Skip to main content
sharethis
ผู้จัดการแผนงานฯ ชี้บางหลวงมีศิลปวัฒนธรรมโดดเด่น เก่าแก่กว่าร้อยปี เพื่อปลูกฝัง สร้างจิตสำนึกรัก หวงแหน สืบสานและสืบทอด เผยการระดมความคิดจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชิ้นงาน เกิดเป็นแหล่งศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างแกนนำชุมชนผลักดันให้เป็นที่รู้จัก เกิดเป็นเวทีสาธารณะเกิดเป็นความยั่งยืนได้
 
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ที่ผ่านมา แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมกับ ชุมชนบางหลวง สมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ร่วมกันจัดเวทีสัมมนาระดมความคิดของคนบางหลวงเพื่อคนบางหลวง ด้วยการดึงคนทุกภาคส่วนมาร่วมมือ ร่วมใจ พัฒนาบางหลวง เพื่อลูกหลานคนบางหลวงขึ้นที่ตลาดบางหลวง รศ. ๑๒๒ จ.นครปฐม
 
โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.  กล่าวว่า ชุมชนบางหลวงเป็นชุมชนที่มีศิลปวัฒนธรรมที่เก่าแก่กว่าร้อยปี ซึ่งมีการรวบรวมประวัติของชุมชนผ่านเครื่องอุปโภคเอาไว้มากมายที่ "บ้านเก่า เหล่าเต๊งไม้" โดยสิ่งของทุกชิ้นนั้นจะมีประวัติศาสตร์บอกไว้ อาทิ เครื่องเล่นแผ่นเสียงเก่า, แตรเรือเก่า, เรือเก่าแก่แบบต่างๆ, เสื้อคลุมทหารญี่ปุ่นตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2, เก้าอี้ตัดผม, ตะเกียงโบราณ, จักรยานเก่า และอื่นๆ อีกมาก ทั้งยังมี บ้านตีเหล็ก ซึ่งปัจจุบันยังมีสาธิตการตีเหล็กแบบสูบลมซึ่งหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบันนี้ ตามมาด้วย บ้านสอนดนตรีจีน ที่มีการสอนดนตรีจีนที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานเพราะตัวโน๊ตที่มีอายุเก่าแก่กว่า 4 พันปี โรงหนังเก่า ที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2482 โดยปัจจุบันมีอายุถึง 72 ปี และยังมีฉายหนังไทยขนาด 16 ม.ม.ด้วยเครื่องฉายหนังที่มีอายุกว่า 60 ปีด้วย ที่ร้านกาแฟ เป็นร้านกาแฟที่เป็นศูนย์รวมของคนในชุมชนที่มานั่งจิบกาแฟ พร้อมพูดปะพูดคุยกัน ทั้งยังมีของฝากที่เป็นโปสการ์ดเก่า ภาพเก่าให้ชมและซื้อกลับไปเป็นของฝากได้ ส่วนร้านทำฟัน และ ร้านทอง ก็ยังมีอุปกรณ์ที่เก่าแก่ที่เคยเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนให้ชมและดูการสาธิตการทำทองได้ ด้านอาหารก็มี ข้าวเกรียบปากหม้อไส้ผักต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของบางหลวง หากมาแล้วไม่ได้ชิมจะถือว่ายังมาไม่ถึงบางหลวง  
 
“เมื่อบางหลวงเป็นชุมชนที่มีศิลปวัฒนธรรมและรากเหง้าของวัฒนธรรมที่เก่าแก่และน่าสนใจจำนวนมาก เพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับเยาวชน คนในชุมชนได้เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมชุมชน รู้จักรัก หวงแหน สืบสาน และสืบทอด เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของชุมชนในระดับต่างๆ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ชิ้นงานที่เป็นต้นแบบเหล่านี้จนเกิดเป็นแหล่งศึกษา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งเกิดเป็นเวทีสาธารณะในชุมชน และมีแกนนำชุมชนลุกขึ้นมาทำงานร่วมกับผู้ที่เคลื่อนไหวทางสังคม หรือผู้ที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีให้เกิดขึ้นกับชุมชน ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่นำมาสู่การระดมความคิดของคนบางหลวงทุกภาคส่วน อาทิ ผู้นำชุมชน แกนนำชุมชน แกนนำเยาวชน ชาวบ้าน ครู และอื่นๆ มาระดมสมองร่วมกัน ว่าอยากเห็นบางหลวงเป็นอย่างไร จากนั้นจะมีการร่วมมือ ร่วมใจ พัฒนาบางหลวงเพื่อลูกหลานคนบางหลวง เกิดเป็นค่านิยมใหม่ นโยบายเกี่ยวกับชุมชนที่จะเน้นในการพึ่งพาตนเอง จัดการตนเอง และสร้างการมีส่วนร่วมสูงสุด และนำไปสู่การพัฒนาแกนนำ มาสืบสาน และสื่อสารกับชุมชนอื่นๆ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นเข้ามาเรียนรู้ หรือเป็นกรณีศึกษาให้ชุมชนอื่นลุกขึ้นมาทำบ้าง” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว
 
และก้าวต่อไป ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.กล่าวว่า เพื่อหนุนเสริมความยั่งยืนให้กิจกรรมต่างๆ ให้สามารถขับเคลื่อนจนเกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. จะร่วมกับเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป สมัชชาปฏิรูประดับชาติ ขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญทางกฎหมาย ให้เกิดเป็นกองทุนสื่อศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนและหล่อเลี้ยงพื้นที่ชุมชนต้นแบบต่างๆ ให้มีการดำเนินงานด้านวิชาการแล้วเกิดการจัดเวทีสาธารณะอย่างต่อเนื่องต่อไป
 
ด้านอาจารย์ไพจิตร ศุภวารี ประธานสมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม กล่าวว่า การระดมความคิดเพื่อพัฒนาบางหลวง ซึ่งมติที่ประชุมพบว่า ชาวบางหลวงอยากให้อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ของชุมชนเอาไว้ให้ทายาทรุ่นหลังได้ภาคภูมิใจ, มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวบางหลวงและประทับใจในความเป็นบางหลวง, ต้องการให้ดนตรีจีนของบางหลวงมีคนสนใจ และต้องการศึกษาเรียนรู้เพื่อสืบสานเอาไว้ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย, คนในชุมชนมีงานทำคนรุ่นใหม่และวัยทำงานกลับบ้านและมาทำงานในพื้นที่มากขึ้น, ต้องการพัฒนาตลาดริมน้ำให้สะอาด น่ามอง และเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยากกลับมาเยือนบางหลวงอีกครั้ง ฯลฯ เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดมาแล้วทางสมาพันธ์ศิลปินเพื่อสังคม สสส. และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ก็จะนำกิจกรรม ศิลปินต่างๆ ที่อยู่ในสมาพันธ์ลงมาในพื้นที่เพื่อหนุนเสริมและร่วมพัฒนาตามมติที่ได้ให้เป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ซึ่งสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการดำเนินการต่างๆ ได้ที่ www.artculture4health.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net