Skip to main content
sharethis

นักกฎหมายสิทธิฯ จากอินเดีย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำซีแอล ชี้ราคายารักษามะเร็งตับลดฮวบ 97% บริษัทยาอื่นๆ แห่ยื่นข้อเสนอลดราคา คาดอีกไม่นานจะเห็นซีแอลเพิ่มในยาต้านไวรัสเอดส์และยารักษามะเร็งอื่นๆ

 

(18 เม.ย.55) นางสาวคาจัล บาร์ดวัจ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาจากอินเดีย ได้กล่าวในเวทีเสวนา ‘เรียนรู้ประสบการณ์การทำซีแอลยามะเร็งจากอินเดีย’ ว่า ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญการเข้าไม่ถึงยาหลังจากต้องทำตามความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญา หรือ ทริปส์ ขององค์การการค้าโลก ทำให้เราเห็นประเทศต่างๆ เริ่มทยอยใช้มาตรการยืดหยุ่นทางกฎหมายซึ่งอนุญาตไว้ในข้อตกลงทริปส์ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ประกาศบังคับใช้สิทธิ (ซีแอล) และล่าสุดเกิดขึ้นที่อินเดีย ซึ่งสำนักงานสิทธิบัตรของอินเดียได้มีคำตัดสินให้บริษัทแนทโก้ (Natco) ซึ่งเป็นบริษัทยาชื่อสามัญในอินเดียผลิตยารักษามะเร็งตับ Sorafenib Tosylate (Nexavar) ที่ติดสิทธิบัตรของบริษัทไบเออร์ เยอรมนีได้ ซึ่งจะทำให้ราคาลดลงถึงร้อยละ 97 โดยจ่ายค่าชดเชยให้กับบริษัทไบเออร์สูงถึงร้อยละ 6 ของราคาขายยาชื่อสามัญซึ่งถ้าไบเออร์ เจ้าของสิทธิบัตรไม่พอใจก็สามารถอุทธรณ์ได้หากมีหลักฐานมากพอว่า ราคายาของบริษัทฯ ลดลงมากจนทำให้ประชาชนเข้าถึงได้แล้ว หลังจากนั้นบริษัทยายักษ์ใหญ่ อย่างโรช ก็มามีข้อเสนอเพื่อลดราคายามะเร็งอีก 2 ตัว คือ Herceptin และ MabThera แต่ข้อเสนอยังไม่น่าสนใจ เพราะต้องดูที่ว่า ราคาเป็นธรรมไหม จะลดแค่ 10-20% คงไม่พอ

“การทำซีแอลตัวแรกของอินเดียครั้งนี้ สำนักสิทธิบัตรได้ชี้เหตุผลสำคัญคือ ยามีราคาแพงมากจนผู้ป่วยที่สามารถหาซื้อยานี้ได้มีแค่ 2% ของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาทั้งหมด และหลังจากได้สิทธิบัตรไปแล้วบริษัทไบเออร์ไม่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่อินเดียเลย ซึ่งได้สร้างกระแสความตื่นตัวในอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของอินเดียอย่างมาก เพราะมีความชัดเจนว่ากฎหมายในเรื่องการประกาศใช้สิทธิที่จริงแล้วปฏิบัติอย่างไร ฉะนั้นตอนนี้เริ่มมีบริษัทที่สนใจที่จะร้องสำนักงานสิทธิบัตรเพื่อขอให้ประกาศซีแอลเพิ่มในยาต้านไวรัสเอชไอวี/เอดส์ และ ยารักษามะเร็งอื่นๆ ที่มีราคาแพงมากจนทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา และยิ่งมีความตื่นตัวมากในกลุ่มผู้ป่วย เพราะพวกเขาเริ่มเล็งเห็นว่า หนทางที่ทำให้มียาดี ราคาถูก คนเข้าถึงได้ มีความยั่งยืนกว่ารอรับบริจาคจากบริษัทยาข้ามชาติ”

นักกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาจากอินเดีย ยังกล่าวว่า การทำซีแอลของอินเดีย ยังทำให้บริษัทยาข้ามชาติตระหนักว่า ในกฎหมายสิทธิบัตรมีสองด้าน คือด้านรักษาผลประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิและด้านรักษาประโยชน์ของสาธารณะ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ดูแลให้สมดุลกัน ซึ่งประเด็นนี้ได้เขียนในคำประกาศซีแอลของอินเดียอย่างชัดเจน

“ถึงคุณจะมีสิทธิบัตรผูกขาดก็ไม่ได้หมายความว่า คุณจะใช้มันแสวงหากำไรบนชีวิตมนุษย์อย่างไร้ขอบเขต แน่นอนว่า ประสบการณ์ของเราก็คล้ายคลึงกับไทย ถูกกระแสโจมตีทางสื่อจากการทำประชาสัมพันธ์ของบริษัทยาข้ามชาติ แต่ด้วยความโปร่งใส ชัดเจน เช่นที่รัฐบาลไทยเคยทำก็ทำให้การโต้แย้งหรือการโกหกในที่สาธารณะฟังไม่ขึ้น แม้แต่รัฐมนตรีพาณิชย์ สหรัฐฯ ก็มาขู่รัฐมนตรีพาณิชย์ของเราฯ ว่า เขาไม่พอใจ ซึ่งรัฐบาลอินเดียชี้แจงไปว่า กลไกยืดหยุ่นนี้มีไว้เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงยาของประชาชน อันเนื่องมาจากการตั้งราคายาที่แพงสุดขีดโดยบริษัทยาเจ้าของสิทธิบัตร”

ทั้งนี้นักกฎหมายจากอินเดียยังชี้ว่า จากประสบการณ์การประกาศซีแอลของไทยจนมาถึงปัจจุบันก็ชี้ชัดว่า ข้ออ้างที่การทำซีแอลจะไปทำลายการวิจัยและพัฒนายาใหม่ และการลงทุนต่างๆ ก็ไม่เป็นความจริง เพราะปัจจุบันอุตสาหกรรมไบโอเทคเล็กๆ และการวิจัยในมหาวิทยาลัยยังทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่เท่านั้นที่ไม่ทำวิจัยยาใหม่ แต่มักหากินด้วยการเปลี่ยนแปลงยาเก่าเล็กน้อยเพื่อจดสิทธิบัตรผูกขาดไปเรื่อยๆที่เรียกว่า evergreening patent

ทางด้าน รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ กรรมการบริหารแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาฯ กล่าวว่า ภายหลังการประกาศบังคับใช้สิทธิของไทยมีการทำงานต่อเนื่องทางด้านนโยบายและพัฒนากลไกต่างๆ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงยาและพัฒนางานวิจัย โดยเฉพาะที่กำลังดำเนินอยู่ตามนโยบายแห่งชาติด้านยา แต่ก็จะพบว่า อุตสาหกรรมยาข้ามชาติพยายามแทรกเข้าไปในทุกองคาพยพเพื่อขัดขวางกลไกเหล่านี้ เพราะเกรงว่าจะไปทำให้กำไรของพวกเขาลดลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของเครือข่ายผู้ป่วยและประชาสังคมต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ดังนั้น ประสบการณ์ของอินเดียจึงเป็นแรงกระตุ้นที่จะทำให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยพิจารณาใช้มาตรการยืดหยุ่นที่มีอยู่ในกฎหมายเพื่อสร้างสมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้ทรงสิทธิและประโยชน์สาธารณะ และกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยาตระหนักว่า อย่าเอาแต่แสวงหากำไรสูงสุดโดยไม่นึกถึงประโยชน์ของประชาชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net