Skip to main content
sharethis

 

1 พ.ค.55  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลอาญา จะมีการสืบพยานจำเลยเป็นวันแรกในคดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยนายสมยศจะขึ้นให้การเป็นปากแรก  จากนั้นในวันพรุ่งนี้ (2 พ.ค.) จะเป็นปากของปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) และสุดสงวน สุธีสร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ.

ขณะที่วานนี้ (30 เม.ย.) กลุ่มแอคชั่นเพื่อประชาธิปไตย นำโดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ ได้เผยแพร่โปสเตอร์รณรงค์เป็นภาพผู้หญิงจากประเทศต่างๆ ถือป้าย No มาตรา 112 เพื่อเรียกร้องให้ไทยยอมรับเสรีภาพในการแสดงออก ในวาระที่มีการพิพากษาคดีของจีรนุช เปรมชัยพร ผอ.ประชาไทในวันดังกล่าว (ศาลเลื่อนเป็น 30 พ.ค.) และในวันที่ 30 เม.ย. เมื่อปี 2554 ยังเป็นวันที่นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ถูกจับกุมและคุมขังนับแต่นั้นมาโดยไม่ได้รับการประกันตัว ในความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ในฐานะที่เป็น บก.นิตยสารที่นำเสนอบทความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์

รายละเอียดมีดังนี้

 

 

 

เราเลือกที่จะเผยแพร่โปสเตอร์นี้ไนวันที่ 30 เมษายน ด้วยสองเหตุผล

ตั้งแต่การถูกจับครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2552 และขออนุญาติประกันตัวหลายครั้ง ในวันที่ 30 เมษายนนี้ จีรนุช เปรมชัยพร เวบมาสเตอร์ของสำนักข่าวประชาไท ผู้ได้รับรางวัล “ผู้หญิงกล้าหาญประจำปี 2555″ จะต้องรับฟังคำตัดสินคดีเธอที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้อง ภายใต้พระราชบัญญัติิว่าด้วยการกระทำความผิด เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ศ.2550) ซึ่งถูกเขียนขึ้นมาเพื่อควบคุมเสรีภาพทางอินเตอร์เนต และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ภายใต้มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทย เมื่อ 30 เมษายน 2554 สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักแรงงานที่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ถูกจับกุมด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และถูกส่งเข้าเรือนจำโดยทันที เขาถูกกลั่นแกล้ง บีบบังคับโดยหลายฝ่ายเพื่อให้ยอมสารภาพผิด สมยศยืนยันจะสู้เพื่อความยุติธรรมจนถึงที่สุด ศาลปฏิเสธคำขอประกันตัวเขามาแล้วถึง  8 ครั้ง

ARTICLE 19 (อาร์ติเคิล 19 หรือ มาตรา 19) องค์กรที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนที่สุดที่เคยมีมาจนถึงตอนนี้ว่าทำไมกฎหมายหมิ่นพระ บรมเดชานุภาพของไทยจึงละเมิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ในความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรขององค์กร ARTICLE 19 ที่มีความยาว 18 หน้า เกี่ยวกับคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข อาร์ติเคิล 19 ได้สรุปว่า “–จากความคิดเห็นที่ได้กล่าวมาในเอกสารชิ้นนี้ ด้วยความเคารพ พวกเราขอนำเสนอความคิดเห็นว่า ศาลควรจะยุติทุกคดีฟ้องร้องต่อนายสมยศ และสั่งให้ปล่อยตัวเขาออกจากเรือนจำโดยปราศจากเงื่อนไข ในการกระทำเช่นนี้ ศาลควรจะทำความคิดเห็นออกมาด้วยว่า บทลงโทษกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทุกคดี ควรจะได้มีการทบทวนโดยศาลรัฐธรรมนูญของไทย และดำเนินการเพิกถอนโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติของไทย”

ในเวทีผู้หญิงนานาชาติครั้งที่ 12 ที่จัดโดย AWID (สมาคมเพื่อการพัฒนาผู้หญิงนานาชาติ) ที่อีสตันบูล ประเทศตุรกี ระหว่างวันที่ 19-22 เมษายน 2555 มีผู้หญิง (และผู้ชายจำนวนหนึ่ง) ร่วม 2,500 คน จาก 154 ประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมในเวทีนี้พร้อมด้วยความวิตกกังวลกับวิกฤติเศรษฐกิจของคน 99% มาพร้อมกับเรื่องราวมากมายของการถูกกดขี่และเอารัดเอาเปรียบ และวิตกห่วงใยเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤติโลกร้อน การเพิ่มขึ้นของความรุนแรงและแนวการเมืองแบบทหาร

เวทีการประชุมนานาชาตินี้ ได้เปิดพื้นที่ให้การการดูแลชีวิตที่ดีขึ้นของผู้หญิง และจะทำอย่างไร ผู้หญิงในฐานะประชากรครึ่งหนึ่งของโลกจะสามารถมีส่วนร่วมในการนำโลกไปสู่ สภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม พลังแห่งการสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ และการเข้ารวมของผู้หญิงจากภาคตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ (MENA) ในเวทีนี้เป็นที่ประทับใจของทุกคน

ภายใต้คำขวัญของ AWID “แปรเปลี่ยนอำนาจทางเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างความก้าวหน้าทางเรื่องสิทธิและสังคมที่ยุติธรรมต่อผู้หญิง” เวที AWID ครั้งนี้ได้เปิดพื้นที่ให้ทั้ง LGBTQI และหญิงชายทั้งหลายได้พูด แลกเปลี่ยน แสดงนิทรรศการ และลงมือปฏิบัติการร่วมกัน วิทยากรหลายคนพูดย้ำกันมากเรื่อง “หยุดกลัว” กันได้แล้ว

ในวันสุดท้าย ผู้เขียนตัดสินใจทำป้าย ‘NO มาตรา 112′ และชาร์ตแบตกล้องจนเต็ม เพื่อเดินไปหาเพื่อนๆ และผู้เข้าร่วมประชุม ให้ถือป้ายนี้สำหรับถ่ายรูปเพื่อทำโปสเตอร์ เพื่อร่วมสนับสนุนการต่อสู้ที่เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ในประเทศไทย ผู้เขียนตื่นเต้นมากที่พบว่าหลายคนรู้เรื่องพิษภัยของมาตรา 112 มาบ้างแล้ว และบางคนยังได้ทักทายผู้เขียนด้วยคำ “สวัสดี” และ “ขอบคุณค่ะ/ครับ” บางคนทำงานองค์กรที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ ก็ยังขอมีส่วนร่วมด้วยการชูป้าย “NO มาตรา 112” ขึ้นบังหน้าเพื่อให้ถ่ายรูป

ผู้เขียนยินดีมากที่ได้พูดคุยกับคนเยอะมากช่วงถ่ายรูปเหล่านี้ ทั้งเพื่อนเก่่าเพื่อนแก่ที่รู้จักและเห็นหน้ากันมาหลายปี หรือไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมทั้งได้คุยกับคนรุ่นใหม่ที่พากันช่วยเพื่อนๆ มาถ่ายรูปด้วย จำได้ขึ้นใจต่อคำพูดของสาวน้อยคนสวยผู้หญิงที่ชูภาพด้วยความมั่นใจและถามว่า “นี่คือประเทศที่เหยียบธนบัตรก็ติดคุกได้ใช่ไหม?” และยังบอกว่า “ถ้ามีอะไรที่ฉันทำได้อีกบอกมาได้เลย”

ขอบคุณทั้ง 150 หญิงชาย ผู้เปิดหน้าและถือป้ายเพื่อยืนยันในเสรีภาพในการแสดงออก  ขอบคุณทุกคนด้วยหัวใจ

ในนามกลุ่มแอคชั่นเพื่อประชาธิปไตย

จรรยา ยิ้มประเสริฐ

* * * * * * * *

นอกจากโปสเตอร์แล้ว ทางผู้เขียนและองค์กร CCC ได้ทำแฟลชม๊อบ ‘Free Somyot‘ ในที่ประชุมแห่งนี้อีกด้วย 

ร่วมลงชื่อในข้อเรียกร้อง Petition: ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ปล่อยนักโทษการเมืองและนักโทษคดีหมิ่นฯ

* * * * * * * * *

เอกสารเพิ่มเติม:

เกี่ยวกับแอคชั่นเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย
มาตรา 112
The Librarian of Bangkok Prison
จีรนุช เปรมชัยพร and Prachatai:
การรณรงค์กรณีของจีรนุช Asian Human Right Commission has an appeal for Chiranuch
ARTICLE 19
Association of Women in Development (AWID)

This post is also available in: อังกฤษ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net