Skip to main content
sharethis

 ‘สุรพศ’ ตั้งคำถาม “สันติวิธี ความเป็นกลาง ความเป็นธรรม ที่เรามักพูดถึงในที่สุดแล้วมันสนับสนุนเสรีภาพและความเป็นธรรมจริงหรือไม่  ความเป็นกลางมีจริงหรือไม่”

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 ที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมสันติประชาธรรมเสวนา หัวข้อ “สันติวิธี ความเป็นกลาง ธรรมะ และความเป็นธรรม: บทบาทของพุทธศาสนาท่ามกลางวิกฤตทางสังคมและการเมือง ควรเป็นอย่างไร” ที่สวนเงินมีมา โดยพระไพศาล วิสาโล, สุรพศ ทวีศักดิ์ และวิจักขณ์ พานิช เป็นวิทยากร งานเสวนานี้ตั้งคำถามถึงความหมายของ “สันติวิธี” “ความเป็นกลาง” “ธรรมะ” และ “ความเป็นธรรม” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่พุทธศาสนิกชนมักนำมายึดเป็นทางออกในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง แต่บริบทความขัดแย้งที่ยากจะระบุว่าความเป็นกลางอยู่ที่ใด ทำให้คำเหล่านี้ถูกใช้และตีความอย่างสับสนในความหมายที่แท้จริง รวมทั้งสับสนกับบทบาทของพระพุทธศาสนาต่อสังคมว่าควรเป็นไปในทิศทางใด

เสรีภาพคือแก่นของพระพุทธศาสนา

สุรพศ ทวีศักดิ์ เริ่มการอภิปรายโดยวิเคราะห์พระพุทธศาสนา ว่าเป็นศาสนาที่มีนัยยะให้ความสำคัญกับเรื่องเสรีภาพ “วิมุติ” ซึ่งเป็นแก่นของหลักธรรมนั้นหมายถึงความหลุดพ้น หรือแปลได้ว่าเสรีภาพ ส่วน “ธรรมะ” เป็นคำที่มีมาก่อนสมัยพุทธกาลหลายพันปีและผ่านการตีความมาอย่างหลากหลายจนถึงปัจจุบัน หากมองตามพุทธประวัติแล้ว ธรรมะ คือ สัจจะ เสรีภาพ และเสมอภาค การแสวงหาสัจจะหรือความจริงนั้นคือทางที่จะนำไปสู่การพ้นทุกข์ ซึ่งการแสวงหาสัจจะจำเป็นต้องเป็นอิสระจากการครอบงำทางสังคม เช่น เจ้าชายสิทธัตถะมีเสรีภาพจากอิทธิพลของพ่อที่ประสงค์จะให้ครองราชย์ มีเสรีภาพจากอิทธิพลของอาจารย์ ความเชื่อ และลัทธิต่างๆ ขณะที่ไปศึกษาในหลายๆสำนัก จนค้นพบทางของตัวเอง พบอริยสัจ 4 และเป็นเสรีภาพจากกิเลส ส่วนความเสมอภาคในพระพุทธศาสนา หมายถึง ทุกคนมีเสรีภาพที่จะหลุดพ้นและเลือกทางเดินชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน

ตามหลักอริยสัจ 4 แล้ว การจะแก้ปัญหาได้ก็ต้องรู้ความจริงของปัญหาก่อน ในสภาพสังคมไม่มีเสรีภาพในการหาความจริงของปัญหา เช่นไม่สามารถพูดถึงความจริงเบื้องหลังรัฐประหารได้ หลักธรรมก็จะไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาสังคมได้ถึงแม้จะสอนธรรมะมาดีแค่ไหนก็ตาม

 “สันติวิธี” “ความเป็นกลาง” “ความเป็นธรรม” ต้องไม่ขัดแย้งหลักเสรีภาพ เสมอภาค

สุรพศกล่าวว่าถ้า “เสรีภาพ” และ “สัจจะ” ในพระพุทธศาสนามีนัยยะสนับสนุนเสรีภาพในสังคมประชาธิปไตย “สันติวิธี” “ความเป็นกลาง” “ความเป็นธรรม” ที่พูดกันในสังคมก็จำเป็นต้องยึดโยงกับหลักเสรีภาพ ไม่เช่นนั้นคำเหล่านี้ก็ควรถูกตั้งคำถาม ยกตัวอย่างเรื่องการแสดงความเป็นกลางล่าสุด รายงานของสถาบันพระปกเกล้าที่มีทางเลือกให้ทักษิณถูกเอาผิดหรือไม่ก็ได้ แต่กลับปิดทางเลือกไม่ให้เอาผิดอำมาตย์ เช่นการระบุว่าไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดคณะรัฐประหาร และไม่ควรแตะต้องมาตรา 112 หากเป็นกลางจริงๆต้องพูดถึงทุกฝ่ายได้อย่างเช่นที่นิติราษฎร์เสนอให้ทั้งทักษิณและคณะรัฐประหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่าเทียมกัน แล้วนักสันติวิธีได้ต่อสู้ให้สามารถพูดความจริงได้หรือไม่

สุรพศตั้งข้อสังเกตว่าความรุนแรงที่นักสันติวิธีพูดถึงมักจะเพ่งเล็งไปที่การชุมนุมของคนเสื้อแดง ขณะที่มองข้ามความรุนแรงในระดับอื่น เช่นการนำปืนนำรถถังออกมาก่อรัฐประหารเมื่อปี 49 นักสันติวิธียังดูจะคล้อยตามวาทกรรมกระชับพื้นที่ คืนความสุขให้คนกรุงเทพของรัฐบาล โดยไม่ตั้งคำถามว่าเป็นวาทกรรมที่แยกคนชนบทออกจากคนกรุงเทพฯหรือไม่ นอกจากนั้นยังมองคนเสื้อแดงโดยผนวกเรื่อง M79 ชายชุดดำ ก่อการร้าย ล้มเจ้า โดยไม่จำแนกแยกแยะในการจัดการ ทำให้คนเสื้อแดงเป็นผู้ร้ายในสายตาของสังคม

“ถามว่าสันติวิธี ความเป็นกลาง ความเป็นธรรม ที่เรามักพูดถึงในที่สุดแล้วมันสนับสนุนเสรีภาพและความเป็นธรรมจริงหรือไม่  ความเป็นกลางมีจริงหรือไม่ ถ้าบอกว่าความเป็นกลางคือต้องวิจารณ์ทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียม แล้ววิพากษ์วิจารณ์อำมาตย์ได้ไหม พูดความจริงเบื้องหลังรัฐประหารได้ไหม ถ้าสันติวิธียึดหลักการประชาธิปไตย ถามว่าคุณไม่ต้องต่อสู้กับอำมาตย์หรือ ไม่ต้องต่อสู้ให้แก้ไขมาตรา 112 หรือ ไม่ต้อง ปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ ให้เป็นประชาธิปไตยแท้จริงหรือ”

สังคมไทยขาด “สติ” ไม่กล้าเคลียร์ประวัติศาสตร์ให้ชัดเจน

วิจักขณ์ พานิช วิจารณ์ช่วงวิกฤตการเมืองที่มักมีการชูคำว่า “สติ” (ระลึกได้ รู้ตัว) ออกมาเดินรณรงค์ตามรถไฟฟ้าหรือแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ แต่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคำว่า “สัมปชัญญะ” ซึ่งหมายถึงการเปิดกว้างออกไปรับรู้ ทำความเข้าใจ และตั้งคำถามกับสังคม กลับใช้แต่คำว่าสติมาปิดกั้นให้คนหลบอยู่กับตัวเอง “สติ” เป็นคำที่มักให้ยึดกับจุดอ้างอิงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ร่างกายตัวเอง ลมหายใจตัวเอง ขณะที่สัจธรรมคือความโกลาหลที่ไม่มีจุดอ้างอิง เวลานำคำว่าสติมาใช้ในมิติทางสังคมจึงมักจะเป็นการเน้นย้ำจุดอ้างอิงเดิมของสังคม คือยึดให้กลับมาเป็นสังคมแบบเดิม ความสงบ ปราศจากความขัดแย้ง แต่ไม่ได้พูดถึงโครงสร้างทางสังคมหรือปัญหาที่ทำให้คนออกมาชุมนุมซึ่งจะนำมาสู่ความตื่นรู้หรือสัมปชัญญะของเรา เช่นการที่สถาบันต่างๆที่มีอำนาจไม่ได้สนใจความทุกข์ของประชาชน

การใส่เสื้อคำว่า “สติ” ออกมาเตือนคนที่กำลังจะมาฆ่ากันนั้น วิจักขณ์มองว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่มีพลังน้อยมากและไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เป็น “สติ” ที่แท้จริงของสังคม คือการหาสาเหตุของปัญหาและกลับไปแก้ที่ต้นเหตุดังที่นิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหารและตั้งหลักใหม่ สังคมที่ล้มกระดานซ้ำแล้วซ้ำอีกจะนำไปสู่ประวัติศาสตร์ความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก นั่นคือการไม่ได้สติ สติคือการย้อนกลับไปหาจุดที่ดีที่สุดในการเริ่มต้น รวมทั้งกลับไปหาข้อเท็จจริงและเรียนรู้จากอดีตว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น

วิจักขณ์ยกตัวอย่างกรณีการปราบผู้ชุมนุมชาวไอร์แลนด์โดยทหารอังกฤษซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 20 คนเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ต้องผ่านช่วงที่รัฐบาลพยายามปกปิดข้อเท็จจริง แต่สุดท้ายแล้วนายกฯอังกฤษก็ออกมาขอโทษเมื่อปีที่แล้ว และมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะพวกเขาตระหนักว่าถ้าไม่ก้าวผ่านข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ร่วมกัน ความรุนแรงเช่นนี้จะเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ดังนั้นชาวพุทธในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ต้องดึง “สติ” ตรงนี้กลับมา และไม่ยอมให้มีการปกปิดข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อีก

“ถ้าสังคมไทยยังเป็นสังคมที่ไม่ยอมพูดถึงประวัติศาสตร์การฆ่ากัน ไม่ยอมค้นหาความจริงว่าใครสั่งฆ่าในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 6 ตุลา หรือแม้แต่กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่ไม่มีทางได้สติ จะมีความรุนแรงเกิดขึ้นกี่ครั้งก็มาใส่เสื้อ “สติ” กัน มากอดกัน มาจุดเทียนหน้าหอศิลป์ เหมือนกับ play ไปวันๆ การปรองดองที่กำลังจะเกิดขึ้นก็คือการไม่ได้สติเหมือนเดิม” color:red">

ทางสายกลางแบบมหายาน ไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงกลาง

วิจักขณ์ กล่าวว่าคำสอนพระพุทธศาสนาในไทยมักถูกตีความอย่างคับแคบ คือต้องคิดแบบเดียวเท่านั้นจึงจะถูกต้อง ทั้งที่พระพุทธศาสนาเน้นย้ำว่าเสรีภาพในการตีความคำสอนและลองผิดลองถูกมีอยู่ในทุกๆคน พระหรือผู้รู้เพียงแต่เป็นผู้ชี้ทาง ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาบ้านเราที่เป็นปมใหญ่ๆมี 2 ประเด็น

ประเด็นหนึ่งคือ พระพุทธศาสนาในอินเดียล่มสลายเพราะการรุกคืบของกองทัพมุสลิม แต่ตำราตะวันตกมีสมมติฐานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับมากคือ ต้นเหตุมาจากการล่มสลายของสถาบันพระพุทธศาสนาในอินเดียเอง สาเหตุสำคัญคือการหลงตัวเอง และปิดกั้นการตีความที่หลากหลาย ซึ่งสะท้อนพระพุทธศาสนาไทยตอนนี้ สถาบันพระพุทธศาสนาไทยมักหวาดระแวงภัยคุกคามจากภายนอก เช่น องค์กรมุสลิม แผนนารีพิฆาต เพราะเรามีปัญหากับประวัติศาสตร์ตรงนี้ มองไม่เห็นว่าแท้จริงแล้วความผิดพลาดอาจมาจากตนเองก็ได้

ประเด็นที่สองคือการแตกแยกของนิกาย เรามักหวาดระแวงการแตกนิกายว่าคือการนอกรีต กลัวคนจะตีความคำสอนผิดเพี้ยนบิดเบือน แต่ไม่มองว่าเรากำลังปิดกั้นศักยภาพการเรียนรู้ทางศาสนา ไม่เปิดโอกาสให้สังคมช่วยกันตีความคำสอนอย่างหลากหลาย จุดนี้มีผลโดยตรงกับการที่การสอนพระพุทธศาสนาในสังคมไทยมีแนวโน้มจะปิดกั้นความหลากหลายทางความคิด ผูกขาดความเป็นเจ้าของศาสนา การที่ชาวพุทธมักจะถูกหล่อหลอมมาเช่นนี้จะสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมทางการเมือง

วิจักขณ์ยกตัวอย่างการใช้คำสอนเรื่อง “ทางสายกลาง” ของสันติวิธีในบ้านเราจะมีนัยยะที่แคบมากว่าต้องหาจุดตรงกลางที่แน่นอนในแต่ละสถานการณ์ ไม่อยู่ตรงกลางคือผิด สันติวิธีในบ้านเราจึงกลายเป็น “สันติวิธีแบบพระ” ซึ่งทำอะไรได้น้อยมากเพราะกลัวว่าจะไม่เหมาะสม แต่ “ทางสายกลาง” ตามหลักปรัชญามาธยมิกของมหายานนั้น ไม่มีข้อจำกัดทางความคิดว่าทำสิ่งได้หรือไม่ได้ เราจะไปอยู่ในฝ่ายใดก็ได้ถ้ามั่นใจว่าตนไม่มีอคติ เช่นตั้งสมมติฐานว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากทักษิณคนเดียว ถ้าพบว่าไม่ใช่ก็คิดใหม่ว่าปัญหาเกิดจากอำมาตย์ฝ่ายเดียว หากไม่ใช่อีกก็ลองคิดว่าไม่มีใครที่สร้างปัญหาเลย ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้อีก เมื่อลองคิดทุกแง่มุมอย่างอิสระ สุดท้ายเราจะเห็นว่าทุกอย่างเกิดจากเหตุและปัจจัยร่วมกัน และเราเลือกได้ว่าจะมีส่วนร่วมอยู่ที่ใดในความขัดแย้ง แนวคิดนี้ทำให้จินตนาการถึงสันติวิธีแบบใหม่ ว่าคุณจะเลือกอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหนก็ได้ หรืออยู่ตรงไหนของความขัดแย้งก็ได้ แต่ขอให้ฝึกลดอคติของตัวเอง ฟังคนอื่นบ้าง และเรียนรู้ร่วมกันในความขัดแย้ง เรียนรู้อุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน

เสรีภาพ VS ความเป็นธรรม

พระไพศาล วิสาโล เห็นว่าเสรีภาพและความเป็นธรรมบางครั้งก็ไม่ได้ไปด้วยกัน สังคมที่เน้นเสรีภาพและประชาธิปไตยหลายสังคมก็มีความเหลื่อมล้ำ เช่น อเมริกา อังกฤษ ที่ขึ้นชื่อว่าความเลื่อมล้ำระหว่างคนในสังคมกำลังกว้างขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่บางสังคมอาจมีความเหลื่อมล้ำน้อยแต่เสรีภาพไม่มาก ในเยอรมันและฮอลแลนด์ ร้านค้าไม่มีเสรีภาพที่จะเปิดร้านวันอาทิตย์ ยิ่งถ้าจะเป็นบริษัทชื่อดังจะถูกจำกัดเสรีภาพมาก เพราะต้องการเปิดโอกาสให้ร้านเล็กๆ บางทีก็ต้องเลือกระหว่างเสรีภาพและความเท่าเทียม ว่าจะเอาคุณค่าอะไร

เสรีภาพ สันติวิธี และความเป็นธรรม โดยทั่วไปแล้วเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน การใช้สันติวิธีแก้ปัญหาจะเป็นการเปิดให้ทุกฝ่ายมีโอกาสใช้เสรีภาพต่อสู้เพื่อจุดยืนของตนเองเท่าเทียมกัน สามารถมาแสดงความคิดเห็นและโต้เถียงกัน การใช้ความรุนแรงเป็นการจำกัดเสรีภาพ มีคำกล่าวว่าเมื่อเกิดความรุนแรงหรือสงคราม เหยื่ออันดับแรกคือความจริง เหยื่ออันดับที่สองคือความเป็นธรรม การจับกุมและใช้กฎหมายปิดปากก็เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง เมื่อใช้ความรุนแรง คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ถูกจับ ถูกฆ่า ทรัพย์สินถูกทำลาย คู่ขัดแย้งไม่สามารถพูดได้อย่างเท่าเทียมกัน คนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกันซึ่งคือความไม่เป็นธรรม กรณี 10 เมษา 19 พฤษภา คนไม่รู้อิโหน่อิเหน่ตายไปหลายคน หรือแม้เป็นผู้เกี่ยวข้องในความขัดแย้งก็ควรเอาขึ้นศาล ไม่มีสิทธิไปฆ่า

สันติวิธีที่ปิดกั้นเสรีภาพ

พระไพศาลกล่าวถึงการใช้สันติวิธีในรูปแบบเพื่อปิดกั้นเสรีภาพ เช่นการใช้เฟสบุ๊คล่าแม่มดกระทั่งเขาไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพราะกลัวถูกด่า การบอยคอตคนยิวสมัยนาซีจนไม่มีเสรีภาพในการเปิดร้าน อาจารย์ชาวยิวถูกไล่ออก การสูญเสียเสรีภาพโดยแรงกดดันทางสังคมเป็นสันติวิธีที่เสริมสร้างความไม่เป็นธรรมหรือบั่นทอนเสรีภาพ แต่ยังเลวน้อยกว่าการใช้ความรุนแรง อย่างเช่นเอาระเบิดไปปาใส่ร้านชาวยิว สังคมประชาธิปไตยนั้นอนุญาตให้มีเสรีภาพในการกดดันที่ไม่เป็นธรรม เช่นการบอยคอตชาวยิว บอยคอตชาวมุสลิมในอเมริกาหลังเหตุวินาศกรรมเวิล์ดเทรดเซนเตอร์ คนมักมองว่าสันติวิธีคือวิธีที่ต้องถูกกฎหมาย ที่จริงสันติวิธียังรวมไปถึงการทำสิ่งผิดกฎหมายโดยไม่ใช้ความรุนแรงด้วย เช่น ไม่ทำลายข้าวของ ยกเว้นทำลายข้าวของในเชิงสัญลักษณ์ และพร้อมยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นหากยึดทำเนียบแล้วถูกจับ เราก็ต้องยอมให้เขาจับ ไม่ต่อสู้ สันติวิธียังรวมถึงการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนที่หลากหลายถกเถียงแลกเปลี่ยน ต่อสู้ตามจุดยืนของตน

เป้าหมายกับวิธีการต้องไปด้วยกัน

พระไพศาลแสดงความเห็นเกี่ยวกับรัฐประหารปี 49 ว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่ารัฐประหารจะเป็นการยุติความรุนแรงดังที่หลายคนในเวลานั้นมอง รัฐประหารแม้จะไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อแต่ก็เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งเพราะมีการใช้อาวุธ ใช้รถถัง และเป็นที่พิสูจน์แล้วว่า 5 ปีที่ผ่านมา การรัฐประหารไม่ได้ยุติความรุนแรง เพียงแต่ทำให้ความรุนแรงที่ยังไม่แน่ว่าจะเกิดหรือไม่ชะลอลง แต่ในที่สุดก็กลับเกิดความรุนแรงขึ้นยิ่งกว่าเดิม ถ้าไม่มีรัฐประหารก็คงจะไม่มีเหตุการณ์แบบพฤษภา 53 และมีความสูญเสียน้อยกว่านี้ รัฐประหารทำให้ความแตกแยกบานปลายขึ้น วิธีการกับเป้าหมายต้องไปด้วยกัน ถ้าเราจะทำเพื่อประชาธิปไตย เราต้องใช้วิธีที่เป็นประชาธิปไตย การใช้วิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตยเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ในที่สุดแล้วมันกลับส่งเสริมเผด็จการได้ พระไพศาลกล่าวว่าตนได้ให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นที่มีรัฐประหารแล้วว่าตนไม่เชื่อว่ารัฐประหารจะช่วยแก้ปัญหา แต่อาจทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น ในที่สุดก็นำไปสู่การปะทะกันเกิดเป็นเหตุการณ์พฤษภา 53

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net