Skip to main content
sharethis

mso-font-kerning:.5pt;mso-ansi-language:EN-GB;mso-fareast-language:TH;
mso-bidi-language:TH">สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
เปิด Facebook ระดมแนวร่วม เผยเตรียมตั้งโต๊ะหาแนวร่วมฟ้องศาลปกครอง 13,280 รายชื่อ หวังให้เป็นคดีประวัติศาสตร์ ส่วนในสังคมออนไลน์ เริ่มสร้างกระแสคนค้าน-หนุนเขื่อน

 
 
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเปิดเฟซบุ๊ค ระดมแนวร่วมต้านเขื่อนแม่วงก์   
 
เมื่อวันที่17 เม.ย.55 นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลเห็นชอบในหลักการให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เพื่อทำลายป่าไม้และสัตว์ป่าด้วยวงเงินงบประมาณที่แพงเกินจริงกว่า 13,280 ล้านบาทเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการตื่นตัวของประชาชนและผู้ที่รักและแหนหวงทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ออกแถลงการณ์คัดค้านและตอบโต้มติหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวไปแล้ว ทำให้มีประชาชนทั่วประเทศสอบถามข้อมูลเข้ามายังสมาคมฯ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
 
นายศรีสุวรรณ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ติดตามและประสานงานกันอย่างใกล้ชิดของกลุ่มแนวร่วมภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวของรัฐบาล สมาคมฯ จึงได้เปิดเฟซบุ๊ค (Facebook) โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มต่อต้านเขื่อนแม่วงก์” ขึ้นมา ซึ่งจะใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารกันมากขึ้นในระบบสารสนเทศออนไลน์ของกลุ่มแนวร่วมเดียวกัน
 
หากประชาชนท่านใดที่อยากจะร่วมหยุดยั้งโครงการดังกล่าวด้วยการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ก็สามารถไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจหรือหนังสือแต่งตั้งผู้แทนคดีได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมฯ ที่ www.thaisgwa.com
 
 
เตรียมตั้งโต๊ะลงชื่อฟ้องศาลปกครอง 13,280 รายชื่อ หวังให้เป็นคดีประวัติศาสตร์
 
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวด้วยว่า ทางสมาคมฯ ยังได้นำทีมนักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมออกเดินสายจัดเวทีสัมมนาให้ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่ดิน สัตว์ป่า และสิทธิชุมชนทั่วประเทศอีกด้วย โดยในแต่ละเวทีจะตั้งโต๊ะรับหนังสือมอบอำนาจฟ้องคดีของประชาชนที่คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ของรัฐบาลด้วย โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะรวบรวมหนังสือมอบอำนาจการฟ้องคดีให้ได้ 13,280 ฉบับ เพื่อนำไปฟ้องระงับหรือเพิกถอนโครงการดังกล่าวต่อไป
 
นายศรีสุวรรณ กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า การฟ้องร้องดังกล่าวจะเป็นคดีแรกในประวัติศาสตร์ของศาลไทย ที่มีชาวบ้านมาร่วมลงชื่อฟ้องร้องในคดีเดียวกันมากที่สุดในประเทศเลยทีเดียว ซึ่งชุมชนใด ตำบลใด อำเภอใด หรือจังหวัดใด ประสงค์ที่จะให้สมาคมฯ ไปจัดเวทีสัมมนาดังกล่าวให้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ 
 
จังหวัดเป้าหมายที่สมาคมฯ จะเดินสายจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วประเทศ และตั้งโต๊ะรับหนังสือมอบอำนาจฟ้องคดี มีดังนี้ ภาคเหนือ เชียงใหม่ พะเยา ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ เชียงราย แพร่ น่าน ลำปาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอนแก่น ศรีษะเกษ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา ร้อยเอ็ด อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย ภาคตะวันออก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ภาคกลาง-ตะวันตก กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อุทัยธานี ราชบุรี นครสวรรค์ เพชรบุรี กำแพงเพชร และ ภาคใต้ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ชุมพร ระนอง พังงา พัทลุง
 
 
สังคมออนไลน์ เริ่มสร้างกระแสคนค้าน-หนุนเขื่อน
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าในเฟซบุ๊ค เองก็เริ่มมีการปลุกกระแสทั้งการคัดค้านและสนับสนุนเขื่อนแม่วงก์ โดยนอกจากเฟซบุ๊คของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนที่ชื่อว่า “กลุ่มต่อต้านเขื่อนแม่วงก์” แล้ว ยังพบว่ามีสมาชิกเฟซบุ๊คได้สร้างหน้าเพจ “หยุด!!! เขื่อนแม่วงก์ STOP DAM” ที่มีคนกดไลค์แล้ว 350 รายชื่อ และเพจ “คัดค้านเขื่อนแม่วงก์” ที่มีคนกดไลค์ 73 รายชื่อ เพื่อรวบรวมข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ และใช้เป็นสื่อเพื่อสื่อสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ของแต่ละกลุ่ม  
 
สำหรับในกลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็มีการตังกลุ่มเปิด “เราต้องการเขื่อนแม่วงก์” ชี้แจงไว้ว่า “พวกเราพอจะมีเสียงกันในอินเตอร์เน็ตบ้าง ควรจะส่งเสียงกันบ้างน่ะครับ ไม่ปล่อยให้คนนอกพื้นที่มาคัดค้านแล้วปล่อยให้พ่อแม่พี่น้องเราอยู่กันลำบาก” อีกทั้งระบุถึงโครงการเขื่อนแม่วงก์ไว้ด้วยว่า ข้อดี1.ชาวนาชาวไร่ ในแม่วงก์ ลาดยาว จะมีน้ำใช้ตลอดปี2.ปัญหาน้ำท่วม ในแม่วงก์ ลาดยาว3.เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ล่องแก่งได้ตลอดปี ส่วนข้อเสียคือการสูญเสียพื้นที่ป่าไปบางส่วน
 
ตัวอย่างโพสต์ข้อความในกลุ่มนี้ อาทิ “ตอนนี้กระแสคนอนุรักษ์นอกพื้นที่ พยายามที่จะใช้ social network สร้างกระแสว่าเขื่อนแม่วงก์น่ากลัวอย่างไร โดยที่เขาไม่ได้บอกว่าพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนนั้นจำกัดอยู่บริเวณไหน เป็นพื้นที่ทำไม้เก่า ซึ่งมันไม่ใช่ป่าอุดมสมบูรณ์ขนาดที่พวกเขาพยายามสร้างภาพขึ้นมา และอีกทั้งคนในพื้นที่แม่วงก์ ลาดยาว ที่เดือดร้อนจากน้ำท่วมตอนหน้าฝนหรือหน้าแล้งต้องใช้น้ำบาดาลทำนากันก็ไม่ได้กล่าวถึง ยังไม่นับรวมถึงคนทัพทัน สว่างอารมณ์อีกว่ามันแล้งขนาดไหน”
 
“เขื่อนแม่วงก์มีขนาดเล็ก ช่วยแก้ปัญหาขอบเขตลุ่มน้ำสะแกกรังเท่านั้น แต่กลับถูกกลุ่มคัดค้านนำไปเชื่อมโยงถึงลุ่มน้ำภาคกลาง ซึ่งมันคงไม่ส่งผลได้ขนาดนั้น”
 
 
 
อดีต นศ.ชมรมอนุรักษ์ฯ ออกโรงร่วมค้าน จี้รัฐสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
 
ในวันเดียวกัน กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อม 16 สถาบัน (กคอทส.) ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ฉบับที่ 1 เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.วันที่ 10 เม.ย.55 โดยควรพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.2545 ที่มีมติไม่เห็นชอบในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ พร้อมเสนอให้กรมชลประทานกลับไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ และในกรณีการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง รัฐจะต้องสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมและจริงใจ เลิกความคิดการแก้ปัญหาแบบไร้ทางเลือกให้แก่คนในสังคม
 
นอกจากนั้น กคอทส. (กลุ่มอดีตนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมร่วมกับ คอทส.) ยังใช้ช่องทางเฟซบุ๊คในการทำกิจกรรม “ร่วมลงชื่อคัดค้านเขื่อนแม่วงก์” ตั้งแต่วันที่ 17-30 เม.ย.55 หวังสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อคักค้านโครงการดังกล่าว
 
 
 
 
โครงการเขื่อนแม่วงก์
 
ที่ตั้ง : ลำน้ำวงก์ ที่เขาสบกก ต.แม่เล่ย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ เขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
ประเภท : เขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว
ขนาดของสันเขื่อน : ความสูง 57 เมตร ยาว 794 กว้าง 10 เมตร
ความจุอ่างเก็บน้ำ : 250 ลบ.ม.
พื้นที่น้ำท่วม : 11,000 ไร่ (17 ตร.กม.)
ประโยชน์ที่จะได้รับ : พื้นที่ชลประทานเพื่อการเกษตรกรรม 291,000 ไร่
ระยะเวลาการก่อสร้าง :  8 ปี แล้วเสร็จภายในปี 2562 มีผลผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2562
งบประมาณ : ครม.อนุมัติงบเพื่อดำเนินการก่อสร้างทั้งสิ้น 13,280.445 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณด้านต่างๆ ดังนี้ 1.งบด้านบุคลากร 100.146 ล้านบาท 2.งบดำเนินการ 43.857 ล้านบาท 3.งบลงทุน 12,007.674 ล้านบาท 4.งบดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม 560.850 ล้านบาท และ 5.งบด้านอื่นๆ กรณีสำรองงบประมาณ 567.918 ล้านบาท
 

 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net