ชาวบ้านลุ่มน้ำโขงเหนือ-อีสาน บุกยื่นหนังสือ ช.การช่าง ค้านเขื่อนไซยะบุรี

เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จี้ ช.การช่าง ยุติการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในลาว ชี้ยังไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งโครงการเดินหน้า เมินมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง

 
 
หลังจากมีการลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ระหว่าง บริษัท ช.การช่าง (ลาว) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.ช.การช่าง กับบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ (ลาว) โดยมีมูลค่าสัญญาประมาณ 51,824.64 ล้านบาท เมื่อวันที่ 17 เม.ย.55 ที่ผ่านมา ถือเป็นการละเมิดมติที่ประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ที่ 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง อันได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ให้ทำการศึกษาผลกระทบเพิ่มเติม
 
นอกจากนั้น พนมเปญโพสต์ของกัมพูชายังมีรายงานข่าวว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรี ที่จะสร้างขึ้นบริเวณภาคเหนือของ กัมพูชา ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากบรรลุข้อตกลงสัญญาการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว
 
วันนี้ (24 เม.ย.55) เมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ราว 60 คน รวมตัวหน้าอาคารสำนักงานใหญ่ บมจ.ช.การช่าง (CK) เพื่อยื่นหนังสือต่อผู้บริหารและผู้ถือหุ้น เรียกร้องให้บริษัทยุติการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว หลีกเลี่ยงการสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน และประเด็นที่จะสร้างความขัดแย้งในภูมิภาค
 
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงมองว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีจะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อ ระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง การอพยพของพันธุ์ปลา การประมง การเกษตร และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขง ที่มีแม่น้ำโขงเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต อันจะส่งผลไปสู่การบังคับให้อพยพย้ายถิ่น และการขาดแคลนอาหาร ตลอดทั้งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงดินแดนของประเทศด้วย
 
จากนั้นได้มีการอ่านแถลงการณ์ประณามการละเมิดข้อตกลงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ระบุข้อเรียกร้อง 1.บริษัท ช.การช่าง หยุดโครงการเขื่อนไซยะบุรีทันที พร้อมทั้งระงับการก่อสร้างในพื้นที่ จนกว่าการศึกษาผลกระทบของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะแล้วเสร็จ มีการเผยแพร่ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน และมีส่วนร่วม 2.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เนื่องจากโครงการยังไม่ได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงทั้ง 4 ประเทศ
 
3.ธนาคารกรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงเทพ ระงับและยกเลิกการปล่อยเงินกู้เพื่อการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เพื่อหยุดสนับสนุนการลงทุนที่ฉวยโอกาสจากประเทศเพื่อนบ้าน 4.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรเข้าไปตรวจสอบบริษัทที่จดทะเบียน ให้คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการลงทุน เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล โดยเฉพาะมาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
 
“เขื่อนไซยะบุรีจะทำลายระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขงหลายล้านคน เป็นความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง กว้างขวาง และไม่อาจแก้ไขกลับคืนได้” แถลงการณ์ระบุ
 
 
ต่อมา เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้เดินทางไปชุมนุมที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ธนาคารไทยที่ปล่อยเงินกู้ในก่อสร้างโครงการ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ระงับเงินกู้แก่ บมจ.ช.การช่าง (CK) ในการสร้างเขื่อนไซยะบุรี
 
นอกจากนั้นเครือข่ายฯ ยังจะมีการทำหนังสือส่งไปยังธนาคารที่ปล่อยกู้ให้แก่โครงการดังกล่าว ให้ระงับและยกเลิกการปล่อยเงินกู้ รวมทั้งทำหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์ ให้มีการตรวจสอบการประกอบกิจการที่ควรคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลแม้จะเป็นการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน
 
ทั้งนี้ โครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำไซยะบุรี ถูกต่อต้านจากกลุ่มองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศลุ่มน้ำโขง เพราะการก่อสร้างเขื่อนใดๆ บนแม่น้ำโขงต้องตกลงกันให้ได้ทั้ง 4 ประเทศก่อน และก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.54 ประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้มีมติให้ทบทวนการประเมินผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงใหม่อย่างรอบด้าน โดยประเทศสมาชิกยังไม่ให้ฉันทามติต่อการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีแต่อย่างใด
 
ภาพ: ข้อมูลโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขง จาก http://www.stimson.org/infographics/interactive-mekong-map
 
