Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชนเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมการสร้างเขื่อนนั้นมักเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นับแต่มีโครงการก่อสร้างเขื่อนขึ้นในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2467 (เขื่อนพระราม 6 จ.อยุธยา) ในยุคแรก ๆ ของการสร้างเขื่อนในประเทศไทย อาจจะไม่ได้รับการต่อต้านมากนัก เพราะประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบที่จะตามมา และไม่เคยเห็นตัวอย่างอย่างเป็นรูปธรรมมาก่อน ที่สำคัญได้รับการโฆษณาชวนเชื่อจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งแต่ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคยันท้องถิ่น ว่าเขื่อนนั้นดีเลิศประเสริฐศรียิ่งนัก

ข้ออ้างของการสร้างเขื่อนที่สำคัญ คือ เพื่อการชลประทาน การผลิตไฟฟ้า การประมง การป้องกันอุทกภัย และการผลักดันน้ำเค็ม แต่ทว่าอีกด้านหนึ่ง เขื่อนก็ก่อให้เกิดหายนะทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมนุษย์ สัตว์น้ำและสัตว์ป่า ที่ดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ของผืนน้ำและผืนป่า หลายพื้นที่ต้องไล่รื้ออพยพชาวบ้านให้ไปอยู่ที่อื่น หรือต้องหลีกทางอันเป็นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารให้กับสิ่งปลูกสร้างขนาดยักษ์ แต่กลับสร้างประโยชน์ให้มีการคอรัปชั่นกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ตัวใหญ่ยันถึงตัวเล็ก เพราะฉะนั้นจึงเกิดการต่อต้าน การสร้างเขื่อนที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

หลายเขื่อนในประเทศไทยได้รับการคัดค้านการก่อสร้างอย่างรุนแรง เช่น เขื่อนเหวนรก เขื่อนแก่งกรุง เขื่อนน้ำโจน เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนคลองนางน้อย เขื่อนบาโหย เขื่อนรับร่อ เขื่อนแม่ละเมา เขื่อนน้ำปาย 1-3 และเขื่อนแม่ลามาหลวง จนรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ ที่ต่อต้านเขื่อนอย่างเข้มแข็ง

นักสร้างเขื่อนทั้งหลายมักไม่ค่อยสนใจต่อผลกระทบที่จะตามมา หรือสภาพที่ควรอนุรักษ์หรือรักษาไว้ในบริเวณพื้นที่ที่เสนอที่จะสร้างเขื่อนเลย คิดอยู่อย่างเดียวว่าจะผลาญงบประมาณโดยใช้เขื่อนเป็นข้ออ้างได้อย่างไร  เช่น “เขื่อนน้ำโจน” ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันพื้นที่เหล่านั้นได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกไปแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นมีความพยายามที่จะก่อสร้างเขื่อนบริเวณนั้นให้ได้ แต่ก็ได้รับการต่อต้านอย่างหนักจากภาคประชาชน จนคณะรัฐมนตรีต้องมีมติระงับการสร้างเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2531 ซึ่งเขื่อนดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้พยายามผลักดันให้มีการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าปิดกั้นลำน้ำแควตอนบน บริเวณเขาน้ำโจน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ. กาญจนบุรี แต่ฝ่ายนักอนุรักษ์คนสำคัญ เช่น สืบ นาคะเสถียร หมอบุญส่ง เลขะกุล ได้เข้าคัดค้านอย่างเต็มที่ เนื่องจากการสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 85,625 ไร่ ที่ระดับความสูง 370 ม. น้ำจะท่วมใจกลางป่าทุ่งใหญ่ฯ เป็นพื้นที่ประมาณ 80,000 ไร่ ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างและตัดไม้ออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำนานถึง 3 ปีครึ่ง เงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างกว่า 12,000 ล้านบาท เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 3.6 ของประมาณการความต้องการพลังงานไฟฟ้าปี 2532 การสร้างเขื่อนน้ำโจนก็คือ การทำลายป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งได้รับการประกาศจากองการณ์ยูเนสโกให้เป็น พื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลกในปัจจุบัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2555 ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการให้มีการก่อสร้าง “เขื่อนแม่วงก์” ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์และกำแพงเพชรได้ โดยมีข้อสมอ้างว่า เพื่อป้องกันน้ำท่วม และเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง โดยที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายก่อนเลย และที่สำคัญเหตุผลของการอนุมัติให้ก่อสร้าง ไม่สามารถตอบโจทย์หรืออรรถาธิบายเหตุผลที่แท้จริงในการก่อสร้างได้

โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ซึ่งกั้นขวางสายน้ำบริเวณต้นลุ่มน้ำสะแกกรัง มีปริมาณพื้นที่รองรับน้ำสูงสุดได้เพียง 258 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ในขณะที่ปริมาณน้ำที่ท่วมภาคเหนือตอนล่างถึงภาคกลางในปี 2554 ที่ผ่านมามีปริมาณนับหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เทียบกันไม่ได้กับปริมาฯน้ำที่เขื่อนแม่วงก์จะใช้เพื่อการป้องกันน้ำท่วมได้ ในขณะเดียวกันในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีเขื่อนเดิมอยู่แล้วหลายเขื่อน เช่น เขื่อนทับเสลา เขื่อนคลองโพธิ์ เขื่อนแม่กวง ซึ่งพื้นที่ที่กรมชลประทานใช้เป็นข้ออ้างในการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรก็อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันของเขื่อนแม่วงก์ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องสร้างเขื่อนเพิ่มเติมเข้าไปอีกในพื้นที่ดังกล่าว ที่สำคัญพื้นที่ดังกล่าวก็มิใช่พื้นที่แล้งซ้ำซากเหมือนภาคอีสาน แต่เกษตรยังสามารถทำนาได้ปีละ 2-3 ครั้ง เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์จึงไม่มีโดยสิ้นเชิง แต่ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในโครงการถึง 13,280 ล้านบาท และต้องสูญเสียพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ในความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ไม้เศรษฐกิจที่มีค่าสูง เช่น ไม้สัก และพันธุ์สัตว์ป่ามากกว่า 564 ประเภทในพื้นที่ดังกล่าวไปกว่า 13,000 ไร่

เหตุผลดังกล่าวสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน จึงได้มีข้อเสนอสำคัญขึ้นมาเพื่อนำไปสู่การลดปัญหาของความขัดแย้งกันของภาคประชาชนกับรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ นั่นคือ “การจำกัดการสร้างเขื่อน” โดยใช้มาตรการทางกฎหมายขึ้นมาเป็นข้อกำหนด เพื่อมิให้นักสร้างเขื่อนทั้งหลายเลิกคิดที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ได้อีกต่อไป ซึ่งจะได้หันไปพัฒนาหรือวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับเขื่อนหรืออ่างขนาดเล็กที่มีพื้นที่รองรับน้ำไม่เกิน 50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อไป ซึ่งพื้นที่เขื่อนหรืออ่างขนาดเล็ก มักเป็นที่พอใจของชาวบ้านและไม่ได้รับการต่อต้านจากนักอนุรักษ์มากนัก ร่างกฎหมายดังกล่าวมีทั้งหมด 7 มาตรา ซึ่งมาตราที่สำคัญ ๆ มีดังนี้

มาตรา 5  ห้ามหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอื่นใดของรัฐและหรือเอกชน เสนอหรือดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการก่อสร้างเขื่อนที่มีขนาดความจุของน้ำเกินกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไป

มาตรา 6  ห้ามก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ หรือพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่อนุรักษ์ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าตามกฎหมายเพื่อการนั้น

มาตรา 7 การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมการสร้างเขื่อนทุกประเภทจะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อนดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ และต้องจัดกระบวนการให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจโครงการหรือกิจกรรมทุกขั้นตอน และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนินการด้วย

ร่างกฎหมายดังกล่าวสมาคมจะเชิญชวนภาคประชาชนที่เห็นด้วยร่วมกันใช้สิทธิตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญในการเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายดังกล่าวต่อรัฐสภาต่อไป ซึ่งสมาคมและเครือข่ายนักอนุรักษ์ นักกฎหมาย จะได้ออกไปจัดเวทีเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ที่ดิน ให้กับประชาชนทั่วประเทศในเร็ว ๆ นี้ และจะตั้งโต๊ะล่ารายชื่อของประชาชนที่สนับสนุนแผนงานดังกล่าว จะได้มีส่วนร่วมในการเสนอกฎหมายดังกล่าวร่วมกันต่อไป ทุกคนจะได้มีส่วนร่วมในการปกป้องผืนป่าของชาติร่วมกันในอนาคต

ขณะเดียวกันในส่วนของมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ หากคณะรัฐมนตรีไม่ทบทวนโครงการดังกล่าวตามข้อเสนอของภาคประชาชน ก็จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการทางศาลปกครองในการฟ้องร้องเพื่อระงับโครงการดังกล่าว และหากประชาชนท่านใดต้องการมีส่วนร่วมในการยับยั้งโครงการดังกล่าวสามารถมอบอำนาจให้สมาคมเป็นตัวแทนไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้ โดยไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มหนังสือแต่งตั้งผู้แทนคดีได้ในเว็บไซด์ของสมาคมที่ www.thaisgwa.com แล้วกรอกข้อมูลให้ครบถ้วนพร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง และรีบส่งมาที่สมาคมตามที่อยู่ในแบบฟอร์มโดยเร็ว เพื่อที่เราจะได้หยุดยั้งโครงการเขื่อนแม่วงก์ของรัฐบาลร่วมกันต่อไป...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net