May Day 2012 : ขบวนการแรงงานไทย ‘นับถอยหลังสู่จุดจบ’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผู้เขียนเขียนบทความชิ้นนี้ในฐานะผู้สังเกตการณ์ ‘ขบวนการแรงงาน’ ซึ่งไม่ใช่เป็นมุมมองของตัวคนงาน นักสหภาพ หรือนักกิจกรรมด้านแรงงาน อาจจะมองประเด็นไม่ครบถ้วน และพร้อมแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อขบวนการแรงงานไทย

โดยทรรศนะของผู้เขียนคิดว่า  ขบวนการแรงงานไทยกำลัง ‘นับถอยหลังสู่จุดจบ’ โดยมีปัจจัยดังต่อไปนี้

ความอ่อนแอของสหภาพแรงงานเอง

ปัจจุบันพบว่าการริเริ่มรวมตัวก่อตั้งสหภาพแรงงาน มักจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่คนงานพบปัญหาก่อน เช่น นายจ้างไม่จ่ายโบนัส หรือนายจ้างปรับลดสวัสดิการต่างๆ และเมื่อตั้งสหภาพแล้ว นายจ้างยังใช้มาตรการโต้กลับต่างๆ เช่น การเลิกจ้างแกนนำ ไม่ให้ความร่วมมือในการเจรจาต่อรองกับสหภาพแรงงาน สิ่งเหล่านี้มักจะทำให้คนงานเกิดอาการ ‘ถอดใจ’

รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจและความเข้าใจต่อสหภาพแรงงานในแง่ลบ ก็เป็นปัจจัยที่ทำคนงานไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมสหภาพแรงงาน

ทั้งนี้หากจะมีการตั้งสหภาพแรงงาน จะต้องคำนึงถึงการดำเนินการระยะยาว รวมถึงการประคองให้สหภาพแรงงานคงอยู่และดำเนินกิจกรรมได้เท่านั้น ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างในปัจจุบัน

การรุกคืบของ ‘ลัทธิเอ็นจีโอ’

การรุกเข้ามาขององค์กรให้ทุนต่างๆ เช่น ทุนทางด้านสุขภาพ (ที่เรียกรวมๆ ว่าเรื่อง ‘สุขภาวะ’ ) ทุนด้านการเมืองต่างๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างวัฒนธรรมการเขียนขอทุนให้กับองค์กรแรงงานหรือนักสหภาพแรงงานแทน

ทั้งนี้วัฒนธรรม ‘การจ่ายเงินเพื่อสร้างความเข้มแข็ง’ ของสหภาพแรงงาน ถูกกลับหัวกลับหางมาเป็น วัฒนธรรม ‘การขอเงินเพื่อสร้างความเข้มแข็ง’ แทน ซึ่งจะเป็นผลเสียในระยะยาวขององค์กรสหภาพแรงงาน ละเลยการจัดการบริหารองค์กรที่สำคัญ เช่น การจัดตั้งสมาชิกใหม่ๆ การจัดการศึกษา และการเก็บค่าสมาชิกเป็นต้น

รวมถึงความต่อเนื่องในการให้ทุนการต่อทุนโครงการปีต่อปี (หรือมากกว่านั้น) ซึ่งหากองค์กรแรงงานแขวนชีวิตไว้กับการขอทุนก็อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้เมื่อ ‘แหล่งทุนไม่ต่อโครงการ’

ทั้งนี้องค์กรสหภาพแรงงานเป็นองค์กรที่ต้องมีเป้าหมายในระยะยาว ดำเนินกิจกรรมด้วยลำแข้งตนเอง การเพิ่มปริมาณสมาชิกและการจัดเก็บค่าสมาชิกเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ทรัพยากร ‘นักสหภาพแรงงาน’ ถูกดึงเข้าสู่ภาค ‘เอ็นจีโอ’

ผู้นำสหภาพและแกนนำคนงาน ถูกดึงไปร่วมโครงการต่างๆ ของเอ็นจีโอ เช่น การปฎิรูปกฎหมายในภาพกว้าง เวทีเสวนาในส่วนกลาง ทำให้ผู้นำสหภาพและแกนนำคนงานทิ้งพื้นที่ปัญหา ละเลยการจัดตั้งในพื้นที่ของตัวเอง ละเลยการทำงานให้กับสหภาพแรงงานหรือกลุ่มแรงงานฐาน เป็นต้น

เล่นบทบาทที่ผิดฝาผิดตัว

ตัวอย่างเช่น บทบาทของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่มาเล่นบทบาทการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ผลักดันนโยบายเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ ส่วนปัญหาหลักของคนงานในภาครัฐวิสาหกิจไทยคือการแปรรูป และประสิทธิภาพขององค์กรรัฐวิสาหกิจ และการเข้ามาของคนงานจ้างเหมาช่วงในกิจการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งควรขับเคลื่อนปัญหาหลักขององค์กรก่อน

ทั้งนี้องค์กรสหภาพแรงงานควรทำการจัดตั้งเอาแรงงานข้ามชาติเข้าสู่สหภาพแรงงาน เช่นเดียวกับคนงานจ้างเหมาช่วง คนงานสัญญาระยะสั้นต่างๆ ส่วนบทบาทนักสังคมสงเคราะห์ควรให้องค์กรสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานข้ามชาติทำแทน (ร้องเรียนเรื่องปัญหาปัจเจกต่างๆ)

หรือประเด็นการนำองค์กรแรงงานเข้าไปทำงานร่วมในประเด็นที่กว้างเกินไป เช่น ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นต้น

ไม่มีการสร้างองค์ความรู้ด้าน ‘สหภาพแรงงาน’

สถาบันการศึกษาต่างๆ ไม่มีหลักสูตรการสอนเรื่องสหภาพแรงงานอย่างชัดเจน มีแต่เป็นหัวข้อในวิชารัฐศาสตร์ หรือในวิชาบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์

ปัญหาการจ้างงานไม่มั่นคง

เทรนด์ในระดับโลกสำหรับเรื่องการจ้างงานในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม คือการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่น การทำให้ต้นทุนในการจ้างเป็นต้นทุนที่ไม่คงที่ นายจ้างสามารถปรับลดคนงานออกได้ตลอดเวลา การจ้างงานแบบประจำจะหายไป เนื่องจากการทำงานในระยะเวลาที่นานขึ้น สวัสดิการต่างๆ ก็จะสูงขึ้น

การจ้างงานไม่มั่นคงแบบนี้เป็นผลเสียต่อองค์กรสหภาพแรงงานเนื่องจากมีการเปลี่ยนคนงานเข้าออกตลอดเวลา ส่งผลกระทบให้จำนวนสมาชิกสหภาพแรงงานลดลง และความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานก็จะหายไป 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท