ไขความจริงอีกครึ่ง ไล่ลำดับการประกันตัว ‘อากง’ ตั้งแต่ต้นจนจบ

วันนี้ (9 พ.ค.55) เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์รายงานกรณีอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ชี้แจงเกี่ยวกับ “อากง” หรือนายอำพล ผู้ต้องขังส่งเอสเอ็มเอสหมิ่นเบื้องสูง หลังมีความเคลื่อนไหวชูป้ายทวงถามว่า “ใครฆ่าอากง” ระบุ คดีถึงที่สุดแล้ว เหตุจำเลยถอนอุทธรณ์เพื่อขอถวายฎีกา จึงไม่อาจยื่นประกันได้ แนะอัยการยื่นไต่สวนชันสูตรศพ

โดยทีมข่าวอาชญากรรม ไทยรัฐออนไลน์รายงานคำชี้แจงของนายทวี ประจวบลาภ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาว่า คดีนี้ศาลอาญามีคำพิพากษาไปแล้ว จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ จำเลยได้ยื่นประกันตัวชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลอาญาส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง แต่ระหว่างการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยได้ขอถอนอุทธรณ์ประมาณเดือนมีนาคม 2555 โดยตนทราบจากข่าวว่า จำเลยโดยทนายความประสงค์จะใช้สิทธิ์ยื่นถวายฎีกาเพราะจะถวายได้ต่อเมื่อคดีต้องถึงที่สุด ดังนั้น เมื่อคดีถึงที่สุด ก็ไม่อาจยื่นประกันตัวอีกได้ ถึงยื่นประกันก็คงไม่ได้ประกันเนื่องจากคดีไม่ได้ค้างพิจารณาอยู่ในศาลยุติธรรม

อธิบดีศาลอาญา กล่าวว่า ดังนั้น ตัวนายอำพลจึงอยู่ในการควบคุมของราชทัณฑ์ ซึ่งมีการรักษาพยาบาลของเขาอยู่แล้ว หากจะนำตัวมารักษาข้างนอกก็อาจทำได้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ควบคุม ต่อมาเมื่อนายอำพลเสียชีวิตไม่ว่าด้วยสาเหตุใด ก็ถือว่าตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150-156 กำหนดให้อัยการยื่นคำร้องไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เพื่อหาสาเหตุการตาย ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาคดีนี้ในศาลอาญาอีกครั้ง.

 

คำชี้แจงจากทนายจำเลย

ด้านพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายจำเลยได้ชี้แจงเรื่องนี้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า “ทนายความจำเลยขอชี้แจงเพิ่มเติมว่าในการขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ซึ่งเป็นสองครั้งสุดท้ายก่อนมีการขอถอนอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2555 นั้น

1.ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปยังศาลอาญา ศาลอาญาให้ส่งเรื่องไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพร้อมกับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีกับพยานหลักฐานที่ศาล ชั้นต้นได้พิจารณาแล้วนับว่าร้ายแรง ประกอบกับข้อที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยังไม่มีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี และที่จำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วยไม่ปรากฏว่าถึงขนาดจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต ได้ ทั้งทางราชการก็มีโรงพยาบาลที่จะรองรับให้การรักษาจำเลยได้อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องและแจ้งเหตุการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยและผู้ขอประกัน ทราบโดยเร็วรายละเอียดปรากฏตาม "http://www.prachatai3.info/journal/2012/02/39377

2.ต่อจากนั้นทนายความได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ขอปล่อยตัวชั่วคราวไปยังศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 "พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรงประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง 20 ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง" รายละเอียดปรากฏตาม http://www.flickr.com/photos/78114750@N07/7158608810/

นับแต่วันฟ้องคดี 18 มกราคม 2554 จนถึงวันที่ขอถอนอุทธรณ์วันที่ 3 เมษายน 2555 รวมศาลชั้นต้นยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำนวน 4 ครั้ง ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องจำนวน 3 ครั้ง และศาลฎีกายกคำร้องจำนวน 1 ครั้ง

จำเลยยื่นอุทธรณ์ด้วยความหวังว่าจะได้รับการปล่อยตัวระหว่างพิจารณาคดี แต่เมื่อไม่ได้รับสิทธิดังกล่าวทำให้จำเลยต้องต่อสู้คดีในเรือนจำเป็นระยะเวลานานประกอบกับมีปัญหาสุขภาพ จำเลยจึงใช้สิทธิถอนอุทธรณ์และเตรียมขอพระราชทานอภัยโทษ เพื่อให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็วที่สุด

ประเด็นที่อธิบดีศาลพยายามชี้แจงคือ ณ ห้วงเวลาที่อากงเจ็บป่วยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จำเลยไม่มีสิทธิยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลแล้ว เป็นหน้าที่ราชทัณฑ์ แต่คำถามคือ แล้วการยื่นคำร้องขอปล่อยตัว ทั้งแปดครั้งที่ผ่านมาศาลไม่มีโอกาสในการสั่งอนุญาตหรือ พฤติการณ์ใดของจำเลยที่แสดงว่าจำเลยจะหลบหนีหรือ ในเมื่อวันที่สั่งฟ้องจำเลยเดินไปศาล ยุติ ธรรมด้วยตนเอง

หรือแม้กระทั่งไม่มีเหตุความเจ็บป่วย หลักการคือต้องให้จำเลยประกันเป็นหลัก การไม่อนุญาตให้ประกันเป็นข้อยกเว้นมิใช่หรือ หรือเราเรียนกฎหมายมาคนละตำรากับศาล นักกฎหมายท่านไหนมีความเห็นต่างเชิญแลกเปลี่ยนได้ค่ะ”

 

คำชี้แจงจากนักวิชาการที่ใช้ตำแหน่งประกันตัวให้อากง

นอกจากนี้พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในนักวิชาการที่ยื่นประกันตัวอากงโพสต์ในเฟซบุ๊คว่า "....... ขอชี้แจงข้อมูลอย่างละเอียดอีกที วันที่ 20 ก.พ.นักวิชาการ 7 คนยื่นขอประกันอากงต่อศาลอุทธรณ์ (เป็นครั้งที่ 7) วันที่ 23 ก.พ.ศาลไม่ให้ประกัน, วันที่ 8 มี.ค.ยื่นอีกครั้งต่อศาลฎีกาโดยใช้ชื่อนักวิชาการกลุ่มเดิม ครั้งที่ 8 , 13 มี.ค.ศาลฎีกามีคำสั่่งปฏิเสธอีกเช่นเคย เรื่องขออภัยโทษเกิดขึ้นหลังจากการประกันสิ้นสุดแล้ว ไม่เกี่ยวกันเลย วันที่ไปยื่นขอประกันในชั้นศาลอุทธรณ์ ทั้งญาติและทนายก็ยังไม่ตัดสินใจว่าจะขออภัยโทษ เขาทำใจไม่ได้ที่จะต้องรับผิดกับสิ่งที่เขาไม่ได้ทำ นอกจากนี้ ถ้าอ่านข่าวที่มากับข่าวการเสียชีวิตของอากง ทนายอานนท์ก็บอกแล้วว่า ยังไม่ได้ยื่นเรื่องขออภัยโทษเลย.."

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับยื่นคำร้องของประกันตัวของนายอำพลคือ เขาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวทั้งระหว่างพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น และระหว่างอุทธรณ์รวมทั้งสิ้น 4 ครั้ง และได้อุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว 3 ครั้ง และในการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ วันที่ 23 ก.พ. ในการขอประกันตัวชั้นอุทธรณ์ครั้งแรกโดยในครั้งนี้ใช้ตำแหน่งของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวม 7 คน ศาลอุทธรณ์ระบุเหตุผลในการยกคำร้องว่า

"พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีกับพยานหลักฐานที่ศาล ชั้นต้นได้พิจารณาแล้วนับว่าร้ายแรง ประกอบกับข้อที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยังไม่มีเหตุให้เชื่อว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด หากให้ปล่อยตัวชั่วคราวไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี และที่จำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วยไม่ปรากฏว่าถึงขนาดจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต ได้ ทั้งทางราชการก็มีโรงพยาบาลที่จะรองรับให้การรักษาจำเลยได้อยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้องและแจ้งเหตุการณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยและผู้ขอประกัน ทราบโดยเร็ว"

http://www.prachatai.com/journal/2012/02/39377

จากนั้นทนายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลฎีกาในวันที่ 8 มี.ค.โดยนักวิชาการกลุ่มเดิมเป็นผู้ยื่นประกัน ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้คำวินิจฉัยในวันที่ 15 มี.ค. ไม่ให้ประกันอากง โดยระบุเหตุผลว่า "พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรงประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง 20 ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง"

http://prachatai.com/journal/2012/03/39683

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 119 ทวิ นั้นระบุว่าแม้คำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจะถูกยกไป และแม้เมื่ออุทธรณ์หรือฎีกาคำร้องแล้วศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา(แล้วแต่กรณี)จะไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว แต่ก็ไม่ตัดสิทธิที่จะร้องใหม่

 

"อากง" เคยได้ประกัน ชั้นสอบสวน

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงเรื่องการประกันตัวของอากงยังมีมากกว่านั้นอีก นั่นคือ อากงเคยได้ประกันตัวในชั้นสอบสวน เป็นอิสระช่วงสั้นๆ ประมาณ 3 เดือนก่อนติดคุกยาวในชั้นพิจารณาคดี  

หลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 ส.ค.53  เขาถูกคุมตัวในเรือนจำนวน 63 วัน ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว

จากนั้นในวันที่ 29 ก.ย.53 ทนายความยื่นประกันตัวครั้งที่สอง โดยใช้ที่ดินของญาติเป็นหลักทรัพย์ และเมื่อวันที่ 4 ต.ค.53 ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า หลักประกันน่าเชื่อถือได้ว่าจำเลยจะไม่หลบหนี

หลังจากนั้น ในวันที่ 18 ม.ค. 54  อัยการมีคำสั่งฟ้องนายอำพลเป็นจำเลยในคดีที่มีการส่งข้อความหมิ่นเบื้องสูง ไปยังนายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญ มีความผิดตามมาตรา 14 (2), (3) ตามพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวตเตอร์ฯ และมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา ในวันนั้นจำเลยเดินทางมาศาลตามนัดหมาย และถูกควบคุมตัวอีกครั้งโดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ให้เหตุผลว่า

“ข้อเท็จจริงตามข้อหาการกระทำความผิดตามฟ้องกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนและ ความมั่นคงของประเทศอย่างร้ายแรง คดีอยู่ในชั้นพิจารณา หากผลการพิจารณาสืบพยานมีหลักฐานมั่นคงจำเลยอาจหลบหนี ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว”

เรื่องนี้ “ช็อค” เจ้าตัวและครอบครัวที่มารอฟังผลในวันนั้นอย่างมาก (อ่านเรื่องราวในวันดังกล่าวและสภาพครอบครัวได้ในรายงาน http://prachatai.com/journal/2011/01/32687)

แม้แต่เจ้าหน้าที่ของ ปอท. (กองบังคับการปรามปราบการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำคดีอากงเองก็เคยเอ่ยปากในการพูดคุยกับนักวิจัยเกี่ยวกับกฎหมายนี้ว่า เป็นกรณีที่เขาเองก็งง เพราะเคยได้รับการประกันตัวมาแล้ว และเมื่อมีการนัดหมายในคดีก็มาโดยปกติ ดูอย่างไรก็ไม่น่าจะหลบหนี

 จากการพูดคุยกับผู้ต้องขังคดีเดียวกันที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำเดียวกับอากง เขาให้ข้อมูลในช่วงเวลานั้นว่า การเข้าคุกเป็นครั้งที่สองสร้างผลกระทบด้านจิตใจให้อากงอย่างมาก และเขานอนร้องไห้อยู่หลายคืนกว่าจะเริ่มปรับตัวได้อีกครั้ง ท่ามกลางการดูแลของเพื่อนนักโทษที่เห็นใจในชะตากรรม โดยเฉพาะเพื่อนคนสนิท ธันย์ฐวุฒิ (ขอสงวนนามสกุล) ผู้ต้องขังคดีหมิ่นฯ ในข้อหาเป็นเว็บมาสเตอร์เว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 13 ปี และในภายหลังได้ขอถอนอุทธรณ์และเตรียมขอพระราชทานอภัยโทษเช่นเดียวกับอากง

 

อ่านรายละเอียดคดี “อากง” http://freedom.ilaw.or.th/th/case/21

อ่านรายละเอียดคดี “ธันย์ฐวุฒิ” http://freedom.ilaw.or.th/th/case/19

 

=========================

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ดังต่อไปนี้

(1) คำสั่งของศาลชั้นต้น ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์

(2) คำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา

ให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งรีบส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความ หรือสำเนาสำนวนความเท่าที่จำเป็นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งโดยเร็ว

คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท