สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธะปฏิเสธ 'ศาสนายากล่อมประสาท'

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมมีข้อสังเกตว่า คนที่สังคมมองว่าปฏิเสธศาสนาหรือไม่นับถือศาสนานั้น เมื่อพิจารณาความคิดเกี่ยวกับศาสนาของเขาแล้ว กลับพบมุมมองคล้ายกับ “พุทธะ” อย่างมีนัยสำคัญ

เช่น มุมมองต่อพุทธศาสนาของจิตร ภูมิศักดิ์ ในคำอธิบายสาระและเจตนารมณ์ของบทความเรื่อง “ผีตองเหลือง” ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นการบ่อนทำลายพุทธศาสนา ก่อนที่ศาลทหารกรุงเทพฯ จะพิพากษาคดีของเขา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2507 ตอนหนึ่งว่า


จำเลยจึงขอศาลได้โปรดพิจารณาเหตุผล ข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริง แล้วพิพากษาชี้ขาดให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ซึ่งได้ถูกกักขังทรมานมาเป็นเวลา 6 ปีเศษแล้ว ให้ได้รับอิสรภาพอันมีเกียรติ ขอศาลได้ชี้ว่า การกระทำโดยสุจริตเพื่อสร้างสรรค์ เพื่อความดีงาม เพื่อความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพระศาสนา อันเป็นสิ่งที่แม้พระศาสดา พระภิกษุ และชาวพุทธที่แท้ทั้งหลายย่อมกระทำกันนี้ เป็นความผิดและต้องรับโทษหรือ และจำเลยเองในฐานะที่เป็นสาราณียกร ซึ่งเชื่อโดยสุจริตว่า บทความนี้เป็นบทความเพื่อพิทักษ์พุทธศาสนา และกำจัดสิ่งโสโครกสิ่งปฏิกูลทั้งหลายบรรดาที่เข้ามาแอบแฝงอาศัยศาสนาหากิน ซึ่งพระศาสดาพระพุทธสาวกที่แท้ทั้งหลายได้ต่อสู้เพื่อทำลายให้หมดไปนี้ พึงต้องได้รับโทษ หรือคำพิพากษาของศาลย่อมจักเป็นประวัติศาสตร์อยู่ตลอดไปชั่วกาลนาน (http://www.reocities.com/thaifreeman/jit/yonbok/yonbok.html) font-weight:normal">


สาระสำคัญตามทัศนะของจิตร คล้ายกับทัศนะของคาร์ล มาร์กซ์ ที่ว่า

“Religious distress is at the same time the expression of real distress and the protest against real distress. Religion is the sigh of the oppressed creature, the heart of a heartless world, just as it is the spirit of a spiritless situation. It is the opium of the people.

The abolition of religion as the illusory happiness of the people is required for their real happiness. The demand to give up the illusion about its condition is the demand to give up a condition which needs illusions.” http://atheism.about.com/od/weeklyquotes/a/marx01.htm

“ความทุกข์ตามหลักศาสนาเป็นทั้งอาการของความทุกข์ที่แท้จริง และเป็นการต่อต้านความทุกข์ที่แท้จริงด้วย ศาสนาเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตที่ถูกกดขี่ แต่ก็เป็นหัวใจของโลกที่ไร้หัวใจ เป็นจิตวิญญาณของสภาพการณ์ที่ไร้จิตวิญญาณ ศาสนาคือยาฝิ่นของมวลชน

การล้มเลิกศาสนาแบบที่ให้ความสุขอย่างเพ้อฝันแก่ประชาชน เป็นเงื่อนไขจำเป็นที่ทำให้พบความสุขที่แท้จริง เสียงเรียกร้องให้ยุติมายาคติของเงื่อนไขความสุขเช่นนั้น เป็นเสมือนเสียงเรียกร้องให้ทลายเงื่อนไขอันเป็นเหตุให้เกิดมายาคติดังกล่าวด้วย” (สำนวนแปลของพิภพ อุดมอิทธิพงษ์)

จะเห็นว่า ศาสนาที่มาร์กซ์มองว่าเป็น “ยาฝิ่น” หรือ “ยากล่อมประสาท” ของประชาชนคือ “ศาสนาแบบที่ให้ความสุขอย่างเพ้อฝันแก่ประชาชน” คำวิจารณ์ของจิตรในบทความเรื่อง “ผีตองเหลือง” ก็วิจารณ์ศาสนาในความหมายดังกล่าวนี้

แท้จริงแล้วพุทธะก็ปฏิเสธ “ศาสนายากล่อมประสาท” หรือ “ศาสนาแบบที่ให้ความสุขอย่างเพ้อฝันแก่ประชาชน” เช่น ที่พุทธะวิจารณ์ว่า เมื่อมีทุกข์ภัยต่างๆ แล้วมนุษย์หันไปพึ่งต้นไม้ จอมปลวก ภูเขา ว่าคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะขจัดทุกข์ภัยต่างๆ ได้ หรือเชื่อว่าแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์จะชำระล้างบาปได้ เทพเทวาหรือพระพรหมจะดลบันดาลความสุขให้ได้ เป็นต้น พุทธะปฏิเสธความเชื่อ เช่นนี้ ด้วยเหตุผลว่าไม่ใช่ความเชื่อที่จะทำให้พ้นทุกข์ได้จริง

