สุนัย จุลพงศธร: เวียดนามกับสยาม..ยุคเปลี่ยนผ่านรัฐธรรมนูญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เวียดนาม หรือ รัฐอันนัมกับรัฐสยามคือ 2 รัฐจักรวรรดิในอินโดจีนแห่งอดีตที่แข่งขันบารมีของผู้ปกครองรัฐในการเป็นมหาอำนาจแห่งภูมิภาคก่อนที่รัฐจักรวรรดินิยมตะวันตกจะเข้าครอบครองอินโดจีน แต่นับจากเวียดนามต้องตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสการแข่งขันของ 2 รัฐดั้งเดิมในเชิงสงครามทางทหารก็เริ่มลดบทบาทลง จนกระทั่งโลกก้าวเข้าสู่การแข่งขันทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัฒน์เวียดนามกับไทยก็ได้ก้าวเข้าสู่การแข่งขันยุคใหม่ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง คือ “การแข่งขันบนพื้นฐานความสามัคคีแห่งอาเซียน” คือทั้งร่วมมือกันและแข่งขันกันทางการพัฒนาและจากสภาพขนาดของรัฐและขนาดจำนวนประชากรที่มีขนาดใกล้เคียงกันในอาเซียนทำให้ไทยและเวียดนามกลายเป็นประเทศที่ถูกจับนำมาเปรียบเทียบกันจากสังคมโลกในด้านความมั่นคงทางการเมืองและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่าไทยหรือเวียดนามประเทศไหนจะเหมาะสมต่อการลงทุนมากกว่ากัน และยิ่งอยู่ในกรอบของเศรษฐกิจเสรีอาเซียนที่ส่งผลให้การลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศก็สามารถส่งออกไปยังประเทศภายในกลุ่มอาเซียนได้เสรีเหมือนกัน ดังนั้นเรื่องสำคัญที่จะถูกนำมาพิจารณาเป็นปัจจัยหลัก คือ เสถียรภาพทางการเมือง ที่หมายถึงระบบการเมืองซึ่งแยกไม่ออกจากเสถียรภาพของรัฐบาลและยิ่งสยามยามนี้อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านที่คนไทยทั้งประเทศมีงานใหญ่คอยอยู่ข้างหน้า คือการสร้างกติกากลางหรือรัฐธรรมนูญเพื่อจัดระบบแบบแผนทางสังคมให้เกิดความมั่นคงในกลไกของระบบรัฐประชาธิปไตยด้วยแล้วก็จะยิ่งเกิดคลื่นลมต่อสยามนาวามาก ดังนั้น เราก็ยิ่งจะต้องให้ความสนใจต่อการเจริญเติบโตก้าวหน้าของเวียดนามในฐานะรัฐที่เคยมีประวัติศาสตร์แข่งขันกันมาอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่ต้องศึกษาเพื่อเก็บรับบทเรียนที่จะนำพาสยามนาวาผ่านคลื่นลมให้ได้

การเมืองเวียดนามมั่นคงอย่างน่าอิจฉา

แม้ประเทศเวียดนามต้องตกระกำลำบากต่อภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดในระยะกว่า 5 ทศวรรษที่ผ่านมาในช่วงสงครามเวียดนามที่ผู้คนในประเทศแตกแยกกันอย่างรุนแรง แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ภาวะแห่งเอกภาพทางการเมืองการปกครองของเวียดนามก็ได้ฉายแสงแห่งอรุณรุ่งภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม และแม้ระหว่างเส้นทางการพัฒนารัฐในระยะต้นจะต้องประสบกับภาวะวิกฤติการพังทลายของรัสเซียผู้นำค่ายสังคมนิยมในปี ค.ศ.1991 เวียดนามก็สามารถนำพาประเทศผ่านพ้นวิกฤติได้ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ “โด่ยเหมย” (Doi Moi) จนถึงวันนี้ภาวะความมั่นคงทางการเมืองและการมีเสถียรภาพของรัฐบาลเวียดนามจึงเป็นภาวะที่น่าอิจฉาในสายตาของคนไทยเพราะในขณะที่เวียดนามยุติความขัดแย้งทางการเมืองและก้าวรุดหน้า แต่ไทยกลับต้องประสบกับความขัดแย้งภายในของโครงสร้างที่แอบแฝงอยู่ในระบบการเมืองไทยมายาวนานจากการรัฐประหารที่มีต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนรวมตลอดทั้งกระบวนการรัฐประหารเงียบโดยอาศัยการยึดอำนาจเมื่อ 19 กันยายน 2549 ทำการปรับเปลี่ยนอำนาจศาลอำนาจศาลและองค์กรอิสระใหม่โดยเพิ่มอำนาจให้มีอำนาจอยู่เหนือรัฐบาลที่มาจากประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จนเกิดภาวะไร้เสถียรภาพของรัฐบาลซึ่งกำลังแสดงบทบาทบ่อนทำลายรัฐที่รุนแรงที่สุดในขณะนี้ ซึ่งภายใต้การนำของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ที่พยายามจะนำรัฐไทยก้าวผ่านวิกฤติการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญอันเป็นหัวใจของปัญหาซึ่งจะเป็นบทท้าทายที่จะพิสูจน์ว่าคนไทยส่วนใหญ่พร้อมที่จะปรองดองก้าวไปข้างหน้าหรือว่าจะต้องตกลงสู่ห้วงมหรรณพของความขัดแย้งเช่นที่เวียดนามเคยผ่านมา

