สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 8 - 14 เม.ย. 2555

ตะลึง! แรงงานนอกระบบชาย-หญิงพุ่งต่อเนื่อง 6 ปีเฉียด 25 ล้านคน อีสานมากที่สุด

รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการเปรียบเทียบข้อมูลตั้งแต่ ปี 2549 จนถึง ปี 2554 พบว่า ผู้ทำงานที่เป็นแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แรงงานนอกระบบมีมากกว่าร้อยละ 60 ของผู้ทำงานทั้งหมด 39.3 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานนอกระบบ 24.6 ล้านคน ผู้ทำงานในระบบ 14.7 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานนอกระบบทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมถึง 15.1 ล้านคน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด

การสำรวจดำเนินการระหว่างวันที่ 1 – 12 ของเดือนกรกฎาคม – กันยายน พ.ศ. 2554 โดยมีครัวเรือนตัวอย่างทั้งสิ้น 79,560 ครัวเรือน เป็นครัวเรือนตัวอย่างในกรุงเทพมหานคร 4,680 ครัวเรือน ในเขตเทศบาล 45,360 ครัวเรือน และนอกเขตเทศบาล29,520 ครัวเรือน โดยใช้การสัมภาษณ์หัวหน้าครัวเรือน หรือสมาชิกในครัวเรือน สามารถสรุปสาระสำคัญ 6 ด้านหลัก พบว่า

1. จำนวนแรงงานนอกระบบผลการสำรวจในปี 2554 พบว่า มีจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 39.3 ล้านคน โดยเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการ ทำงานหรือเรียกว่าแรงงานนอกระบบ 24.6 ล้านคน หรือร้อยละ 62.6 และที่เหลือเป็นผู้ทำงานในระบบหรือแรงงานในระบบ 14.7 ล้านคน หรือร้อยละ 37.4 สำหรับแรงงานนอกระบบเมื่อพิจารณาตามเพศ พบว่า มีจำนวนไม่แตกต่างกันมาก คือเพศชาย 13.2 ล้านคน หรือร้อยละ 53.8 และเพศหญิง11.4 ล้านคน หรือร้อยละ 46.2 ของแรงงานนอกระบบทั้งหมด นอกจากนั้น แรงงานนอกระบบทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดร้อยละ 41.5รองลงมาเป็นภาคเหนือร้อยละ 21.4 ภาคกลาง ร้อยละ18.7 ภาคใต้ ร้อยละ 13.3 และกรุงเทพมหานครมีแรงงานนอกระบบน้อยที่สุด ร้อยละ 5.1

2. ระดับการศึกษาที่สำเร็จของแรงงานนอกระบบสำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของแรง งานนอกระบบ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่ามากที่สุด ประมาณ16.0 ล้านคน หรือร้อยละ 65.1 รองมาเป็นระดับมัธยมศึกษา 6.7 ล้านคน หรือ ร้อยละ 27.2 และระดับอุดมศึกษา 1.7 ล้านคน หรือ ร้อยละ 6.9จะเห็นได้ว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่เป็นผู้มีการศึกษาในระดับที่ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับแรงงานในระบบ ดังนั้น หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องควรมีการส่งเสริมสนับสนุนด้านการศึกษาแก่แรงงาน นอกระบบเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและยกระดับสถานภาพการทำงานของแรงงานนอกระบบ ให้ดีขึ้น

3. การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจของแรงงานนอกระบบเมื่อพิจารณาถึงประเภทการ ประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ พบว่า แรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมโดยมีจำนวนถึง15.1 ล้านคน หรือร้อยละ 61.4 รองลงมาทำงานอยู่ในภาคการค้าและการบริการ ร้อยละ 29.7 และภาคการผลิต ร้อยละ 8.9

4. การได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุสำหรับการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุจากการ ทำงานของแรงงานนอกระบบในปี 2554 มีจำนวน3.7 ล้านคน โดยลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บเกิดจากการถูกของมีคมบาดมากที่สุด ร้อยละ67.3 รองลงมาเป็น การพลัดตกหกล้ม ร้อยละ 12.3 การชนและกระแทก ร้อยละ 8.7 ไฟไหม้หรือ นํ้าร้อนลวกร้อยละ 4.8 ได้รับสารเคมี ร้อยละ 3.0 อุบัติเหตุจากยานพาหนะ ร้อยละ 2.9 และไฟฟ้าช็อต ร้อยละ 0.6หากพิจารณาแรงงานนอกระบบที่ได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุในปี 2554 พบว่า มีจำนวนเฉลี่ยวันละ10,003 คน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2553 (เฉลี่ยวันละ 9,637 คน) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น สถานประกอบการควรเข้ามาดูแลและสร้างความปลอดภัยจากการทำงานให้แก่แรงงานนอก ระบบมากขึ้น

5. ปัญหาของแรงงานนอกระบบผลจากการสำรวจแรงงานนอกระบบต่อปัญหาต่าง ๆ จากการทำงานเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา พบว่า ปัญหาด้านการทำงานที่แรงงานนอกระบบต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมากที่สุด คือ ปัญหาการได้รับค่าตอบแทนน้อย ร้อยละ 45.6 รองลงมาเป็น ทำงานหนักร้อยละ22.1 และงานที่ทำไม่ได้รับการจ้างอย่างต่อเนื่องร้อยละ 19.3 ที่เหลือเป็นอื่นๆ เช่น ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีวันหยุด ทำงานไม่ตรงเวลาปกติ ชั่วโมงทำงานมากเกินไปและลาพักผ่อนไม่ได้

สำหรับปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แรงงานนอกระบบประสบมากที่สุด คือ อิริยาบถในการทำงาน (ไม่ค่อยได้เปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงาน) ร้อยละ 44.2 มีฝุ่น ควัน กลิ่น ร้อยละ 17.8และมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ร้อยละ 17.0 ปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ส่วนใหญ่ ได้รับสารเคมีเป็นพิษ ร้อยละ 65.0 เครื่องจักรเครื่องมือ ที่เป็นอันตราย ร้อยละ 21.8 และการได้รับอันตรายต่อระบบหู/ระบบตา ร้อยละ 6.1

6. เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของแรงงานนอกระบบในช่วงปี 2549-2554เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลตั้งแต่ ปี 2549 จนถึง ปี2554 พบว่า ผู้ทำงานที่เป็นแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2549 – 2551 แต่ปี 2552 – 2554 แรงงานนอกระบบเริ่มลดลง เมื่อเทียบกับปี 2551 (ร้อยละ 63.7) ปี 2552 (ร้อยละ63.4) ปี 2553 (ร้อยละ 62.3) และปี 2554 (ร้อยละ62.6) สำหรับระดับการศึกษาที่สำเร็จของแรงงานนอกระบบในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่า แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา รองลงมาเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา ตามลำดับ

อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงปี 2549 ถึงปี 2554แรงงานนอกระบบที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นไป มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษามีจำนวนลดลงแต่เป็นการลดลงใน อัตราค่อนข้างช้า จะเห็นว่าระดับการศึกษาของแรงงานนอกระบบในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาก็ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มของผู้มีการศึกษาไม่สูงนัก

และเมื่อพิจารณาตามอุตสาหกรรมในภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม พบว่า ตั้งแต่ปี2549 – 2554

แรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนมากกว่านอกภาคเกษตรกรรม แต่จะเห็นได้ว่าปี2551 – 2553 แรงงานนอกระบบที่อยู่ในภาคเกษตรกรรมมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2554 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

(มติชน, 8-4-2555)

ก.แรงงานเปิดเส้นทางแรงงานนอกระบบสมัครเข้าใช้สิทธิ์เงินทดแทนกรณีบาดเจ็บ-เจ็บป่วย

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2553 มีแรงงานนอกระบบอยู่จำนวน 24.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.3 ของผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน กระทรวงแรงงานได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการให้ความคุ้มครองและการให้ หลักประกันทางสังคมแก่แรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นแรงงานที่ไม่ใช่ลูกจ้างในสถานประกอบการ

เช่น กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มผู้ขับรถรับจ้าง แท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แรงงานรับจ้างทางการเกษตร หาบเร่แผงลอย คนทำงานบ้าน แรงงานรับจ้างทั่วไป รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในกลุ่มสาขาอาชีพต่าง ๆ จะได้มีหลักประกันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจึงได้เปิดโอกาสให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถสมัครใจเข้า สู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 ได้ โดยมีหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือ ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ มีบัตรประจำตัวประชาชน โดยสามารถสมัครได้ที่สำนักงานประกันสังคม/หน่วยบริการเคลื่อนที่หรือสมัคร ผ่านตัวแทนที่ได้รับการอบรมจากสำนักงานประกันสังคมแล้วเท่านั้น

แรงงานนอกระบบที่สนใจจะสมัครเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 40 นั้น สามารถเลือกสิทธิประโยชน์ได้ใน 2 ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน จะได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี ได้แก่ 1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ เมื่อเป็นผู้ป่วยในและนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 20 วันต่อปี 2. กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 15 ปี 3. กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท

ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน ได้รับสิทธิประโยชน์ใน 4 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ เมื่อเป็นผู้ป่วยในและนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป 200 บาทต่อวัน ไม่เกิน 20 วันต่อปี กรณีทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500 – 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 15 ปี กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 20,000 บาท และกรณีชราภาพ ได้รับเงินก้อนสำหรับวัยหลังเกษียณ นายเผดิมชัยฯกล่าว

(มติชน, 9-4-2555)

ปรับค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน 22 สาขาอาชีพ

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยดำเนินการให้แรงงานมีรายวันละไม่น้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท นั้น กระทรวงแรงงานได้เดินหน้าผลักดันนโยบายดังกล่าว โดยได้มีการบังคับให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 เม.ย.55 ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างดังกล่าวนั้น ได้ดำเนินการพิจารณาบนพื้นฐานของระบบไตรภาคีคือการร่วมพิจารณาจากฝ่ายนาย จ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ซึ่งได้พิจารณาข้อมูลประกอบรอบด้านและมีมติร่วมกันให้ปรับขึ้นค่าจ้าง 40% เท่ากันทั่วประเทศ ทำให้ 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และภูเก็ต ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยในส่วนของจังหวัดอื่นจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค.56

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มีการพิจารณาทบทวนค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานใน 22 สาขาอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องกับค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการปรับไปแล้วด้วย โดยพิจารณาตามสภาพความยากง่าย และเศรษฐกิจของแต่ละสาขาอาชีพตามความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพการจ้างงานในตลาดแรงงานตามสาขาอาชีพด้วย และสอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ได้บังคับใช้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 เช่นเดียวกับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท โดยค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ได้พิจารณาปรับขึ้นนั้น ได้ปรับในระดับซึ่งจะเริ่มต้นที่ 320 บาท และสูงสุดในระดับ 3 ที่ 775 บาท เช่น ช่างบุครุภัณฑ์ระดับ 1 วันละ 320 บาท ระดับ 2 วันละ 370 บาท และระดับ 3 วันละ 420 บาท, ช่างสีรถยนต์ ระดับ 1 วันละ 400 บาท ระดับ 2 วันละ 465 บาท ระดับ 3 วันละ 530 บาท, ช่างเชื่อมทิกระดับ 1 วันละ 455 บาท ระดับ 2 วันละ 615 บาท และระดับ 3 วันละ 775 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ ค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือจะทำให้แรงงานได้มีโอกาสพัฒนารายได้ตามประสบการณ์และ ความสามารถที่มีอยู่

(บ้านเมือง, 10-4-2555)

พนง.ชินเอไอเทคร้องขอเพิ่มสวัสดิการ

พนักงาน บริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ตั้งอยู่เลขที่ 183 หมู่ 3 ราชสีมา-โชคชัย ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมากว่า 500 คน รวมตัวภายในวัดหนองบัวศาลา เพื่อชุมนุมเรียกร้องสวัสดิการให้กับนักงานจำนวน 35 ข้อ จากผู้บริหารบริษัท โดยมีนายเอกลักษณ์ พรหมพันธ์ใจ ประธานสหภาพแรงงานชินเอไฮเทค พร้อมกับสมาชิกสหภาพฯ เป็นแกนนำพนักงาน

ทั้งนี้ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ต้องการให้ผู้บริหารเพิ่มสวัสดิการในความ ปลอดภัยของพนักงาน และการเพิ่มเงินค่าตอบแทนในการทำงาน เช่น การขอชุดพนักงานใหม่ 4 ชุดต่อปี การขอรองเท้าทำงานที่มีคุณภาพ การขอสนามหญ้าเทียมเพื่อเล่นกีฬา การขอเพิ่มเงินเดือนร้อยละ 5 ต่อปี และการขอให้บริษัทจ่ายเงินโบนัส 2 ครั้งต่อปี เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.2555 จนถึงขณะนี้กลุ่มสหภาพแรงงานชินเอไฮเทคได้ประชุมหารือกับทางผู้บริหารบริษัท มาแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่สามารถตกลงหาข้อยุติกันได้ พร้อมกันนี้ผู้บริหารบริษัทยังได้สั่งพักงานสมาชิกสหภาพแรงงานชินเอไฮเทค จำนวน 2 คน โดยให้เหตุผลระบุความผิดว่า สมาชิกสหภาพทั้ง 2 คน สร้างความแตกแยกในองค์กร

นายภูมิพัฒน์ ขจรภพ ประธานฝ่ายสารสนเทศ สหภาพแรงงานชินเอไฮเทค กล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มสหภาพแรงงานชินเอไฮเทคได้แจ้งเรื่องทั้งหมดไปยังสำนักงาน สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ช่วยหาทางไกล่เกลี่ยปัญหาดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมาได้นัด ผู้บริหารบริษัทฯ และกลุ่มสหภาพบริษัทฯ หารือร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายอีกครั้ง ในเวลา 10.00 น. วันที่ 12 เม.ย.นี้ ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งหากข้อเรียกร้องที่ทางกลุ่มสหภาพแรงงานชินเอไฮเทคไม่ได้รับการตอบสนอง ทางพนักงานของบริษัทก็จะนัดกันรวมตัวเพื่อหยุดงานประท้วงพร้อมกันอย่างแน่ นอน

(ไทยโพสต์, 11-4-2555)

รัฐบาลอ้างกระทบตลาดแรงงานยืด “เงินป.ตรีหมื่นห้า”

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงโต้การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเรื่องกาปรับปรุงค่าตอบแทนข้าราชการและ เจ้าหน้าที่รัฐว่า สื่อมวลชนแถลงข่าวไม่ถูกต้องกับสิ่งที่รัฐบาลทำ ซึ่งรัฐบาลนั้นได้พยายามทำ นโยบายสำคัญๆ ที่ครั้งเลือกตั้งและแถลงต่อสภา มีความคืบหน้าไปมากทั้ง 16 เรื่อง ทั้งเรื่องคืนภาษีรถคันแรก ปรับลดภาษีนิติบุคคล นโยบายบ้านหลังแรก เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ได้มีผลไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2554

”ประเด็นที่ขอชี้แจง เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการ ซึ่งได้รับเงิน 15,000บาทไปแล้ว โดยบางหน่วยงาน ได้รับย้อนหลังไปตั้งแต่เดือน มกราคมถึงเดือนมีนาคม มติ ครม.ที่สื่อสารอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มรายได้ ให้กับข้าราชการจบปริญญาตรีที่ไม่ได้รับเงินเดือนไม่ถึง15,000 บาท โดยรัฐบาลได้เพิ่มรูปแบบ เรียกว่าเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว หรือ พชค. 15000 ซึ่งข้าราชการได้รับตั้งแต่ 1 มกราคม ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ ข้าราชการได้รับเรียบรัอยแล้ว คือมีรายได้ 15000 บาท เมื่อวานเป็นมติ ครม.เป็นเรื่องการปรับฐานเงินเดือน บางส่วนอาจเข้าใจว่า สิ่งที่รัฐบาลไปหาเสียงไว้แล้วไม่นำไปปฎิบัติจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่รัฐบาลได้ปรับรายได้ในรูปแบบของเงินเดือนบวกเงินเพิ่มการครองชีพ ชั่วคราว 15000บาทเรียบร้อยแล้ว” นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า รวมทั้งได้ปรับผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ปวช.ปวส.มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 9000 บาทเรียบร้อยแล้ว ซึ่ง มติ ครม.31 มกราคม 2555ได้อธิบายชัดว่า เห็นชอบให้ปรับรายได้ของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1มกราคม 2555 เป็นต้นไปเงินเดือนแรกบรรจุ รวมเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว จะมีรายได้ไม่น้อยกว่า 15,000 บาท

ตนขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีการเลื่อนการปรับรายได้กับปริญญาตรี แต่ ได้ 15,000 บาทไปแล้วตั้งแต่ 1 มกราคม 2555 ส่วนจะเรียกว่า เงินเดือนบวกรายรับพิเศษ หรือเงินเดือน บวก พชค. ก็สุดแล้วแต่ แต่ขณะนี้ข้าราชการทุกคนได้รับรายได้เดือนละ 15,000 บาทเป็นที่เรียบร้อย

” หลังจากมีมติ ครม.ออกไปเมื่อวานนี้ มีส่วนที่ไม่เข้าใจโดยเจตนา ไปอธิบายว่ารัฐบาลทำไม่ได้อย่างที่หาเสียงไว้ ข้าราชการก็แห้วไป อธิบายความว่ารัฐบาลทำได้ แต่มีข้อเทคนิคบางประการ เมื่อเราฟังความเห็นจากกระทรวงการคลังแล้วยังไม่สามารจะเรียกว่าจะปรับเงิน เดือนทั้งระบบ15,000 บาทได้ แล้วมันจะกระทบภาคเอกชน ถ้าจะปรับเพิ่มทั้งระบบ จะต้องใช้เงินสูงกว่า ห้าหมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งอาจไม่ถึงขั้นนั้น ซึ่งรัฐบาลก็ต้องฟังความเห็นของหน่วยงาน ที่ให้ปรับขึ้นสองครั้ง ตัวเงินเดือนจริงๆ 15,000 บาท จะเป็นไปใน 1 มกราคม 2557 นโยบายเร่งด่วนทั้งหมด รัฐบาลยังอยู่เส้นทาง และกรอบระยะเวลา ที่จะดำเนินการให้สำเร็จตามที่ได้แถลงนโยบายไว้กับรัฐสภา ” นายอนุสรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายอนุสรณ์ เปิดเผยด้วยว่า สาเหตุที่ต้องดำเนินการปรับระบบเงินเดือนเป็น 2ช่วง เนื่องจากในครม.มีการเสนอความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับการนำงบประประมาณมาใช้ ที่ต้องพิจารณาจากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงบประมาณ และอีกส่วนหนึ่งเนื่องจากหากขึ้นเงินเดือนในทันที อาจเป็นการส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานภายในประเทศ ซึ่งเป็นการกดดันให้ภาคเอกชนไม่มีศักยภาพในจ้างงาน

(บ้านเมือง, 11-4-2555)

สปส.ยืนยันให้ผู้ประกันตนรักษากรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินร่วมกับ 3 กองทุน

ก.แรงงาน 11 เม.ย.- นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีที่ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ออกแถลงการณ์ประณามคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ว่ามีมติไม่เห็นชอบกับข้อตกลงในการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุน ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะที่ประชุมบอร์ด สปส.เห็นชอบในหลักการแล้ว แต่ยังกังวลเรื่องภาระงบประมาณ จึงมอบให้ สปส. ร่างระเบียบที่ชัดเจน และรัดกุม ป้องกันกลุ่มผู้แสวงหาผลประโยชน์ และจะนำเรื่องเข้าพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 17 เมษายนนี้ หากผ่านความเห็นชอบกับร่างระเบียบใหม่ ประธานคณะกรรมการแพทย์ ก็จะลงนาม เพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าขณะนี้ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลนอกเครือข่าย สปส.ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะเป็นผู้เบิกค่ารักษากับ สปส.ตามเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับเรื่องค่าใช้จ่าย ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณมากนัก เนื่องจาก สปส.มีการรักษากรณีฉุกเฉินเป็นปกติอยู่แล้ว เพียงเปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินเท่านั้น โดยจำนวนผู้ประกันตนที่เข้ารับการรักษาฉุกเฉินของ สปส. มีเพียงร้อยละ 10 ของผู้เข้ารับการรักษาทั้งหมด

(สำนักข่าวไทย, 11-4-2555)

ผู้ช่วยนักบินการบินไทยนัดลาหยุดสงกรานต์ เรียกร้องสิทธิประโยชน์

13 เม.ย. 55 - สำนักข่าวไทยรายงานว่าผู้ช่วยนักบินของการบินไทยพร้อมใจกันลาหยุดงานเป็น จำนวนมาก เพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของนักบินเพิ่มเติม และไม่พอใจการทำงานของฝ่ายบริหารบางคน ทำให้ฝ่ายดูแลนักบินต้องจัดนักบินสับเปลี่ยนวุ่ยวาย จนส่งผลให้เที่ยวบินสายการบินไทย บางเที่ยวบินต้องล่าช้า ล่าสุดการบินไทยออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า เหตุที่บางเที่ยวบินล่าช้า เป็นผลจากที่การบินไทยมีการเพิ่มเที่ยวบินรองรับผู้โดยสารช่วงสงกรานต์ แต่การบินไทยมีนักบินส่วนหนึ่งได้ลาพักผ่อนในช่วงดังกล่าวด้วย ทำให้มีผลกระทบต่อการเรียกนักบินมาปฏิบัติการบินทดแทนนักบินที่ขอลาพักผ่อน พร้อมยืนยันสามารถบริหารจัดการให้มีนักบินปฏิบัติการบินได้ในทุกเที่ยวบิน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการแต่อย่างใด

ด้านเว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าน.ต.อัษฎาวุธ วัฒนางกูร รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติบัติการบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า กรณีเกิดเหตุการณ์เที่ยวบินการบินไทยล่าช้า ในบางเที่ยวบิน เป็นผลจากการที่การบินไทยมีการเพิ่มเที่ยวบิน เพื่อรองรับความต้องการของผู้โดยสารในเทศกาลสงกรานต์ แต่การบินไทยมีนักบินส่วนหนึ่งได้ลาพักผ่อน เพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัวในช่วงดังกล่าวด้วย จึงทำให้มีผลกระทบเพียงเล็กน้อย ต่อการเรียกนักบินมาปฏิบัติการบินทดแทนนักบินที่ขอลาพักผ่อน ซึ่งฝ่ายปฏิบัติการ การบินไทย ขอยืนยันว่า สามารถบริหารจัดการให้มีนักบินปฏิบัติการบินได้ในทุกเที่ยวบิน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการแต่อย่างใด

(ประชาไท, 13-4-2555)

เผย 20 วันศูนย์โปร่งใสแรงงานรับร้องเรียนแล้ว 102 เรื่อง

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ โฆษกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ให้มีการจัดตั้งศูนย์โปร่งใสกระทรวงแรงงาน ขึ้น ณ บริเวณกระทรวงแรงงาน เพื่อให้บริการรับเรื่องราวร้องทุกข์ การให้คำปรึกษากรณีค่าจ้าง 300 บาท กรณีแรงงานต่างด้าว และกรณีการหลอกลวงแรงงานไทยเพื่อไปทำงานต่างประเทศ นั้น ได้รับความสนใจจากประชาชนเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก

ขณะนี้ได้มีการร้องเรียนผ่านศูนย์ดังกล่าวแล้วจำนวน 102 เรื่อง ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับเรื่องค่าจ้าง 300 บาท เช่น จังหวัดใดจะได้รับค่าจ้าง 300 บาท หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง 300 บาทจะมีความผิดหรือไม่อย่างไร ค่าจ้างจะรวมถึงสวัสดิการด้วยหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งในทุกประเด็นคำถามหรือเรื่องราวร้องทุกข์ของผู้ใช้แรงงานนั้นจะมีเจ้า หน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะคอยตอบคำถและรวบรวมคำถามเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งใน ระดับปฏิบัติและนโยบาย

นายอนุสรณ์ฯ กล่าวอีกว่า หากประชาชนหรือผู้ใช้แรงงานมีข้อสงสัยหรือปัญหาในเรื่องดังกล่าว สามารถเดินทางมาสอบถามหรือร้องเรียนได้โดยตรงที่ “ศูนย์โปร่งใสกระทรวงแรงงาน” ชั้น 1 อาคาร 15 ชั้น กระทรวงแรงงาน หรือโทรศัพท์สอบถามหรือร้องเรียนได้ที่หมายเลข 0 2232 1137 ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ในเวลาราชการ( 08.30 ถึง 16.30 น.) หรือจะสอบถามผ่านสายด่วน 1506 เกี่ยวกับสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม 1694 เกี่ยวกับกรมการจัดหางาน และ 1546 เกี่ยวกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานสามารถสอบถามได้ตลอด 24 ชั่วโมง

(กรุงเทพธุรกิจ, 13-4-2555)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท