Silence of the Lamp: อวสานสภาการหนังสือพิมพ์อังกฤษ (2)

 

ประวัติสภาการหนังสือพิมพ์อังกฤษ: 59 ปีของการเปลี่ยนรูปแปลงร่าง

สภาการหนังสือพิมพ์อังกฤษ (The Press Council) ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1953 จากการรวมตัวของนักหนังสือพิมพ์ เพื่อให้เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อที่ช่วยกำกับดูแลสื่อสิ่งพิมพ์ของอังกฤษให้ดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานสูงสุดของจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสื่อสิ่งพิมพ์ของอังกฤษหลังการก่อตั้งนั้นกลับตรงกันข้าม หนังสือพิมพ์หลายฉบับไม่ใส่ใจกับจรรยาบรรณสื่อ มีการละเมิดมาตรฐานแห่งวิชาชีพอยู่เสมอจนทำให้สาธารณชน นักการเมือง และรัฐบาลไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพของสภาการหนังสือพิมพ์ที่จะกำกับดูแลสื่อด้วยกันเอง

อย่างไรก็ตาม สภาการหนังสือพิมพ์อังกฤษจากยุคเริ่มแรกนั้นก็ดำรงอยู่มาได้นานถึงเกือบสามทศวรรษก่อนที่จะมีหน่วยงานรัฐ คือ The Home Office (ปัจจุบันเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม) พยายามเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาศึกษาว่าควรมีการตั้งองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายมากำกับดูแลสื่อแทนสภาการหนังสือพิมพ์หรือไม่

ผลการศึกษาของคณะกรรมการชุดนี้ตีพิมพ์เป็นรายงานออกมาในเดือนมิถุนายน 1990 สรุปว่าควรจะให้เวลาสภาการหนังสือพิมพ์ (Press Council) ต่อไปอีก 18 เดือนที่จะพิสูจน์ให้สาธารณชนเห็นว่ามีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสื่อด้วยกันเองได้ แต่ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นเช่นนั้นได้ ก็ควรจะมีการจัดตั้งองค์กรที่มีอำนาจตามกฎหมายมากำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อมิให้ละเมิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

ผลสรุปดังกล่าวนี้ ทำให้บรรดาองค์กรสื่อรีบเร่งเสนอตั้ง The Press Complaints Commission (PCC) มาแทนที่สภาการหนังสือพิมพ์เดิม เพื่อหลีกเลี่ยงการกำกับดูแลจากภายนอก

องค์กรกำกับดูแลสื่อภายใต้ชื่อใหม่ The Press Complaints Commission (PCC) ก่อตั้งปี 1991 โดยมีการส่งตัวแทนจากหนังสือพิมพ์ต่างๆ มาเป็นคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพ (Code of Practice) ในสามประเด็นหลัก คือ ความถูกต้องของข้อเท็จจริง, การเคารพความเป็นส่วนตัว และการไม่เลือกปฏิบัติ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดด้วยว่าองค์กรสื่อที่ถูก PCC วิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ปฏิบัติตามตามมาตรฐานวิชาชีพข้อใดก็ตาม จะต้องตีพิมพ์คำแถลงของ PCC ทั้งฉบับด้วย

ประธานคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพชุดแรกนี้ คือนางแพ็ตซี่ แชบแมน (Patsy Chapman) ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The News of the World

ตั้งแต่มีการแปลงร่างเปลี่ยนชื่อจาก The Press Council มาเป็น The Press Complaints Commission (PCC) ได้มีความพยายามปรับปรุงข้อกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพเพื่อตอบสนองต่อข้อร้องเรียนของสาธารณชน โดยเฉพาะในเรื่องของวิธีการหาข่าว และการเคารพสิทธิและสถานที่ส่วนบุคคล

