Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สนามเลือกตั้งเป็นที่เดียวที่บอกความคิดและความต้องการของประชาชน  ถ้าเป็นการเลือกตั้งเฉพาะพื้นที่ก็บ่งบอกความคิดและความต้องการของประชาชนในพื้นที่  ถ้าเป็นการเลือกตั้งทั่วไปก็จะบอกถึงความคิดความต้องการของทั้งแต่ละพื้นที่และในขอบเขตทั่วประเทศ

การที่มีการเลือกตั้ง  แม้ไม่อาจแสดงว่าประเทศนี้มีการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  แต่ผลการเลือกตั้งทุกครั้งก็เป็นการแสดงผลทัศนคติและความประสงค์ของประชาชนที่ต้องเคารพและสะท้อนให้เห็นว่า  ระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งนั้นดีกว่าเผด็จการทหารและระบอบอำมาตย์ฯ ที่ปล้นอำนาจประชาชนไปเพียงไร?  การที่ผู้สมัคร สส. และนายก อบจ. มาจากพรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้งทั้ง 2 ตำแหน่ง  และผู้สมัครนายก อบจ. ที่ลงทุนทิ้งตำแหน่ง สส. มาสมัครแพ้นับแสนคะแนน  จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่จะวิเคราะห์เป็นอย่างยิ่ง            

สำหรับผู้สมัคร สส. นั้น  พบว่าแพ้ชนะไม่มากนัก  แต่น่าสังเกตที่มีผู้มาเลือกตั้งเพียงสามสิบกว่าเปอร์เซ็นต์  นั่นหมายถึงผู้สมัคร สส. ประชาธิปัตย์ได้ฐานเสียงเดิมของตนเต็มจำนวน  ส่วนผู้สมัคร สส.เพื่อไทยก็ยังได้ฐานเสียงเดิมจำนวนหนึ่ง  แต่ก็มีคนที่เคยเลือก สส. เพื่อไทยไม่ไปออกเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ไม่น้อยทีเดียว  รวมแล้วคิดเป็นจำนวนกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง   นี่คือปรากฎการณ์  แล้วเนื้อแท้ของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไร?            

ผู้เขียนมีมุมมองจากจุดที่พอจะสัมผัสประชาชนพี่น้องจังหวัดปทุมธานีระดับหนึ่ง  ก็ขอแสดงทัศนะแลกเปลี่ยน ณ. ที่นี้คือ   คำถามว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้บ่งบอกถึงลักษณะทั่วไปทั้งประเทศว่าประชาชนเสื่อมศรัทธาพรรคเพื่อไทยหรือไม่?  ผู้เขียนคิดว่ายังไม่ใช่เช่นนั้น  ปรากฎการณ์ครั้งนี้มีลักษณะเฉพาะมากกว่าลักษณะทั่วไป  แต่น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีของพรรคเพื่อไทย  (ถ้าคิดจะสร้างพรรคให้เป็นพรรคมวลชน)  ลักษณะเฉพาะคืออะไร?  ประการแรก  ลักษณะเฉพาะที่ผู้สมัคร สส. ลาออกจากตำแหน่งเพื่อลงสมัครนายก อบจ. โดยไม่คำนึงถึงประชาชนผู้เลือกตั้งและผู้สนับสนุน  เขาคงคิดบนการตัดสินใจส่วนตนเป็นหลัก  ประเมินตนเอง  ประเมินพรรค  และประชาชนไม่ตรงความเป็นจริง  ผลจึงออกมาแบบนี้   เมื่อลาออกแล้วไปลงนายก อบจ. จึงแพ้นับแสนคะแนน  อย่างนี้ต้องถือว่าจบแล้วทางการเมือง  เพราะประเมินตนเองสูงกว่าความเป็นจริง  และประเมินประชาชนคนเสื้อแดงต่ำกว่าความเป็นจริง  คิดว่าผลที่แล้วมาได้รับชัยชนะเพราะมีฐานเสียงของตนเอง  คิดว่าประชาชนศรัทธาตัวตนของผู้สมัครโดยไม่ให้ความสำคัญว่า ที่แล้วมาผู้สมัครได้รับเลือกตั้งเพราะพรรค  และการสนับสนุนของประชาชนที่ชอบพรรคเพื่อไทย  และการสนับสนุนเอาการเอางานของคนเสื้อแดง (ไม่ต้องจ้าง) 

ส่วนผู้สมัคร สส. ในนามพรรคเพื่อไทยแพ้ชนะไม่มากนักก็จริง  แต่ที่คนไม่มาเลือกตั้งรวม ๆ กว่าร้อยละหกสิบ  แสดงว่าผู้เคยสนับสนุนอย่างเอาการเอางานก็เฉื่อยชา  ไม่ออกไปเลือกพรรคไหน  นี่จึงแสดงว่าประชาชนขาดแรงจูงใจที่จะไปออกเสียงสนับสนุนผู้สมัคร สส.พรรคเพื่อไทย  แต่ก็ไม่ไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์  และประชาชนจำนวนหนึ่งไม่ให้ความสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้  เพราะไม่เชื่อว่า สส. จะมีประโยชน์อะไรแก่ประชาชนในพื้นที่และแก่ประเทศ  จึงเป็นสาเหตุที่บ่งบอกว่า สส.เดิมและผู้สมัครใหม่ยังไม่ใกล้ชิดกับประชาชนมากเพียงพอตั้งแต่ได้รับการเลือกตั้ง  และผู้สมัครใหม่ก็ยังไม่ได้ใจจากประชาชนเพียงพอ            

เหตุผลที่สำคัญยิ่งคือประชาชนจังหวัดปทุมธานีได้ประสบเคราะห์กรรมจากมหาอุทกภัยปลายปี 54 จนต้นปี 55 กว่าสามเดือน  และบัดนี้เงินชดเชยเยียวยายังลงไปถึงพี่น้องไม่ทั่วถึง  คำถามถึง สส.พรรคเพื่อไทยและรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย  คือมาตรการดูแลประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งนี้  มีระบบและการติดตามตรวจสอบอย่างไร  นอกจากระบบงานของรัฐบาลแล้วยังเป็นปัญหาเฉพาะตัว สส. ด้วย  ถ้าคิดว่ากระแสพรรคแรงจนตัว สส. จะปฏิบัติตัวอย่างไรประชาชนก็ต้องเลือกวันยังค่ำ  ไม่จำเป็นต้องดูแลใกล้ชิดประชาชน  ถ้าคิดอย่างนี้ก็คิดผิด            

สำหรับลักษณะทั่วไปที่นำมาร่วมพิจารณาได้แม้ยังไม่ใช่สาเหตุหลักของการพ่ายแพ้ครั้งนี้ในจังหวัดปทุมธานี  ซึ่งลักษณะเฉพาะเป็นด้านหลักที่ สส. ลาออกและมีปัญหาอุทกภัยหนักหนาสาหัส

1.      พรรคเพื่อไทยก็ต้องพิจารณาว่า  จุดอ่อนของ สส. และการทำงานในฐานะ สส. เขตหรือ สส. บัญชีรายชื่อนั้น  ต้องมีระบบแบบแผนการทำงาน และการตรวจสอบในขอบเขตที่เหมาะสม  รวมทั้งการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่

2.      รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องตรวจสอบผลการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ปัญหาประชาชน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องสำคัญอันมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก

3.      พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างพรรคเพื่อไทย  รัฐบาล  กับคนเสื้อแดงและ นปช.  

ข้อดี ก็คือผลการเลือกตั้งครั้งนี้แสดงว่า  คนเสื้อแดงปทุมธานีมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก  ไม่ได้เป็นอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์โจมตีว่าเป็นพวกโง่เง่า  บริวารคุณทักษิณ  ถูกซื้อได้ด้วยเงิน แสดงว่าถ้าเขาไม่พอใจที่  สส. ลาออกมาสมัครนายก อบจ.  เขาก็แสดงออกชัดเจน  ผู้เขียนได้รับการร้องเรียนจากคนเสื้อแดงปทุมธานีเรื่อง สส. พรรคเพื่อไทย  หรือในหลายจังหวัดก็มีเรื่องทำนองนี้มาก  ที่พูดนี่ก็ไม่ใช่ว่าจะเข้าข้างคนเสื้อแดงเสียทั้งหมด  เพราะคนเสื้อแดงก็คือประชาชนไทยธรรมดาที่เอาการเอางานในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความยุติธรรม  ก็มีความหลากหลายเช่นเดียวกับประชาชนไทยทั่วไป 

แต่ถ้าพรรคจะเก็บรับบทเรียนครั้งนี้ไปก็เป็นผลดีของพรรคเอง  ที่สำคัญอย่าโยนว่าเป็นความผิดของ สส. ทั้งหมดโดยพรรคไม่จำเป็นต้องปรับปรุงอะไรเลย  และความคิดที่ว่าเมื่อได้รับการเลือกตั้งมาแล้วก็เดินหน้าทางการเมืองโดยไม่สนใจ  รับฟังประชาชนหรือแม้แต่คนเสื้อแดง  แม้แต่องค์กร นปช. แดงทั้งแผ่นดิน คิดว่าถ้าควบคุมแกนนำจำนวนหนึ่งในฐานะสมาชิกพรรคได้  ก็แปลว่าควบคุมคนเสื้อแดงทั้งประเทศได้  ขอโทษ!  คิดผิดแล้ว  เพราะคนเสื้อแดงเติบใหญ่ทั้งปริมาณและคุณภาพยิ่งกว่าจะเดินตามอย่างเชื่อง ๆ  ไม่ใช่จะให้ใครมาสั่งการที่ไม่มีเหตุผลหรือไม่สอดคล้องความเป็นจริงแล้วเขาจะทำตามนะ  อย่าว่าแต่พรรคเลย  แกนนำก็สั่งการโดยไม่มีเหตุผลไม่สอดคล้องความจริงก็สั่งการไม่ได้

ในด้านลบ
อาจจะมองว่าทำให้พรรคการเมืองที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยอ่อนกำลังลง  ครั้งนี้ไม่น่าจะเสียหายอะไรมากมาย  ดีเสียอีกที่ผลการเลือกตั้งจะส่งสัญญาณเตือนพรรคเพื่อไทยให้ปรับปรุงทั้งในมิติเรื่องการคัดเลือกผู้สมัคร สส.  การตรวจสอบ สส.  และความสัมพันธ์ระหว่างพรรค,  ผู้สมัคร สส. กับประชาชนและองค์กรประชาชนคนเสื้อแดง  จะทำให้ยกระดับการทำงานของพรรค  ของ สส. ในแง่ความสัมพันธ์กับประชาชนและประสิทธิภาพการทำงานของ สส. ของพรรคของรัฐบาล  ก็น่าจะทำให้อนาคตฝ่ายประชาชนดีขึ้น  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net