Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

        ประเทศที่ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือศาสนากลับมีดัชนีความโปร่งใสต่ำ แต่หลายประเทศที่ประชากรจำนวนมากระบุว่า “ไม่มีศาสนา” กลับมีความโปร่งใสสูง  ศาสนาจึงไม่ใช่เครื่องมือที่จะสามารถใช้เพื่อการปราบทุจริตและประพฤติมิชอบ  กระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจนต่างหากที่เป็นหลักประกันความโปร่งใส

        ผมได้เดินทางไปทัศนศึกษายังประเทศอินเดียในฐานะนักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส) รุ่นที่ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการ ปปช  ผมสังเกตว่าประชาชนที่นั่นส่วนใหญ่ต่างยึดถือศาสนาอย่างเหนียวแน่น  แต่กลับมีการทุจริตเกิดขึ้นมากมาย ดัชนีความโปร่งใส หรือ Corruption Perception Indexs (CPI) ก็ค่อนข้างต่ำ คือได้คะแนนเพียง 3.1 เต็ม 10 

        ผมได้เรียนถามท่านวิชา มหาคุณ กรรมการ ปปช.  ซึ่งเป็นอาจารย์ที่นำคณะทัศนศึกษาในครั้งนี้  ท่านให้ความกระจ่างว่า ศาสนานั้นน่าจะมีส่วนในแง่ของการป้องกัน  แต่เรื่องปราบปรามแล้วใช้ศาสนาอย่างเดียวน่าจะไม่เพียงพอ ต้องมีปัจจัยอื่นเสริมความเข้มแข็งด้วย

        ผมได้นำข้อมูลดัชนีความโปร่งใสประจำปี 2554 1> มาพิจารณาร่วมกับอัตราของผู้ไม่มีศาสนาในแต่ละประเทศ 2> พบว่าประเทศที่มีการทุจริต ขาดความโปร่งใสที่สุด 20 ประเทศแรก (ยกเว้นเกาหลีเหนือ) ประชากรเกือบทั้งหมด (99.4%) ต่างนับถือศาสนา มีเพียง 0.6% เท่านั้นที่ระบุว่าไม่มีศาสนา  แต่ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่มีความโปร่งใสที่สุด 20 ประเทศแรก (ยกเว้นนอร์เวย์และเดนมาร์ก) ปรากฏว่ามีประชากรถึง 30% ที่ไม่ได้นับถือศาสนาใด

        เมื่อพิจารณาในรายละเอียด เช่นในกรณีศาสนาพุทธที่ไทยคุ้นเคย จะพบว่าประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ล้วนเป็นประเทศที่ประชากรเกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธเช่นประเทศไทย แต่ก็มีดัชนีความโปร่งใสต่ำมาก  ประเทศที่เหนียวแน่วในศาสนาฮินดู เช่น เนปาล และอินเดีย ก็มีปัญหาการทุจริตมากมายเช่นกัน  แต่ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ระบุว่า ‘ไม่นับถือศาสนา’ กลับมีดัชนีความโปร่งใสสูงอยู่ระดับต้น ๆ ของโลก ประกอบด้วย ประเทศญี่ปุ่น เชค เอสโทเนีย เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้  นอกจากนี้ ประเทศที่มีประชากรเกินหนึ่งในสามจนถึงเกือบครึ่งหนึ่งที่ไม่มีศาสนา แต่ประเทศโปร่งใสมากประกอบด้วย ฝรั่งเศส มาเก๊า เบลเยียม เยอรมนี นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร

        ประเทศที่ในอดีตขึ้นชื่อด้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น เกาหลีใต้ และโดยเฉพาะฮ่องกง 3> ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการ ปปช. ถึงกับเชิญมาแสดงปาฐกถาเมื่อปี 2553 นั้น ไม่ได้ใช้ศาสนามากล่อมเกลาให้หยุดการทุจริต  เพราะประชาชนส่วนใหญ่ระบุชัดว่าไม่ได้นับถือศาสนาไหน  ความสำเร็จของการปราบปรามการทุจริตเกิดจากการที่หน่วยงานปรามปรามการทุจริตเร่งดำเนินการอย่างจริงจังโดยมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวด ทำให้โอกาสการทุจริตมีน้อยลงและค่อย ๆ ลดลงไปในที่สุด

        กลับกันมาดูประเทศที่อุดมด้วยศาสนา ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว พม่า เขมร เนปาล อินเดีย  ศาสนสถานก็มีอยู่แทบทุกหมู่บ้าน  มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาอย่างต่อเนื่องเคร่งครัด  แต่การที่ประชากรในประเทศเหล่านี้ระบุว่าตนเป็นศาสนิกชนก็ใช่ว่าจะปฏิบัติตนเป็นศาสนิกชนที่ดีที่ไม่กระทำการทุจริต  บางครั้งศาสนิกชนที่ดีบางส่วนก็อาจถือว่า ‘ธุระไม่ใช่’ จึงไม่ขัดขวางการทุจริตหรือไม่ร่วมกับสังคมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ  การทุจริตจึงเกิดขึ้นดาดดื่นในประเทศเหล่านี้เสมือนหนึ่งเป็นประเทศที่ไร้ศีลธรรมจรรยา

        ในอีกนัยหนึ่ง ศาสนาอาจเป็นเพียงเครื่องมือในการปกครองประเทศ ดูอย่างในประเทศอินเดีย ความเชื่อทางศาสนาสามารถใช้ควบคุมประชาชนให้อยู่ในกรอบ  แม้ประชาชนผู้อยู่ในวรรณะระดับล่างสุดก็ยังยึดถือในคำสอนของศาสนาโดยเคร่งครัดโดยไม่กล้ากบฏหรือปฏิวัติความคิดของตนเอง  การยึดมั่นในชนชั้นวรรณะตามหลักศาสนากลับเป็นการช่วยชนชั้นผู้ได้เปรียบได้มีโอกาสอยู่ในสถานะนี้นาน ๆ มากกว่าจะเพื่ออำนวยประโยชน์ทางโลกแก่ประชาชนส่วนใหญ่

        อย่างไรก็ตามบางท่านอาจโต้แย้งว่า คนที่ระบุตนว่าเป็นศาสนิกชนนั้น อาจเป็นเฉพาะในนามเท่านั้น แต่ไม่ปฏิบัติธรรม จึงไม่ได้นำคำสอนที่ดีงามต่าง ๆ ตามหลักศาสนาของตนมาใช้  แต่ก็น่าแปลกที่บุคคลที่ระบุว่าตนว่าไม่นับถือศาสนาใด กลับดูประหนึ่งมีธรรมในหัวใจ ปฏิบัติตนตามทำนองคลองธรรมได้อย่างไร 

        การรณรงค์กล่อมเกลาคนด้วยศาสนานั้น คงได้ผลกับเยาวชนเป็นหลัก  ถือเป็นการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมที่ดี เป็นมาตรการป้องกันในระยะยาว แต่ในท่ามกลางการทำสงครามกับการปรามปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการที่ประเทศชาติต้องเอาชนะให้ได้โดยเร็วก่อนจะสายเกินแก้นั้น  การปราบปรามมีความสำคัญที่สุด และเครื่องมือในการปราบปรามรวมทั้งการป้องกันก็คือ การมีระบบตรวจสอบการทุจริตที่มีประสิทธิภาพสูง ทันการและเที่ยงธรรม

        ยิ่งกว่านั้น ท่านอาจารย์วิชา มหาคุณ ยังได้ให้ข้อคิดสำคัญว่านอกจากการตรวจสอบแล้วก็ยังมีเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด  การให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เพียงพอแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการคุ้มครองพยาน และการไม่มีอายุความในคดีทุจริต เป็นต้น

        ประเทศไทยต้องเร่งรณรงค์ปราบปรามการทุจริตให้เข้มแข็ง ต้อง ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ คอยตรวจสอบ ตรวจจับการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างต่อเนื่อง-เกาะติด เผยแพร่ความรู้และเร่งสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนต่อการร่วมต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ  การจุดไฟให้สว่าง สร้างความโปร่งใสให้ขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ ความมืดก็จะหมดไป

        ผีย่อมกลัวแสงสว่าง!

 

 

หมายเหตุ

1> ดัชนีความโปร่งใส หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) ซึ่งดำเนินการทุกปีโดย the Transparency International โดยผลการสำรวจปีล่าสุด ปรากฏที่ http://cpi.transparency.org/cpi2011/results/#CountryResults

2> Wikipedia. Religions by Country. http://en.wikipedia.org/wiki/Religions_by_country

3> Change Fusion. แนวทางต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น กรณีศึกษา : ฮ่องกง & เกาหลีใต้ ข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์ http://www.spt-th.com/attachments/2403_8_%20Change%20Fusion.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net