Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภายหลังการเดินทางมาชุมนุมเรียกร้องที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา เพื่อทวงถามความคืบหน้าการไต่สวนพื้นที่คัดค้านการประกาศเขตคำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี  

เนื่องจากก่อนหน้านี้กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  จำนวนกว่า 5,800 รายชื่อ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการประกาศเขตคำขอประทานบัตร โครงการเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดรธานี ตามมาตรา 49 แห่งพ.ร.บ.แร่ ปีพ.ศ.2510 ตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว

เป็นระยะเวลากว่า 4 เดือน ที่คำถามจากชาวบ้านในพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ไม่มีคำตอบจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบโดยตรงอย่าง กพร. จนกระทั่งต้องรวมตัวเดินทางมาชุมนุมเรียกร้องหน้า กพร.อีกครั้ง ส่งผลให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ระหว่าง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี  โดยหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการชุดนี้คือ   เพื่อเข้ามาตรวจสอบความถูกต้องการไต่สวนพื้นที่ รายละเอียดต่างๆ ของแผนที่ประกอบคำขอประทานบัตรที่ 1-4/2547  ของบริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (เอพีพีซี)  ซึ่งได้ปิดประกาศเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน  2554 

รวมทั้งการหารือประเด็นข้อกฎหมายในการดำเนินงานตามกระบวนการขออนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดินตามมาตรา 88/9  แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2545 ให้ได้ข้อยุติ  หากเรื่องข้างต้นยังไม่ได้ข้อยุติทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกัน ให้ชะลอการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 88/10  แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510  แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2545 และในการขอความเห็นจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อประกอบการพิจารณาคำขอประทานบัตร   

ทั้งนี้ยังไม่มีการระบุกรอบระยะเวลาชัดเจน ในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้  ขณะเดียวกันก็ไม่แปลกทีท่าทีของ กพร. ขมีขมัน “เอาใจ” ชาวบ้าน ในการรีบแต่งตั้งคณะกรรมการสองฝ่าย   นอกจากเพื่อ”ยืดเวลา”  หายใจ  ในฐานะที่ต้องเป็นหน้าด่าน “กันชน” ระหว่าง กลุ่มทุนใหญ่ กับ ชาวบ้านในพื้นที่ ที่เร่งเร้าเข้ามาทุกทาง โดยเฉพาะ ” สมเกียรติ ภู่ธงฤทธิ์”  อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทีต้องจับตา กับภารกิจ “ทิ้งทวน”   ก่อนเกษียณอายุในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

ในขณะที่คู่กรณีของชาวบ้านอย่างบริษัทเอพีพีซี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของอิตาเลี่ยนไทย ดิวิลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)    ล่าสุดประธานกรรมการบริหารใหญ่อย่าง เปรมชัย กรรณสูตร  ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในรายงานประจำปี 2554 ถึงโครงการเหมืองแร่โปแตช อุดรธานี จ.อุดรธานี ว่า “ คาดว่าการดำเนินงานตามขั้นตอนการขอประทานบัตรจะเสร็จครบทุกขั้นตอนและได้รับประทานบัตรภายในปีนี้” ถือเป็นการเรียกความเชื่อมั่นในการลงทุนโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นทีอีกครั้ง ท่ามกลางความขัดแย้งในพื้นที่กับชาวบ้านมาร่วมสิบปี

ทางหนึ่งอิตาเลี่ยนไทยในนามเอพีพีซี  ยังมีแผนเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมทวายในประเทศพม่า  ที่ได้รับสัมปทานนานถึง 60 ปี  ถือเป็นการดำเนินการเปิดพื้นทีอุตสาหกรรม “ครบวงจร” ทั้งโรงงานเหล็ก แยกก๊าซ กลั่นน้ำมัน และโรงงานผลิตปุ๋ย  รวมทั้งการเปิดพื้นที่คมนาคม  ซึ่งนั้นหมายถึง การวางแผน “รองรับ” การเกิดโครงการเหมืองแร่โปแตชบริเวณพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ในอนาคตอันใกล้ในภาคอีสาน

เป็นความมั่นใจของ “ เปรมชัย” ซีอีโออิตาเลี่ยนไทย ใน “คอนเนคชั่น”เส้นทางธุรกิจอันแน่นแฟ้น กับ “ทักษิณ ชินวัตร” ตั้งแต่สมัยได้รับสัมปทานก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ รวมถึงครั้งนี้กับการได้รับสัมปทานท่าเรือน้ำลึกทวาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”  สนับสนุนเต็มที่ในการดันทวายโปรเจคให้เกิดขึ้น ในการไปเยือนพม่า

ในห้วงเวลาไล่เลี่ยกันก็รีบเดินหน้า “ทอดสะพาน” ต่อจิ๊กซอร์ทุนใหญ่ในเอเชียอย่างมหาอำนาจจีน ภายใต้การลงนามความตกลงและเอกสาร 7 ฉบับ อาทิ  "โครงการความร่วมมือทางยุทธศาสตร์" และ "แผนการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าระยะ 5 ปี " โดยนาย เวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีจีน  เอ่ยปากขออย่างไม่ “อ้อมค้อม” ในการให้ไทยอำนวยความสะดวกกลุ่มทุนจีน เข้ามาดำเนินอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน  ภายหลังการเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี น้องสาวทักษิณ อีกเช่นกัน   

โดยล่าสุดในพื้นที่จังหวัดสกลนครกับจังหวัดนครพนม บริษัทแม่โขง ไมนิ่ง  และ บริษัทไทยโปแตช คอร์เปอเรชั่น จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษแล้ว  

ทั้งนี้มีข้อมูลระบุว่า ขณะนี้มีบริษัทจีน 5 บริษัท  หนึ่งในนั้นคือบริษัท ไชน่า หมิงต๋า และทุนจีนกลุ่มอื่นๆ อีก 4  บริษัท ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษรวมกันแล้วเป็นจำนวน 11 แปลง มีจำนวนพื้นที่ 620,000ไร่ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการแสดงความจริงใจของรัฐบาล เปิดไฟเขียวด่านแรกให้กลุ่มทุนจีนทั้ง 5 บริษัทนี้ เข้ามาดำเนินการสำรวจแร่ ในพื้นที่ภาคอีสานตามคำขออย่างชัดเจน

ขณะที่ในพื้นที่ หน่วยงานรัฐกลับถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่องจากชาวบ้าน ทั้งเรื่องการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง    เพราะที่ผ่านมาหน้าที่สำคัญของ กพร.คือ การปรองดอง “แนบแน่น” กับกลุ่มทุนเป็นหลัก  และรับลูกฝ่ายการเมืองไปวันๆ

สิ่งที่ กพร.เร่งรีบคือ การส่งเรื่องไปยังกระทรวงทรัพยากรฯ  ตะบี้ตะบันเร่งปลดล๊อคเปิดพื้นที่”คุ้มครอง” 6 ทวิ ในยุคที่มี  เจ้ากระทรวงทรัพยฯ ตัวจริงอย่าง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” กำกับดูแล

ผนวกกับการปรับ ครม.ในอนาคตอันใกล้ เพื่อต้อนรับการกลับมาของบ้านเลขที่ 111ที่เตรียมปรับรัฐมนตรียกเก้าอี้ให้ “ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ”  คุมกระทรวงอุตสาหกรรม

นั้นหมายถึงการนับถอยหลังความขัดแย้งรุนแรงรอบใหม่ระหว่างกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่โดยตรง    โดยเฉพาะหน่วยงานสำคัญอย่างกระทรวงอุตสาหกรรม ไม่พ้น ”ใบสั่ง” ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ภายใต้ทุนชักใย ทั้งจีน และ อิตาเลี่ยนไทย เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ “ซ้อนทับ”  ชินวัตรในทุกทาง

มิพักเอ่ยถึง” มือไม้”อำนวยความสะดวกให้จีน คนสำคัญอย่าง “พินิจ จารุสมบัติ”   แม้ช่วงหลังจะถูกลดบทบาทลง เนื่องจากทำงานไม่เข้าตานายทักษิณจนผันตัวเองไปเป็น “นายหัว”สวนยาง แถวจังหวัดบึงกาฬมาพักใหญ่แต่ “พินิจ” มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน กับ”ทุนจีน” ทั้งในฐานะนายกฯ สมาคมวัฒนธรรมเศรษฐกิจไทยจีน การเอ่ยปาก อย่างเป็นทางการของนักธุรกิจจีน รวมถึงน้ำใจอย่างอื่น หากมีการร้องขอปูทางในพื้นที่ที่เขา”ปักหลักที่มั่นอยู่”ในโซน “แอ่งแร่สกลนคร”  คงยากจะปฎิเสธ

อนาคตใกล้ๆนี้ คงแยกกันไม่ออก ระหว่าง สุวัจน์- พินิจ-  จีน –อิตาเลี่ยนไทย –ชินวัตร

“รัฐบาลเขาจะปรองดองอะไรก็ปล่อยเขาไป แต่กลุ่มอนุรักษ์ฯอุดร ไม่ยอมปรองดองกับทุนแน่นอน”  เป็น คำตอบ ที่สู้จริง- ทำจริง ปกป้องพื้นที่ไม่ให้ทุนรุกคืบเข้ามากว่า 11 ปี แล้ว  ของแม่มณี บุญรอด แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ท่ามกลางฤดูกาลปรองดองของนักการเมืองไทย ที่ร้อนแรงสูสีกันกับอากาศในเมืองหลวง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net