปัจเจกชนจากอำนาจรัฐหรือปัจเจกชนคนอื่นๆ ปัจเจกชนมีสิทธิในการครอบครองสิ่งของจากผลผลิตแรงงานของตนเอง มิใช่มาจากการใช้กำลังเข้าปล้นแย่งชิงของบุคคลอื่น สาเหตุที่แนวความคิดเสรีนิยมกำเนิดขึ้นมาและได้รับการยอมรับจากประชาชนทั่วไปสาเหตุหนึ่งเพราะการปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิวัติอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดการผลิตจำนวนมากและเปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อการค้าขึ้น ส่งผลให้เกิดกลุ่มอำนาจทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ได้แก่กลุ่มพ่อค้าที่ครอบครองปัจจัยการผลิตขึ้นมาท้าทายอำนาจกลุ่มอำนาจเศรษฐกิจเดิมคือ กลุ่มเจ้าขุนมูลนาย ระบบการค้าในศตวรรษที่๑๘มิได้เสรีเช่นปัจจุบัน แต่ถูกเก็บภาษีด้วยวิธีหลากหลายรูปแบบจากอำนาจรัฐ ประชาชนทำงานหนักแต่ผลผลิตส่วนใหญ่กลับถูกเก็บภาษี การเก็บภาษีอย่างหนักหน่วงสร้างความไม่พอใจแก่พ่อค้าและประชาชน พวกเขาเห็นว่าเขาควรได้รับผลตอบแทนจากสิ่งที่เขาทำ มิใช่โดนปล้นไปจากรัฐ

Utilitarianisme ปฏิเสธแนวความคิด Libertarianisme ที่เชื่อว่าควรจำกัดอำนาจรัฐให้น้อยที่สุด Utilitarianisme เชื่อว่ารัฐต้องเข้ามาแทรกแซงการกระจายทรัพยากรเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีความสุขมากที่สุด และผลที่ตามมาคือความผาสุกของสังคมโดยรวม Utilitarianisme เชื่อว่าการที่ปัจเจกบุคคลครอบครองทุกสิ่งเป็นกรรมสิทธิไม่สามารถเกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจเจกบุคคลอาจไม่สามารถใช้ทรัพยากรที่ตนมีอย่างมีประสิทธิภาพและควรโอนถ่ายไปให้บุคคลอื่นมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น มีคนสองคน คนแรกตาบอดแต่มีแว่นตาไว้ในครอบครอง ส่วนคนที่สองหูหนวกแต่มีวิทยุไว้ครอบครอง ทั้งสองคนครอบครองสินค้าที่ไม่ก่อประโยชน์กับตัวเขา และควรจะมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งถ้ายึดถือตามแนวความคิดเสรีนิยมแล้วการถ่ายโอนทรัพยากรจะเกิดได้เมื่อทั้งสองฝ่ายเต็มใจซึ่งถ้าทั้งสองฝ่ายไม่เต็มใจการถ่ายโอนก็ไม่เกิดและไม่มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ปัจเจกครอบครอง ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้าแทรกแซงทำการโอนถ่ายทรัพยากรระหว่างสองคนโดยที่ทั้งสองคนไม่จำเป็นต้องยินยอม Utilitarianisme เชื่อว่าปัจเจกบุคคลมีข้อจำกัดในด้านข้อมูลและไม่สามารถตระหนักว่าควรจะแบ่งทรัพยากรของตนเองให้สังคมเท่าไร หรือควรถ่ายโอนทรัพยากรอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด กรรมสิทธิส่วนบุคคลสามารถถูกละเมิดได้ในนามของรัฐเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของสังคม

Libertarianisme และ Utilitarianisme จึงเป็นแนวความคิดแตกต่างสองขั้วระหว่างฝ่ายแรกที่การกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมเกิดขึ้นได้โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐกับฝ่ายที่สองการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมนั้นเกิดจากการแทรกแซงของรัฐ ซึ่งแนวความคิดทั้งสองต่างก็มีข้อเสียและไม่สามารถก่อให้เกิดการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรมที่สังคมยอมรับได้ ดังนั้นแนวความคิด Egalitarisme liberal จึงเกิดขึ้นมาจากการสมาสของแนวคิดทั้งสองข้างต้นเพื่อพัฒนาให้เกิดการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมตามสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน

นักคิดสำคัญของ Egalitarisme liberal คือ John Rawls ผู้เขียนหนังสือ Theory of justice แนวความคิดของเขาเป็นการสมาสร่วมกันระหว่างการแทรกแซงจากรัฐกับการรักษากรรมสิทธิเอกชนไปด้วยกัน การแทรกแซงจากรัฐไม่ควรมีมากเกินไปและควรถูกจำกัดโดยเนื่องจากรอว์เป็นผู้นิยมสัญญาประชาคมและสถาบันนิยม ดังนั้นการแทรกแซงจากรัฐจึงกระทำได้ภายใต้สถาบันทางสังคมคือกฎหมาย โดยที่กฎหมายต้องนิยามอำนาจและหน้าที่อย่างชัดเจนในการแทรกแซงกรรมสิทธิเอกชน ถ้าการแทรกแซงจากรัฐนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ย่อมไม่แตกต่างจากการปล้นจากรัฐ และกฎหมายที่บัญญัติอำนาจการแทรกแซงจากรัฐนั้นต่างจากกฎหมายสมบูรณาญาสิทธิราชที่กฎหมายมาจากตัวกษัตริย์ อำนาจกฎหมายของรอว์ต้องมาจากข้อตกลงร่วมกันของสังคมที่พ้องกับระบอบประชาธิปไตย การแทรกแซงของรัฐมีจุดประสงค์เพื่อการกระจายทรัพยากรอย่างยุติธรรมมิใช่เพื่ออรรถประโยชน์สูงสุดของสังคมแบบแนวความคิดอรรถประโยชน์นิยม อย่างไรก็ตามการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมก็มิได้มีจุดประสงค์ให้คนทุกคนในสังคมมีทรัพยากรที่เท่าๆกันเหมือนกันหมดเฉกเช่นสังคมนิยมยูโธเปียวาดฝันเอาไว้ การกระจายทรัพยากรให้เท่ากันมีขีดจำกัดได้ในจุดๆหนึ่ง และรักษากรรมสิทธิส่วนบุคคลจนถึงระดับหนึ่ง เช่น สินค้าสาธารณสุขเป็นสินค้าพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคนในสังคมพึงมี รัฐบาลจึงสร้างระบบประกันสุขภาพสามสิบบาทรักษาทุกโรคให้ทุกคนเข้าถึงการรักษาขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตามปัจเจกชนก็ไม่ได้ถูกห้ามในการขวนขวายหาสินค้าสาธารณสุขเพิ่มเติมด้วยตนเอง เช่นการซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทเอกชน เป็นต้น ถึงแม้รอว์ยอมรับการแทรกแซงจากรัฐ แต่เขาเองก็ให้ความสำคัญกับกรรมสิทธิส่วนบุคคลและแนวความคิดเสรีนิยม รอว์เขียนหลักการที่หนึ่งในTheory of justice ไว้ว่า

“แต่ละคนคนต้องมีสิทธิเท่าเทียมภายในระบบที่มีการให้เสรีภาพพื้นฐานขยายมากที่สุด โดยเข้ากันได้กับเสรีภาพแบบเดียวกันของบุคคลอื่น”

ซึ่งเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้แก่ เสรีภาพในการเลือกตั้ง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในกรรมสิทธิเป็นต้น

ถึงแม้รอว์เป็นนักคิดคนแรกๆของสาย Egalitarisme liberal งานเขียนของเขา Theory of justice ก็มิใช่คัมภีร์ไบเบิลที่ถูกวิพากษณ์วิจารณ์ไม่ได้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนต่างเคยวิจารณ์งานของรอว์ รวมถึงอมาตยา เซนซึ่งมีแนวความคิดสาย Egalitarisme liberalเช่นเดียวกัน เซนวิพากษณ์แนวความคิดของรอว์ในการกระจายสินค้าพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่ได้สนใจว่าสินค้านั้นสามารถสร้างอะไรให้แก่ปัจเจกชนที่ได้รับบ้าง การกระจายอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่สนใจลักษณะเฉพาะส่วนบุคคล ความต้องการส่วนบุคคลส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่เท่ากันได้ เช่น อาหารซึ่งเป็นสินค้าพื้นฐานที่ทุกคนต้องการใช้เพื่อเผาผลาญเป็นพลังงานและมีชีวิตอยู่ต่อ ถ้าตามความคิดของรอว์ทุกคนต้องกระจายได้อาหารให้ทุกคนเท่าๆกันหรือให้คนที่ลำบากที่สุดในสังคมก่อน ในที่นี้สมมติว่าทุกคนจะได้อาหารวันละหนึ่งจานเท่าๆกัน แต่ถ้าสมมติว่ามีคนสองคนแตกต่างกันโดยคนแรกมีสภาพร่างกายที่แตกต่างจากคนที่สองเขามีความต้องการอาหารวันละสองจานเพื่อมีชีวิตรอด ในขณะที่คนที่สองต้องการอาหารเพียงหนึ่งจานก็เพียงพอมีชีวิตรอดต่อไปได้ ดังนั้นถ้ามีการกระจายตามแนวความคิดของรอว์แล้วคนแรกก็ไม่สามารถมีชีวิตรอดได้และต้องตายในที่สุด หรือถ้าสมมติว่าในสังคมหนึ่งให้ค่าว่ารถยนต์เป็นสินค้าขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี ดังนั้นตามแนวความคิดรอว์แล้วรัฐต้องจัดแจงให้ทุกคนมีรถยนต์ใช้โดยมิได้คำนึงว่ารถสามารถสร้างผลประโยชน์ให้ทุกๆคนหรือไม่ คนตาบอด หรือพิการก็ต้องมีรถโดยไม่สามารถใช้ได้