ทั้งนี้ PCC เน้นย้ำว่านักข่าวต้องไม่หาข่าวด้วยวิธีดักฟังการสนทนาส่วนตัวของบุคคลใด ดักฟังโทรศัพท์ แอบอัดเทปการสนทนา หรือใช้ข้อมูลจากกลไกซ่อนเร้นใดๆ และต้องไม่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวและสถานที่ส่วนบุคคลซึ่ง PCC นิยาม “สถานที่ส่วนบุคคล” หมายถึง บ้านพักส่วนตัว รวมถึงบริเวณภายนอกอาคาร และสวน (แต่ไม่รวมถึงพื้นที่ติดกัน หรือลานจอดรถ), ห้องพักในโรงแรม (ไม่รวมพื้นที่อื่นๆ ของโรงแรม) และโรงพยาบาล หรือสถานพักรักษาตัวของผู้ป่วย

นอกจากนั้น PCC ยังได้กำหนดไว้ในมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพว่า การคุกคามของสื่อ มีความหมายรวมถึงการใช้ซูมถ่ายรูปเข้าไปในบริเวณสถานที่ส่วนบุคคลด้วย

กรณีร้องเรียนที่โด่งในช่วงต้นๆ ภายหลังเปลี่ยนชื่อจาก Press Council มาเป็น Press Complaints Commission (PCC) คือ คำร้องเรียนของเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุ๊คแห่งยอร์ค (Prince Andrew, Duke of York) ว่านักข่าวละเมิดความเป็นส่วนตัวของพระธิดาทั้งสองของพระองค์

ปี 2006 PCC ได้รับคำร้องเรียนมากกว่า 3,000 เรื่องจากประชาชนผู้บริโภคสื่อ โดยจำนวน 2 ใน 3 ของคำร้องเรียนเป็นเรื่องที่สื่อนำเสนอข่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง, จำนวน 1 ใน 5 ของคำร้องเรียนเกี่ยวข้องกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคล กรณีอื่นๆ ที่เหลือนั้นรวมไปถึงการไม่ให้โอกาสผู้เสียหายได้ตอบโต้ การคุกคามประชาชน และการซ่อนเร้นอุปกรณ์ในการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ทั้งนี้ รายงานของ PCC ระบุว่าสามารถดำเนินการต่อข้อร้องเรียนจนเป็นที่พอใจของผู้ร้องเรียนถึงร้อยละ 90

ในปี 2007 PCC ปรับปรุงเพิ่มเติมเนื้อหาในอารัมภบทของข้อกำหนดมาตรฐานวิชาชีพสื่อว่า "นักข่าวทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องรักษามาตรฐานสูงสุดแห่งวิชาชีพ...มาตรฐานทางจริยธรรม ปกป้องสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของสาธารณชน"

เดือนตุลาคม 2009 ข้อเขียน Jan Moir ในหนังสือพิมพ์เดลี่ เมล์ (Daily Mail) ที่วิพากษ์วิจารณ์สาเหตุการเสียชีวิตของ Stephen Patrick David Gately นักดนตรีวง Boyzone ว่าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตแบบรักร่วมเพศของเขานั้น สร้างความไม่พอใจให้กับแฟนเพลงและผู้อ่านทั่วไปอย่างยิ่ง ทั้งนี้ PCC ได้รับคำร้องเรียนจากผู้อ่านมากกว่า 25,000 คน

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ บารอนเนส บัสคอม ประธาน PCC ในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์กับวิทยุบีบีซีว่า คณะกรรมการสอบสวนของ PCC พบว่าหลายข้อความที่ปรากฏในบทความชิ้นนี้ "น่ารังเกียจอย่างยิ่ง" แต่ถือเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของ Jan Moir

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของสื่อที่ปรากฏต่อสายตาสาธารณชน โดยเฉพาะสื่อใหญ่ๆ อย่าง News of the World นั้นสวนทางโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่ PCC ประกาศว่าเป็น “มาตรฐานวิชาชีพ”

