Skip to main content
sharethis

อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายในหัวข้อ "ตูม ยะลาก็ตูม นราก็ตูม ตานีก็ตูม" ในการอภิปรายหัวข้อ บาดแผลของความรุนแรงกับการแปลงความทรงจำ ในการประชุมทางวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง" ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) เมื่อวันที่ 28 มี.ค.55 ประชาไท ถอดความมานำเสนอ    

00000  

อนุสรณ์ อุณโณ
อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชื่อหัวข้อที่จะพูดวันนี้เป็นสร้อยของเพลงชื่อ “ซือเสาะชารีมาแก” ซึ่งแปลว่าทำมาหากินลำบาก เนื้อหาส่วนหนึ่งจะเกี่ยวกับประสบการณ์เกี่ยวกับความรุนแรงและความรับรู้ของเขา รวมไปถึงวิธีการที่เขาพยายามที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้กับสังคมสาธารณะฟัง ผมหยิบขึ้นมาเป็นหัวข้อในการพูด เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าบาดแผลของการแปลงความรุนแรงกับการแปลงความทรงจำของชาวมลายูมุสลิมกลุ่มหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในหมู่บ้านที่ไปศึกษาและทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกมีลักษณะอย่างไร โดยจะแบ่งเป็นเหตุการณ์ 3 ช่วงเวลาซึ่งชาวมลายูมุลสลิมในสามจังหวัดภาคใต้โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่ไปศึกษาสัมพันธ์ด้วย ได้แก่

-สงครามระหว่างเมืองและอาณาจักรต่างๆ ในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะรามันณ์และปัตตานี

-ความขัดแย้งระหว่างขบวนการแยกดินแดนปัตตานีกับรัฐไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงต้นทศวรรษ 2520

-เหตุการณ์ความไม่สงบในปัจจุบันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา  

(1) 
เมื่อพูดถึงปัตตานี จังหวัดชายแดนใต้มักถูกเข้าใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปัตตานีตั้งแต่เดิม แต่มันถูกเชื่อมกับตำนานการตั้งหมู่บ้าน การตั้งถิ่น ตำนานบรรพบุรุษ ตำนานการตั้งหมู่บ้าน พยายามตั้งให้สอดคล้องกับการตั้งถิ่นฐาน ตำนานที่เลือกหยิบมาคือตำนานที่หนึ่ง โต๊ะกือเม็ง ประวัติศาสตร์ช่วงต้นทศวรรษ2300 เล่ากันว่าเจ้าเมืองปัตตานีแต่งตั้งให้โต๊ะนิครองเมืองรามันห์ แต่เมื่อผ่านไปสักพักหนึ่งโต๊ะนิกลับปกป้องตัวเองจากปัตตานี แข็งข้อ ไม่ยอมส่งส่วย ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อเจ้าเมืองปัตตานี เจ้าเมืองปัตตานีจึงกรีฑาทัพเอาช้างศึกม้าศึกมารบพุ่งกับเมืองรามันห์ แต่เมืองรามันห์ก็เข้มแข็งพอ ทำให้มีสงครามรบพุ่งกันระหว่างสองเมืองโดยตลอด
               
ครั้งหนึ่งเจ้าเมืองรามันห์หรือโต๊ะนิได้แต่งตั้งโต๊ะกือเม็ง ให้เลี้ยงช้างศึกม้าศึกเป็นหมู่บ้าน มีการตั้งถิ่นฐานใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นเกียรติกับคนที่ตั้งถิ่นฐานจึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า กือเม็ง เพื่อรำลึกถึงผู้ตั้งหมู่บ้าน บ้างเล่าว่าโต๊ะกือเม็งเป็นผู้หญิงสาวสวย ผมยาวสลวย มีความฉลาดรอบรู้ รู้เวทมนตร์คาถา การใช้สรรพาวุธ หรืออาจจะมาจากชื่อกึมบัง ที่หมายถึงดอกไม้เบ่งบาน แต่เรียกยาก จึงเรียกว่ากือเม็งแทน จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อหมู่บ้าน
               
การรบพุ่งระหว่างปัตตานีกับรามันห์สุดท้ายถูกแปลงชื่อผู้นำเป็นชื่อหมู่บ้าน อันที่สองเกี่ยวกับตำนานบรรพบุรุษ หลังจากที่โต๊ะกือเม็งไปตั้งถิ่นฐานที่นั่นเล่ากันว่า บิดาของทวดของชาวบ้านหลายๆ คนที่หมู่บ้านได้เป็นควาญช้างของเจ้าเมืองรามันห์ เป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าเมืองรามันห์ สามารถเดินเข้าออกพระราชวังได้โดยสะดวก ได้ผ่านพิธีกรรมของราชสำนัก การต้อนรับเจ้าเมืองเมื่อเสด็จมา การเรียกตัวผู้ที่มีความสามารถไปทำงานในพระราชวัง ทำให้ความสัมพันธ์เช่นนั้นยังคงอยู่ มีความแนบแน่นมากขึ้น เจ้าเมืองรามันห์ได้พระราชทานต้นลองกอง ซึ่งตอนนี้ก็ปลูกอยู่ในสวนยางพาราของเอกชนแห่งหนึ่ง และมีการฝังศพโต๊ะกือเม็งไว้ริมแม่น้ำสายบุรี แม้ว่าจะไม่มีสัญลักษณ์ชัดเจน แต่ชาวบ้านก็สามารถชี้บอกได้ หรือแม้จะไม่มีพิธีกรรมรำลึกถึงเจ้าเมืองโต๊ะนิหรือผู้ก่อตั้งหมู่บ้านโต๊ะกือเม็งโดยเฉพาะ แต่ในหลายพิธีกรรมที่ประกอบขึ้น เกี่ยวกับวิญญาณบรรพบุรุษหรือไหว้ครูก็มีการรำลึกถึงทั้งสองคนนี้รวมอยู่ด้วย เช่น มีถาดที่เป็นเครื่องสังเวย อุทิศให้กับทั้งคู่ ช่วงเวลาสำคัญในบางกรณีก็จะมีการไปรดน้ำศพที่สุสานโต๊ะนิที่เมืองรามันห์ เป็นต้น  

ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักรามันห์กับหมู่บ้านที่แนบแน่นและมีความสำคัญเพราะเราถูกทำให้เชื่อว่าเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกหมายรวมให้หมายถึงเขตแดนของอาณาจักรปัตตานี โดยที่มีสยามเป็นคู่ปฏิปักษ์ อย่างไรก็ดี จะเห็นว่ารามันห์ในประวัติศาสตร์ชาตินิพนธ์เป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองของรัฐสยามในการสลายอาณาจักรปัตตานีให้กลายเป็นเพียงแค่หัวเมืองขนาดเล็ก ในปี 2358 อาณาจักรปัตตานีถูกแยกเป็น 7 หัวเมือง หนึ่งในเจ็ดหัวเมืองนั้นคือรามันห์  

ประวัติศาสตร์ฉบับแบบนี้ถูกชูในขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ผ่านมา แม้กระทั่งในปัจจุบันขบวนการก่อความไม่สงบก็พยายามจะลำเลิกประวัติศาสตร์ชุดนี้ มีงานศึกษากลุ่มหนึ่งเสนอว่า รามันห์ดำรงอยู่เป็นรัฐอิสลามโดยมีกิจการเหมืองแร่ดีบุกเป็นเส้นเลือดเศรษฐกิจหลักสำคัญก่อนที่สยามจะสลายปัตตานีและสถาปนาเจ็ดหัวเมืองขึ้นมา แต่รัฐภายในเหล่านี้ถูกหลงลืมเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ปัตตานีซึ่งเป็นแผ่นใหญ่มาก และละเลยถึงสงครามรบพุ่งในระหว่างรัฐเล็กๆ ที่อยู่ในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน
               
พอประวัติศาสตร์ปัตตานีถูกลำเลิกโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนเมื่อ 3-4 ทศวรรษ รวมไปถึงที่บางส่วนถูกหยิบยกมาใช้โดยกระบวนการก่อความไม่สงบในปัจจุบัน เลยคล้ายกับว่าเพราะคนในพื้นที่มีความสำคัญแนบแน่บกับราชสำนักรามันห์ ในขณะที่ราชสำนักมีปัญหากับปัตตานีจึงสร้างความกระอักกระอ่วนเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมา คือไม่สามารถที่จะรับเอาประวัติศาสตร์ปัตตานีที่ไม่มีรายละเอียดปลีกย่อยหรือไม่ได้เล่าถึงความขัดแย้งนี้ได้อย่างสนิทใจ  

จากการที่เคยไปสัมภาษณ์ชาวบ้าน ชาวบ้านก็รู้สึกลำบากใจถ้าจะให้ยอมรับเฉพาะเรื่องความยิ่งใหญ่ของปัตตานีเพราะปัตตานีในอดีตเป็นศัตรูกับรามันห์และคนในหมู่บ้านก็มีเชื้อสายเจ้าเมืองรามันห์ หรือเคยทำงานในวังมาก่อน จริงๆ แล้ว คนในหมู่บ้านนี้เป็นพวกรักอิสระ นี่เป็นเรื่องสำคัญ เป็นประเด็นที่เรามักถูกละเลยมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ชาติ ที่ขบวนการหรือกลุ่มอื่นยกขึ้นมาก็ตาม

(2)
ช่วงเวลาที่สอง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เกิดขบวนการแยกดินแดนปัตตานี ขบวนการนี้เป็นผลพวงมาจากเหตุสำคัญสองประการ หนึ่งคือสมัยสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐจำนวนหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องเอกราช โดยเฉพาะในมาเลเซีย เกิดแนวคิดราชอาณาจักรมลายูที่ยิ่งใหญ่ เหนือคาบสมุทรมลายูรวมไปถึงหมู่เกาะบางส่วนที่เกี่ยวข้อง นี่เป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกฮึกเหิมของคนในเขตสามจังหวัดที่เกิดกระแสสร้างชาติมลายู อยากรวมกับชาติที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐไทยผ่านนโยบายชาตินิยม ที่เรียกกว่าการกลืนกลายแกมบังคับในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็เป็นแรงผลักดัน พยายามผนวกรวมเข้ามา เกิดขึ้นกับในหลายๆ กรณี หลายกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา สำคัญแต่เพียงว่าในกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นมลายูได้รับผลกระทบเป็นพิเศษเพราะมีธรรมเนียมยึดโยงกับศาสนาอิสลาม เช่น อาหาร การแต่งกาย จึงเกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนขึ้นตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา พุ่งถึงขีดสุดประมาณทศวรรษ 1960-1970 ก่อนจะแผ่วลงช่วง 1960-1990 ก่อนจะขึ้นมาอีกครั้งช่วงมิลเลนเนียม
               
โดยทั่วไปเรามักรับรู้เรื่องราวผ่านขบวนการแบ่งแยกดินแดนหลายๆ กลุ่มอย่างไม่จบสิ้น แต่ในพื้นที่กลับมีความทรงจำเกี่ยวกับขบวนการแบ่งแยกดินแดนอีกแบบหนึ่ง เพราะพื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่ที่ที่ขบวนการแยกดินแดนเข้ามาทำงาน คนในพื้นที่จึงมีความทรงจำเลือนราง ห่างไกล สถานที่ที่มีความเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกดินแดนคือเทือกเขาบูโด ซึ่งห่างหมู่บ้านไปหลายสิบกิโลเมตร มีคนที่ชื่อปอเยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ ที่เคลื่อนไหวอยู่แถบนั้น ซึ่งไม่ได้มีอะไรกับคนในพื้นที่ แต่มีตัวเชื่อมระหว่างปอเยะซึ่งเป็นคนของขบวนการแยกดินแดนกับคนในพื้นที่ คือครูเป๊าะสู ซึ่งคนตำบลท่าธง อำเภอรามันห์ ยะลา มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับครูเป๊าะสูแบบชาวบ้านทั่วไปว่า ช่วงที่เขาเข้าร่วมกับขบวนการหรือช่วงที่หนีเจ้าหน้าที่รัฐ เดือนละครั้งก็จะเห็นครูเป๊าะสูมากับรถปิกอัพ รถเก๋ง พร้อมลูกน้องและอาวุธปืน ขับรถผ่านถนนหน้าหมู่บ้านไป นั่นเป็นการพบเห็นโดยทั่วไป ที่เห็นความยิ่งใหญ่ปนความน่าสะพรึงกลัว  

นอกจากนี้ที่น่าสนใจ คือ มีการสร้างความทรงจำเกี่ยวกับครูเป๊าะสูในภาคประชาสังคม สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ ครูเป๊าะสูจะถูกเรียกว่าเป็นโจรเรียกค่าไถ่ แต่ในกลุ่มภาคประชาสังคม กลางทศวรรษ 2530 ช่วงที่กลุ่มจัดการทรัพยากรกำลังมีขบวนการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดกรณีการสร้างสร้างกั้นแม่น้ำสายบุรี ครูเป๊าะสูถูกชูขึ้นมาในฐานะที่เป็นต้นแบบของบุคคลในท้องถิ่นที่คัดค้านโครงการพัฒนาของรัฐ ในขณะเดียวกัน ครูเป๊าะสูก็ถูกยกให้เป็นผู้นำในการพัฒนา เป็นคนสร้างโรงเรียน เป็นคนที่รู้จักกับเจ้าหน้าที่รัฐระดมคนทำถนน ว่ากันว่าถนนรามันห์รายอนี้ริเริ่มโดยครูเป๊าะสู ครูเป๊าะสูถูกวาดภาพในกลุ่มนี้ขึ้นมา กลายเป็นเรื่องเล่าในกลุ่มของประชาสังคมว่าท้องถิ่นควรมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรอย่างไร แล้วพูดถึงประวัติของครูเป๊าะสูแบบที่กลายเป็นนักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมภาคใต้                  

ขณะที่ในภาพความทรงจำระดับบุคคล ครูเป๊าะสูออกปล้น โดยมีเป้าหมายหลักคือคนจีนที่ร่ำรวยในเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงเรียกค่าไถ่คนไทยบางคน แต่ก็มีคนในหมู่บ้านที่มีความทรงจำที่ขมขื่นกับครูเป๊าะสู เขาเล่าว่า สมัยเด็ก ยืนดูพ่อมอบยางให้ลูกน้องของครูเป๊าะสูเดือนละแผ่น โดยทำอะไรไม่ได้ ว่ากันว่าวัวควายที่เลี้ยงไว้ริมคลองก็หายไป ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพราะลูกน้องครูเป๊าะสูลักไป ทั้งหมดนี้ ลูกน้องครูเป๊าะสูอาจทำไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และครูอาจรู้หรือไม่รู้ก็ตาม พล็อตแบบนี้ไม่เข้ากับพล็อตที่ถูกเล่าโดยภาคประชาสังคม แต่เป็นพล็อตระดับครัวเรือน เป็นประสบการณ์ของบุคคลในพื้นที่ที่ได้ศึกษา  

(3)
เหตุการณ์ความไม่สงบในปัจจุบันพื้นที่ที่ได้ศึกษา หากจะนับจริงๆ ก็เกิดความไม่สงบมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็รวมไปกับกระแสใหญ่ คือเริ่มต้นตั้งแต่ปี 47 เกิดการฆ่าขึ้นกับกลุ่มผู้นำ ผู้นำทางการ ผู้ใหญ่บ้าน มีการยิง เผา ใบปลิวเสียบตามศาลาซึ่งปัจจุบันไม่ทำแล้ว แชร์ลักษณะความรุนแรงกับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งไม่แตกต่างกัน แต่ที่น่าสนใจคือ มีการให้ความหมายและจดจำความไม่สงบในระดับบุคคลที่น่าสนใจและไม่เข้ากับโครงเรื่องที่คุ้นเคย ปกติแล้วเมื่อมีคนประสบความรุนแรง ก็จะมีเหยื่อ รัฐเข้ามาเยียวยา ภาคประชาสังคมเข้ามาทำงาน มีสานเสวนา

ผมไปเจอกรณีหนึ่ง น่าสนใจมาก สามีเป็น ชรบ. ถูกยิงเสียชีวิต ผู้หญิงคนนี้ไม่รับคำอธิบายการตายของสามีที่เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าเกี่ยวกับขบวนการ แต่ไปหาหมอผี ถามว่าใครฆ่าสามี เอาเรื่องไสยศาสตร์ ความลี้ลับเข้ามาเกี่ยวข้อง ใช้วิธีบรรเทาความเจ็บปวดที่ไม่ใช่ผ่านสิ่งที่รัฐ-ภาคประชาสังคมทำแบบวิทยาศาสตร์ แต่ไปทำบุญ วิธีการจัดการความเจ็บปวด สูญเสียของบุคคลแบบนี้จึงไม่เข้ากับพล็อตใหญ่ที่คนพยายามจะทำ ดังนั้นคนที่ทำงานด้านเยียวยาจึงต้องตระหนักถึงกลวิธีด้านวัฒนธรรมด้วย  

การแปลงความรุนแรงในสื่อ
               
เมื่อทำงานในพื้นที่ ประสบการณ์เหล่านี้ถูกแปลงเป็นสื่อในท้องถิ่นอย่างไร ในปัจจุบันมีสื่อชนิดหนึ่งในท้องถิ่น เรียกว่าดังดุท เทียบเคียงได้กับลูกทุ่งของไทย ที่น่าสนใจคือมีการเล่าเหตุการณ์เต็มไปหมด จึงพยายามจะดูว่ามีการเล่าถึงความรุนแรงหรือเล่าประสบการณ์หรือไม่ ปรากฏว่าไม่ค่อยมี ที่ร่วมสมัยที่สุด เป็นเรื่องเช่น มี อบต. ผู้ใหญ่บ้าน การต้มน้ำใบกระท่อม ผู้ใหญ่บ้านไปจับต้มน้ำใบกระท่อม จะทำเป็นฉากเล่าเรื่องยาเสพติด แต่การแสดงความเห็นเชิงวิจารณ์การเมืองไม่ค่อยปรากฏ   มีชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวข้องที่สุดแบบตรงไปตรงมาที่สุด คือ เพลงซือเสาะชารีมาแกของวงมะนีเลาะ มีสมญานามว่าสามสาวเซ็กซี่ดังดุท ชื่อเพลงซือเสาะชารีมาแก แปลว่าทำมาหากินลำบาก โดยคำแปลของเนื้อเพลงคือ ปัจจุบันอยู่ด้วยความยากลำบาก ทำมาหากินยาก ดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วรู้สึกกังวลไม่สบายใจ มันเกิดอะไรขึ้นในสามจังหวัด อีกท่อนหนึ่งว่า มันง่ายเหลือเกินที่จะทำอะไรไม่ถูกสักอย่าง กลัวว่าจะไปทำอะไรให้คนอื่นโกรธ ไม่รู้พระเจ้าลงโทษด้วยเรื่องอะไร เกิดเหตุการณ์[ระเบิด]จะรู้สึกกลัว จะไปกรีดยางก็ไม่กล้า  เรื่องราวที่เกิดขึ้นเรากลายเป็นคนไม่รู้อะไร ไม่กล้าไปทำงาน

ข้อสังเกต
                 
ที่เล่ามาความทรงจำตั้งแต่ช่วงประวัติศาสตร์ที่แปลงเข้ากับตำนานการตั้งหมู่บ้าน ตำนานบรรพบุรุษ ช่วงที่เกิดขบวนการแยกดินแดน เกิดประสบการณ์ส่วนตัว ความทรงจำในครอบครัว จนปัจจุบัน แปลงเป็นเพลงที่ไม่มีบทวิพากษ์วิจารณ์การเมือง เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้มากนัก เพราะไม่เข้ากับโครงเรื่องหลักที่วางอยู่กับจุดยืนหรือจินตนาการทางการเมืองที่กลุ่มต่างๆ พยายามชู ไม่ว่าจะเป็นรัฐ ขบวนการหรือกลุ่มที่เรียกว่าภาคประชาสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ แม้ว่าจะมีจุดเรียกร้องที่ต่างกัน แต่ก็ยังเสนอรูปแบบรัฐหรือการจัดความสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองที่ไม่ต่างกันเลย คือมีลักษณะที่ค่อนข้างจะแข็งตัว เป็นรัฐเดี่ยวหรือเอกรัฐ คือถ้าขบวนการแบ่งแยกได้จริง ก็จะสร้างรัฐแบบนั้น ไม่ต่างกัน และด้วยรัฐลักษณะนี้ มันแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่นต่อความทรงจำเล็กๆ น้อยๆ  

อีกหนึ่งข้อสังเกต คือ การที่ความทรงจำผ่านสื่อวัฒนธรรมไม่มีลักษณะการเมือง ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีการตั้งข้อสังเกต ไม่ได้แปลว่าชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ไม่รู้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง แต่เพราะลักษณะเฉพาะของความเป็นการเมืองของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เขาต้องถอดเรื่องการเมืองออกไปจากสื่อวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นจึงเป็นผลกระทบจากการเมืองโดยตรงซึ่งเล่าไม่ได้  

เช่นนี้ ถ้าเกิดยึดโยงกับเรื่องอาเซียน อาเซียนจะมีความหมายอะไรกับคนเหล่านี้ กับอาเซียนซึ่งยังยึดโยงกันบนไทยที่ยังไม่แปรงสภาพของรัฐที่ยังเป็นเอกรัฐ รัฐที่ยังไม่รู้จักการใช้อำนาจอธิปไตยในพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษเช่นนี้ อำนาจอธิปไตยที่แยกย่อยยืดหยุ่นกว่านี้ซึ่งไม่ใช่เอกรัฐ เพราะฉะนั้นการเป็นอาเซียนจึงอาจจะไม่ใช่คำตอบถ้าเกิดรัฐไทย ไม่เปลี่ยนความคิดเรื่องรัฐของตัวเองเสียใหม่ โดยเฉพาะอย่ายิ่งในการตอบโจทย์กับคนเหล่านี้      

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net