Skip to main content
sharethis
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีกว่า 200 คน ชุมนุมหน้าค่าย ตชด. จี้ย้ายสถานที่จัดเวทีเหมืองโปแตช ชี้จัดในสถานที่ราชการไม่เหมาะกับสถานการณ์
 
 
 
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 55 ที่ผ่านมา เวลา 10.30 น. ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวนกว่า 200 คน ได้ชุมนุมกันบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายเสนีย์รณยุทธ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี  เพื่อขอให้มีการย้ายสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ของ บริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ได้ทำการว่าจ้าง บริษัท ทีมคอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์แมเนจเม้นท์ จำกัด ดำเนินการจัดเวทีดังกล่าว ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคม 2555  ด้วยเห็นว่าการจัดเวทีในสถานที่ราชการไม่มีความเหมาะสม เพราะเป็นสถานที่เฉพาะส่วน ชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสีย และสาธารณะชนยากต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
 
การชุมนุมของกลุ่มชาวบ้านในวันนี้  ได้เคลื่อนขบวนไปรวมตัวกันบริเวณประตูทางเข้าค่ายเสนีย์ฯ มีรถเครื่องเสียงนำขบวน ส่วนชาวบ้านได้พร้อมใจกันสวมเสื้อเขียว และชูธงรณรงค์ประจำกลุ่ม เข้าไปเผชิญหน้ากับกลุ่มตำรวจตระเวนชายแดนนับ 100 นาย  ที่ได้ทำการจัดแถวตั้งรับไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในอาณาบริเวณค่าย  โดยแกนนำชาวบ้านได้ทำการปราศรัยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โปแตชฯ และเหตุผลที่มาของการชุมนุมในครั้งนี้ แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจนับร้อยนายที่ยืนประจันหน้ากับชาวบ้าน แต่เมื่อชาวบ้านทำการปักหลักชุมนุมไปได้สักพัก จึงได้มีนายตำรวจเข้ามาทำการประสานงานกับกลุ่มชาวบ้าน เพื่อตั้งวงพูดคุยเจรจาสร้างความเข้าใจต่อกัน
 
นางมณี   บุญรอด  แกนนำชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้กล่าวถึง การมาชุมนุมของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีในครั้งนี้ว่า
 
“พอกลุ่มทราบข่าวจากหนังสือที่ส่งไปยังผู้นำชุมชน และ อบต. มาว่า บริษัทจะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นเกี่ยวกับโครงการเหมืองโปแตช  ที่ค่ายเสนีย์ในวันที่ 24 พฤษภานี้  พวกเราจึงได้มีการนัดประชุมแล้วมีความเห็นร่วมกันว่าการใช้สถานที่ของค่ายตำรวจชายแดนจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการเหมืองโปแตชไม่มีความเหมาะสม เพราะเป็นสถานที่ราชการที่ลักษณะปิดมิดชิด ไม่เป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ชาวบ้าน และชาวอุดรที่มีความกังวลใจต่อโครงการเหมืองโปแตชจะสามารถเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างสะดวก พวกเราจึงมาขอให้ท่านเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธไม่ให้บริษัทเข้ามาใช้สถานที่ แล้วให้ย้ายไปจัดในที่ทุกๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าไปร่วมได้และต้องเป็นสถานที่ที่เปิดเผยต่อสาธารณะด้วย”
 
ทางด้าน พันตำรวจโท คำสอน  คำจันวงษา รองผู้กำกับการ 4  กองบังคับการฝึกพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน  ได้กล่าวถึงกรณีการเข้ามาขอใช้สถานที่ของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการเหมืองโปแตช จังหวัดอุดรธานีว่า
 
“ได้มีเจ้าหน้าที่บริษัทได้เข้ามาขอติดต่อใช้สถานที่เพื่อจัดเวทีจริง  แต่ว่าสถานที่ของทางกองฝึกไม่ว่างจึงได้มีการทำหนังสือยกเลิก ห้ามไม่ให้บริษัทเข้ามาดำเนินการใดๆ ในสถานที่ของกองฝึก เพราะเห็นว่าพ่อแม่พี่น้องบ้านเราไม่ต้องการ ซึ่ง ตชด. กับพ่อแม่พี่น้องก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนเป็นครอบครัวเดียวกันอยู่แล้วจึงมีความเห็นใจซึ่งกันและกัน และทางกองฝึกก็เกรงว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมา โดยรายเอียดทั้งหมดได้ทำเป็นหนังสือแจ้งไปยังบริษัทเรียบร้อยแล้ว”
 
ในส่วนของ นายสุวิทย์   กุหลาบวงษ์  ผู้ประสานงานศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ ภาคอีสาน ได้กล่าวถึง การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย กรณีโครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ว่า เป็นความพยายามปิดกั้นไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีเข้าร่วมในเวที
 
“เห็นได้ว่าทั้ง บริษัท เอพีพีซี และบริษัท ทีม ได้เลือกใช้ค่าย ตชด. เป็นสถานที่จัดเวทีรับฟังความเห็นกรณีเหมืองแร่โปแตชนั้น ได้ส่อเจตนาในการใช้สถานที่ปิด เพื่อที่จะพยายามสกัดกั้นไม่ให้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ซึ่งเป็นฝ่ายที่คัดค้านโครงการเข้าร่วมประชุมแสดงความเห็นด้วย และถ้าบริษัทมีความจริงใจที่จะจัดเวทีขึ้นมา ก็ไม่ควรประชาสัมพันธ์ผ่านทาง เว็บไซต์ และปิดประกาศตามสถานที่ราชการในท้องถิ่นพียงเท่านั้น  ควรจะเชิญนักวิชาการ และสาธารณชนในวงกว้างที่ความสนใจมาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นกันอย่างเปิดเผย และในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทาง ตชด. ที่ปฏิเสธไม่ให้บริษัทเข้ามาใช้สถานที่ เพราะว่าเรื่องเหมืองแร่โปแตช มันเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าบทบาทหน้าที่ของ ตชด. และไม่ว่าจะไปจัดที่ไหน กลุ่มชาวบ้านก็ยังคงตามไปคัดค้านอีกต่อไป” สุวิทย์ กล่าว
 
สุวิทย์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติม อีกว่า “สิ่งสำคัญที่ทำให้มองเห็นถึงสถานการณ์การคัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ดำเนินการภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญเสมอมานั้น แต่บริษัท และกพร. ยังมีความพยายามผลักดันอยู่ตลอด โดยบริษัทมักจะเกณฑ์คนจากนอกพื้นที่ให้มาร่วมเวทีเพื่อสนับสนุนโครงการ ส่วน กพร. กลับเพิกเฉยต่อการคัดค้านโครงการของชาวบ้าน โดยเห็นได้จากการที่ชาวบ้านรวบรวมรายชื่อกว่า 1,500 รายชื่อ ของผู้มีโฉนดที่ดินในพื้นที่ประกาศเขตคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองโปแตช และรายชื่อผู้มีส่วนได้เสียอีกกว่า 5,800 รายชื่อ แล้วส่งไปยัง กพร. แต่ผ่านไปนับ 4 เดือน กพร.กลับไม่ตอบคำถามต่อชาวบ้าน แต่กลับจะมาจัดเวที SEA เรื่องเหมืองโปแตช ที่ กพร. ในวันที่ 4 พฤษภาคมที่จะถึง  ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็จะต้องเข้าไปร่วมเพื่อแสดงจุดยืนของการคัดค้านโครงการเหมืองโปแตช” สุวิทย์ กล่าว
 
ทั้งนี้ สุวิทย์ ได้ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่า  การใช้วิธีการเลือกสถานที่จัดเวทีฯ ซึ่งเป็นสถานที่ราชการของ ตำรวจตระเวนชายแดนนั้น เป็นความพยายามของบริษัทโปแตช ที่จะสร้างคู่ขัดแย้งขึ้นมาระหว่างชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ กับตำรวจตระเวนชายแดน
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net