นักข่าวของ News of the World กระทำการทุกประการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ต้องการ ทั้งดักฟังโทรศัพท์ ทั้งติดสินบนเจ้าพนักงาน ทั้งละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รุกล้ำสถานที่ส่วนบุคคล และวิธีการอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานวิชาชีพสื่อ

เมื่อพฤติกรรมดังกล่าวเหล่านี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ทั้งประชาชน นักการเมือง และผู้นำรัฐบาล ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงบทบาทที่ไร้อำนาจของ PCC ต่อพฤติกรรมของนักข่าวของ News of the World จนทำให้บารอนเนส บัสคอม (Baroness Buscombe) ประธาน PCC ต้องแถลงขอโทษต่อสาธารณชนและประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ บารอนเนส บัสคอม ยอมรับในการให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ว่า PCC ไม่มีอำนาจพอที่จะไปจัดการกับบรรดาหนังสือพิมพ์ที่เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้ PCC ด้วย

PCC มีกรรมการ 17 คน ส่วนใหญ่มาจากบุคคลภายนอกที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องในองค์กรสื่อ ทั้งนี้เพื่อความเป็นอิสระในการทำงาน ประธาน PCC ได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นสมาชิก PCC

ลอร์ด ฮันท์ (Lord Hunt) ผู้มารับตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์ต่อจากบารอนเนส บัสคอม เป็นนักกฎหมาย นักการเมือง และอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลของนางมาการ์เร็ต แทตเชอร์ และนายจอห์น เมเยอร์

เขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian ว่าเขาตัดสินใจมารับตำแหน่งนำในองค์กรที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงนี้ เพราะเขามีความเชื่อมั่นในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการกำกับดูแลกันเองของสื่อ เขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะมีการใช้องค์กรที่มีอำนาจทางกฎหมายมาควบคุมสื่อ

ลอร์ดฮันท์เข้ามารับตำแหน่งประธาน PCC เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2011) และประกาศยุติบทบาทของ PCC ในเดือนมีนาคม 2012 ที่ผ่านมา โดยแถลงว่าการยุติบทบาทของ PCC ครั้งนี้ ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การก่อร่างสร้างองค์กรใหม่ที่จะกำกับดูแลสื่อ ทั้งนี้ทรัพย์สินและเจ้าหน้าที่ของ PCC จะถูกโอนย้ายไปอยู่กับองค์กรที่จะเกิดขึ้นใหม่แบบมี “เขี้ยวเล็บ”

แต่คำประกาศและคำมั่นสัญญาของลอร์ดฮันท์นั้นไม่ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับสาธารณชน หรือแม้แต่บรรดานักข่าวเลย

สาธารณชนกลับวิพากษ์วิจารณ์ว่าว่า PCC ชิงปิดตัวก่อนที่จะมีคำพิพากษาคดีละเมิดจรรยาบรรณสื่อของ News of the World และการประกาศของ PCC ที่จะเปลี่ยนรูปไปเป็นองค์กรใหม่พร้อมทีมงานชุดเดิมนี้ เป็นการเทเหล้าเก่าลงขวดใหม่

ขณะที่สหภาพนักข่าวแห่งชาติ (National Union of Journalists: NUJ) ซึ่งระบุว่ามีสมาชิก 38,000 คน ออกแถลงการณ์แสดงความเห็นต่อการประกาศเปลี่ยนรูปของ PCC ว่า สหภาพนักข่าวฯ ไม่เชื่อว่าการเปลี่ยนชื่อองค์กรจะทำอะไรได้มากไปกว่าการตอกย้ำความผิดพลาดที่เกิดขึ้นซ้ำซากในอดีต

อย่างไรก็ตาม สหภาพนักข่าวฯ แนะนำว่าองค์กรใหม่ที่จะเปลี่ยนรูปมาจาก PCC นี้ นอกจากต้องปลอดจากการแทรกแซงของอำนาจรัฐ และนักการเมืองแล้ว จะต้องปลอดจากการแทรกแซงของเจ้าของสื่อและบรรณาธิการด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท