Skip to main content
sharethis

ในการอภิปรายหัวข้อ บาดแผลของความรุนแรงกับการแปลงความทรงจำ ในการประชุมทางวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 "อาเซียน: ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง" ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) เมื่อวันที่ 28 มี.ค.55

อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายในหัวข้อ "ตูม ยะลาก็ตูม นราก็ตูม ตานีก็ตูม" โดยเล่าถึงความทรงจำของชาวมลายูมุสลิมกลุ่มหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แปลงเข้ากับตำนานการตั้งหมู่บ้าน ตำนานบรรพบุรุษ ช่วงการเกิดขบวนการแยกดินแดน ประสบการณ์ส่วนตัว ความทรงจำในครอบครัว และบทเพลง อันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้ากับโครงเรื่องหลักที่วางอยู่กับจุดยืนหรือจินตนาการทางการเมืองที่กลุ่มต่างๆ ไม่ว่า รัฐ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือภาคประชาสังคม พยายามจะชู (อ่านที่นี่)

ด้าน พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อภิปรายในหัวข้อ "แปลงความทรงจำบาดแผลให้เป็นพลัง: ไม่มีบทเรียนนี้ในอุษาคเนย์" โดยเล่าถึงการจัดการกับบาดแผลความรุนแรงหลังเหตุการณ์ ปี 1965-1966 ในอินโดนีเซีย ที่มีการปราบปรามผู้ที่เชื่อว่าเป็นคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง เปรียบเทียบกับการต่อสู้เรียกร้องของกลุ่มแม่ๆ ในอาร์เจนตินาหลังจากรัฐบาลเผด็จการทหารอุ้มฆ่าแกนนำคนหนุ่มสาวจำนวนมาก นำไปสู่บทสรุป—ไม่มีบทเรียนการแปลงความทรงจำบาดแผลให้เป็นพลัง ในอุษาคเนย์

“ประชาไท” ถอดความมานำเสนอ โดยในส่วนนี้จะนำเสนอช่วงของ พวงทอง ภวัครพันธุ์ และช่วงแลกเปลี่ยน

พวงทอง ภวัครพันธุ์
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อนึกถึงความรุนแรงของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ แล้วสามารถทำให้ความทรงจำบาดแผลหรือประสบการณ์บาดแผลที่เกิดจากความรุนแรงของรัฐเป็นพลังได้ มักนึกถึงกรณีอาร์เจนติน่า ในปี 1976-1982 เมื่ออยู่ใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งเรื่องนี้เมื่ออ่านทีไรก็เกิดแรงบันดาลใจ ว่านี่เป็นพลังในการต่อสู้ของเหยื่อที่จะเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตัวเองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในเอเชียโดยรวม

เหตุการณ์ Dirty War ในอาร์เจนตินา ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร มีการอุ้มฆ่าคนจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนุ่มสาว ด้วยความโหดเหี้ยม พ่อแม่บอกว่าเป็น They are the best of their generation ที่สังคมสูญเสียไป ประมาณ30,000คน บางคนถูกขนขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ถูกถอดเสื้อผ้าทิ้งหมด แล้วโยนทิ้งลงทะเลทั้งที่ยังไม่ตาย หลังจากนั้นศพก็ลอยไปติดชายฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน

การรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมาต่อสู้ เพื่อเรียกร้องสิทธิ ความยุติธรรมให้กับตัวเอง ให้กับเหยื่อที่ตาย ทั้งนี้ ในเวลาที่พูดถึงเหยื่อนั้นไม่ใช่แค่คนที่ตายหรือคนที่ถูกทรมาน แต่รวมถึงครอบครัวของพวกเขา คนที่ต้องสูญเสียคนรักไปด้วย การเรียกร้องนี้ กลุ่มที่มีความสำคัญมาก คือกลุ่มแม่ของเหยื่อสามหมื่นกว่าคนที่หายไป ทุกวันพฤหัสบดี บ่ายสามโมง หลังจากทำงานบ้านเสร็จแล้ว แม่ๆ เหล่านี้จะรวมตัวกันที่จัตุรัสมาโยหรือ Plaza de Mayo อยู่ใจกลางเมืองอันเป็นที่ที่ผู้คนจะมาขายของและมีทำเนียบรัฐบาลตั้งอยู่ด้วย จะมีการเดินขบวนและใช้สัญลักษณ์เป็นผ้าเช็ดหน้าสีขาว ด้านหลังจะปักชื่อว่า Mothers of the Plaza de Mayo การต่อสู้ของพวกเขาเหล่านี้กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก นักข่าวต่างชาติให้ความสนใจ คนอาร์เจนตินาที่พอรู้เรื่องการอุ้มฆ่าอยู่บ้างก็ให้ความสนใจมากขึ้น นี่เป็นพลังสำคัญที่วางอยู่บนพลังของความรักของความทรงจำที่ให้กับคนรักที่หายสาบสูญไป ทำให้พวกเขาไม่ย่อท้อที่จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูก ตัวเองและครอบครัว ข้อสำคัญคือ การต่อสู้นี้เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลเผด็จการทหารอาร์เจนตินายังเรืองอำนาจ การอุ้มฆ่าเกิดขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีแรกแต่ระบอบทหารยังมีชีวิตอยู่มาได้อีกประมาณ 12 ปี แต่พวกเขาก็สู้ ทั้งๆ ที่ภัยคุกคามเห็นอยู่ชัดเจน แม่บางคนถูกอุ้มไปด้วยและเสียชีวิตด้วย เพราะทหารต้องการสร้างความกลัวให้แม่เหล่านี้ยุติการเรียกร้องร้อง แต่คนที่เหลือก็ยังยืนยันที่จะสู้ต่อไป

ในที่สุดการต่อสู้ของพวกเขาก็ทำให้ผู้นำทหารนายพล 9 คนถูกตัดสิน บางส่วนถูกจำคุกตลอดชีวิต บางส่วนถูกจำคุกหลายปี ทั้งๆ ที่ทหารเหล่านี้ได้รับการนิรโทษกรรมถึงสองครั้ง แต่พวกเขาก็สามารถทำให้กฎหมายนิรโทษกรรมเหล่านี้ถูกยกเลิกไปได้ และก็ยังมีอีกหลายรายอยู่ระหว่างดำเนินคดี แล้วยังทำให้มีการตรวจสอบทหาร ระบบกองทัพ ความยุติธรรม ข้อมูลที่ถูกเปิดเผยออกมาเหล่านี้ยังส่งผลให้สังคมอาร์เจนตินาสามารถตรวจสอบ ควบคุมกองทัพได้รอบด้าน ทั้งการตัดงบทหาร ลดจำนวนนายพล ดูการเรียนการสอน ตำราเรียนของทหาร เพื่อไม่ให้กองทัพกลายเป็นเครื่องมือในการทำรัฐประหารเข่นฆ่าประชาชนได้อีก

รายงานNunca Mas หรือในภาษาอังกฤษ never again หมายถึง “พอแล้ว ไม่เอาอีกแล้ว” รายงานชิ้นนี้เป็นผลของคณะกรรมการการค้นหาความจริงเกี่ยวกับผู้หายสาบสูญในอาร์เจนตินา เป็นต้นแบบสำคัญที่รัฐบาลอื่นๆ ในหลายประเทศทั่วโลกเอามาใช้เป็นต้นแบบเรียนรู้การค้นหาความจริง ข้อมูลเหล่านี้ถูกใช้ในการดำเนินคดีกับทหารในปัจจุบันด้วย โดยมีการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคนตายและให้ข้อมูลอย่างละเอียดยิบ เพราะในระหว่างที่เกิดเหตุมีคนเห็นเหตุการณ์ เพื่อนบ้านเห็นเด็กหนุ่มถูกลากออกไปจากบ้านกลางดึก เมื่อเข้าไปดูในบ้านแล้วค้นพบหลักฐานของการใช้ความรุนแรงภายในบ้าน

สำหรับคนที่ตกเป็นเหยื่อ การเปิดเผยความจริง ว่าใครเป็นคนกระทำ ใครสั่ง ใครบ้างที่อยู่เบื้องหลัง คนที่ตายไปอย่างไร ถูกทรมานอย่างไร มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแปลงความเจ็บปวดเป็นพลังในการต่อสู้ และฟื้นฟูศักดิ์ศรีของคนที่เป็นเหยื่อ ที่ถูกย่ำยี เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่ความยุติธรรมด้วย

ในหลายสังคมที่ผ่านความรุนแรงทั้งอาร์เจนตินา บราซิล แอฟริกาใต้ ผู้ตกเป็นเหยื่อมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับตัวเอง ซึ่งมีความสำคัญกว่าการที่ความยุติธรรมเกิดขึ้นจากพลังภายนอก กรณีกัมพูชา กระบวนการไต่สวนผู้นำกัมพูชาจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการกดดันจากภายนอก การต่อสู้ด้วยตัวเองมีผลทำให้เปลี่ยนสถานะเหยื่อกลายเป็นผู้กระทำ เป็นการปฏิเสธฐานะความเป็นเหยื่อ เปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเอง การต่อสู้ให้เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นและผลกระทบของความยุติธรรมได้ปรากฏต่อสังคมในวงกว้าง เป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้สังคมได้เรียนรู้ และหาทางป้องกันไม่ให้ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้นได้อีก ดังเช่นที่เกิดขึ้นในอาร์เจนตินา ส่งผลให้สังคมอาร์เจนตินาตระหนักและยอมรับว่าสังคมตนเองนั้นไม่ได้สวยงามอย่างที่เคยคิด ไม่ได้เงียบสงบอย่างที่เข้าใจ ทำให้คนจำนวนมากที่รู้เห็นเหตุการณ์แล้วเงียบ หรือปฏิเสธว่าไม่มี ต้องจัดการกับสิ่งเหล่านี้ในตัวเองด้วย ซึ่งจะสรุปบทเรียนไม่ได้ ถ้าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ตาม กรณีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใช้คำว่า “ไม่มีบทเรียนในอุษาคเนย์” ก็บอกได้ชัดเจนว่าคิดอย่างไร ในระดับปัจเจกชน เราอาจจะเห็นคนที่เคยเป็นเหยื่อลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมของตัวเอง เช่น คุณอังคณา นีละไพจิตร ซึ่งที่สุดก็เปลี่ยนตัวเองจากผู้หญิงธรรมดามาเป็นนักต่อสู้ทางสังคมและต่อสู้ให้กับคนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐ แต่การต่อสู้นี้ก็ยังไม่สามารถทำให้ความทรงจำของตัวเองเกลายเป็นประวัติศาสตร์หรือความเข้าใจกระแสหลักได้ จนถึงไม่สามารถกระทั่งเรียกร้องความยุติธรรมให้กับครอบครัวของเธอได้ ไม่ต้องพูดถึงว่าจะสามารถท้าทายอำนาจรัฐ

ในกรณีอินโดนีเซีย เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 1965-1966 เกิดขึ้นในช่วงพีคของสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เหตุการณ์เริ่มจากนายพล 6 คนถูกสังหารโหด ศพถูกโยนทิ้งลงบ่อ ฝ่ายทหารที่นำโดยซูฮาร์โตบอกว่าเป็นฝีมือของคอมมิวนิสต์ที่ต้องการจะทำรัฐประหารยึดอำนาจ แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครยืนยันได้แน่ว่าเหตุการณ์นี้คืออะไร นักวิชาการบางคนบอกว่าเป็นแผนของทหารที่จะยึดอำนาจ แต่หลังจากการสังหารนายพล6คนนี้แล้วก็นำไปสู่การล่าสังหาร จับกุมคอมมิวนิสต์กันอย่างกว้างขวาง นำไปสู่การปูทางสู่อำนาจของซูฮาร์โตในปี 1966อย่างเป็นทางการ

ความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วอินโดนีเซีย แต่พื้นที่ที่รุนแรงมากที่สุดคือชวาส่วนกลาง ชวาตะวันออก บาหลีและทางเหนือของสุมาตรา มีการประเมินตัวเลขการตายไว้หลายตัว แต่ที่มีการอ้างถึงบ่อยๆ คือประมาณ5 แสนถึง 1 ล้านคน อ.เบน แอนเดอร์สันก็ใช้ตัวเลขนี้ ไม่นับคนที่ถูกจับอีกประมาณ2ล้านคน ซึ่งส่วนมากเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลหรือในชนบทแต่ไม่ค่อยมีภาพเท่าไรนัก เพราะในขณะนั้นสื่อตะวันตกในอินโดนีเซียก็มีไม่มากนัก หลังการสังหารหมู่ การจับกุมคุมขังยังดำเนินต่อเนื่องอีกเป็นสิบปี บางคนโดนมากที่สุดถึง 33ปีหลังซูฮาร์โตลงจากอำนาจถึงได้รับอิสรภาพ การจับกุมนี้มีจำนวนมากที่ไม่มีการไต่สวนดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม คนที่ถูกจับกุมที่มีชื่อเสียง เช่น ปราโมทยา อนันตา ตูร์ นักเขียน มีนักการเมือง ชาวนา มีทั้งคนที่เป็นคริสเตียน มุสลิม เป็นฮินดู หลายคนเสียชีวิตขณะจับกุมคุมขัง

ประการสำคัญคือ การตายเยอะขนาดนี้ไม่ใช่ฝีมือรัฐอย่างเดียว แต่เรียกว่าเป็นการล่าแม่มดได้ เพราะชาวบ้านเข้ามีส่วนร่วมในความรุนแรงอย่างชัดเจน กลุ่มที่เข้ามามีส่วนร่วมมากเป็นส่วนใหญ่คือกลุ่มมุสลิมที่เคร่งคัมภีร์ ปากคำของเหยื่อคนหนึ่งบอกว่าสิ่งที่รู้สึกว่ามันชั่วร้ายมากที่สุดคือคนที่เริ่มต้นใช้ความรุนแรงเป็นเพื่อนบ้านของตัวเอง หรือบางที่ก็เป็นญาติตัวเองด้วยซ้ำไปที่ร่วมกระทำ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างมหาศาลนี้โทษอำนาจรัฐอย่างเดียวไม่ได้ ชาวบ้านช่วยกันชี้ ชาวบ้าน คนในชุมชนรู้ว่าใครเป็นใคร ใครเป็นผู้นับถือศาสนาอะไร มีญาติอยู่ที่ไหนอย่างไร ซึ่งอันนี้ก็เป็นลักษณะร่วมของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในหลายพื้นที่ที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการสังหารคนในชุมชนด้วยกันเอง สำหรับคนที่ถูกจับกุม เมื่อถูกปล่อยออกมาแล้วก็ยังได้รับผลกระทบต่อ ทรัพย์สินถูกยึด ไม่สามารถกลับไปทำงานเดิมได้ ไม่มีบัตรประชาชน บางคนไม่มีบัตรประชาชนเลยจนกระทั่งหลังจากซูฮาร์โตลงจากอำนาจ โดยเฉพาะถ้าเป็นข้าราชการครูไม่มีสิทธิที่จะกลับเข้าไปทำงานในระบบราชการเลย ครอบครัวถูกกันออกจากชุมชน จากเครือญาติด้วยกันเองเพราะกลัวว่าตัวเองจะถูกกล่าวหาว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์

หลังซูฮาร์โตล่มสลายไป มีการพยายามที่จะรื้อฟื้นความทรงจำคนเหล่านี้ขึ้นมา มีการไปสัมภาษณ์ ลูกหลานบางคนเพิ่งรู้ว่าทำไมญาติบางคนไม่ได้รับเชิญร่วมงานบุญต่างๆ พวกเขาต้องไปรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกเดือน แปลว่าจะออกจากพื้นที่ไม่ได้ เพราะอำนาจรัฐอินโดนีเซียไม่ต้องการให้คนในสังคมลืมเหตุการณ์เหล่านั้น ต้องการตอกย้ำความเป็นภัยคอมมิวนิสต์ของพวกเขา ตอกย้ำว่ารัฐยังเฝ้าติดตามอยู่และไม่ไว้ใจ และพร้อมจะลงโทษ

การกระทำของรัฐอินโดนีเซียแบบนี้ ถ้าคิดแบบคอมมอนเซนส์ของคนที่เป็นเหยื่อ ถ้าไม่สามารถทำให้สังคมรับรู้ความเจ็บปวด หรือจดจำได้ ก็ควรลืมเสีย แต่กรณีเหยื่อความรุนแรงในอินโดนีเซีย รัฐไม่ยอมกระทั่งให้ลืม แต่ต้องการให้ฝังลึกอยู่ในความทรงจำของเหยื่อ ซึ่งเป็นความโหดร้ายมาก

ด้านหนึ่ง ซูฮาร์โตเองก็หากินกับภัยคอมมิวนิสต์มาตลอดช่วงอายุขัยของตัวเอง 32ปีที่อยู่ในอำนาจ แม้ว่าจริงๆ คอมมิวนิสต์ถูกปราบอย่าสิ้นซากแล้วตั้งแต่ปี 1966 ในสงครามล่าแม่มดนี้ แต่ก็ยังใช้โฆษณาชวนเชื่อนี้เป็นข้ออ้างตลอดเวลา ซึ่งได้ผลดี ฉะนั้นเรื่องคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อตลอด30ปีในยุคซูฮาร์โตไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้เลย เพราะแค่จะเล่าเรื่องให้คนรู้จักฟังยังไม่กล้า นักวิชาการหลายคนในอินโดนีเซีย บอกว่าเข้ามาในอินโดนีเซีย 2-3 ทศวรรษ บ่อยครั้งที่ต้องการจะถามเรื่องนี้ แต่ชาวบ้านรวมถึงเหยื่อเองก็บอกว่าอย่าถาม อย่าพูดเรื่องนี้ แต่เรื่องนี้ก็เริ่มมีการพูดกันมากขึ้นหลังซูฮาร์โตลงจากอำนาจ

ในทางกลับกัน รัฐผลิตความทรงจำประวัติศาสตร์ในเวอร์ชั่นของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ตลอด เด็กนักเรียนในโรงเรียนต้องดูหนังเกี่ยวกับการปราบคอมมิวนิสต์ ในปี 1965-1966 ปีละหน มีการออกอากาศทางโทรทัศน์ทุกปี โดยเฉพาะในวันที่ 30 ก.ย.ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการปราบคอมมิวนิสต์ รัฐเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นการต่อสู้ของผู้รักชาติ อธิบายว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีลักษณะไปเอง รัฐไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่เกิดขึ้นจากความโกรธแค้นที่มีคุณธรรมของประชาชนอินโดนีเซียที่ไม่สามารถยอมรับคอมมิวนิสต์ได้ รัฐสร้างนิยามเกี่ยวกับการสังหารโหดขึ้นมา หนังสือพิมพ์ของทางการตีพิมพ์เรื่องราวความวิปริตของเหยื่อ เช่น ชอบมีเซ็กส์หมู่ ชอบเต้นระบำเปลือยกาย ทำลายศพ ซึ่งหมายความว่าเกือบ4 ทศวรรษหลังจากการตามล่าคอมมิวนิสต์ หลังจากที่ถูกทำให้เป็นเหยื่อ เหยื่อจำนวนมากยังถูกทำให้เป็นเหยื่ออย่างต่อเนื่องมาอีกกว่า 4ทศวรรษ เพราะพวกเขาถูกทำให้เป็นปีศาจ เป็นผู้ก่อความรุนแรง ขณะที่ผู้กระทำกลายเป็นวีรบุรุษของชาติ ฉะนั้น เหยื่อเองก็อยู่ในภาวะของความเงียบ นี่คือวัฒนธรรมแห่งความสะพรึงกลัวที่ซูฮาร์โตสร้างขึ้นมาปกครองอินโดนีเซียและได้สร้างวัฒนธรรมแห่งความกลัวขึ้นมาปกครองประชาชน

หลังระบอบซูฮาร์โตล่มสลาย ก็มีการสัมภาษณ์เหยื่อมากขึ้น หลายรายเต็มไปด้วยความโกรธแค้น เวลาให้สัมภาษณ์ บางคนบอกเลยว่า ฉันต้องการที่จะฆ่าพวกมัน ที่มันทำกับครอบครัวของฉันแบบนี้ ต้องการทรมานแบบเดียวกับที่มันทำกับครอบครัวฉัน เสียงของพวกเขาเต็มไปด้วยความแค้น แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า4ทศวรรษแล้วก็ตาม

มีความพยายามรื้อฟื้นความทรงจำบาดแผลเหล่านั้น หลังซูฮาร์โต รัฐสภามีการตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงและสมานฉันท์ขึ้นมาเพื่อจะค้นหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ในที่สุดศาลสูงอินโดนีเซียก็ตัดสินให้ยกเลิกคณะกรรมการฯ มีการผลิตตำราเรียนซึ่
งเอ่ยถึงเหตุการณ์นี้สั้นๆ ในปี 2004 แต่สองปีจากนั้น อัยการของรัฐให้ยุติการเผยแพร่และเผาหนังสือ มีกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการพยายามจะรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ความรุนแรงเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นอดีตนายทหาร สมาชิกพรรครัฐบาลของซูฮาร์โตซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่มีอิทธิพลในปัจจุบัน รวมถึงพวกผู้นำอิสลามบางกลุ่มซึ่งมีลักษณะที่เคร่งคัมภีร์อยู่

อีกตัวอย่างหนึ่งการพยายามคัดค้านการรื้อฟื้น ครั้งหนึ่งที่เมืองยอกจากาตาร์ ชาวบ้าน ครอบครัวของคนเสียชีวิต รู้ว่ามี mass grave ใกล้หมู่บ้านซึ่งมีศพฝังอยู่ประมาณ20กว่าศพ แต่ตลอด30 กว่าปี ไม่มีใครกล้าขุด แต่ตอนที่เกิดเหตุการณ์มีคนรู้ว่ามีการกวาดต้อนคนมาฝังไว้ที่นี่ หลัง 2002 เขาต้องการขุดศพเหล่านั้นขึ้นมาเพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนาให้ถูกต้อง เพราะศพเหล่านี้ หลายคนเป็นมุสลิม ตอนนั้นไม่มีการทำพีศพ จึงถือว่าเป็นการให้เกียรติ เมื่อขุดศพขึ้นมาแล้วมีการแห่กระดูกไปฝังในสุสานที่เตรียมไว้ ระหว่างทางที่แห่ศพมีคนเข้าทำลายขบวน ทำให้กระดูกกระจัดกระจายบนท้องถนน โดยบอกว่าห้ามเอากระดูกของคอมมิวนิสต์เข้ามาฝังในสุสานของคนมุสลิม

อย่างไรก็ตามเมื่อระบอบประชาธิปไตยของอินโดนีเซียเริ่มมีเสรีภาพมากขึ้น นักวิชาการตะวันตกเริ่มเขียน กลุ่มสิทธิมนุษยชนในประเทศเริ่มให้ความสนใจเรื่องพวกนี้ เริ่มมีงานเขียนต่างๆ ออกมามากยิ่งขึ้น มีการสัมภาษณ์เหยื่อมากยิ่งขึ้น คนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มให้ความสนใจการสังหารหมู่ในปี 1965 เริ่มตระหนักว่าประวัติศาสตร์ฉบับทางการมีปัญหามาก ส่งผลให้กลุ่มอิสลามบางกลุ่มที่เคยมีส่วนร่วมในการตามล่าคอมมิวนิสต์ในปี 1965 ผู้นำกลุ่มมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดซึ่งมีสมาชิกกว่าสามสิบล้านคนทั่วอินโดนีเซียออกมากล่าวขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามยังไม่มีการคืนความยุติธรรมทางกฎหมายให้กับเหยื่อ นักการเมืองแต่ละรุ่นที่เข้ามาต่างสัญญาว่าจะรื้อฟื้น แต่เอาจริงๆ ก็ไม่มีใครกล้าผลักดันกฎหมาย อย่างมากที่สุดสำหรับเหตุการณ์นี้ในอินโดนีเซียจะคล้ายกับกรณีหกตุลาของไทย ที่เริ่มมีการพูดถึงเมื่อครบรอบยี่สิบปี มีการจัดงานใหญ่ โดยที่ผ่านมา ทุกปี มีงานเล็กๆ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ก็ไม่เคยมีปัญหารัฐคุกคามไม่ให้มีการจัดงานรำลึก เหตุการณ์รุนแรงในอินโดนีเซียถ้าจะขยาย ก็ขยายในพื้นที่ที่จำกัด และเชื่อว่าจะไม่สามารถเอาคนผิดมาลงโทษได้

การปรองดองในระดับชุมชนเกิดขึ้นบ้าง ในลักษณะอ้อมมากๆ ไม่ตรงไปตรงมา เพราะคนในชุมชนเห็นหน้ากัน การขอโทษเป็นเรื่องยากกว่าการเป็นผู้นำศาสนาซึ่งอาจจะนั่งอยู่ที่จากาตาร์ ซึ่งไม่ต้องเกี่ยวข้องกับชุมชน ขอโทษได้ง่ายกว่า แต่คนในชุมชนก็อาจจะใช้สัญลักษณ์เพื่อแสดงความยอมรับ เช่น อนุญาตอดีตนักโทษการเมืองร่วมงานบางอย่างของหมู่บ้านได้ แสดงว่ามุสลิมที่เคยต่อต้านเหล่านี้ยอมรับสถานะที่เท่าเทียมกันของเหยื่อ ที่สำคัญ นี่เป็นลักษณะ practicalในเอเชีย ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากรู้สึกว่าถ้ามีเรื่องเช่นนี้มากๆ จะทำให้เกิดความไม่มั่นคง สังคมอินโดนีเซียมีเรื่องอีกเยอะที่จะต้องแก้ไขปัญหาเสถียรภาพการเมืองเป็นสิ่งที่สำคัญ

ในแง่นี้เราเรียนรู้อะไรบ้าง ความทรงจำบาดแผลที่ถูกกดไว้เป็นความอ่อนแอของสังคมซึ่งไม่สามารถที่จะท้าทายอำนาจรัฐได้เลย ระบอบซูฮาร์โตสามารถที่จะดำรงอยู่ได้โดยไม่ต้องเจอกับการท้าทายของเหตุความรุนแรงเหล่านี้ ความเงียบต่อความทรงจำบาดแผลไม่สามารถเยียวยาบาดแผลของความรุนแรงได้เลย ต่อให้เวลาเนิ่นนานเท่าไรก็ตาม

กรณีอินโดนีเซีย ไม่เพียงแต่ไม่ให้ลืม แต่ไปตอกย้ำความเจ็บปวดตลอดเวลา ด้วยประวัติศาสตร์ฉบับราชการ ที่ทำให้พวกเขาเป็นปีศาจต่อเนื่องเกือบ40ปี สังคมโดยรวมอยู่ในภาวะที่ความทรงจำเลอะเลือน จำเรื่องราวกลับหัวกลับหาง ความทรงจำแบบราชการนี้ยังส่งผลให้เหยื่อต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้ความกลัวอย่างต่อเนื่อง ถูกดูถูกเหยียดหยาม ถูกจับตามอง เพราะฉะนั้น ความเป็นเหยื่อของอดีตคอมมิวนิสต์ ซึ่งคนจำนวนมากก็ไม่ได้เป็น คนจำนวนมากก็เป็นคนธรรมดาซึ่งถูกสงสัยในยุคของการปราบปรามคอมมิวนิสต์ เป็นลักษณะของการปูพรมเต็มไปหมด นอกจากนี้ คนในสังคมนอกจากร่วมมือในการตามล่าแม่มด ยังเป็นโซเชียลแซงชั่นต่อเนื่องไปอีกในสี่สิบปีให้หลังเช่นกรณีต่อต้านการขุดกระดูก สมาชิกในสังคมทำหน้าที่เป็นกลไกของรัฐอย่างต่อเนื่อง หมายความว่าระบอบประชาธิปไตยในอินโดไม่มีทางที่จะเข้มแข็งขึ้นได้

ถามว่าเรียนรู้อะไรอีกบ้างในกรณีนี้ ก็ทำให้เข้าใจลักษณะร่วมบางอย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การใช้ความรุนแรงของรัฐกับประชาชน การไม่ยอมรับอดีตแม้ว่าจะผ่านไปเนิ่นนานแล้วก็ตาม ปล่อยให้อดีตหลอนทั้งเหยื่อและรวมถึงผู้กระทำบางคนที่เกี่ยวข้อง ถ้ายังมีจิตสำนึกหลงเหลืออยู่บ้าง ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักจะอึดอัดกับหลักการตะวันตกเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องประชาธิปไตย เรื่องความโปร่งใส การตรวจสอบ เพราะรู้ว่ามันมีโครงกระดูกที่ซ่อนอยู่เต็มไปหมด มันเป็นวัฒนธรรมของการไม่ต้องรับผิด ผู้กระทำผิดสามารถลอยนวลต่อไปได้ ถ้าจะพูดถึงอัตลักษณ์ร่วมบางอย่างของอาเซียน เราต้องยอมรับว่านี่คืออัตลักษณ์หนึ่งของรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ความมั่นคงของรัฐสำคัญกว่าความมั่นคงของประชาชน

 

ช่วงแลกเปลี่ยน

ประจักษ์ ก้องกีรติ
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่สุดแล้ว อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้รัฐในเอเชีย หรือสังคมในอาเซียนมีลักษณะร่วมเช่นนี้ เพราะเมื่อลองดู น่าสนใจที่ว่าเมื่อดูตัวอย่างประเทศอื่นๆ อาร์เจนตินา ที่เกิดความรุนแรงโดยรัฐในช่วงใกล้เคียงกัน คือทศวรรษ1960-1970 หรือรวันดาซึ่งใกล้กว่าในช่วง1990 ปรากฏว่ากระบวนการสร้างความยุติธรรมหรือเขียนประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างยอมรับความทรงจำของเหยื่อกลับมามากกว่าและก้าวหน้ากว่า ล่าสุดมีการตั้งกลุ่มศึกษาเรื่องความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน ในสังคมเอเชียอาคเนย์ พยายามจะเอาคนที่ทำเรื่องไทย อินโดนีเซีย และประเทศอื่นๆ มาศึกษาประเด็นนี้แล้วค้นพบข้อสรุปคล้ายๆ กับที่ อ.พวงทองเสนอว่า สังคมเอเชียอาคเนย์ให้ความสำคัญกับความยุติธรรมต่ำมาก เกือบจะไม่มีประเทศไหนทำสำเร็จที่เอาผู้นำมาลงโทษพิจารณาคดีได้เลย ยกเว้นกัมพูชา ที่มีศาลอยู่ตอนนี้ เป็นกรณีเฉพาะมาก เป็นศาลแบบลูกผสม ที่มีบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซงเยอะ แต่ไม่ได้มีการริเริ่มจากในประเทศเลย นำมาสู่ข้อสรุปหรือม็อตโต้ใหม่จับใจมาก ว่าอาเซียนเป็นสวรรค์ของนักเผด็จการทั่วโลก คือใครทำผิดอะไรแล้วมาฝังตัวอยู่ที่ได้ เป็นแหล่งทดลองการเขียนประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนอย่างน่าสนใจ หาที่อื่นได้ยาก จึงถามว่าอะไรที่ทำให้เราเผชิญกับสภาวะแบบนี้ คือไม่มีประวัติศาสตร์ และไม่มีความยุติธรรมที่เกี่ยวกับความรุนแรง

พวงทอง ภวัครพันธุ์
ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดิน ก็ต้องบอกว่าสังคมอาเซียนเป็นพวก practical เน้นการปฏิบัติ ประโยชน์นิยม มองไปข้างหน้า ผ่านไปแล้ว อย่าไปรื้อเพราะจะทำให้เดินไปข้างไม่ได้ ลำบากกันมาแล้ว ความลำบากนี้ลืมไปซะ ถ้ายังไม่ยอมเลิกถึงเรื่องอดีต อนาคตจะลำบากต่อไปอีก นี่เป็นสิ่งที่เจอในหลายๆ ประเทศ

ในกัมพูชา ที่ความตายเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ก่อนตั้งศาลระหว่างประเทศ คนกัมพูชาจำนวนไม่น้อยบอกว่าเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า เพราะการตั้งศาลใช้เงินก้อนแรกไปถึง3ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ กัมพูชาขณะนั้นเป็นประเทศยากจน จึงคิดว่าเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า แต่เมื่อเกิดแล้วคนที่เป็นเหยื่อก็พอใจกับความยุติธรรมที่จะเห็นผู้นำเขมรแดงถูกลงโทษ

ในกรณีของลาตินอเมริกา อันหนึ่งที่รู้สึกว่ามีพลังบางอย่าง ซึ่งเวลาที่อ่านเรื่องพวกนี้แล้วรู้สึกไม่เห็นพลังเหล่านี้ในสังคมแบบเอเชีย กลุ่มแม่เหล่านี้ มีความหัวชนฝาที่จะไม่ยอม แม้ว่าบางคนจะถูกอุ้มไป มีการต่อสู้อย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 1976 ที่ลูกเริ่มหาย ก็รวมตัว เพิ่มมากขึ้นมาเรื่อยๆ จนระบอบทหารถูกดำเนินคดีแล้ว ก็ยังไม่พอใจแค่ระดับผู้นำ ต้องเอาระดับกลางที่เกี่ยวข้องเท่าที่จะหาได้มากที่สุดมาด้วย ปัจจุบันก็ยังรวมกันอยู่ เพื่อที่จะต่อสู้ ผลักดันสิ่งเหล่านี้

ด้านหนึ่ง สิ่งที่รู้สึกว่าหายไปจากสังคมแบบเอเชีย ก็คือเหยื่อโดดเดี่ยวในทุกกรณี มีแต่เหยื่อที่รู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่สังคมโดยรวมไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเข้าไปช่วย เข้าไปทำหน้าที่ปกป้อง ในการที่จะทำให้เดินหน้าไปได้

ธงชัย วินิจจะกูล
อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน
อยากจะลองตอบคำถามประจักษ์ แต่คำตอบที่เสนอ มีจุดอ่อนคือเราจะไม่มีทางหลุดพ้นภาวะนี้ ในสังคมโลก ถ้าแบ่งเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ในความเป็นจริงมันมีหลายประเภทกว่านั้นเยอะ อย่างหนึ่งคือสังคมที่เรียกว่าเป็นorganic society หรือสังคมที่ต้องไปด้วยกัน การแตกของแต่ละส่วนออกมาจะทำให้สังคมไปไม่ค่อยรอด แถมในสังคมแบบนี้จะมีลักษณะเชื่ออำนาจ power เป็นสิ่งที่มีค่า absolute power ยิ่งมีค่าสูงสุด ตรงข้ามกับสิ่งที่เราเคยได้ยินอยู่ สังคมแบบนี้ มีลักษณะที่พ่วงมาคือให้ความสำคัญกับปัจเจกชนต่ำกว่า ทำให้เกิดสิทธิเสรีภาพที่ต่ำกว่า สิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนอย่างไรก็ยังอยู่บนหลักของปัจเจกชน เทียบกับสังคมอีกชนิดหนึ่ง สังคมเคลื่อนด้วยการที่คนมีผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน เป็นสังคมที่มีความริษยา ไม่ยอมให้ใครได้เปรียบกว่ากัน สังคมก็โต เพราะยืนอยู่บนข้อที่ว่าทุกคนสามารถแข่งขันต่อสู้อยู่ภายใต้กรอบกฎเกณฑ์อย่างมีความยุติธรรม สังคมชนิดนี้อนุญาตให้แต่ละคนเคลื่อนไป แปลว่าให้ความสำคัญกับปัจเจกชนมากกว่า สิทธิเสรีภาพมีมากกว่า ความยุติธรรมก็เป็นความยุติธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของปัจเจกชน อยู่บนพื้นฐานของสังคมรวมหมู่

ไม่รู้ว่านี่เป็นคำตอบไหม เพราะเลยไปไกลไปหน่อย เพราะในความเป็นจริง โลกนี้ไม่ได้มีสองสังคมที่แยกกันเด็ดขาดอย่างนั้น และแต่ละอย่างยังมีดีกรี มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน ตรงนี้คือจุดอ่อน แต่อยากเริ่มต้นจากตรงนี้ว่าตรงนี้หรือเปล่าที่ทำให้รากของสังคมไม่ใช่เฉพาะเอเชียอาคเนย์ ตัวอย่างในเกาหลี ในไต้หวัน หลังจากค้นหากรณี 28 ก.ย. ได้ ปี 1948 สุดท้ายลงโทษคนไม่กี่คนก็จบ ไม่มีการสะสางกรณีที่เกิดการทำร้ายชนพื้นเมืองของไต้หวันอย่างจริงจัง กรณีเกาหลี ก็ลงโทษผู้นำไม่กี่คน ไม่ต่อเนื่องไปกว่านั้น ลงโทษอย่างจำกัด เพราะต้องการให้สังคมโดยรวมตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ต้องอยู่ในกรอบ ก็ตะล่อมกันไป สุดท้ายไม่มีการสะสางเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะเห็น collective good คือองค์รวมของสังคม collective good ไม่ใช่อยู่ที่การสร้างมาตรฐานที่ไม่ให้ปัจเจกชนละเมิด ไม่อนุญาตให้ใครละเมิดต่อปัจเจกชน ไม่ได้อยู่ที่การสร้างบรรทัดฐานนิติรัฐ แต่อยู่ที่ว่าอะไรเป็นผลที่ collective good ในความหมายเชิงประชด แต่นี่เป็นความหมายที่สังคมนั้นคิด ตรงนั้นสำคัญกว่าเรื่องความยุติธรรมและเรื่องปัจเจกชน

พวงทอง ภวัครพันธุ์
ความจริงเกี่ยวกับความรุนแรง ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อที่ไม่มีความหมาย แต่เปลี่ยนระบอบ เปลี่ยนสังคมได้อย่างมหาศาล ในลาตินอเมริกาคิดว่าโอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารโดยทหารยากมากๆ แล้ว และเปลี่ยนวัฒนธรรมทางการเมืองของคนในสังคม ตอนที่เราเกิดเหตุรัฐประหาร19 ก.ย.49 ใหม่ๆ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดงานสัมมนาการเมืองไทย มีนักวิชาการไทย นักการทูตของลาตินอเมริกามาด้วย นักวิชาการไทยบอกว่าการรัฐประหารก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไปใช่ไหม อย่างในลาตินอเมริกาเองก็มีรัฐประหารหลายครั้ง ปรากฏว่าทูตของลาตินอเมริกาก็ยกมือบออกว่า เราไม่ชอบการรัฐประหารแล้ว เราไม่ต้องการรัฐประหารอีกต่อไปแล้ว เมื่อได้นั่งดูแผนที่ของประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ ในลาตินอเมริกาเหลืออยู่แค่ประเทศเดียว ไม่แน่ใจว่าโยงกันไหม แต่รู้สึกว่าจะต้องเกี่ยวโยงกับการให้คุณค่าของมนุษย์ ซึ่งรัฐไม่สามารถเอาชีวิตมนุษย์ได้ง่ายดายอย่างในอดีตอีกต่อไปแล้ว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net