จากภาวะความมั่นคงทางการเมืองของเวียดนามเป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมืองระดับสูงได้อย่างไร้คลื่นลมซึ่งแตกต่างกับการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำทางการเมืองของไทยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนทุกรัฐบาลต่างดำรงอยู่อย่างไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้น ระบบการเมืองของเวียดนามในวันนี้ในสายตาคนไทยจึงอยู่ในภาวะที่น่าอิจฉายิ่ง ดังจะเห็นได้จากการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 11 เมื่อมกราคม ที่ผ่านมาและการประชุมสภาแห่งชาติสมัยที่ 13 ครั้งที่ 1 ในช่วงกรกฎาคมถึงสิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ไทยกำลังเปลี่ยนแปลงผู้นำซึ่งเวียดนามก็ได้ผู้นำพรรคสูงสุดคนใหม่อย่างราบรื่น คือนายเหวียน ฝู จ่อง เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นอดีตประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม ,ได้นายเหวียน เติ๊น สุง เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 และได้นายเจือง เติ๊น ซาง เป็นประธานาธิบดี , นายเหวียน ซิง หุ่ง เป็นประธานศาลแห่งชาติ ,นายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

คณะรัฐมนตรีของเวียดนามมีความมั่นคงและมีเอกภาพอย่างยิ่งในทิศทางเศรษฐกิจใหม่เนื่องจากประมาณครึ่งหนึ่งเป็นคนในวัยหนุ่มอายุเฉลี่ยประมาณ 50 ปี และส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามที่อยู่ในองค์กรนำสูงสุดคือมาจากกรมการเมือง อีกทั้งมีความเชื่อมต่อกันทางนโยบายและการบริหารรัฐเนื่องจากบุคคลในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่นี้มีคนมาจากคณะรัฐมนตรีชุดเก่ารวม 9 คน

ภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเวียดนามในระดับหนึ่งทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2554 มีพัฒนาการต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลเวียดนามวางไว้ อีกทั้ง ปัญหาภายในของเวียดนามที่สะสมมาคือปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมั่นต่อนโยบายการเงินการคลังได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นในปี 2554 จึงส่งผลให้เวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายคือเติบโตร้อยละ 5.89 (ต่ำกว่าปี 2553 ที่เติบโตร้อยละ 6.78 ) ส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.58 ด้านการค้าระหว่างประเทศ เวียดนามขาดดุลการค้าน้อยลงเหลือ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี) จาก 12.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2553 เนื่องจากการบังคับใช้นโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลที่เริ่มเห็นผล โดยมีมูลค่าการส่งออก 96.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3) มูลค่าการนำเข้า 105.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7) ในปี 2554 โครงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้รับการอนุมัติมีมูลค่ารวม 11.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 35 โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต(ร้อยละ 47) และอสังหาริมทรัพย์ (ร้อยละ 24 ) ประเทศที่ลงทุนในเวียดนามมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ (240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ) เกาหลีใต้ (239 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และญี่ปุ่น (236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ) ส่วนไทยมีมูลค่าการลงทุนในเวียดนาม 5.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในลำดับที่ 11

ข้อน่าสังเกตของนโยบายเศรษฐกิจเวียดนามนั้นมีทิศทางชัดเจนไม่ขัดแย้งโต้เถียงกันระหว่างนโยบายทุนนิยมกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงเช่นในประเทศไทย

ในปีที่ผ่านมา เวียดนามมีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.27 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 2.88 ในปี 2553 และสำหรับปี 2555 รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าจะสร้างงานให้ได้ 1.6 ล้านตำแหน่ง และมีเป้าหมายจะลดจำนวนครัวเรือนยากจนลงร้อยละ 7.5 ประกันความมั่นคงทางสังคมและปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชน โดยในปี 2554 ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับปรุงระบบสาธารณสุข โภชนาการ การศึกษาและฝึกอบรมอาชีพแก่ประชาชนที่อาศัยในชนบทห่างไกล

ภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเวียดนามในระดับหนึ่งทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามในปี 2554 มีพัฒนาการต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลเวียดนามวางไว้ อีกทั้ง ปัญหาภายในของเวียดนามที่สะสมมาคือปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัญหาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความเชื่อมั่นต่อนโยบายการเงินการคลังได้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นในปี 2554 จึงส่งผลให้เวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้าหมายคือเติบโตร้อยละ 5.89 (ต่ำกว่าปี 2553 ที่เติบโตร้อยละ 6.78 ) ส่วน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.58 ด้านการค้าระหว่างประเทศ เวียดนามขาดดุลการค้าน้อยลงเหลือ 9.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี) จาก 12.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2553 เนื่องจากการบังคับใช้นโยบายการเงินการคลังของรัฐบาลที่เริ่มเห็นผล โดยมีมูลค่าการส่งออก 96.26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3) มูลค่าการนำเข้า 105.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7) ในปี 2554 โครงการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ได้รับการอนุมัติมีมูลค่ารวม 11.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 35 โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต(ร้อยละ 47) และอสังหาริมทรัพย์ (ร้อยละ 24 ) ประเทศที่ลงทุนในเวียดนามมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ (240 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ) เกาหลีใต้ (239 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และญี่ปุ่น (236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ) ส่วนไทยมีมูลค่าการลงทุนในเวียดนาม 5.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อยู่ในลำดับที่ 11

ข้อน่าสังเกตของนโยบายเศรษฐกิจเวียดนามนั้นมีทิศทางชัดเจนไม่ขัดแย้งโต้เถียงกันระหว่างนโยบายทุนนิยมกับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงเช่นในประเทศไทย

ในปีที่ผ่านมา เวียดนามมีอัตราการว่างงานร้อยละ 2.27 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 2.88 ในปี 2553 และสำหรับปี 2555 รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าจะสร้างงานให้ได้ 1.6 ล้านตำแหน่ง และมีเป้าหมายจะลดจำนวนครัวเรือนยากจนลงร้อยละ 7.5 ประกันความมั่นคงทางสังคมและปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิตของประชาชน โดยในปี 2554 ได้อนุมัติงบประมาณกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปรับปรุงระบบสาธารณสุข โภชนาการ การศึกษาและฝึกอบรมอาชีพแก่ประชาชนที่อาศัยในชนบทห่างไกล

ในด้านการปกป้องผลประโยชน์ชาติ

ปัญหาความขัดแย้งจากการอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่บริเวณทะเลจีนใต้ยังเป็นประเด็นหลักของเวียดนามที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้นโยบายต่างประเทศปกป้องผลประโยชน์ของชาติ กล่าวคือ หลังจากเหตุการณ์ตึงเครียดในช่วงกลางปี 2554 ที่มีการปะทะกันระหว่างเรือของจีนกับเรือสำรวจพลังงานของบริษัท Petro Vietnam เวียดนามได้ใช้ความพยายามเพื่อทำให้ปัญหาดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญในทางสันติเพื่อให้นานาประเทศให้ความสนใจและได้ใช้ช่องทางทางการทูตกับประเทศต่างๆที่แนบแน่นเพื่อขอรับการสนับสนุนต่อจุดยืนของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างเวียดนามกับจีนเกี่ยวกับปัญหาทะเลจีนใต้ก็ได้คลี่คลายไปในทางที่ดีด้วยนโยบายต่างประเทศ กล่าวคือ ในช่วงเดือนตุลาคม ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงว่าด้วยหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการแก้ไขประเด็นปัญหาที่เกี่ยวกับทะเล (Agreement on basic principles guiding the settlement of sea-related issues) ในระหว่างการเยือนจีนของนายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเวียดนาม 

ในประเด็นปัญหานี้เมื่อเปรียบเทียบการแก้ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา กรณีเขาพระวิหาร ที่ผ่านมาในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แล้วจะเห็นว่านโยบายต่างประเทศของไทยในอดีตทาบไม่ติดกับเวียดนามเลย ซึ่งทำให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านกัมพูชากลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ยากมากขึ้นทำให้ภาพลักษณ์ของไทยที่เคยดีงามในอดีตกลายเป็นภาพลักษณ์ที่น่ากระอักกระอ่วนใจของอาเซียนไปอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม เป็นเช่นไร?

ในช่วงรอยต่อนโยบายจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ถึงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ เราควรจะได้ตรวจสอบความสัมพันธ์ ไทย-เวียดนาม ในแต่ละด้านเพื่อให้เห็นถึงจุดแข็งและจุดอ่อนอันจะนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ที่กระชับแน่นยิ่งขึ้นและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในเชิงประวัติศาสตร์ ดังนี้

1.ด้านการเมืองและความมั่นคง

(1.1) ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามในด้านการเมืองและความมั่นคงยังดำเนินไปอย่างราบรื่นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา จุดเด่นของความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามในปี 2554 คือการครบรอบ 35 ปี แห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันโดยมีการจัดกิจกรรมหลากหลายเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสดังกล่าว

(1.2) ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ ระดับรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญัติ การเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อแนะนำตัวเนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 ประสบผลสำเร็จอย่างดี โดยหยิบยกประเด็นความร่วมมือในด้านต่างๆขึ้นหารือกับนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเวียดนามอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ สองฝ่ายยังได้เห็นพ้องให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนามอย่างไม่เป็นทางการ (Joint Cabinet Retreat : JCR) ครั้งที่ 2 ซึ่งเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้

(1.3) ในรอบปีที่ผ่านมา กลไกความร่วมมือที่ไทย-เวียดนามได้จัดทำไว้ได้ดำเนินไปด้วยดี ทั้งในด้านความมั่นคง สาธารณสุข การทหาร อาทิ การประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ครั้งที่ 4 ที่กรุงฮานอย , การประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างกองทัพเรือไทย-เวียดนามว่าด้วยการจัดระเบียบทางทะเล ครั้งที่ 14 ที่เมืองไฮฟอง

2.ด้านเศรษฐกิจและสังคม

(2.1) ในปี 2554 การค้าไทย-เวียดนามมีมูลค่า 9.086 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ(ขยายตัวร้อยละ 25.47 จากปี 2553) ไทยส่งออกไปเวียดนาม 7.059 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและนำเข้าจากเวียดนาม 2.027 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับเวียดนาม 5.032 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.11 ) สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็กและเหล็กกล้า รถยนต์ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากเวียดนาม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องจักรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า ด้ายและเส้นใย น้ำมันดิบ กาแฟ ชา เครื่องเทศ เคมีภัณฑ์ ถ่านหิน และเครื่องมือวิทยาศาสตร์การแพทย์

(2.2) ไทยมีโครงการลงทุนในเวียดนามแล้ว 266 โครงการ รวมมูลค่า 5.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงเป็นอันดับที่ 11 โดยในปี 2554 ไทยลงทุนในเวียดนาม 27 โครงการ มูลค่า 142 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สาขาการลงทุนที่สำคัญได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป อสังหาริมทรัพย์ การท่องเที่ยว การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร เคมีภัณฑ์ กระดาษ พลาสติก อาหารสัตว์ และชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์

(2.3) กิจกรรมที่สำคัญระดับประชาชนระหว่างไทยกับเวียดนามในรอบปี 2554 ได้แก่ กิจกรรมเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 35 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม ซึ่งจัดขึ้นทั้งในไทยและเวียดนาม และกิจกรรมในกรอบของสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม อาทิ การเข้าร่วมงาน Thailand Trade Exhibition ในเวียดนาม การประชุมร่วมระหว่างสมาคมมิตรภาพไทย-เวียดนาม กับสมาคมมิตรภาพเวียดนาม-ไทย พิธีเปิดแหล่งศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ประธานาธิบดีโฮจิมินห์ ณ จังหวัดอุดรธานี และการเข้าร่วมงานอัญเชิญผ้ากฐินพระราชทานประจำปี 2554 ไปยังวัดเหวี่ยนคง จังหวัดเถื่อเทียนเว้ ในช่วงเดือนตุลาคม

(2.4) ในปี 2554 ไทยและเวียดนามต่างประสบอุทกภัยครั้งรุนแรง ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้บริจาคเงินช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แสดงให้เห็นถึงมิตรไมตรีและความปรารถนาดีระหว่างกัน โดยรัฐบาลไทยมอบเงินช่วยเหลือแก่เวียดนามจำนวน 3 ล้านบาท ในขณะที่เวียดนามได้มอบเงินช่วยเหลือให้ไทย 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ และสภากาชาดเวียดนามได้มอบความช่วยเหลือ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังมีความช่วยเหลือจากองค์กรเอกชนและประชาชนของทั้งสองฝ่ายอีกด้วย

3.ทิศทางความสัมพันธ์แห่งอนาคต

(3.1) ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามในปี 2555 น่าจะดำเนินไปโดยราบรื่นและมีความก้าวหน้า ประกอบกับช่วงปีที่ผ่านมาทั้งไทยและเวียดนามต่างมีรัฐบาลชุดใหม่จึงเป็นช่วงของการสานสัมพันธ์ไมตรีให้แน่นแฟ้นใกล้ชิดยิ่งขึ้นไป การประชุมทวิภาคีที่สำคัญ อาทิ การประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย – เวียดนาม อย่างไม่เป็นทางการครั้งที่ 2 (Joint Cabinet Retreat : JCR) และการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee : JTC ) น่าจะลุล่วงไปได้ดี ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้ความร่วมมือในด้านต่างๆมีความคืบหน้า

(3.2) เวียดนามน่าจะดำเนินนโยบายการต่างประเทศในเชิงรุกมากขึ้นเพื่อเสริมบทบาทของตนในเวทีโลกโดยเฉพาะในกรอบอาเซียน ซึ่งเวียดนามประสงค์จะมีบทบาทที่สำคัญในขณะที่รักษาความสัมพันธ์ดั้งเดิมที่ใกล้ชิดกับลาวและกัมพูชา ในขณะเดียวกันเวียดนามประสงค์ที่จะกระชับความสัมพันธ์กับไทยและขยายความร่วมมือในด้านต่างๆที่มีศักยภาพ เช่น การลงทุน การศึกษา พลังงาน และการเกษตร เป็นต้น 

บทสรุป

การก้าวรุดหน้าของเวียดนามในทุกด้านที่เป็นผลมาจากความเข็มแข็งทางการเมืองภายในประเทศ เป็นบทศึกษาที่ไทยจะต้องให้ความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องเก็บรับบทเรียนประสบการณ์ความเจ็บปวดของเวียดนามจากความขัดแย้งภายในประเทศที่ยาวนาน เพื่อนำมาปรับใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของไทย เพื่อมิให้จมปลักกับหล่มโคนของความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผ่านมติของรัฐสภาไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเสียงให้แก้ไขชนะอย่างท่วมท้นต่อการคัดค้านของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยคะแนนเสียง 399 : 199 นี้ มีนัยยะสำคัญยิ่ง เพราะเป็นเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกทั้งเลือกตั้งและแต่งตั้งจำนวนข้างมากดังนั้นตัวเลขดังกล่าวจึงเป็นเสียงที่สะท้อนการเรียกร้องความต้องการของประชาชนด้วยเสียงข้างมากที่มองเห็นชัดถึงปัญหาวิกฤตการเมืองของไทยภายในประเทศที่มาจากรัฐธรรมนูญเผด็จการ ที่สถาบันการเมืองไทยในภาคต่างๆ ทุกส่วน อาทิ ศาล กองทัพ และสถาบันทางการศึกษาจะต้องรับฟังและให้ความเคารพต่อมติเสียงข้างมากของรัฐสภา หากละเลยหลักการสำคัญนี้ก็น่าเชื่อได้ว่าไทยคงจะหมดโอกาสอีกยาวนานที่จะก้าวไปในทิศทางการพัฒนาคู่กับเวียดนามได้ ยิ่งเห็นการประชุมแกนนำสายพรรคประชาธิปัตย์ 14 จังหวัดภาคใต้ (เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555) ซึ่งเคยมีบทบาทสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรก่อจลาจลล้มรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชายในอดีตโดยพรรคประชาธิปัตย์ได้สร้างปฏิญญาหาดใหญ่ที่ชี้ชัดว่าเพื่อต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญนอกสภาหลังแพ้มติในสภาแล้วยิ่งทำให้ไทยอยู่ในภาวะที่น่าวิตกของตลาดทุนอย่างยิ่ง

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท