Skip to main content
sharethis
เนื่องในวันแรงงานสากล (1 พ.ค. 55) สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย, สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย และสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ ประกาศจุดยืน สร้างแนวร่วม เพิ่มพลังให้กรรมกรไทย “รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย สังคมไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการ” โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ ..
 
ประกาศจุดยืน สร้างแนวร่วม เพิ่มพลังให้กรรมกรไทย
“รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย สังคมไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการ”
 
วันกรรมกรสากลหรือวันเมย์เดย์ (May Day) มีจุดกำเนิดมาจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพในยุโรปและอเมริกา ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงจากสังคมเกษตรกรรมไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องประสพกับการถูกกดขี่ขูดรีดจากนายทุนโรงงานอุตสาหกรรมเช่นถูกบังคับให้ใช้แรงงานเยี่ยงทาส ต้องทำงานหนักถึงวันละ 14-16 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด รวมทั้งไม่มีสวัสดิการและมาตรฐานคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานแต่อย่างใด เป็นเหตุทำให้ผู้ใช้แรงงานมีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้การกดค่าจ้างแรงงานและให้ลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งแนวความคิดนี้ได้ขยายไปหลายประเทศทั้งยุโรป อเมริกา ละตินอเมริกา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2429 คนงานแห่งเมืองชิคาโกประเทศอเมริกา ได้นัดหยุดงานครั้งใหญ่และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้องระบบสามแปดคือทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมงและศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง การต่อสู้ครั้งนั้นอำนาจรัฐ นายทุนได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง
 
ต่อมาสหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้ฟื้นการต่อสู้เรียกร้องระบบสามแปดอีกครั้งโดยมีมติให้เดินขบวนทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 ขณะเดียวกันในช่วงนั้นก็เริ่มมีแนวคิดที่จะประกาศวันที่ที่แน่นอนให้เป็นวันสามัคคีต่อสู้ของขบวนการกรรมกรทั่วโลก จนกระทั่งพ.ศ.2432 ที่ประชุมของสภาสังคมนิยมสากล ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศสได้มีมติให้วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2433 เป็นวันเดินขบวนเรียกร้องให้ลดชั่วโมงทำงานตามที่สหพันธ์คนงานแห่งอเมริกาได้กำหนดไว้ และได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น “วันกรรมกรสากล” และเป็นวันเดินขบวนแสดงพลังของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก
 
สำหรับประเทศไทยการจัดงานวันกรรมกรสากลในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยครั้งแรกมีขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2489 ที่สนามหน้าสำนักงานไตรจักร์ (สามล้อ) พระราชวังอุทยานสราญรมย์จัดโดยสมาคมกรรมกรสงเคราะห์กรุงเทพรวมกับสมาคมไตรจักร์ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณสามพันคน ปีต่อมาการชุมนุมวันกรรมกรสากล พ.ศ.2490 มีขึ้นที่ท้องสนามหลวงภายใต้คำขวัญกรรมกรทั้งหลายจงสามัคคีกัน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นการแสดงพลังความสามัคคีของชนชั้นกรรมกรไทยครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกในประเทศไทยคือ สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย วันกรรมกรสากลปีนั้นมีผู้เข้าร่วมกว่าแสนคน นับเป็นการจัดงานที่มาจากจิตสำนึกของกรรมกรโดยกรรมกรและเพื่อกรรมกรอย่างแท้จริง
 
แม้ความขัดแย้งหลักในสังคมทุนนิยมจะเป็นความขัดแย้งระหว่างทุนกับกรรมกรก็ตาม แต่เงื่อนไขประวัติศาสตร์ที่เป็นจริงและดำรงอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านสังคมไทย อิทธิพลความคิดอุดมการณ์ศักดินาครอบงำสังคมไทยภายใต้ทุนนิยมล้าหลัง และมีความขัดแย้งระหว่างทุนเสรีนิยมกับทุนสามานย์อำมาตย์ที่เติบโตสะสมทุนผ่านกลไกอำมาตย์แบบอภิสิทธิ์ชนมากกว่าการแข่งขันอย่างเสรีและโปร่งใสสถานการณ์ปัจจุบันความขัดแย้งรองระหว่างทุนเสรีนิยมกับทุนสามานย์เป็นสิ่งที่กรรมกรต้องเลือกว่าจะเป็นแนวร่วมหรือสนับสนุนฝ่ายใด ความขัดแย้งระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบอำมาตยาธิปไตยเป็นสิ่งที่กรรมกรต้องเลือกว่าจะเป็นแนวร่วมหรือสนับสนุนฝ่ายใด ไม่มีความเป็นกลาง สองไม่หรือสองเอา?
 
บทเรียนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้สอนให้กรรมกรรู้ว่า เมื่อใดก็ตามที่สังคมเป็นประชาธิปไตย นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง เมื่อนั้นกรรมกรย่อมมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการรวมตัวเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมในสังคมและเพื่อชีวิตที่ดีกว่า เมื่อใดก็ตามที่อำนาจเผด็จการอำมาตย์ ทหารครอบงำสังคมไทย เมื่อนั้นกรรมกรต้องถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพที่พึงมี เช่นภายหลังคณะรัฐประหารรสช.ยึดอำนาจ รัฐบาลอานันท์ ปันยารชุณได้ออกกฎหมายยกเลิกพรบ.รัฐวิสาหกิจเพื่อกีดกันมิให้บทบาทสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจในการหนุนช่วยแรงงานภาคเอกชน และภายหลังรัฐประหาร19 กันยายน 2549 รัฐบาลอำมาตย์ อภิสิทธ์ ผู้ใช้แรงงานจำนวนมากโดยเฉพาะลูกจ้างเหมาค่าแรงที่ถูกเลิกจ้างด้วยข้ออ้างวิกฤตเศรษฐกิจ อีกทั้งยังมีกรณีปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้เครื่องกำเนิดเสียงทำลายโสตประสาทต่อผู้ชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมจากการถูกเลิกจ้างของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์
 
ประสบการณ์ของกรรมกรในชีวิตประจำวันนั้น มีกรรมกรจำนวนไม่น้อยได้ตระหนักในสิทธิและได้มีการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ยอมจำนนแต่อย่างใด มีการรวมกลุ่มเพื่อต่อสู้ในรูปแบบสหภาพแรงงานเหมือนเฉกเช่นชนชั้นนายทุน พวกอำมาตย์ที่รวมตัวในนามสภาอุตสาหกรรม สมาคมนายจ้าง สมาคมธนาคาร สมาคมหอการค้า ฯลฯ
 
ดังนั้น การต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยจึงมิใช่เรื่องไกลตัวจากชีวิตกรรมกรแต่อย่างใด เป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของกรรมกร มีเพียงสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและเสรีภาพเท่านั้นที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเติบโตของพลังชนชั้นกรรมกรได้อย่างกว้างใหญ่ไพศาลและเข้มแข็งได้ “กรรมกร” จึงต้องรัก ”ประชาธิปไตย” มิใช่สยบยอมเป็นทาสต่อ”อำมาตยาธิปไตย”
 
สถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยปัจจุบัน อยู่ในสภาพที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าความแตกแยกระหว่างคนไทยด้วยกันเองจะรุนแรงและลุกลามได้ถึงเพียงนี้ ประชาชนแตกแยกเป็นเสื้อสีแดง สีเหลือง หรือหลากสี ไม่ต้องกล่าวถึงความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราแทบจะมองไม่เห็นทางกลับคืนสู่ความเป็นชาติที่รักสงบเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต
 
แต่ใช่ว่าจะหมดสิ้นซึ่งทางออก โอกาสที่เราจะกลับคืนสู่ดินแดนแห่งความสงบ มีเอกภาพยังมีความเป็นไปได้ กรณีความมีเอกภาพในความหลากหลาย เป็นสังคมที่คนมีหัวใจแห่งเสรีภาพ เคารพให้เกียรติกัน ยอมรับในความแตกต่าง ทุกกลุ่มมีอิสระในการดำเนินชีวิตตามวิถีของตนโดยไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ที่สำคัญคือทุกคนต่างร่วมกันใช้ส่วนที่ดีในความแตกต่างนั้นเป็นพลังขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาประเทศอย่างเป็นเอกภาพโดยยึดหลักส่วนตัวขึ้นต่อส่วนรวม ส่วนรวมขึ้นต่อองค์กร
 
ประเทศไทยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการยึดอำนาจ ทำลายพรรคการเมือง นักการเมือง จับกุม เข่นฆ่าประชาชน ความขัดแย้งยังดำรงอยู่ ฉะนั้นเพื่อยุติปัญหาและนำพาประเทศเดินหน้าต่อไป ต้องเดินหน้าเข้าสู่การปรองดองด้วยการทำให้การปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยอำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร และสังคมไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการ ดังนี้
 
1) ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎร โดยเลือกตั้งประมุขฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการโดยตรง
 
2) ล้มล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549
 
3) กระบวนยุติธรรมกับผู้ต้องหา ให้สิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัว และนำคนสั่งฆ่าประชาชนมาลงโทษ 
 
4) นิรโทษกรรมให้กับนักโทษการเมือง
 
5) จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า หลักประกันที่ดินทำกิน หลักประกันที่อยู่อาศัย เรียนฟรีทุกระดับ รพ.พยาบาลประกันสังคม รักษาฟรีทุกโรค และระบบค่าจ้างที่เป็นธรรม
 
เราไม่ได้คาดหวังกับรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลไหนที่มาจากนายทุนหรือขุนศึกเพราะเขาเหล่านั้นไม่เข้าใจคำว่ากรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานดีพอเท่า ๆ กับการเข้าใจความต้องการของพวกเขาเอง กรรมกรเท่านั้นที่เข้าใจกรรมกรด้วยกัน พร้อมทั้งเข้าใจจุดประสงค์และความต้องการของกรรมกรดี หากเรารวมพลังแรงงานโดยลดความขัดแย้ง ทำในสิ่งที่ดีร่วมกันได้ สงวนจุดต่าง สร้างจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ “ประเทศชาติ ประชาชน” ความสงบสุขย่อมกลับคืนสู่สังคมของเราอย่างแน่นอน
 
สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย
สหพันธ์แรงงานกระดาษและการพิมพ์แห่งประเทศไทย
สหพันธ์แรงงานอาหารและเครื่องดื่มแห่งประเทศไทย
สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net