สำหรับเซนแล้วสวัสดิภาพของปัจเจกบุคคลมีส่วนหนึ่งที่มีต้นกำเนิดจากสภาพแวดล้อมที่ ปัจเจกบุคคลไม่ควรที่จะรับผิดชอบ สภาพแวดล้อมต่างๆเช่น เพศ ความสามารถ สถาบันสังคมเป็นต้น จุดประสงค์ของเซนคือ การลบล้างอิทธิพลของตัวแปรสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อสวัสดิภาพของปัจเจกบุคคล นิยามของสวัสดิภาพบุคคลมี ๒ มิติด้วยกันคือ มิติด้านวัตถุประสงค์ และมิติส่วนบุคคล

มิติส่วนวัตถุประสงค์ เซนเรียกว่า functioning ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหรือสินค้าของปัจเจกบุคคลและผลลัพธ์ของกิจกรรมนั้น เช่น สมมติว่า วัตถุประสงค์ของสวัสดิภาพบุคคลที่ต้องการคือ การมีสุขภาพดี แต่การมีสุขภาพดีต้องมีกิจกรรมบางอย่างเช่น การกินอาหารที่ดี การขาดสารอาหารส่งผลให้สุขภาพไม่ดี เป็นต้น เขียนอยู่ในรูปฟังกชันได้ดังนี้

 

คิอ กิจกรรมหรือสินค้าของปัจเจกบุคคล เช่นอาหาร c คือฟังก์ชันที่เปลี่ยนสินค้าหรือกิจกรรมเป็นสวัสดิภาพบุคคล เช่นการส่ฃผลให้สุขภาพดี

มิติที่สองคือ มิติส่วนบุคคลที่มีผลต่อสวัสดิภาพบุคคลที่ได้รับ เซนเรียกว่า Capability มิตินี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลเช่น ความพึงพอใจ รสนิยม ความเชื่อส่วนตัวเป็นต้น Capability จึงประกอบด้วยเซตของ functioning และเสรีภาพในการเลือกของปัจเจกบุคคล ยกตัวอย่างเช่น ปัจเจกบุคคลหนึ่งมีโอกาสเลือกว่าจะกินข้าวหรือจะอดข้าว ซึ่งถ้ากินข้าวแล้วจะส่งผลให้สุขภาพดี และถ้าอดข้าวส่งผลให้สุขภาพแย่ แต่เนื่องจากความเชื่อทางศาสนาแล้วเขาเลือกที่จะอดข้าวและส่งผลให้สุขภาพแย่ตามมา ในกรณีที่ว่านี้ไม่ถือว่ามีความไม่เท่าเทียมกันในด้านกระจายทรัพยากรอาหาร เพราะว่าปัจเจกบุคคลมีโอกาสที่จะเลือกว่ากินหรือไม่กินอาหาร ซึ่งแตกต่างจากกรณีที่อดอยากตาย เพราะการอดอยากตายนั้นหมายถึงว่าปัจเจกบุคคลไม่มีอาหารและไม่มีโอกาสที่จะเลือกว่ากินหรือไม่กินได้ เมื่อเขียนเป็นฟังกชันจะได้

 

Untitled

Untitled   คือ สวัสดิภาพส่วนบุคคลที่ได้รับ ซึ่งขึ้นอยู่กับเสรีภาพของการเลือก ( Untitled ) จากตะกร้าเซต functioning   Untitled

ดังนั้นความยุติธรรมในการกระจายตามความคิดของเซนคือ การกระจายให้ทุกคนมีโอกาสในทางเลือกที่เท่าเทียมกัน หรือ หมายถึงการที่ให้ทุกคนมีตะกร้าเซตfunctioning ให้เลือกเหมือนๆกัน โดยไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีสวัสดิภาพโดยรวมเท่ากันหมด แต่ทุกคนต้องมีเสรีภาพ และมีโอกาสในการเลือกได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net