Skip to main content
sharethis

เนื่องในวันความปลอดภัยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 10 พ.ค.ของทุกปี สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย อ่านแถลงการณ์ของเครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน (T-BAN) ซึ่งประกอบด้วยเครือข่ายแรงงาน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ภาคประชาชน สภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมฯ สมาพันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยฯ สหพันธ์แรงงานก่อสร้างและคนทำไม้ฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค โดยระบุว่า ในวาระครบรอบ 19 ปี โศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้ ซึ่งมีคนงานเสียชีวิตถึง 188 ศพ บาดเจ็บ 469 รายเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536 เป็นโอกาสที่จะรำลึกถึงความปลอดภัยที่แรงงานควรได้รับ แต่ปีนี้กลับมีเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อแรงงานที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เหตุสารเคมีระเบิดที่โรงงานผลิตยางสังเคราะห์ BST ในนิคมอุตสาหกรรมาบตาพุด สารเคมีรั่วไหลที่นิคมเหมราช และคนงานที่ขึ้นไปติดตั้งสติ๊กเกอร์โฆษณาบนตึกใบหยก 68 ชั้น ตกลงมาเพราะสลิงขาดจนถึงแก่ชีวิต

ขณะที่การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งเครือข่ายแรงงาน นักวิชาการและภาคประชาชน ผลักดันมาอย่างยาวนาน และได้รับการบรรจุใน พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ซึ่งตาม พ.ร.บ.นี้ ระบุว่า กระทรวงแรงงานต้องตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ภายใน 1 ปีคือวันที่ 14 ก.ค.55 ปัจจุบัน ซึ่งร่างการจัดตั้งสถาบันฯ จะส่งเข้าสำนักงานกฤษฎีกา ยังขาดข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และการสรรหากรรมการสถาบันฯ รวมถึงยังมีกรณีแร่ใยหิน หรือใยหินไครโซไทล์ ที่สมัชชาสุภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 มีมติให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 เม.ย.54 ห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินไครโซไทล์ แต่กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ได้ดำเนินการตามมติ ครม.

เครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหินจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย ที่มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ มีคณะกรรมการจากการสรรหา เร่งชดเชยตามกฎหมายให้กับผู้ประสบอันตรายและเจ็บป่วยจากการทำงาน รวมทั้งอันตรายที่มาจากแร่ใยหิน ยกเลิกนำเข้าใยหินไครโซไทล์และยกเลิกการผลิตสินค้าที่มีใยหินไครโซไทล์ตามมติ ครม. 12 เม.ย.54 และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทันที รวมถึงปฏิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 ว่าด้วยเรื่องการเข้าถึงบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังขอให้สื่อมวลชนรักษาจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ โดยนำเสนอข้อเท็จจริงที่ว่า องค์การอนามัยโลก องค์กรนานาชาติการวิจัยมะเร็ง และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ชี้ชัดว่าใยหินไครโซไทล์ก่อมะเร็งเยื่อหุ้มปอด มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งรังไข่ โดยมาตรการขจัดโรคจากใยหินที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือยกเลิกการใช้

พุทธิ เนติประวิต ผู้ประสานงานสหพันธ์แรงงานก่อสร้างและคนทำไม้ฯ กล่าวว่า ไทยนำเข้าแร่ใยหินเป็นอันดับที่ห้าของโลก มูลค่าราวแสนล้านตัน ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วและห่วงใยสุขภาพประชาชน เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อเมริกา ได้ยกเลิกการใช้ในประเทศแล้ว ด้านการชดเชยดูแลหากเจ็บป่วย พุทธิกล่าวว่า เนื่องจากการเจ็บป่วยจากแร่ใยหินมีระยะฟักตัว 20-30 ปีเหมือนมะเร็งปอดทั่วไป เมื่อออกจากงานหลายสิบปีแล้วจึงเป็น ฉะนั้น จึงไม่สามารถขอค่าชดเชยจากกองทุนเงินทดแทนได้ ในประเทศที่เจริญแล้วก็ยังเถียงกันว่าเป็นโรคจากการทำงานหรือไม่ ทำให้การต่อสู้ยืดเยื้อยาวนาน และคนป่วยทุกข์ทรมาน

สำหรับแร่ใยหิน หรือแอสเบสทอส (Asbestos) เป็นแร่ธรรมชาติที่ปนอยู่ในเนื้อหิน ประกอบด้วยธาตุเหล็ก แมกนีเซียม ซิลิเกต และธาตุอื่นๆ มีลักษณะเป็นเส้นใยละเอียด มีคุณสมบัติทนไฟ ทนความร้อน ไม่นำความร้อนและไฟฟ้า ทนกรด ด่าง มีความแข็งเหนียว และยืดหยุ่น สามารถนำมาปั่นเป็นเส้นและทอเป็นผืนได้ จึงถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าเพดาน ท่อน้ำซีเมนต์ กระเบื้องยางไวนิลปูพื้น ผ้าเบรก ฉนวนกันความร้อน อย่างไรก็ตาม หากสูดดมฝุ่นและละอองของแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกาย จนสะสมในปริมาณที่มากและเป็นเวลานาน 15-30 ปี จะทำให้เป็นมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอดและเยื่อบุช่องท้อง ปัจจุบันมีอย่างน้อย 100 ประเทศทั่วโลกดำเนินการลดการใช้แร่ใยหิน องค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่าควรมีการกำจัดแร่ใยหินในอนาคต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net