ฉะนั้น ศาสนาในความหมายของพุทธะจึงไม่ใช่ศาสนาแบบที่ให้ความสุขอย่างเพ้อฝันแก่ประชาชน แต่เป็นศาสนาในความหมายของการใช้ชีวิตแสวงหาสัจจะและอิสรภาพ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ของพุทธะที่ใช้ชีวิตลองผิดลองถูกจนค้นพบ “อริยสัจสี่” ด้วยตนเอง

สำหรับจิตร ศาสนายากล่อมประสาทคือ “สิ่งโสโครกสิ่งปฏิกูลทั้งหลายบรรดาที่เข้ามาแอบแฝงอาศัยศาสนาหากิน” จำเป็นต้องขจัดออกไป สำหรับมาร์กซ์ “การล้มเลิกศาสนาแบบที่ให้ความสุขอย่างเพ้อฝันแก่ประชาชน เป็นเงื่อนไขจำเป็นที่ทำให้พบความสุขที่แท้จริง” และสำหรับพุทธะเอง ศาสนาแบบที่ให้ความสุขอย่างเพ้อฝัน เช่นการพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลต่างๆ ย่อมไม่อาจดับทุกข์ได้จริง

หากมองตามทัศนะของจิตรและมาร์กซ์ ศาสนาแบบให้ความสุขอย่างเพ้อฝันแก่ประชาชนเป็น “ยากล่อมประสาท” เพราะเป็นการหลอกลวงมอมเมาให้ผู้คนอยู่ในโลกของความเพ้อฝัน ไม่สนใจเหตุผลและโลกของความเป็นจริง นอกจากนี้ศาสนาในความหมายดังกล่าวยังถูกใช้สร้าง “มายาคติ” มอมเมาประชาชนให้ซาบซึ้งในบุญญาธิการ สยบยอมต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นปกครอง อันเป็นที่มาของการกดขี่และความอยุติธรรมในรูปแบบต่างๆ

พุทธะเองก็มองเห็นอันตรายของการใช้ศาสนามอมเมาเพื่อการกดขี่ ดังที่ปฏิเสธระบบวรรณะ และการตัดสินคุณค่าของมนุษย์จากชาติกำเนิด เป็นต้น


ฉะนั้น ศาสนาที่แท้ในความหมายของพุทธะ จึงหมายถึง “ศรัทธาในการใช้ชีวิตแสวงหาสัจจะอิสรภาพ และความเป็นธรรม”

ผมคิดว่าคนอย่างจิตร และมาร์กซ์นี่แหละ คือคนที่มีศาสนาในความหมายของผู้ที่มีศรัทธาในการใช้ชีวิตแสวงหาสัจจะ อิสรภาพ (จากการกดขี่) และความยุติธรรม

แน่นอนศาสนาในความหมายนี้ เราไม่อาจมีได้เพียงแค่จดจำคำสอน หรือเชี่ยวชาญในการอธิบายคำสอน แต่มีได้ด้วย “การปฏิบัติ” ซึ่งหมายถึงการดำเนินชีวิตบนเส้นทางของผู้ศรัทธาในการแสวงหาสัจจะ อิสรภาพ และความเป็นธรรม

การมีศาสนาในความหมายนี้จึงไม่ใช่ “การรับสัจจะมาจากปากของพุทธะ” เพราะต่อให้เราท่องจำสิ่งที่พุทธะสอนได้มากมายเพียงใดก็ไม่ได้ทำให้เราค้นพบสัจจะ อิสรภาพ และความเป็นธรรมได้ แต่จะเป็นไปได้เมื่อเราได้ใช้ชีวิตแสวงหาสัจจะ อิสรภาพ และความเป็นธรรมด้วยตนเองดังที่พุทธะเคยใช้ชีวิตเช่นนั้นมาก่อน

แต่สัจจะ อิสรภาพ และความเป็นธรรมในบริบทที่แตกต่าง ย่อมมีรายละเอียดแตกต่างกัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมผู้มีศาสนาที่แท้จึงต้องใช้ชีวิตแสวงหาด้วยตนเอง คำสอนของพุทธะเป็นเพียงการแนะแนวทาง และ “พุทธะคือเพื่อนที่ดี” (กัลยาณมิตร) คนหนึ่งเท่านั้น หาใช่ “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” ใดๆ ไม่

ทว่าสิ่งที่น่าเศร้าคือ พุทธะและศาสนาของท่านกำลังถูกใช้เป็น “ยากล่อมประสาท” พุทธะถูกยกให้เป็น “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” ธรรมะกลายเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” ที่ไม่เกี่ยวกับการส่งเสริมวิถีชีวิตแสวงหาสัจจะ อิสรภาพ และความเป็นธรรมอีกแล้ว

พุทธศาสนาโดยรวมถูกบิดเบือนเป็นเครื่องมือค้ำจุนอำนาจของชนชั้นปกครอง เป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ในรูปพุทธพานิชต่างๆ ธรรมะที่เคยเป็นคำอธิบายเกี่ยวกับความหมาย คุณค่า แก่นสารของชีวิต ถูกแปรรูปเป็น “ธรรมะฮาวทู” ประเภทให้ “ความสุขแบบเพ้อฝัน” จนเกลื่อนตลาดหนังสือธรรมะไปแล้ว

ในยุคแห่งการสถาปนาให้สังคมไทยเป็น “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” เราแทบจะหาพุทธศาสนาในความหมายของการส่งเสริมศรัทธาในวิถีชีวิตแสวงหาสัจจะ อิสรภาพ และความเป็นธรรมไม่ได้เลย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท