บทเรียนจากกรณี "อากง" กลุ่มนักกฎหมายสิทธิฯ เรียกร้องสิทธิปล่อยตัวชั่วคราว-รักษาพยาบาล

กลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ระบุการเสียชีวิตของนายอำพล สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ย้ำสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิพื้นฐาน พร้อมเสนอปรับปรุงระบบรักษาพยาบาลเรือนจำ

 

 

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย และศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre) ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของนายอำพล พร้อมระบุว่า การเสียชีวิตของนายอำพล เป็นการสะท้อนให้เป็นที่ประจักษ์ของปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และในคดีอาญาอื่น ๆ โดยมีข้อเสนอ ดังนี้ 

1. ควรดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีหมิ่นฯได้รับการปล่อยชั่วคราว ตามมาตรฐานการใช้ดุลพินิจที่ศาลก็ได้เคยอนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่าอัตราโทษในข้อหาหมิ่นฯ มาแล้ว และในระหว่างที่ยังไม่รับสิทธิดังกล่าวขอให้ย้ายนักโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมายังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่เพราะถือเป็นนักโทษการเมืองเช่นเดียวกัน

2. เสนอให้มีการปรับปรุงมาตราฐานในการคัดกรองบุคคลเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล เพิ่มงบประมาณและบุคลากรทางการแพทย์ และจัดการรักษาโรคในลักษณะเฝ้าระวังของผู้ต้องขังเพื่อให้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างแท้จริงและทันทัวงที ไม่ใช่การรักษาเมื่อมีอาการภายนอกรุนแรงแล้วเท่านั้น

3. ขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันค้นหาความจริงว่านายอำพลเสียชีวิตด้วยเหตุใด ได้รับการรักษาพยาบาลที่เพียงพอแล้วหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อทำความเป็นจริงให้ปรากฏ รวมถึงเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระเข้ามาร่วมตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้นายอำพลเสียชีวิต เพื่อความโปร่งใสของกระบวนการและขจัดข้อสงสัยต่อสังคม
 

///////

 

อากง SMS เสียชีวิตในเรือนจำ ระหว่างรับโทษจำคุก 20 ปีในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

องค์กรสิทธิ เรียกร้องสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและสิทธิในการรักษาพยาบาล

 

วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 เวลา 9.10 นายอำพล หรือที่รู้จักกันในนาม “อากง” ได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ขณะถูกลงโทษจำคุก 20 ปี ในคดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังโทรศัพท์ของเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่า นายอำพลถูกส่งมาโรงพยาบาลด้วยอาการปวดท้องในช่วงเที่ยงวันศุกร์ 4 พ.ค. 2555 ที่ผ่านมา และได้เข้าเตียงเมื่อ 15.40 น. แต่ยังไม่ได้รับการตรวจอย่างละเอียดเนื่องจากหมดเวลาทำการของห้องแล็บและเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ได้มีการเจาะเลือดในวันนี้แต่ยังไม่ทราบผล จนกระทั่งนายอำพลได้เสียชีวิตลง ขณะนี้อยู่ระหว่างการชันสูตรพลิกศพ

นายอำพลถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 และถูกคุมขังสองเดือนก่อนได้รับการปล่อยตัว แต่ในวันที่18 มกราคม 2554 อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ศาลกลับมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาจนกระทั่งมีคำพิพากษาในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555 ให้จำคุก 20 ปี ระหว่างการต่อสู้คดีทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหลายครั้งแต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต กระทั่งในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาโดยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ให้สิ้นสงสัยได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิด โดยเพียงลำพังหมายเลขอีมี่ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานพิสูจน์ความผิดได้ ตามหลักวิธีพิจารณาความอาญาจึงต้องยกประโยชน์ความสงสัยให้จำเลย และขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง พร้อมทั้งได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวอีกครั้งโดยมีนักวิชาการ 7 ท่านใช้ตำแหน่งเป็นหลักประกัน ประกอบกับเหตุผลว่านายอำพลไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ดังจะเห็นได้จากการที่นายอำพลไม่เคยขัดขืนการจับกุมและยังเคยได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน ซึ่งระหว่างการประกันตัวดังกล่าวก็ได้มารายงานตัวต่อศาลอย่างสม่ำเสมอตามนัด อีกทั้งนายอำพลอายุมากแล้วและป่วยด้วยโรคมะเร็งในช่องปากซึ่งต้องไปพบแพทย์เฉพาะทางอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับฐานะยากจนอยู่อาศัยกับภรรยาและหลานเล็ก ๆ สามคน ไม่มีความสามารถที่จะหลบหนีได้ แต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัวนายอำพลตามที่ร้องขอ โดยศาลให้เหตุผลว่าเนื่องจากความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีที่มีความร้ายแรง ประกอบกับยังไม่มีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากปล่อยชั่วคราวเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี และการที่อ้างความเจ็บป่วยนั้นก็ไม่ปรากฎว่าถึงขนาดจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ทั้งทางราชการก็มีโรงพยาบาลรองรับให้การรักษาจำเลยได้อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ประกันตัว ซึ่งเป็นการปฏิเสธคำร้องขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 8 ต่อมาทนายจำเลยได้ถอนอุทธรณ์และคดีอยู่ระหว่างการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มีรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ่งต่อครอบครัวของนายอำพล และเห็นว่าการเสียชีวิตของนายอำพล เป็นการสะท้อนให้เป็นที่ประจักษ์ของปัญหาเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทั้งในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และในคดีอาญาอื่น ๆ จึงมีความเห็นและข้อเสนอดังต่อไปนี้

1. สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม ภายใต้หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์จนสิ้นสงสัยได้ว่ามีความผิด ดังนั้นหลักกฎหมายอาญาจึงกำหนดให้ “จำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก และการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเป็นเพียงข้อยกเว้น” ซึ่งสิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองไว้อย่างเป็นสากลทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีในฐานะรัฐภาคี

ในกรณีที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ศาลต้องแสดงเหตุผลซึ่งอยู่บนพื้นฐานของพยานหลักฐานที่เป็นภาวะวิสัยและน่าเชื่อถือได้ว่าจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายประการอื่น โดยที่เหตุผลเกี่ยวกับความหนักเบาของโทษและความร้ายของของพฤติการณ์แห่งคดีมิใช่ “เหตุหลัก” ตามกฎหมายที่จะไม่อนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราว กรณีการเจ็บป่วยจนเสียชีวิตของนายอำพลจึงเป็นบทเรียนถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย และการใช้ดุลพินิจของบุคคลากรในกระบวนการยุติธรรม

ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิดังกล่าว จึงควรดำเนินการเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีหมิ่นฯได้รับการปล่อยชั่วคราว ตามมาตรฐานการใช้ดุลพินิจที่ศาลก็ได้เคยอนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีที่มีอัตราโทษสูงกว่าอัตราโทษในข้อหาหมิ่นฯ มาแล้ว และในระหว่างที่ยังไม่รับสิทธิดังกล่าวขอให้ย้ายนักโทษในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมายังเรือนจำชั่วคราวหลักสี่เพราะถือเป็นนักโทษการเมืองเช่นเดียวกัน

2. สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลนั้น หมายถึงการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพเพียงพอ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีพบว่านายอำพลเป็นโรคมะเร็งช่องปากต้องเฝ้าระวังการลุกลามของโรคโดยต้องไปพบแพทย์ทุก 3 - 6 เดือน แต่เมื่อนายอำพลไม่ได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราว และทางเรือนจำไม่สามารถให้การรักษาในลักษณะเฝ้าระวังโรคเพียงแต่สามารถรักษาตามอาการได้เท่านั้น ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นายอำพลเสียชีวิต จึงขอเสนอให้มีการปรับปรุงมาตราฐานในการคัดกรองบุคคลเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล เพิ่มงบประมาณและบุคลากรทางการแพทย์ และจัดการรักษาโรคในลักษณะเฝ้าระวังของผู้ต้องขังเพื่อให้เข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างแท้จริงและทันทัวงที ไม่ใช่การรักษาเมื่อมีอาการภายนอกรุนแรงแล้วเท่านั้น

3. เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ จึงต้องทำการชันสูตรพลิกศพ และมีการไต่สวนเพื่อให้ศาลทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตายตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญามาตรา 150 จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายช่วยกันค้นหาความจริงว่านายอำพลเสียชีวิตด้วยเหตุใด ได้รับการรักษาพยาบาลที่เพียงพอแล้วหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อทำความเป็นจริงให้ปรากฏ รวมถึงเรียกร้องให้มีองค์กรอิสระเข้ามาร่วมตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้นายอำพลเสียชีวิต เพื่อความโปร่งใสของกระบวนการและขจัดข้อสงสัยต่อสังคม

กรณีการเสียชีวิตของนายอำพล ถือป็นบทเรียนหนึ่งสำหรับสังคมไทยและสำหรับบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม นักกฎหมาย ตลอดจนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่มีความคิดต่างทางการเมือง การตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรงและการจำกัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของบุคคล ตลอดจนสิทธิที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษชน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
สถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ
สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย
ศูนย์ข้อมูลชุมชน(Community Resource Centre)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท