Skip to main content
sharethis

องค์กรสตรีลาหู่ (LWO) เปิดตัวรายงานผลกระทบการทำเหมืองทองคำขาวของบริษัทพม่าในภาคตะวันออกรัฐฉาน เผย ชาวบ้านในพื้นที่รวมถึงที่ดินทำกินและผืนป่ากำลังถูกคุกคามอย่างหนัก จี้รัฐบาลสั่งยุติโครงการ

วันนี้ (8 พ.ค. 55) องค์กรสตรีลาหู่ (Lahu Woman’s Organization) จัดพิธีแถลงเปิดตัวรายงานผลกระทบจากการทำเหมืองทองคำขาว (Platinum) ของบริษัทพม่า ในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก รัฐฉานภาคตะวันออก ในชื่อ "การแย่งชิงทองคำขาว" พร้อมแถลงต่อสื่อมวลชนถึงผลกระทบวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งแม่น้ำ ผืนป่า รวมถึงการเริ่มเกิดการค้าทางเพศ จากเหตุมีแรงงานชายเข้าไปขายแรงงานจำนวนมาก

ทั้งนี้ ข้อมูลรายงานซึ่งเพิ่งจัดทำขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่า การขุดเหมืองทองคำขาวของบริษัทเหมืองพม่า ซึ่งมีทั้งหมด 5 บริษัท ในพื้นที่ใกล้กับหมู่บ้านอะเย หมู่บ้านชาวอาข่า อยู่ห่างจากตัวจังหวัดท่าขี้เหล็ก (ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) ไปทางเหนือประมาณ 13 กม. กำลังส่งผลกระทบชุมชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง มีชาวบ้านกว่า 2,000 คน จาก 393 ครอบครัว ใน 8 หมู่บ้าน ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่โครงการขุดเหมือง ทั้งหมู่บ้านชาวลาหู่ อาข่า และไทใหญ่ กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก

โดยบริษัทเหมืองของพม่ามีการบังคับซื้อเอาที่ดินชาวบ้านในราคาที่ถูก และมีที่ดินทำกินของชาวบ้านบางส่วนถูกยึดโดยที่ไม่มีการจ่ายค่าชดเชย โดยที่ดินทำกินของชาวบ้านและพื้นที่ป่ารวมเนื้อที่หลายร้อยเอเคอร์ ได้ถูกทำลายเสียหายจากการขุดเหมือง ขณะที่ถนนหนทางในพื้นที่ก็ได้รับความเสียหายจากการวิ่งบ่อยของรถบรรทุกหนัก ส่วนทองคำขาวที่บริษัทของพม่าขุดได้จากพื้นที่ดังกล่าวได้ถูกส่งขายออกไปยังจีนและไทย

นางนาเวโบ สมาชิกองค์กรสตรีลาหู่ (LWO) หนึ่งในผู้สำรวจเก็บข้อมูลรายงาน  กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่กำลังได้รับผลกระทบจากโครงการทำเหมืองดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ทั้งผลกระทบจากมลพิษ และน้ำในลำน้ำที่เคยใช้ในชีวิตประจำวันก็เสียใช้การไม่ได้ ขณะที่ที่ดินทำกินตลอดจนภูเขาและผืนป่าในพื้นที่ กำลังถูกทำลายเสียหายจากการขุดเหมือง

"ชาวบ้านโดยเฉพาะหญิงแม่บ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า เพราะแม่น้ำที่เคยใช้ในชีวิตประจำวันถูกเปลี่ยนทิศทางไหล และน้ำในแม่น้ำเสียใช้การไม่ได้  พวกเขาต้องเดินทางไกลเพื่อไปตักน้ำมาใช้ในครัวเรือน และจากเหตุที่มีผู้ชายหลั่งไหลเข้าไปขายแรงงานในการทำเหมือง ทำให้ในพื้นที่เริ่มมีการค้าทางเพศมากขึ้น" นางนาเวโบ กล่าว

นางนาเวโบ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่เคยร้องเรียนไปยังเจ้าหน้าที่พม่าในท้องที่หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำเป็นเหมือนไม่รู้ไม่เห็น ไม่ได้ยินเสียงเรียกร้องของชาวบ้าน หากจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่พม่าแล้ว บริษัททำเหมืองอยากจะทำอะไรก็ได้หมด แสดงให้เห็นว่า ในพม่ายังมีการปกครองด้วยระบอบอาวุธเป็นใหญ่อยู่

การสำรวจขุดเหมืองทองคำขาว หรือ แพลตทินัม ในพื้นที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก โดยบริษัทพม่าซึ่งได้รับสัมปทานจากทางการ ได้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 มีบริษัทเหมืองของพม่า 5 บริษัท เข้าไปดำเนินการ บริษัท Sai Laung Hein Company เป็นบริษัทใหญ่และได้รับการสัมปทานพื้นที่ขุดมากที่สุด โดยบริษัทนี้ทำการขุดและขนออกแร่ทองคำขาวไม่ต่ำกว่า 5 พันตันต่อเดือน

ทั้งนี้ องค์กรสตรีลาหู่ (WLO) ได้เรียกร้องรัฐบาลพม่าสั่งยุติโครงการในทันที โดยให้เหตุผลว่าโครงการเหมืองไม่ได้ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ แต่หากเป็นการสร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านและทำลายธรรมชาติของป่าเท่านั้น โดยองค์กรเตรียมส่งเรื่องนี้ร้องเรียนไปยังสภารัฐบาลพม่า เพื่อให้มีการตรวจสอบและสั่งยุติโครงการดังกล่าวด้วย

 

ชมภาพ / อ่านข่าวย้อนหลังได้ที่
http://www.khonkhurtai.org/ 


"คนเครือไท" เป็นศูนย์ข่าวภาคภาษาไทยเครือข่ายสำนักข่าวอิสระไทใหญ่ หรือ สำนักข่าวฉาน (SHAN – Shan Herald Agency for News) มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรัฐฉาน สหภาพพม่า ตลอดจนตามแนวชายแดนไทย ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรการเมือง / การทหารกลุ่มใด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ shan_th@cm.ksc.co.th หรือ ติดตามอ่านข่าวสารภาคภาษาอังกฤษได้ที่ www.shanland.org ภาคภาษาไทใหญ่ที่ www.mongloi.org และภาคภาษาไทยที่ www.khonkhurtai.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net