Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน www.pataniforum.com
 
นับตั้งแต่ 9/11 ระดับของการจัดตั้งผู้ก่อการร้ายดูเหมือนว่าจะลดลงไปอีก จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ตลอดระยะเวลาห้าปีที่ตาลิบันปกครอง มีผู้สมัครเรือนหมื่นได้รับการฝึกในค่ายขององค์กรก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน แต่หลัง 9/11 จำนวนผู้ได้รับการฝึกในค่ายเหล่านี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในถ้อยแถลงเมื่อไม่นานมานี้ของเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯประมาณการว่ามีนักรบไม่มากไปกว่า 2,000 นายที่ได้รับการฝึกในเขตป่าเขาทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน เขตที่มีค่ายผู้ก่อการร้ายที่หนาแน่นที่สุดในโลก นักรบที่ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวปากีสถานกล่าวว่าแคมป์ส่วนใหญ่จะมีคนอยู่ประมาณ หนึ่งถึงสามโหล (ถ้าแคมป์ใหญ่เกินไปจะเป็นเป้าที่ชัดเจนของดาวเทียมสอดแนมของสหรัฐฯและเสี่ยงต่อการถูกโจมตีด้วยมิสไซล์) ข้อมูลของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยังระบุว่า นักรบต่างชาติจำนวนหลักร้อยได้รับการฝึกในอิรัก แต่เส้นทางไปยังเขตดังกล่าวปิดกั้นโดยชนเผ่าต่างๆ ในจังหวัดอันบาร์ (Anbar) ที่ยอมวางอาวุธเมื่อปี 2006 ส่วนนักรบอีกหลายร้อยคน กล่าวกันว่าได้รับการฝึกในค่ายผู้ก่อการร้ายในเยเมนและโซมาเลีย ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าในโลกนี้แม้จะมีผู้ก่อการร้ายมุสลิมเป็นจำนวนหลายพันคน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นจำนวนที่มากอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็นับว่าลดน้อยลงมากจากเมื่อทศวรรษก่อนอย่างชัดเจน
 
ผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมพบว่าเป็นเรื่องยากเป็นอย่างยิ่งที่จะจัดตั้งในสหรัฐฯ ผู้นำอัลกออิดะห์ประกาศเชื้อเชิญให้คนอเมริกันมุสลิมโจมตีสหรัฐจากภายใน และรัฐบาลสหรัฐเองเคยระบุถึงความเป็นไปได้ของการก่อการร้ายอิสลามนิยมภายในประเทศที่จะเป็นภัยคุกคามที่รุนแรง ตัวอย่างเช่นเมื่อต้นปี 2003 โรเบิร์ต มูลเลอร์ (Robert Mueller) ผู้อำนวยการ FBI กล่าวต่อรัฐสภาว่า “จากการสืบสวนของ FBI พบว่ามีการเคลื่อนไหวของอิสลามนิยมสู้รบในสหรัฐ เราสงสัยว่าพวกสุดโต่งหลายร้อยคนเหล่านี้จะมีส่วนเกี่ยวพันกับอัลกออิดะห์” พวกตื่นตูมนอกรัฐบาลขยายจำนวนผู้ก่อการร้ายมุสลิมในสหรัฐให้มากขึ้นไปอีก เป็นจำนวนหลักพัน อย่างไรก็ตาม จำนวนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นจำนวนที่มากเกินความเป็นจริงทั้งสิ้น จากข้อมูลของกระทรวงยุติธรรม มีเพียงหนึ่งโหลเท่านั้นที่พอจะพิสูจน์ได้ว่ามีความเกี่ยวพันกับอัลกออิดะห์ในรอบห้าปีหลังกรณี 9/11 จากการสืบค้นข้อมูลจากข่าวและเอกสารกฎหมายของผม เดวิด ชานเซอร์ (David Schanzer) และอิบราฮิม มูซา (Ebrahim Moosa) แห่งมหาวิทยาลัยดูค พบว่ามีอเมริกันมุสลิมไม่เกิน 40 คนที่วางแผนและปฏิบัติการก่อการร้ายภายในประเทศ แทบทั้งหมดนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอัลกออิดะห์เลย 
 
หนึ่งเดือนหลังจากตาฮรี-อซาร์โจมตีที่ชาเปล ฮิลล์  ผอ. มูลเลอร์ มาที่นอร์ท คาโรไลนา และเตือนภัยความรุนแรงของอิสลามนิยมที่จะเกิดขึ้น “ทั่วทั้งประเทศ” แต่ก็โชคดีที่การคาดการณ์นี้ก็ยังคงผิดพลาดอยู่ดี
 
ถ้าเราเชื่อมโยงกรณีเหล่านี้กับบริบทที่กว้างกว่า การฆ่ากันตายทั้งหมดในสหรัฐหลัง 9/11 จนถึงสิ้นปี 2010มีจำนวน 150,000 ครั้ง หรือประมาณ 14,000 ครั้งต่อปี มีสาเหตุจากการก่อการร้ายอิสลามนิยมน้อยกว่า 3 โหล ส่วนหนึ่งที่มาของตัวเลขนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและสมาชิกของชุมชนที่ช่วยกันป้องกันไม่ให้แผนการก่อการร้ายประสบความสำเร็จ แต่เมื่อพิจารณาว่ามีชาวอเมริกันมุสลิมจำนวนไม่ถึง 200 คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุรุนแรงหลัง 9/11 และส่วนมากมาจากต่างประเทศนั้น ที่มาของตัวเลขที่เป็นอยู่ต้องให้เครดิตส่วนใหญ่ให้กับมุสลิมหลายล้านคนที่ไม่ปฏิบัติตามคำเรียกร้องให้ก่อการร้าย
 
แน่นอนว่า ยังคงมีผู้ก่อการร้ายที่ยังคงหลบซ่อนหรือถูกติดตามอยู่ หรือถูกเนรเทศหรือจำคุกด้วยคดีอื่นๆ ซึ่งไม่มีทางที่เราจะรู้จำนวนที่แท้จริงได้ทั้งหมด ดังนั้นจึงไม่มีทางที่จะขจัดความกลัวอย่างตื่นตระหนกเกี่ยวกับภัยคุกคามอย่างลับๆ ได้อย่างสิ้นเชิง ในทุกกรณี แผนการใช้ความรุนแรงเพียงครั้งเดียวก็นับว่ามากเกินไป และผมไม่สงสัยเลยว่าคนกลุ่มเล็กๆ เหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ ดังที่มากาเร็ต มีด นักมานุษยวิทยาเคยกล่าวในทำนองเดียวกันนี้ ผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมดูเหมือนจะยังคงฆ่าและทำร้ายคนทั่วโลกอยู่ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตามการก่อการร้ายเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ทุกๆ วันทั้งโลกมีคนเสียชีวิตราว 150,000 คน ศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติของรัฐบาลสหรัฐระบุว่า การก่อการร้ายเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตไม่ถึง 50 คนต่อวัน ถ้าไม่นับอิรัก ปากีสถานและอัฟกานิสถาน ตัวเลขก็จะลดลงไปอีกไม่ถึง 10 คนต่อวัน โดยเปรียบเทียบแล้ววันหนึ่งๆ ประชากรโลก 1,500 คนเสียชีวิตจากความรุนแรงที่ก่อโดยพลเรือนด้วยกันเอง ประมาณ 500 คนเสียชีวิตจากสงคราม ราว 2,000 คนจากการฆ่าตัวตาย และ 3,000 คนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน นอกจากนี้ประมาณ 1,300 คนเสียชีวิตเพราะภาวะทุโภชนาการ แม้กระทั่งในอิรักที่มีอัตราการก่อการร้ายสูงที่สุดในโลก การก่อการร้ายคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตจากความรุนแรงทั้งหมด กล่าวอีกนัยหนึ่ง การก่อการร้ายไม่ใช่สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของประชากรโลก ถ้าพวกเราต้องการรักษาชีวิตของมนุษยชาติไว้ เป็นเรื่องที่เหมาะสมยิ่งกว่าที่จะเอาเงินจากงบประมาณต่อต้านการก่อการร้ายมาซื้อมุ้งกันยุงให้กับประชาชน
 
ตาฮรี-อซาร์ เป็นอาสาสมัครเข้าร่วมญีฮาด ไม่มีใครจัดตั้งเขา ไม่มีองค์กรไหนต้อนรับเขา ไม่มีสหายร่วมสาบาน ตาฮรี-อซาร์ได้พบกับลัทธิก่อการร้ายอิสลามนิยมผ่านสื่อสารมวลชน แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้เขามีศรัทธาที่จะสละชีพเพื่อการนี้
 
อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่ความรู้ด้านศาสนาอิสลามของเขาที่มีอย่างจำกัดและสับสนอย่างที่สุด ตาฮรี-อซาร์ไม่สามารถระบุความแตกต่างระหว่างซุนนีย์และชีอะฮฺได้ และไม่ตระหนักว่าอัลกออิดะห์และนักรบซุนนีย์อื่นๆ ไม่ถือว่าเขาเป็นมุสลิมเพราะเขาเป็นชีอะฮฺ ตาฮรี-อซาร์ไม่รู้ภาษาอาหรับและในจดหมายที่เขียนด้วยมือจากเรือนจำเขาสะกดคำว่าอัลกออิดะห์ผิด เป็น “al-Quaeda” (ตัว “e” เป็นตัวอักษรที่ถูกต้องในการเขียนถ่ายทอดจากอักษรอาหรับ  “u” นั้นผิดอย่างชัดเจน เป็นไปได้ว่าเขาเขียนผิดจากความเคยชินที่โปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ดแก้ตัวสะกดให้ ซึ่งทำให้เห็นว่าตาฮรี-อซาร์เชื่อถือมากกว่าข้อมูลฝ่ายอิสลามใดๆ) ตาห์ริ-อซาร์อ้างอิงอัลกุรอ่านจากฉบับแปลภาษาภาษาอังกฤษโดยราชาด คาลิฟา(Rashad Khalifa) ผู้ที่ถูกลอบสังหารในอาริโซน่าเมื่อปี 1990 ซึ่งลูกศิษย์ของคาลิฟา กล่าวหากลุ่มอัลกออิดะห์ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนี้ จดหมายของตาฮรี-อซาร์จากเรือนจำได้ให้รายชื่อเพลงและอัลบัมที่เขาชอบฟัง ทั้งที่นักรบอิสลามนิยมมองว่าเพลงตะวันตกนั้นเป็นเรื่องผิดศีลธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตาฮรี-อซาร์ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับอุดมการณ์อิสลามนิยมที่เขาปรารถนาที่จะฆ่าเพื่อและอุทิศชีวิตให้
 
ถ้าผู้ก่อการร้ายอย่างตาฮรี-อซาร์ได้รับการจัดตั้งผ่านอินเตอร์เน็ตและหนังสือ ทำไมจึงไม่มีการโจมตีมากกว่านี้? อะไรหยุดประชาชนไม่ให้เข้าร่วม? ผมคิดว่ามีสาเหตุ 5 ประการด้วยกัน
 
ประการแรกและสำคัญที่สุด คือ ชาวมุสลิมต่อต้านความรุนแรงของการก่อการร้าย จากการสำรวจ ความคิดเห็นของแกลลอปและพิว (Gallop and the Pew Global Attitudes Project) ชี้ให้เห็นว่ามีคนจำนวนน้อยในชุมชนมุสลิมเท่านั้นที่สนับสนุนการโจมตีพลเรือน (ในทางกลับกัน การสำรวจเมื่อปี 2006 พบว่า มีชาวอเมริกันถึง 24 เปอร์เซ็นต์เห็นว่าการโจมตีพลเรือนเป็นสิ่งที่ชอบธรรม) หากแม้นเพียง10 เปอร์เซ็นต์ของมุสลิมพันล้านคนสนับสนุนการก่อการร้าย เราคงจะพบการก่อการร้ายมากกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นได้
 
คำตอบที่สองคือ การสนับสนุนความคิดราดิกาลของอิสลามนิยมส่วนใหญ่มักเป็นการสนับสนุนที่อ่อนแอ อัลกออิดะห์และบิน ลาเดนอาจจะเป็นชีค (sheik) แบบเดียวกับที่เชกูวาราและมัลคอมเอ็กซ์นั้นชิก (chic) คือเป็นวัตถุแห่งแรงบันดาลใจของวัฒนธรรมป๊อปมากกว่าที่จะเป็นแรงบันดาลใจของการต่อสู้ปฏิวัติ เจสสิกา สเทิน(Jessica Stern) ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการก่อการร้ายเปรียบเทียบเรื่องนี้กับวัฒนธรรมแรพแบบแก๊งสเตอร์ว่า “คนหนุ่มส่วนใหญ่ชื่นชมความคิดเรื่องญีฮาดแต่ไม่ได้กลายเป็นผู้ก่อการร้าย เหมือนกับเด็กหนุ่มจำนวนน้อยเท่านั้นที่ฟัง gangsta rap แล้วจะไปก่ออาชญากรรมอย่างที่เนื้อเพลงบอก” ความเป็น “ราดิกาลชีค” ปรากฏเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในเวปบอร์ดภาษาอาหรับหนึ่งที่มีการตั้งกระทู้เล่าประวัติของบินลาเดนในวัย 9 ขวบ ที่ในความฝันของเขามีเทวทูตมาบอกว่าเขาจะมีบทบาทสำคัญในการทำลายตะวันตก นักปฏิวัติอิสลามนิยมไม่ใช่ผู้ที่นำเสนอเรื่องราวอันน่าประทับใจนี้เพียงฝ่ายเดียว ผู้ตอบกระทู้ออนไลน์ที่ประทับใจเรื่องราวดังกล่าว แสดงความชื่นชมด้วยการโฟสต์ ภาพนางแบบหญิงที่มีผมยาวสลวยและนายแบบหนุ่มผมบลอนด์ลงในกระทู้ หรือผู้เขียนข้อความแสดงความคิดเห็นว่า “Hallelujah” ก็มีภาพลาย
เซ็นเป็นผู้หญิงผมบลอนด์ที่เปลือยหน้าท้อง เหล่านี้คือราดิกาลชีคในภาคปฏิบัติจริง ผู้คนที่ประทับใจบินลาเดนแต่ไม่จำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติหรือมาตรฐานทางศีลธรรมแบบอิสลามเดียวกันก็ได้และดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่ได้แปลเปลี่ยนการสนับสนุนทางสัญลักษณ์เป็นการปฏิบัติการทางยุทธศาสตร์ในโลกของความเป็นจริง
 
แม้กระทั่งในหมู่นักรบที่มีเป้าหมายสถาปนารัฐอิสลามแบบเดียวกัน อัลกออิดะห์ยังประสบกับการแข่งขันในขบวนปฏิวัติ นักปฏิวัติอิสลามนิยมก็ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน และนี่คือสาเหตุประการที่สามของสาเหตุที่ทำให้พวกเขามีจำนวนไม่มากนัก คู่แข่งที่สำคัญของอัลกออิดะห์คือนักปฏิวัติอิสลามนิยมท้องถิ่น อย่างพวกทาลิบันในอัฟกานิสถานหรือฮามาสในปาเลสไตน์ ซึ่งมีเป้าหมายที่ต่างไปจากเป้าหมายระดับสากลของอัลกออิดะห์และช่วงชิงเอาการสนับสนุนและฐานปฏิบัติการจากอัลกออิดะห์ พวกทาลิบันและฮามาสมีเป้าหมายในระดับพื้นที่ที่ชัดเจนและไม่ต้องการขยายความขัดแย้งที่จะรวมเอาชาติตะวันตกที่อยู่นอกอาณาเขตของพวกเขามาเข้าไว้ด้วย
 
นอกจากคู่แข่งที่เป็นนักปฏิวัติแล้ว อัลกออิดะห์ยังเจอคู่แข่งจากขบวนการอิสลามที่เสรีนิยมกว่า สาเหตุประการที่สี่ที่ทำให้ผู้ญีฮาดจำนวนน้อยคือส่วนผสมของการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและลักษณะอนุรักษ์นิยมทางวัฒนธรรมที่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวมุสลิมมากกว่าความรุนแรงที่ต่อต้านประชาธิปไตยของนักปฏิวัติ ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่าองค์การอิสลามที่สนับสนุนประชาธิปไตยเป็นไส้ศึกที่บ่อนทำลาย การใช้ความรุนแรงปฏิวัติ ในหลายกรณีก็เป็นดังนั้นจริงๆและพวกเขาก็ตกเป็นเป้าของความรุนแรงปฏิวัติมากกว่าเสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่นเมื่อเดือนมิถุนายน 2009 ชายหนุ่มคนหนึ่งพร้อมด้วยระเบิดเดินเข้าไปในอาคารของกลุ่มจาเมีย เนอีเมีย (Jamia Naeemia) ในลาฮอร์ ปากีสถาน หลังละหมาดตอนเที่ยงวัน เขามุ่งตรงไปยังห้องของผู้อำนวยการ คือซาร์ฟราซ เนอีมิ (Sarfraz Naeemi) นักวิชาการอิสลาม และจุดระเบิดซึ่งคร่าชีวิตของเนอีมิ และคนอื่นๆ พร้อมด้วยตัวเขาเองด้วย เนอีมิเป็นเป้าของการโจมตีเพราะเขาเป็นฝ่ายค้านการปฏิวัติอิสลามนิยมที่มีชื่อเสียง หลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้นเขาเข้าร่วมในการประชุมใหญ่ของนักวิชาการอิสลามที่ประณาม “การฆ่าผู้ที่มีความคิดไม่เห็นด้วย” ว่าเป็นการ “ต่อต้านอิสลาม” ถึงสองครั้ง และเนอีมิ มีบทบาทอย่างแข็งขันในพรรคการเมืองอิสลามที่พยายามสนับสนุนให้ใช้ชารีอะห์เป็นกฎหมายของประเทศ แต่ผ่านกระบวนการทางการเมืองแบบเลือกตั้ง ไม่ใช่ด้วยวิธีการปฏิวัติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามนักปฏิวัติ
 
ความกระวนกระวายต่อความไม่เป็นที่นิยมได้แบ่งแยกความเป็นเอกภาพของนักปฏิวัติ บางส่วนตอบรับกระแสด้วยการหันไปในแนวทางเสรีนิยมมากขึ้น ในขณะที่อีกฝ่ายยิ่งหันไปในทางที่จะทำให้สังคมบริสุทธิ์ผ่านความรุนแรงมากยิ่งขึ้น พวกเขามุ่งเป้าไปโจมตีร้านกาแฟซึ่งนักปฏิวัติมองว่าเป็นความเสื่อมทราม งานแต่งงานที่ไม่เป็นไปตามพิธีกรรมของพวกนักปฏิวัติและมัสยิดที่ไม่ได้เป็นไปตามแนวทางของพวกเขา แนวโน้มดังกล่าวเป็นความพยายามอย่างตั้งใจที่จะ "ดึงมวลชนเข้าสู่สนามรบ” ตามคำของนักกลยุทธของอัลกออิดะห์นาม อาบู บัคร์ นาจิ (Abu Bakr Naji) ว่าไว้ “เราจะต้องทำให้การต่อสู้ครั้งนี้มีความรุนแรงอย่างถึงที่สุด ความตายดังกล่าวจะกระชากหยุดการเต้นของหัวใจ และคนทั้งสองกลุ่มจะตระหนักว่าการเข้าสู่การต่อสู้นั้นจะต้องนำไปสู่ความตาย นี่เองจะเป็นแรงขับที่ทรงพลังให้แต่ละคนเลือกที่จะต่อสู้เคียงข้างประชาชนที่ยึดถือสัจธรรมเพื่อให้ความตายเป็นความตายที่มีค่ายิ่งกว่าตายอย่างผิดที่สูญเสียทั้งชีวิตในโลกนี้และโลกหน้า”
 
แต่ยุทธศาสตร์นี้ก่อให้เกิดผลในแง่ลบเพราะยิ่งผู้ก่อการร้ายมีเป้าโจมตีเป็นมุสลิมมากเท่าไร ความนิยมในการก่อการร้ายก็ยิ่งลดน้อยลง นี่คือเหตุผลประการที่ห้าที่ทำให้จำนวนผู้ก่อการร้อยมีจำนวนไม่มาก ภายหลังผู้ก่อการร้ายระเบิดงานเลี้ยงแต่งงานในอัมมาน ความนิยมอัลกออิดะห์ในจอร์แดนลดลงถึงสองในสาม เมื่อผู้ก่อการร้ายระเบิดร้านกาแฟในคาซาบลังกา ความนิยมตัวบินลาเดนในโมร็อคโคลดลงถึงครึ่งหนึ่ง และนับตั้งแต่มีการก่อการร้ายในปากีสถาน การเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อพลเรือนขยายตัวขึ้นเป็นสองเท่า จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่ขบวนการปฏิวัติที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในตะวันออกกลางทุกวันนี้ไม่ใช่ขบวนการก่อการร้ายอิสลามนิยมแต่เป็นการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยในอาหรับสปริงค์ ที่เสนอแนวทางในการขับไล่รัฐบาลที่กดขี่และฉ้อฉลผ่านการชุมนุมประท้วงอย่างสันติ จะระเบิดพลีชีพทำไมในเมื่อการนั่งชุมนุมและเดินขบวนมีประสิทธิภาพมากกว่า
 
ข่าวร้าย โดยเฉพาะสำหรับคนอเมริกัน ก็คือ ผู้ก่อการร้ายอิสลามนิยมจะยังคงมีอยู่ต่อไป การจับกุมคุมขัง การสอบสวน “แบบเข้มข้น” หรือแม้กระทั่งความตายมิอาจหยุดยั้งพวกเขาได้ พวกเขายังคงถือว่าสหรัฐเป็นศัตรูตัวสำคัญและยังต้องการฆ่าคนอเมริกันให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และด้วยวิธีการที่เร้าอารมณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ยิ่งผมเข้าไปดูในเวปไชต์ วิดีโอ อ่านถ้อยแถลงและกระทู้ในเวปบอร์ด ผมก็ยิ่งตระหนักถีงความโหดร้ายของคนเหล่านี้ เรายังคงต้องจำการกับปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังอยู่ต่อไป
 
แต่ข่าวดีก็มีเช่นกัน ซึ่งเรามักมองข้าม คือ พวกผู้ก่อการร้ายมีไม่มากเท่าไรนักและโดยมากมักไร้ความสามารถ พวกเขาต่อสู้กันเองมากกว่าจะสู้กับคนอื่น และพวกเขาสู้กับรัฐที่สนับสนุนพวกเขาเป็นอันดับแรก พวกเขาต้องอยู่อย่างนอกกฎหมายในเกือบทุกประเทศในโลก และฐานที่มั่นของพวกเขาก็ถูกเบียดขับให้อยู่ในพื้นที่ที่แสนกันดารห่างไกล ที่ซึ่งยังต้องถูกจำกัดกิจกรรมการฝึกเพื่อไม่ให้เป็นเป้าของดาวเทียมสอดแนม ทุกปีหรือสองปีที่พวกเขาต้องออกปฏิบัติการโจมตี ณ บางแห่งบนโลก อันเป็นจุดหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้นประจำวัน และยังต้องอาศัยโชคอย่างมากที่จะทำให้การปฏิบัติการในระดับเดียวกับ 9/11 ประสบความสำเร็จสักคราหนึ่ง เพราะไม่มีการโจมตีในประวัติศาสตร์การก่อการร้ายอิสลามนิยมที่จะสามารถฆ่าผู้คนได้มากถึง 400 คนที่คราวเดียวและมีการโจมตีเพียงสิบกว่าครั้งที่สามารถฆ่าผู้คนได้มากกว่า 200 คน การโจมตีความอาวุธทำลายล้างสูงจะนำความหายนะมากกว่านี้ แต่ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะปฏิบัติการเช่นนั้น นี่ก็เป็นเหตุหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมมันจึงไม่เคยเกิดขึ้นเลย
 
เราจะยังคงเจอการก่อการร้ายและบางครั้งก็อาจจะประสบความสำเร็จที่การสังหารผู้คนนับร้อยหรือเป็นพันๆ คน ปีที่แล้ว ไฟซาล ชาห์ซาด (Faisal Shahzad) เกือบปฏิบัติในระดับนี้สำเร็จ ด้วยการขับรถที่อัดแน่นไปด้วยระเบิดไปจอดที่ไทม์สแควร์ นิวยอร์ค แต่ก็เหมือนผู้ก่อการร้ายที่ขับรถชนคนที่วิทยาเขตชาเปล ฮิลล์ ที่โอกาสเป็นตัวช่วยรอดพ้นมาได้ ชาห์ซาดใช้ประทัดที่ด้านเป็นตัวจุดชนวน เราอาจจะไม่โชคดีอย่างนี้ในอนาคต แต่ถึงแม้ว่าพวกเขาจะสังหารคนเรือนพันสำเร็จ การโจมตีอย่างนี้คงจะไม่ได้ทำลายวิถีชีวิตของเรา นอกเสียจากว่าเราจะยอมเปลี่ยนแปลงมันเสียเอง
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net