Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“สังคมไทยควรก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ไปได้แล้ว… ที่สำคัญ พ.ต.ท.ทักษิณ ควรที่จะยุติบทบาท ที่อาจสร้างความสับสน และเป็นปัญหาต่อสังคมไทยด้วย…ผมก็เห็นใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะที่เป็นคนไทย แต่ไม่ได้กลับประเทศไทย ทั้งที่อยากกลับบ้าน แต่หากมองลึกๆ แล้ว ยังมีคนที่ลำบาก และน่าเห็นใจกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำนวนมาก เพราะได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถือว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ก็ควรเสียสละบ้าง เพื่อรักษาผลประโยชน์ภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งรุนแรงในสังคม ที่จะเป็นผลตามมาจากการเดินทางกลับ”  

โคทม อารียา ผุ้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล 
(
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail.politics.politics/20120413/446744/news...)

 

ตลอด 6 ปีมานี้ เรามักเห็น “นักสันติวิธี” ที่แสดงบทบาท “เป็นกลาง” แสดงความเห็นทำนองนี้เสมอ คือเสนอว่าให้ “ก้าวข้ามทักษิณได้แล้ว” แล้วก็เรียกร้องให้ทักษิณยุติบทบาทหรือ “เสียสละ” (ทั้งที่กลับบ้านไม่ได้มาแล้วกว่า 5 ปี) อะไรทำนองนี้ แต่ไม่เคยเรียกร้องกับฝ่ายทำรัฐประหาร (ซึ่ง “จับเสือมือเปล่า”) และสนับสนุนรัฐประหารเลยว่า พวกเขาควรรับผิดชอบในความผิดพลาดที่ผ่านมาอย่างไร ควรเสียสละอย่างไร ควรยุติบทบาทการใช้สถาบันกษัตริย์ปลุกกระแสความขัดแย้งแตกแยกอย่างไร

เช่นเดียวกับที่เราได้ยิน บวรศักดิ์ อุวรรโณ พูดถึง “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” เพื่อตั้งคำถามเฉพาะกับผู้ชนะที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ตั้งคำถามจากผู้ชนะที่มาจากรัฐประหารที่แต่งตั้ง คตส.ดำเนินคดีกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งว่า นั่นคือ “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” หรือไม่?

เหมือนกับแถลงการณ์เจตนารมณ์ของชมรม สสร.50 ที่ระบุว่า การแก้รัฐธรรม (โดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง) ที่กำลังเริ่มต้นกระบวนการในขณะนี้ “เป็นการกระทำที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกเลิก ล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550” ทำผิดขั้นตอน กระทบต่อความมั่นคง เป็นการละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในขณะที่คนเหล่านี้ไม่เคยแคร์กับการล้มล้างรัฐธรรมนูญของ คมช.ไม่ถือว่าการเข้ามาเป็น สสร.ร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐประหารเป็นการทำผิดขั้นตอนและละเมิดมาตรฐานทางจริยธรรมแต่อย่างใด

แน่นอนว่า “ท่วงทำนอง” ดังกล่าวดำเนินไปพร้อมๆ กับการตอกย้ำของพรรคประชาธิปัตย์ (พรรคการเมืองที่ยืนยันมาตลอดว่าตนเองไม่ใช่ “คู่ขัดแย้ง” ไม่เคยสร้าง “เงื่อนไขความขัดแย้ง” แต่ต้องการ “แก้ปัญหาความขัดแย้ง” เท่านั้น) ว่า ปัญหาทุกอย่างอยู่ที่ “ทักษิณคนเดียว” นปช.และคนเสื้อแดงไม่ได้สู้เพื่อประชาธิปไตย แต่สู้เพื่อทักษิณคนเดียว วันนี้ก็ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ต้องการปรองดองก็เพื่อทักษิณคนเดียวเท่านั้น

กระทั่งนายอภิสิทธิ์ออกมาท้าทายว่า ให้นิรโทษกรรมทุกฝ่ายหมดเลย ยกเว้นเขากับนายสุเทพ และทักษิณ แต่นายณัฐวุฒิยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการนิรโทษกรรมให้ทักษิณ แต่ต้องการให้การดำเนินคดีโดย คสต.ที่ตั้งโดยคณะรัฐประหารเป็นโมฆะแล้วเอาคดีต่างๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ เนื่องจากการดำเนินการของ คตส.ไม่ชอบด้วยหลักนิติรัฐ-นิติธรรมตามหลักสากล

และวันนี้ (15 เม.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณก็ให้สัมภาษณ์หลังทำบุญตักบาตรที่นครวัดนครธมว่า “ก้าวข้ามผมได้แล้ว ให้นึกถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ผมไม่ต้องการนิรโทษกรรม แต่เห็นว่า คสต.ที่มาจากรัฐประหารไม่ชอบธรรม ควรนำคดีต่างๆ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นสากล”

ฉะนั้น เมื่อไม่นิรโทษกรรมทักษิณก็หมายความว่า ต้องไม่นิรโทษกรรมอภิสิทธิ์ สุเทพ ทั้งทักษิณ และอภิสิทธิ์ สุเทพ ต้องพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการยุติธรรมปกติอย่างแฟร์ๆ กันทุกฝ่าย!

นี่คือหนทางการก้าวข้ามทักษิณที่ควรจะเป็น คือต้อง “ยึดหลักการ” เป็นตัวตั้ง เมื่อทุกฝ่ายต่างยืนยันว่ารัฐประหารผิด ก็ต้องยอมรับว่ากระบวนการเอาผิดโดยรัฐประหารย่อมผิดด้วย หนทางที่ถูกก็คือให้ผู้ถูกเอาผิดโดยรัฐประหารได้รับสิทธิพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการยุติธรรมปกติ เช่นเดียวกับคนที่ถูกกล่าวหาว่าสั่งฆ่าประชาชนก็ต้องพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการยุติธรรมปกติด้วยเช่นกัน

การเสนอให้ก้าวข้ามทักษิณโดยเรียกร้องให้ทักษิณเสียสละอยู่ฝ่ายเดียว หรือให้ทักษิณต้องรับผิดตามกระบวนการเอาผิดโดยรัฐประหารเท่านั้น ย่อมเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ในทางหลักการ ก็ในเมื่อเขาขอใช้สิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติซึ่งเป็นไปตามหลัก “ความเสมอภาคทางกฎหมาย” ฝ่ายที่ปฏิเสธสิทธินี้เอาแต่กล่าวหาว่าคนเสื้อแดงยึดติดตัวบุคคล “เห่อทักษิณ” ทำเพื่อทักษิณคนเดียวต่างหากเล่าที่เป็นฝ่ายที่ “ก้าวไม่ข้ามทักษิณ” เสียที

จะว่าไปแล้ว หากก้าวข้ามตัวบุคคลไปแล้ว “ยึดหลักการเป็นตัวตั้ง” จริงๆ ต้องทำให้สังคม “ก้าวข้ามความกลัว” ด้วย นั่นคือต้องนำคณะผู้ก่อรัฐประหารขึ้นศาลด้วย ต้องเปิดเผย “ความจริงเบื้องหลังรัฐประหาร” ให้สังคมทราบทั้งหมดด้วย

แต่รายงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าก็ระบุว่า “ไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดฝ่ายที่ทำรัฐประหาร” ด้วยข้ออ้างที่ว่าจะเกิดความขัดแย้ง นี่ขนาดรายงานวิจัยออกมาชัดๆ เลยว่าไม่ควรเอาผิดฝ่ายผู้ก่อรัฐประหาร แต่สำหรับทักษิณให้มีทางเลือกในการดำเนินการได้หลายทาง (ซึ่งหนึ่งในหลายทางเลือกนั้นคือให้ คตส.เป็นโมฆะและนำคดีทักษิณเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ) กระนั้นรายงานนี้ก็ยังถูกโจมตีว่าเป็นเครื่องช่วยทักษิณ แต่ไม่มีใครตั้งคำถามว่ารายงานนี้เป็นเครื่องมือช่วยฝ่ายทำรัฐประหารหรือไม่?

ถ้าบรรดานักวิชาการ นักสันติวิธี บรรดาผู้แสดงบทบาท “เป็นกลาง” ทั้งหลายมองปัญหาด้วยใจเป็นธรรมโดย “ยึดหลักการเป็นตัวตั้ง” อย่างแท้จริงแล้ว ทำไมกับทักษิณจะไม่ยอมให้เขาได้รับสิทธิเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามหลัก “ความเสมอภาคทางกฎหมาย” เลย กับฝ่ายรัฐประหารก็ไม่ให้เอาผิด และไม่เรียกร้องให้เปิดเผย “ความจริงเบื้องหลังรัฐประหาร” เลย

แล้วเอาแต่ออกมาเรียกร้องให้สังคมก้าวข้ามทักษิณ ให้ทักษิณเสียสละ หลักการหรือความยุติธรรมที่รองรับข้อเรียกร้องเช่นนี้คืออะไร เคยย้อนถามตัวเองบ้างไหมครับว่าข้อเรียกร้องของท่านเองมีเหตุผลรองรับหรือไม่อย่างไร

ยิ่งกว่านั้นบรรดานักวิชาการ นักสันติวิธี บรรดาผู้แสดงบทบาท “เป็นกลาง” ทั้งหลาย เคยตั้งคำถามอย่างจริงจังหรือไม่ว่า “สังคมจะก้าวข้ามความกลัว” ไปได้อย่างไร ในเมื่อเราต้องอยู่ในสภาพยอมจำนนว่ารื้อฟื้นเอาผิดฝ่ายทำรัฐประหารไม่ได้ แม้แต่เปิดเผยความจริงเบื้องหลังรัฐประหารก็ไม่ได้ หรือพูดถึงความจริงของปัญหารัฐประหารให้ครบถ้วนทุกแง่มุมก็ไม่ได้

ที่แย่กว่านั้นคือ การรณรงค์ใดๆ หรือการดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ไขกฎหมาย และ/หรือปฏิรูประบบอำนาจของบางสถาบันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารอย่างถาวร หรือเพื่อให้เป็น “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ก็ไม่สามารถจะทำได้ ที่พยายามทำๆ กันอยู่ก็ทำกันด้วยความกลัว และเสี่ยงอย่างยิ่ง ซ้ำยังมองไม่เห็นทางว่าจะประสบความสำเร็จทั้งที่ประชาชนจำนวนมากสนับสนุนก็ตาม

“ความกลัวที่ควรก้าวข้าม” นั้นน่ากลัวขนาดไหน ลองนึกถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปหยกๆ ก็แล้วกันว่า ถ้าสึนามิเกิดขึ้นจริงๆ โดยที่ทีวีรู้อยู่แล้วแต่ไม่เสนอข่าวแจ้งเตือนประชาชนโดยถือเป็นเรื่องเร่งด่วนสูงสุดเนื่องจากติดการถ่ายทอดสด “พิธีสำคัญ” ประชาชนจะล้มตายกันมากขนาดไหน แต่นี่โชคดีที่สึนามิไม่เกิด

ทว่าในความโชคดีนั้นก็สะท้อนให้เห็น “ความโชคร้าย” ของสังคมไทยที่จนป่านนี้ยังไม่สามารถจะเรียนรู้จาก “บทเรียน” สำคัญใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีปรีดีถูกใส่ร้าย เหตุการณ์สังหารนักศึกษาประชาชน 6 ตุลา จนถึงพฤษภา 53 เพื่อ “ก้าวข้ามความกลัว”

แล้วสังคมจะเดินต่ออย่างไร ทางก้าวข้ามทักษิณมีอยู่แล้วคือต้อง “ยึดหลักการเป็นตัวตั้ง” ให้เขากลับบ้านและได้รับสิทธิพิสูจน์ตนเองตามกระบวนการยุติธรรมปกติ แต่ทางก้าวข้ามความกลัวล่ะคืออะไร?

ภายใต้เมฆหมอกแห่งความกลัวที่แผ่ปกคลุมไปทั่ว แม้แต่การเดินทางกลับบ้านของทักษิณจะปลอดภัยหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะตอบกันได้ง่ายๆ!

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net