สำหรับ โครงการเขื่อนไซยะบุรี มีบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์เป็นผู้รับสัมปทานผลิตไฟฟ้าซึ่ง บมจ.ช.การช่างถือหุ้นในไซยะบุรี พาวเวอร์ ราว 50%, บริษัท นทีซินเนอร์ยี่ จำกัด ถือหุ้น 25%, บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ถือหุ้น 12.5%, บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL ถือหุ้น 7.5%  และ บริษัทพี.ที.คอนสตรัคชั่นแอนด์ อิริเกชั่น ถือหุ้น 5%
 
โครงการนี้มีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ มีสัญญาขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 1,220 เมกะวัตต์ โดยจะขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าลาว 60 เมกะวัตต์ ตลอดอายุสัมปทาน 29 ปี ภายหลังการลงนามในสัญญาก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 8 ปี โดยจะเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมกราคม 2562
 
แถลงการณ์ระบุรายละเอียดดังนี้
 
 
 
 
แถลงการณ์
เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
ประณามการฝ่าฝืนมติ MRC ของบริษัท ช.การช่าง
กรณีเดินหน้าสร้างเขื่อนไซยะบุรี
 
ตามที่บริษัท ช.การช่างฯ ได้ลงนามกับบริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ เพื่อลงทุน ก่อสร้าง และพัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรี บนแม่น้ำโขงสายหลัก และวางแผนที่จะส่งไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศไทยนั้น
 
เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่ได้ติดตามกรณีการพัฒนาโครงการในแม่น้ำโขงมาตลอด มีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี 
 
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงมองว่า โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีจะสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อ ระบบนิเวศลุ่มน้ำโขง การอพยพของพันธุ์ปลา การประมง การเกษตร และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขง ที่มีแม่น้ำโขงเป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิต อันจะส่งผลไปสู่การบังคับให้อพยพย้ายถิ่น และการขาดแคลนอาหาร ตลอดทั้งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงดินแดนของประเทศด้วย
 
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ชาวบ้านได้รับรู้ถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อน4 แห่ง ในประเทศจีน ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงทางตอนบน ที่แม้จะอยู่ห่างไกลกว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรี แต่ได้สร้างผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างชัดเจน หากมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีสำเร็จ จะเกิดผลกระทบไม่เพียงแต่ประชาชนในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนริมแม่น้ำโขงในลาว กัมพูชา และเวียดนาม รวมถึงคนริมฝั่งแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง
 
เขื่อนไซยะบุรีจะทำลายระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขงหลายล้านคน เป็นความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง กว้างขวาง และไม่อาจแก้ไขกลับคืนได้
 
ที่สำคัญ การเดินหน้าก่อสร้างโครงการของ บริษัท ช.การช่าง ได้ละเมิดมติคณะมนตรีแม่น้ำโขง โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ซึ่งสมาชิก 4 ประเทศลุ่มน้ำโขง อันได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ที่ประชุมกัน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ที่ประเทศกัมพูชา โดยที่ประชุมมีมติให้ทำการศึกษาชิ้นใหม่ เพื่อประเมินผลกระทบจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงอย่างรอบด้าน และ 4 ประเทศสมาชิกเอ็มอาร์ซียังไม่ให้ฉันทามติต่อการก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรีแต่อย่างใด
 
การลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงการเขื่อนไซยะบุรี การดำเนินการก่อสร้างดังกล่าว จึงละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในภูมิภาคได้ในระยะเวลาอันใกล้
 
เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เรียกร้องให้
 
1        บริษัท ช.การช่าง หยุดโครงการเขื่อนไซยะบุรีทันที พร้อมทั้งระงับการก่อสร้างในพื้นที่ จนกว่าการศึกษาผลกระทบของเอ็มอาร์ซีจะแล้วเสร็จ มีการเผยแพร่ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างรอบด้าน และมีส่วนร่วม
 
2        การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระงับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี เนื่องจากโครงการยังไม่ได้รับฉันทามติจากประเทศสมาชิก MRC ทั้ง 4 ประเทศ
 
3        ธนาคารกรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และกรุงเทพ ระงับและยกเลิกการปล่อยเงินกู้เพื่อการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เพื่อหยุดสนับสนุนการลงทุนที่ฉวยโอกาสจากประเทศเพื่อนบ้าน
 
4        ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรเข้าไปตรวจสอบบริษัทที่จดทะเบียน ให้คำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลในการลงทุน เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล โดยเฉพาะมาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
 
เพื่อแม่น้ำโขงที่ไหลอย่างอิสระ หล่อเลี้ยงผู้คนแห่งสุวรรณภูมิสืบต่อไป
 
 
 
หมายเหตุภาพจาก: คำปิ่น อักษร
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท