Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

แถลงการณ์แสงสำนึก 
ฉบับที่ ๑

วันที่  ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕

 

สิ่งที่น่าเศร้าใจที่สุดของมนุษย์คือการเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นการกระทำชั่วเป็นการผดุงความยุติธรรม เพราะหลงคิดว่าตนดีงามกว่าผู้อื่น

ชายคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท โดยไม่ต้องมีหลักฐานพยานชี้ชัด เขาถูกตัดสินด้วยการสันนิษฐานไว้ก่อนว่ากระทำผิด เขาถูกลงโทษด้วยบัญญัติที่ตราขึ้นโดยคณะรัฐประหารปี ๒๕๑๙  จำคุกสามถึงสิบห้าปีกับการกระทำผิดโดยวาจา มากกว่าการพยามฆ่าหรืออนาจารเด็ก

แปดครั้งที่ศาลปฏิเสธคำขอประกันตัว ทั้งอุทธรณ์และฎีกา ทั้งที่เขากำลังป่วย อ้างว่าโทษร้ายแรง ทั้งที่เป็นคดีหมิ่นประมาท ราวกับการให้สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญนี้จะทำให้ประเทศไทยต้องแตกสลายลงในพลันที่ชายคนนี้ถูกปล่อย

นี่คือดุลยพินิจของกระบวนการยุติธรรมที่แอบอิงอุดมการณ์กษัตริย์นิยม

ครั้งแล้วครั้งเล่ากับความไร้มนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในการดำเนินคดีจากกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒  อย่าว่าแต่ความยุติธรรม ความเป็นรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมายที่เป็นธรรม ความเคารพในสิทธิ เสรีภาพของคนในระบอบประชาธิปไตย...

แม้แต่ความเมตตาของระบอบที่ป่าเถื่อนก็ยังไม่มี

รัฐธรรมนูญมาตรา ๔ บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา ๒๖ บัญญัติว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๓๐ วรรคแรก บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน

มาตรา ๓๙ วรรคสอง บัญญัติว่า ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด

และวรรคสามบัญญัติว่า ก่อนจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้

มาตรา ๔๐ วรรค ๒ บัญญัติว่า สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันขั้นพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย คำพิพากษา หรือคำสั่ง

และวรรค ๗ บัญญัติว่า  ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การตรวจสอบหรือได้รับทราบพยานหลักฐานตามสมควร การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

หรือบทบัญญัติเหล่านี้มีไว้ลวงหลอกผู้คนว่าประเทศนี้มีความเจริญ?

ทำไมศาลไทยจึงไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้พิพากษาเหล่านี้สมควรเป็นผู้พิพากษาในประเทศนี้ต่อไปไหม?

บัดนี้ ผู้ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ต่างรู้สึกละอายใจในฐานะสมาชิกของประเทศที่ปล่อยให้ความอยุติธรรมล่อนจ้อนอุดจาดอยู่ต่อหน้า

เมื่อชายคนหนึ่งต้องตายในคุกโดยไม่ได้รับสิทธิที่เขาควรจะได้รับ ไม่ใช่แม้สิทธิของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่สิทธิที่จะถูกนับว่าเป็น “คน” ก็ยังมีไม่พอ

แม้ว่าการตายของเขาจะไม่สามารถปลุกความเป็นคนให้เพื่อร่วมชาติสัตว์ร่วมแผ่นดินจำนวนหนึ่ง ที่ยังคงหลับหูหลับตา แต่คณะนักเขียนแสงสำนึกจะมุ่งมั่นผลักดันการแก้ไขกฎหมายนี้และสิ่งที่เกี่ยวข้อง ให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

หากแม้นว่าสภาผู้แทนราษฎรจะไม่รับพิจารณาด้วยเหตุใดก็ดี เราจะหาหนทางเพื่อรณรงค์เรื่องนี้เป็นการถาวรต่อไป

จนกว่าวันหนึ่ง เมื่อประเทศมีสภาผู้แทนประชาชนอย่างแท้จริง ความกล้าหาญของผู้แทนปวงชนจะตื่นจากความตาย 

คณะนักเขียนแสงสำนึก
ประเทศไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net