Skip to main content
sharethis
 
 
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน, สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ (สอส.)  และสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ (สออส.) ได้จัดงานเสวนา “ผลกระทบคนงานลำพูนกับค่าจ้าง 300 บาท” ณ ห้องประชุม โรงแรมเดอะรีเจ้นท์ จังหวัดลำพูน 
 
วิสิษฐ์ ยาสมุทร ประธานสหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ กล่าวว่าผลกระทบต่อคนงานลำพูนกับนโยบายการขึ้นค่าแรง 40% ทั่วประเทศ ได้ส่งผลกระทบต่อคนงานคือถูกนายจ้างตัดสวัสดิการเพื่อแลกเปลี่ยนกับการขึ้นค่าแรง โดยบริษัทใช้วิธีการแนบเนียนทำให้พนักงานยินยอมตัดสวัสดิการ เช่นที่บริษัทที่ตนทำงานอยู่ ทั้งนี้การต่อรองกับนายจ้างยังไม่มีพลังพอเพราะการรวมตัวของสหภาพยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร แต่ในอนาคตสหภาพก็จะมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อไป 
 
อัครเดช ชอบดี ประธานสหภาพแรงงานอิเลคทรอนิคส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าสัมพันธ์ กล่าวถึงสถานการณ์ของบริษัทโฮยาฯ โดยประมาณ 2-3 เดือนแล้ว ที่โรงงานเลิกจ้าง เพราะอ้างขาดทุนจากน้ำท่วม ผู้บริหารใช้เทคนิคการเลิกจ้าง ให้หยุดอยู่บ้านก่อน ถ้าใครยินยอมจะได้เงินเพิ่ม 2 เดือน เป็นเทคนิคที่จูงใจให้คนงานยินยอมเอง ดูเหมือนไม่ได้บังคับ แต่และล่าสุดบริษัทได้เลิกจ้างตน ซึ่งเป็นประธานสหภาพฯ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยบริษัทอ้างว่าตนขาดงาน ทั้งที่ตนลางานถูกต้องตามระเบียบ 
 
ทั้งนี้อัครเดชวิเคราะห์ว่าอาจเป็นการที่ตนออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้บริษัทรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างได้กลับเข้ามาทำงาน จึงถูกเลิกจ้างในที่สุด
 
สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นการต่อสู้ของคนงานว่าการสู้กับทุนด้วยวิธีทางกฎหมายส่วนใหญ่จะทำได้ยาก การฟ้องศาลเพื่อให้รับแรงงานกลับเข้าไปทำงาน แต่ท้ายสุดแล้วอำนาจการตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับคนงานกลับเข้าทำงานกลับไปอยู่ที่นายจ้าง ไม่ใช่อยู่ที่ศาลหรือผู้พิพากษา ทั้งนี้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่ามีน้อยมากที่คนงานจะได้กลับเข้าไปทำต่อ การต่อสู้ของคนงานจึงจะใช้เรื่องกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่ได้ 
 
เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน กล่าวว่างานของสหภาพแรงงานเรื่องการจัดตั้งทางความคิดสำคัญมาก โดยเฉพาะสหภาพแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ต้องมีจิตสำนึกเป็นผู้นำ มีวุฒิภาวะ เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจการเมืองเสริมสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ไว้ ค้องสร้างความเข้มแข็งให้สหภาพแรงงานของตนรวมทั้งขยายเครือข่ายจัดตั้งไปยังโรงงานอื่นๆ
 
รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงตัวอย่างการรวมกลุ่มของคนงานที่ได้รับความเจ็บป่วยที่ฮ่องกงที่เข้าไปสู้ในกระบวนการของศาล นอกจากนี้แล้วยังมีการเคลื่อนไหวรณรงค์เป็นประเด็นสาธารณะ 
 
“ที่สำคัญคุณต้องมีจิตใจ คุณต้องออกมาเดินขบวน คุณต้องอยู่ในสื่อตลอดเวลา สร้างพื้นที่ และจิตสำนึกการต่อสู้ คุณต้องรักผู้นำ คุณต้องรักสหภาพฯ โดยให้ทุกคนมีวิธีคิดกระบวนการ ใช้ทุกวิธีการให้คนเกิดจิตสำนึก เคลื่อนต่อสู้ตลอดเป็นข่าวให้ได้” วรวิทย์กล่าว
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net